Skip to main content
sharethis
  • แฮชแท็ก #ประธานสภา กลับมาติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์อีกครั้ง หลังพรรคเพื่อไทยประกาศมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ยืนยันสูตร 14+1 และต้องได้ประธานสภาผู้แทนราษฎรมาครอง จนทำให้การเจรจาของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ต้องเลื่อนออกไป
  • ขณะที่วานนี้ (28 มิ.ย.) พรรคก้าวไกล เปิดตัว ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ในฐานะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานสภา
  • อีกไม่กี่วันก็จะได้เปิดประชุมเพื่อเลือกประธานสภาแล้ว แต่การเจรจาระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลก็ยังไม่ได้ข้อสรุป โอกาสนี้ชวนดูความเห็นของฝ่ายประชาธิปไตย คิดยังไงกับศึกชิงประธานสภา

‘เข็มทอง’ ชี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ไม่แน่นอน

เพื่อไทยมีสิทธิต่อรอง แค่อาจผิดมารยาท 

ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุ กรณีการต่อรองประธานสภาโดยอ้าง 14+1 แบ่งครึ่งสองพรรคการเมืองหลักนั้นอาจจะเข้ากับคำอธิบายสิ่งที่เรียกว่า Constitutional hardball สรุปภาษาไทยง่ายๆ คือ มีสิทธิแต่ผิดมารยาท

Hardball คือการเล่นเกมแบบโหด ต้องเข้าใจก่อนว่า การเมืองนั้น โดยทั่วไป ประกอบไปด้วยส่วนของกฎหมายลายลักษณ์อักษรและธรรมเนียมปฏิบัติ ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้ การเล่นเกมโหด คือ ยังอยู่ในกติกาลายลักษณ์อักษรแต่ละทิ้งบรรทัดฐาน คือ ยังไงก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจจะเรียกเสียงวิจารณ์อื้ออึง แต่ก็ไม่ผิด ยืนยันตรงนี้ว่าเป็นสิทธิของพรรคทุกประการ ต้องเข้าใจให้ตรงกัน

การเล่น Hardball มักเกิดในกรณีที่การเมืองมีความเสี่ยงเดิมพันสูงมาก ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกังวลว่าจะเสียอำนาจตลอดกาล หรือต้องได้อำนาจมาให้ได้ ก็จะจูงใจให้เกิดขึ้นง่าย Tushnet เห็นว่า Hardball จึงสัมพันธ์กับ partisan entrenchment และ constitutional transformation ช่วงเปลี่ยนผ่านที่ไม่แน่นอน

การเมืองไทยนั้นมี hardball เยอะมาก ช่วง คสช. 2 ที่ผ่านมาก็มีการเล่นนอกกติกาหลายอย่าง 

Jack Balkin กับ Sanford Levinson ระบุว่า hardball สัมพันธ์กับการเสื่อมทรามของรัฐธรรมนูญ เพราะทำลายกฎเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ ทำให้กฎเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญไร้ความหมาย จนสิ้นผลในที่สุด

บ.ก. ลายจุด มองการต่อรองเป็นเรื่องปกติ

แต่ขออย่าทำประชาชนผิดหวัง

บ.ก. ลายจุด หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุ ผมคือผู้แทงม้า 2 ตัว และม้าเข้าทั้งคู่ ผมยอมรับการมีอยู่ของการต่อรองในเกมการเมือง ดังนั้นตำแหน่งประธานสภาเป็นของ พท หรือ ก้าวไกล ผมยกให้ทั้งสองพรรคต่อรองและกดดันกันเอง แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่บิดเบี้ยวจากนี้ไม่ได้ ผมหวังว่าความสับสนในช่วงเวลานี้จะไม่ทำให้ประชาชนที่รอคอยการเปลี่ยนแปลงต้องผิดหวัง

‘ปริญญา’ มองประธานสภาสำคัญกับก้าวไกล

เหตุไม่มั่นใจได้นายกฯ

“หากพรรคก้าวไกลให้ตำแหน่งประธานสภาฯ กับพรรคเพื่อไทย ปัญหาก็จะจบ แต่ต้องเข้าใจพรรคเพื่อไทย ในเมื่อพรรคก้าวไกลได้หัวหน้าฝ่ายบริหารคือ นายกฯ แล้ว ตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติควรเป็นของพรรคเพื่อไทย แต่ประเด็นสำคัญคือพรรคก้าวไกล ยังไม่ได้ตำแหน่งนายกฯ ยังขาดอีก 64 เสียง ซึ่งเป็นเรื่องของสองพรรคที่จะต้องตกลงร่วมกัน” 

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง กรณีพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลยังหาข้อสรุปเรื่องประธานสภาไม่ลงตัว ระบุ เป็นเรื่องใหญ่สำหรับพรรคก้าวไกล เพราะหากก้าวไกลไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ แล้ว ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็มีทีท่าว่าจะลำบากด้วย

ในความเห็นทางวิชาการ พรรคไหนก็ได้ที่ตกลงกันได้ ถ้าตกลงไม่ได้พรรคอันดับ 1 ต้องมีเสียงที่หนักแน่นกว่า (ที่มา:ไทยพีบีเอส)

และต่อมา ปริญญา โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยควรต้องถอย ระบุว่า

หลักการของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา นั้น การเลือก ส.ส. ของประชาชน คือ การเลือกนายกรัฐมนตรีไปพร้อมกันด้วย โดยพรรคที่ได้ ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง และรวมเสียงกับพรรคอื่นได้เกินครึ่งจะได้จัดตั้งรัฐบาล และว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

และเนื่องจากก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฏร ก่อนเพื่อไปทำหน้าที่ควบคุมการประชุมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นสิทธิของพรรคอันดับหนึ่งด้วย เว้นแต่พรรคอันดับหนึ่งจะยอมยกให้พรรคอันดับสอง

เมื่อพรรคอันดับหนึ่งขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไว้ พรรคอันดับสองก็ไม่ควรดึงดันจะเอาให้ได้ เพราะหากพรรคฝ่ายค้านเดิมคือเพื่อไทย-ก้าวไกลที่ประชาชนเสียงข้างมากเลือกให้มาเป็นรัฐบาลตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะเรื่องการต่อรองตำแหน่งของพรรคเพื่อไทย ความเสียหายสถานหนักจะเกิดกับพรรคเพื่อไทยได้

แล้วที่ให้เหตุผลกันว่า พรรคก้าวไกลมี ส.ส. มากกว่าพรรคเพื่อไทยแค่ 10 คน ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องเป็นของพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังดูดีแม้แต่น้อย เพราะจำนวน ส.ส. 10 คนที่พรรคก้าวไกลมีมากกว่านั้นมาจากคะแนนบัญชีรายชื่อ ที่พรรคก้าวไกลได้มากกว่าพรรคเพื่อไทยประมาณสามล้านห้าแสนคะแนน หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่การที่จำนวน ส.ส. ต่างกันแค่ 10 คน เพราะเรามี ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 100 คน หากใช้ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน ต่างกัน 10 เปอร์เซ็นต์จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน คือต่างกัน 50 คนเลยนะครับ

ผมจึงเห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่ควรตั้งหน้าตั้งตาจะเอาตำแหน่งประธานสภาให้ได้ และหวังว่านี่จะเป็นแค่การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มเพื่อไปแก้ปัญหาภายในพรรคเท่านั้น

ที่ว่าไปนี้ไม่ใช่เรื่องการเชียร์พิธาหรือก้าวไกล แต่เป็นเรื่อง กติกาของระบบรัฐสภา เพราะหากเพื่อไทยเป็นอันดับหนึ่ง แล้วพรรคก้าวไกลจะเอาตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ ผมก็จะพูดแบบเดียวกันนี้ เพราะภารกิจขณะนี้ของทั้งสองพรรคคือ ตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยให้ได้ตามเจตนาของประชาชนเสียงข้างมากครับ

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 26 มิ.ย. ปริญญาได้วิเคราะห์ในรายการ TODAY LIVE ไว้ว่า 

“ถ้าหากว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่ของพรรคก้าวไกล ผมเข้าใจว่าสถานีต่อไปเห็นจะไปถึงลำบากแล้วคุณพิธา ไม่ได้แปลว่าได้เป็นประธานสภาฯ แล้วได้เป็นนายกฯ แน่ แต่มันไปต่อได้ คือถ้าหากว่าประธานสภาฯ ไม่ได้จะลำบาก แล้ว ส.ว. จำนวนมากจะมีข้ออ้างว่า เห็นไหมเสียงข้างมากมีไม่จริง เห็นไหมเพื่อไทยยังไม่ยอมเลย จะมีเหตุ”

‘ธำรงศักดิ์’ มองการต่อรองทุกพรรคทำหมด

ไม่ใช่แค่เพื่อไทย

“ภาษาทางการเมืองเรียกว่าการชิงไหวชิงพริบ เป็นประเด็นของระบบการเมืองที่ออกแบบเพื่อพวกเขา (นักการเมือง) ไม่ใช่เพื่อพวกเรา (ประชาชน) และระบบการจัดตั้งรัฐบาลแบบพรรคร่วมหลายพรรคก็ต้องทำความพึงพอใจให้กับทุกพรรคมากที่สุด ก็เลยต้องต่อรอง เรื่องอะไรที่เจรจาได้ก็ต้องทำ เหมือนกับเรา (ประชาชน) อยากได้เงินเดือนขึ้น ก็เลยต้องเจรจากับเจ้านายกันบ้าง”

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ถึงประเด็นการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ช่วงเวลานี้คือ 7 วันแห่งการต่อรองก่อนการเลือกประธานสภาในวันที่ 4 กรกฎาคม และนายกรัฐมนตรี (ประมาณกลางเดือนกรกฎาคมนี้) 

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจยึดหลักการเดิมคือได้ 14 รัฐมนตรี และ 1 ประธานสภา เป็นเกมการต่อรองกับพรรคก้าวไกล เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม และเกิดความพึงพอใจสูงสุดต่อพรรค ซึ่งอิงจากมติที่ประชุม ส.ส. และกรรมการบริหารพรรค

การเจรจาต่อรองในการโหวตประธานสภา นายกฯ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คงไม่ได้มีแค่พรรคเพื่อไทย แต่พรรคก้าวไกลก็ทำด้วยเช่นกัน รวมถึงทุกพรรคการเมือง

‘วันนอร์’ แนะเพื่อไทย-ก้าวไกล ถอยคนละก้าว

ยึดเป้าหมายตั้งรัฐบาลเป็นสำคัญ

วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ยังหาข้อสรุปตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ลงตัว ระบุว่า อยากให้ทั้งสองพรรคถอยคนละก้าว โดยให้ยึดถึงเป้าหมายของประชาชนที่ต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยเป็นสำคัญ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะหากพรรคการเมืองใดจับมือกันไม่แน่นพอ จะเป็นการเปิดทางให้เผด็จการเข้ามา จนทำให้ประชาชนผิดหวัง (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์)

‘ณัฐวุฒิ-ทัศนีย์’ ขอ 2 พรรคจับมือกัน

อย่าเปิดช่อง ‘ฟรีโหวต’ ให้เผด็จการเข้าแทรก 

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำครอบครัวเพื่อไทยโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องประธานสภาที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ระบุ ประธานสภาเป็นของพรรคอันดับ 1 ขอ 2 พรรคเร่งหาข้อยุติ หากตกลงกันไม่ได้แล้วเกิดสถานการณ์ฟรีโหวตก็จะเป็นการเปิดช่องให้ฝั่งรัฐบาลเดิมแทรกเข้ามา ถ้าเป็นเช่นนั้นเท่ากับคนที่แพ้คือประชาชน

หมายเหตุ มีการปรับแก้อินโฟกราฟิกเมื่อ 15.00 น. 

“ผมเห็นด้วยกับหลักการของทีมเจรจาพรรรคเพื่อไทย คือประธานเป็นของพรรคอันดับ 1 หลักคิดคือ คะแนนน้อยกว่า แต่ใจไม่ได้เล็กกว่า แพ้ให้คม แล้วสร้างชัยชนะขึ้นใหม่

แต่จะให้วิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทย หรือพี่น้องในพรรคที่เห็นต่าง ผมไม่ทำ เพราะเราเพิ่งผ่านศึกสำคัญ บาดเจ็บมาด้วยกัน และผมเป็นคนหนึ่งในทัพใหญ่ ย่อมต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา

เป้าหมายใหญ่อยู่ที่การตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย และจะตั้งได้ 2 พรรคหลักต้องจับมือกัน จะด้วยเหตุใดก็ตามหากนำมาสู่การแตกหักแยกทางถือว่าผิด ซึ่งประชาชนจะตัดสินในที่สุด

คณะเจรจา 2 พรรคต้องหาข้อยุติกันให้ได้ก่อนวันเลือกประธานสภา ถ้าฟรีโหวตฝ่ายรัฐบาลเดิมจะแทรกเข้ามา แต่ละก้าวเต็มไปด้วยกับดัก ฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย  แต่ถ้าแพ้ทางการเมือง โดยเพื่อไทย ก้าวไกลไม่ได้ตั้งรัฐบาล หรือ 2 พรรคแตกกัน ชัยชนะของประชาชนจะลับหาย

ผมคงขัดตา ขัดใจเพื่อนมิตรหลายคนในเรื่องนี้ แต่ด้วยความปรารถนาดี เราอยู่ด้วยกันตั้งแต่วันรุ่งเรือง ทุกครั้งพรรคมีเรื่องผมก็ไม่เคยถอยหนี

เพื่อไทยอาจได้หรือไม่ได้เก้าอี้ตัวใด แต่ต้องไม่สูญเสียเก้าอี้ในหัวใจประชาชน

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทัศนีย์ บุรณุปกรณ์ อดีต ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความว่า “24 มิ.ย. 91 ปี ประชาธิปไตยยังถดถอย หากมีการฟรีโหวตประธานสภาคือความล้มเหลวจากการยังไม่เริ่มต้นของการสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคง”

‘ธเนศวร์’ มองประธานสภาก้าวไกลควรได้

เพราะชนะอันดับหนึ่ง

ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นในฐานะคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยทั้ง 2 ใบ มีใจความสำคัญว่า ทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯ พรรคก้าวไกลควรได้ เพราะเป็นพรรคที่ชนะอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะชนะห่างกันมากน้อยอย่างไรก็ควรได้ เพื่อให้เขานำฝ่ายประชาธิปไตยไปทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net