Skip to main content
sharethis

ป่าไม้ถูกแผ้วถาง เพื่อให้เป็นสัมปทานที่ดินแก่นักลงทุน ได้พรากแหล่งอาหารไปจากชาวม้ง ที่หาอยู่หากินกับป่ามาหลายชั่วอายุคน

การครอบครองที่ดินในประเทศลาว กำลังบีบให้กลุ่มชาติพันธุ์ม้งหลายกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการทำมาหากินในป่า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารดั้งเดิมของพวกเขาได้ และมีความกังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ จะทำให้ความอดอยากและภาวะทุพโภชนาการที่ชาวม้งในครอบครัวที่ยากไร้ต้องเผชิญยิ่งทวีความรุนแรง

โตย่าง* ชายชาวม้ง วัย 41 ปี และครอบครัวของเขาที่อาศัยอยู่ในแขวงหลวงน้ำทา ทางตอนเหนือของประเทศลาว กำลังอยู่ในภาวะอดอยาก เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ที่หาอยู่หากินกับป่ามาเป็นเวลานาน กล่าวว่า “พื้นดินที่ชุ่มชื้นและความหลากหลายทางชีวภาพที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ทำให้พวกเขามีกิน ตั้งแต่หน่อไม้ เห็ด และพืชสมุนไพรต่างๆ”

 

ที่มา: Mapbox

ส่วนเกินจากอาหารที่พวกเขาเก็บได้จากป่า จะถูกนำไปขายในตลาดท้องถื่น เพื่อเป็นรายได้เพิ่มเติมให้แก่พวกเขา และการเข้าถึงทรัพยากรในป่านั้น ได้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิหลังยากจน สามารถปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารได้จากการใช้น้ำจากป่า ดังเช่นกรณีของโตย่าง แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โตย่าง และชุมชนชาวม้งของเขา ต่างประสบปัญหาในการหาอยู่หากินในป่า เนื่องจากพื้นที่ป่ามีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ

กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ใกล้กับภูเขาภูช้าง ในเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ทางตอนเหนือของประเทศลาว พวกเขามีป่าไม้เป็นแหล่งอาหารและโภชนาการ (ภาพ: นักข่าวพลเมือง)

 

ประชาชนในแขวงหัวพัน ทางภาคเหนือของประเทศลาว เก็บผักและผลไม้บางส่วนจากป่า มาวางขายที่ตลาดชุมชน (ภาพ: นักข่าวพลเมือง)

ผืนป่าที่ครั้งหนึ่งเคยเขียวชอุ่ม ได้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ ที่มีการนำใช้สารเคมีชนิดเข้มข้น โดย “นักลงทุน” ข้ามชาติ ที่เข้ามาดำเนินการในประเทศลาว ภายหลังได้รับสิทธิ์การเช่าสัมปทานที่ดินจากรัฐบาลลาว ทั้งนี้ ยางพารา, กล้วย, มันสำปะหลัง, อ้อย, ข้าวโพด, ถั่ว และกาแฟ เป็นพืชส่วนใหญ่ที่นักลงทุนตัดสินใจปลูก

“ผมไม่สามารถหาเก็บของกินจากป่าได้เหมือนเดิม น้ำก็ไม่อุดมสมบูรณ์ และแปลงเกษตรเล็กๆ ของผม ก็ไม่ได้ให้ผลผลิตแล้ว” โตย่าง กล่าว

เหลือกินเพียงน้อยนิด

นับแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การให้สัมปทานที่ดินเป็นกลยุทธ์ของรัฐบาลลาว ในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยการโอนสิทธิ์ในที่ดินให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศตามระยะเวลาที่ตกลงกัน

รายงานในปี 2020 ที่เผยแพร่โดยศูนย์เพื่อการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม  (Centre for Development and Environment: CDE) ของมหาวิทยาลัยเบิร์นในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระบุว่า มีการตกลงสัมปทานที่ดินทั้งหมด 1,758 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 11.75 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 50% ของที่ดินภายในประเทศลาวให้แก่นักลงทุน โดยตัวเลขที่ว่านี้ ประเมินจากข้อมูลที่รวมรวบขึ้นระหว่างปี 2014-2017

ที่ดินที่ถูกยึดครองโดยนักลงทุนส่วนใหญ่ ถูกนำใช้ในกิจการทางด้านเหมืองแร่ เกษตรกรรม และการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะยางพาราและยูคาลิปตัส ในจำนวนดังกล่าวนี้ เป็นการลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็น 61% ของพื้นที่ทั้งหมดที่มีการตกลงสัมปทานที่ดิน และส่วนหนึ่งของการตกลงดังกล่าวนี้ ดำเนินการร่วมกันนักลงทุนชาวจีน เวียดนาม และไทย

รายงานฉบับเดียวกันนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า มีจำนวน 240 รายการ ของข้อตกลงสัมปทานที่ดิน ครอบคลุมพื้นที่ 137,332 เฮกตาร์ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

การสำรวจชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงสัมปทานที่ดินจำนวน 296 แห่ง พบว่า 1 ใน 4 ของหมู่บ้านประสบปัญหาการสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงการสูญเสียการเข้าถึงป่าชุมชน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการปนเปื้อนของสารเคมี จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน  

สมพอน* นักสังคมสงเคราะห์ ทางตอนเหนือของประเทศลาว กล่าวว่า นักลงทุนจีนเข้ามาสัมปทานที่ดิน และดำเนินการถางป่า เพื่อปลูกกล้วย และพืชกินได้ชนิดอื่นๆ โดยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ จะถูกส่งกลับไปยังประเทศจีน เพื่อเป็นอาหารให้แก่ผู้คนที่นั้น ขณะที่ ชาวบ้านท้องถิ่นในประเทศลาว ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของกิจการดังกล่าวนี้ของนักลงทุนต่างชาติ กลับต้องตกอยู่ในสภาวะอดอยาก

“หลังจากนักธุรกิจเข้ามาในลาว ต้นไม้จำนวนมากถูกตัด ไม่มีอะไรเหลือให้เรากินเลย” ไซซะนะ ชายชาวม้ง วัย 37 ปี อาศัยอยู่ในเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ทางตอนเหนือของประเทศลาว กล่าว

เนื่องจากการร้องเรียนของประชาชนในท้องถิ่น รัฐบาลลาวจึงได้ออกคำสั่งระงับข้อตกลงสัมปทานดินหลายครั้ง เช่น ในปี 2561 เพื่อป้องกันการสัมปทานที่ดินใหม่ สำหรับทำเหมืองแร่, ยางพารา และยูคาลิปตัส แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการให้สัมปทานดินในระยะก่อนหน้า ก็ยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากสัญญาเช่าและสัมปทานดินมีอายุนานถึง 50 ปี

เสื่ยงต่อการขาดสารอาหาร

ประชาชนทางตอนเหนือของประเทศลาวเล่าว่า สภาวการณ์ในปัจจุบัน บีบบังคับให้พวกเขาจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารการกินมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถอาหารจากป่าได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งที่เคยใช้ชีวิตในลักษณะที่ว่านี้มานานหลายช่วงวัย

เหตุการณ์ที่ว่านี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้ภาวะทุพโภชนาการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ยากไร้และลูกหลานของพวกเขา ที่มีกำลังการซื้อที่จำกัด อีกทั้ง ยังมีป่าไม้เป็นทรัพยากรสุดท้ายของพวกเขา

ดัชนีความหิวโหยทั่วโลก (Global Hunger Index) ประจำปี 2563 ระบุว่า ภาวะทุพโภชนาการของประชากรลาวอยู่ในระดับรุนแรง และความหิวโหยสามารถรู้สึกได้แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ เพศ หรือความมั่งคั่ง ขณะเดียวกัน ทั้งดัชนีประจำปี 2563 และดัชนีประจำปี 2565 ยังระบุว่า มีอัตราเด็กแคระแกร็นในประเทศลาวเฉลี่ย 33%

รายงานอีกฉบับในปี 2565 ที่เผยแพร่โดยศูนย์โภชนาการภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของลาว ระบุว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ประมาณ 21% และมีภาวะทุพโภชนาการแบบเฉียบพลันอยู่ที่ 9%

นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกว่า มีเด็กตกอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ ในแขวงผ้งสาลีประมาณ 54% แขวงเซกอง 49.9%, แขวงเชียงขวาง 48.3% และ 40.7% ในแขวงหัวพัน ทั้งนี้ เด็กแคระแกร็นครึ่งหนึ่ง มาจากครอบครัวชาวม้ง ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศลาว

แพทย์ที่โรงพยาบาลในแขวงผ้งสาลีเล่าว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มักมีรูปร่างผอมเตี้ย เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และพ่อแม่ของพวกเขาก็ต้องทำการเกษตร เพื่อดิ้นรนหาอาหารดีๆ ให้แก่ลูกๆ

“เด็กส่วนใหญ่ [ในภาคเหนือของประเทศ] มักกินผลไม้ เห็ด หน่อไม้ และแมลงในป่า พวกเขาไม่มีเนื้อสัตว์กินมากนัก พ่อแม่บางคนไม่สามารถหาอาหาร [โปรตีน] ให้ลูกกินอย่างเหมาะสมได้ จนกระทั่งลูกๆ อายุได้ 1 ขวบ” นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ไม่ประสงค์ออกนามในภาคเหนือของลาว กล่าว

ดร. สิดทิโรด ราชะพน (Dr. Sitthiroth Rasphone) หัวหน้าสถาบันค้นคว้าวิจัยการพัฒนา กระทรวงแผนการและการลงทุน ได้กล่าวในการประชุมแห่งชาติด้านโภชนาการ ครั้งที่ 8 ในปี 2565 ว่า ทางการลาวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ

เขาได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขบางประการ เช่น การส่งเสริมการผลิตอาหารที่หลากหลายและมีคุณภาพ และการทำการเกษตรแบบยั่งยืน แต่นักสังคมสงเคราะห์บางคนชี้ว่ารัฐบาลแก้ปัญหาระยะยาวได้ไม่ดีพอ นั้นก็คือข้อตกลงสัมปทานที่ดินที่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนท้องถิ่น

 

ความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ในป่าเขาทางตอนเหนือของประเทศลาว ได้เป็นที่หาอยู่หากินของกลุ่มชาติพันธุ์ (ภาพ: นักข่าวพลเมือง)

 

ครัวเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยากจนในลาวต้องพึ่งพาอาหารป่า รวมทั้งปลาน้ำจืดและแมลง เพื่อบริโภคโปรตีน (ภาพ: นักข่าวพลเมือง)

นักสังคมสงเคราะห์คนหนึ่ง ผู้ไม่ประสงค์ออกชื่อ กล่าวว่า การบริหารจัดการที่แยกส่วน มีส่วนสำคัญทำให้การบริหารงานของรัฐบาลเกิดความล้มเหลว ในเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างผลกระทบของความมั่นคงทางอาหารกับข้อตกลงสัมปทานที่ดิน

เช่น กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ของลาว มุ่งเน้นไปที่การผลิตผลผลิตให้ได้จำนวนมาก ส่วนกระทรวงแผนการและการลงทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงการขยายพื้นที่การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวและข้อตกลงสัมปทานที่ดิน

ขณะที่ ภาวะทุพโภชนาการถูกมองจากมุมมองของสุขภาพเท่านั้น โดยปราศจากการบูรณาการเข้ากับแผนการพัฒนาส่วนกลางของประเทศ นักสังคมสงเคราะห์ กล่าว

ดึงดูดการลงทุนก่อน

ควบคู่ไปกับการตัดไม้ทำลายป่าที่เกี่ยวข้องกับการให้สัมปทานที่ดิน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมีบทบาทในการขัดขวางความมั่นคงทางอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วย

รายงานขององค์การอาหารโลกที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน 2565 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับความสามารถในการเข้าถึงตลาดย่ำแย่ และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่จำกัดที่เกิดขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้คนในพื้นที่ห่างไกล และในกรณีที่ว่านี้ มีประมาณ 25% ของครัวเรือนทั้งหมด ขาดความมั่นคงทางอาหาร

รายงานปี 2020 โดยกรมคุ้มครองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศลาว ได้มีการเชื่อมโยงโครงการพัฒนาและการลงทุนต่างๆ ตั้งแต่พื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ไปจนถึงอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร ที่ก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าในวงกว้าง ล้วนมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภัยแล้งและอุทกภัย

การพัฒนาที่ว่านี้หากดำเนินการโดยไม่มีความรับผิดชอบ อาจเป็นตัวบ่อนทำลายความมั่นคงทางอาหารของประชากรในประเทศ เพราะ 80% ของประชากรทั้งหมด เลี้ยงชีพด้วยการทำการเกษตร ปศุสัตว์ ล่าสัตว์ และการหาของป่า

ต้นไม้บางส่วนในป่าบนเนินเขา ภายในแขวงบ่อแก้ว ทางตอนเหนือของประเทศลาว ถูกตัดโค่นเพื่อเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ (ภาพ: ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ทองจันทร์* วัย 36 ปี อาศัยอยู่ในเมืองเวียงคำ แขวงหลวงพระบาง กล่าวว่า ภัยแล้งรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่ภูเขาทางตอนเหนือของประเทศลาว ขณะที่ ระบบชลประทานยังไม่สามารถเข้าถึงชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกล

“เมื่อป่าถูกทำลาย [ในพื้นที่เช่าที่ดินหรือพื้นที่สัมปทาน] น้ำก็ยิ่งเหือดแห้ง” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าการขาดแคลนน้ำยังส่งผลกระทบต่อผู้คนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์

ลู* ชาวม้งวัย 57 ปี ในแขวงหลวงน้ำทา ทางตอนเหนือของประเทศลาว กล่าวว่า ปริมาณอาหารในป่าที่ลดลง เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า เหตุการณ์ที่ว่านี้ ได้บีบให้คนหนุ่มสาวในชุมชนของเธอ ต้องอพยพและเดินทางไปหางานทำในเขตตัวเมือง และบางส่วนเลือกเดินทางมาทำงานที่ประเทศไทย

จากมุมมองของทางการลาว ผลกระทบของข้อตกลงสัมปทานที่ดินที่มีต่อชุมชนท้องถิ่น ควรถูกนำมาชั่งน้ำหนักเทียบกับความเจริญรุ่งเรืองของชาติ

“ผู้คนในประเทศของเรายังคงยากจนอยู่ และจำเป็นต้องดึงดูดการลงทุนก่อนจากมุมมองของรัฐบาล” เจ้าหน้าที่ลาว ผู้ไม่ประสงค์ออกชื่อ กล่าว

 

*ผู้เขียนใช้นามแฝงสำหรับผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนเพื่อความปลอดภัย

In English version Ethnic groups starve as forests are cleared in Laos

เรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Internews’ Earth Journalism Network.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net