Skip to main content
sharethis
  • จากกรณีที่รัฐไทยเตรียมผลักดันเด็กที่ไม่มีทะเบียนราษฎร จำนวน 126 คนจาก รร.ในอ่างทอง กลับประเทศต้นทางเมียนมา และภูมิลำเนา พร้อมดำเนินคดีกับทาง รร.นั้น ด้าน ผอ.รร. เผยเสียใจ เด็กถูกพรากสิทธิการศึกษา ทั้งที่ รร.ทำตามขั้นตอนถูกต้อง 
  • 'กัณวีร์' ส.ส.พรรคเป็นธรรม โพสต์เฟซบุ๊ก ค้านรัฐไทยใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ผลักดันเด็ก รร.อ่างทอง 126 คนที่ไม่มีเอกสารทะเบียนฯ กลับเมียนมา-ภูมิลำเนา  ชี้ละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และหลักการไม่ผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย ขอเจ้าหน้าที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และหลักการการศึกษาเพื่อทุกคน 

 

7 ก.ค. 2566 เว็บไซต์สำนักข่าวชายขอบ รายงานวานนี้ (6 ก.ค.) ความคืบหน้ากรณีที่เด็กนักเรียนอายุ 5-16 ปี จำนวน 126 คนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 (ราษฏร์อุปถัมภ์) อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ถูกส่งตัวกลับพื้นที่ต้นทางที่จังหวัดเชียงราย เพื่อส่งตัวให้ผู้ปกครอง และผลักดันออกนอกประเทศ ภายหลังจากที่มีการดำเนินคดีกับ กัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ในข้อหานำพา และย้ายไปปฏิบัติงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอ่างทอง โดยล่าสุด เด็กๆ ทั้ง 126 คนถูกนำตัวไปยังสถานสงเคราะห์ 5 แห่งใน จ.เชียงราย เพื่อรอผู้ปกครองมารับและบางส่วนถูกส่งตัวกลับประเทศพม่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินการครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเด็กๆ กลุ่มนี้ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน และการผลักดันอาจทำให้เด็กกลับไปสู่อันตราย

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2566 กัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ปฏิบัติงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอ่างทอง ให้สัมภาษณ์ว่า เธอรับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้เมื่อ ก.พ. 2565 ซึ่งขณะนั้นมีนักเรียนอยู่  12 คน เมื่อหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วมีทางออกคือการไปรับเด็กจากที่อื่น ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำมานานแล้ว 20-30 ปี จึงได้ติดต่อศิษย์เก่าบนดอยแม่สลอง โดยชุดแรก 35 คน ซึ่งได้ทำเรื่องตามระบบ โดยบันทึกข้อมูลเด็กไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎร์โดยไม่มีปัญหาใดๆ จนได้เอกสารตัว G

ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 กล่าวว่า ในปีนี้ได้มีการประสานงานเพื่อรับเด็กมาเรียนอีกครั้ง ซึ่งก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังมูลนิธิวัดสระแก้ว เช่นเดิม เพื่อให้ดูแลจนรับเด็กมาได้ 72 คน ซึ่งเดิมทีต้องการเด็กเพียง 40 คน แต่มีผู้ปกครองที่ทราบข่าวต้องการให้เด็กๆ ได้มาเรียนที่นี่จำนวนมาก เพราะมีการบอกต่อๆ กัน รวมทั้งเด็กๆ ก็ต้องการมาเรียน เมื่อเด็กๆ มาถึงก็ทำกระบวนการเช่นเดิม แต่ครั้งนี้มีการตั้งคำถามจากสำนักงานเขตพื้นที่ฯ เพราะเห็นว่ามีเด็กจำนวนมากขึ้นเยอะ และมีการลงมาตรวจสอบ เพราะมีการร้องเรียนจากบุคลากรบางคนในโรงเรียน ในที่สุดทางเขตการศึกษาบอกว่า ถ้าไม่มีเอกสาร ก็ขอให้ส่งเด็กกลับ ซึ่งตนเองก็เตรียมที่จะส่งกลับแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงมีการไปแจ้งความ และกลายเป็นเรื่องที่บานปลายไปเรื่อยๆ

"เด็กๆ ส่วนใหญ่มีทั้งที่อยู่ฝั่งไทยและเดินทางข้ามมาจากฝั่งพม่า บางคนก็มีพ่อแม่เป็นคนไทย ที่น่าเสียใจ คือพอเกิดเรื่องทำให้เด็กๆ ทั้งหมดต้องออกจากเรียนกลางคัน ทั้งเด็กเก่า เด็กใหม่ มันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง พวกเขาควรได้เรียน เราเองก็ตอบคำถามผู้ปกครองไม่ได้ ดิฉันรู้สึกผิดมากที่เห็นเด็กๆ ไม่ได้เรียนต่อ ตอนนี้โรงเรียนก็ต้องปิดทั้งๆ ที่กระบวนการทุกอย่างเป็นไปโดยถูกต้อง ผู้ปกครองของเด็กๆ ต่างก็ได้ทำหนังสือรับรองอนุญาตให้มาเรียน" กัลยา กล่าว

ในวันเดียวกัน ที่โรงแรม 'เดอะ เฮอริเทจ' (The Heritage) อ.เมือง จ.เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้จัดเสวนา "ร่วมมือแสวงหาแนวทางการรับมือการจัดการสถานะบุคคลต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัยการอพยพของประชาชนจากเมียนมา" โดยผู้เข้าร่วมเป็นผู้รู้เรื่องงานสถานบุคคลซึ่งมีทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ผู้แทนยูนิเซฟ (Unicef) กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ส.ส. และตัวแทนฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กรมการปกครอง หรืออื่นๆ 

ทั้งนี้ นอกจากการหารือเรื่องงานสถานการณ์การอพยพของประชาชนจากฝั่งพม่า และพูดถึงทางออกของปัญหาแล้ว หลายคนในที่ประชุมยังได้วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่หลายหน่วยงานของไทยขนย้ายเด็กๆ 126 คนจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง มาอยู่ในสถานสงเคราะห์ จนทำให้เด็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดกฏหมายคุ้มครองเด็ก

ศรีประภา เพชรมีศรี อ.คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าควรมีการเตือนสติกระทรวงศึกษาธิการ ว่ากำลังสับสนเรื่องภารกิจของตัวเอง และกำลังกังวลว่ามีอีกหลายกรณีที่รับเด็กนักเรียนลักษณะเดียวกันไปเรียน และจะเกิดปัญหาตามมาเช่นกัน เพราะเดิมทีผู้อำนวยการหลายโรงเรียนก็ไม่กล้ารับเด็กอยู่แล้ว เพราะกลัวว่าเป็นการให้ที่พักพิง และผิดกฎหมาย ดังนั้น ควรมีการสำรวจว่ามีโรงเรียนแบบนี้มีอีกกี่แห่ง และขณะนี้มีเด็กอีกนับพันคนที่หนีภัยการสู้รบเราควรปฏิบัติกับเด็กเหล่านี้อย่างไร

กัณวีร์ สืบแสง ส.ส.พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้มีกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง แต่หน่วยงานราชการเลือกใช้แต่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ดังนั้น ควรเอาเรื่องคุ้มครองเด็กไปไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือหากปล่อยไปเช่นนี้ก็ต้องยกระดับขึ้น ขณะเดียวกัน หลักการไม่ส่งเด็กกลับเป็นเรื่องจารีตระหว่างประเทศที่ไม่มีใครทำกัน ดังนั้นการส่งเด็กๆกลับไปในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

วีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าเด็กๆ ไม่ควรถูกออกจากระบบการศึกษาแม้จะไม่มีหลักฐานใดๆ ก็ตามซึ่งเป็นหน้าที่ที่กระทรวงศึกษาต้องออกเลขรหัส G-code ให้ ซึ่งกรณีนี้เด็กทั้ง 126 คน ทางโรงเรียนก็ได้ขอรหัสนี้ให้ แต่ไม่ได้รับ ที่ตนไม่เข้าใจคือทำไมถึงต้องส่งเด็กกลับ เพราะเด็กควรมีสิทธิเรียนในโรงเรียนใดก็ได้

"การจะเอาผิดกับผู้อำนวยการโดยตั้งข้อหานำพา และการให้เด็กได้เรียน เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเอามารวมกันก็วุ่นวาย กรณีนี้ผู้อำนวยการก็มีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครองให้เด็กๆ มาเรียนถูกต้องตามขั้นตอน" วีระ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเสวนา ผู้ร่วมเสวนา เช่น เตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิ พชภ. ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กัณวีร์ ได้เดินทางมายังบ้านพักฉุกเฉินขอมูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้นำเด็กนักเรียน 35 คนที่เดินทางมาจาก จ.อ่างทอง มาฝากไว้เพื่อรอติดต่อผู้ปกครองและส่งกลับ

ทั้งนี้ เด็กๆ หลายคนเป็นเด็กอยู่บนดอยแม่สลอง บางส่วนเป็นเด็กจากฝั่งพม่า โดยส่วนใหญ่บอกว่ายังต้องการเรียนหนังสือต่อ แต่คงหมดโอกาสโดยเฉพาะเด็กที่ข้ามมาจากฝั่งพม่า ส่วนเด็กในฝั่งไทยก็อาจจะเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน สาเหตุที่เดินทางไปเรียนถึงจังหวัดอ่างทอง เพราะเคยมีรุ่นพี่ๆไปเรียนแล้ว จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

ส.ส.เป็นธรรม โพสต์ค้านใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง แนะรัฐไท่ยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก-เยาวชน

ในวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความต่อกรณีดังกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา กัณวีร์ ลงเยี่ยมเด็ก 25 คน จาก 126 คน ณ บ้านพักฉุกเฉินแห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย ที่เป็นกรณีเด็กข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อรับการศึกษาในโรงเรียนจังหวัดแห่งหนึ่งที่อ่างทอง และเป็นเหตุที่ว่า ผอ.โรงเรียนพยายามขอทะเบียนนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติ (G Code) แต่เมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อ่างทอง ตรวจสอบ เพราะเห็นจำนวนที่มากผิดปกติ ทำให้พบว่ามีการนำเด็กจากเมียนมาเข้ามาเรียนจำนวนมาก และได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับ ผอ.โรงเรียนดังกล่าว และเตรียมผลักดันเด็กกลุ่มนี้กลับประเทศต้นทางทำให้ต้องออกจากการศึกษากลางคัน

กัณวีร์ ระบุต่อว่า แม้ว่าการผลักดันเด็กโดยอยู่บนหลักของ พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ใครเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกดำเนินคดี จับ-ดำเนินคดี-รับโทษ-ผลักดันกลับ จะเป็นวิธีที่ถูกต้อง และแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว แต่ต้องคำนึงว่า ผู้ที่จะถูกผลักดันกลับนี้เป็นเด็กอายุเพียง 7-16 ปีเท่านั้น รวมถึงมีเด็ก 1 คนที่เดินทางตามพี่ชายเข้ามา

ต่อมา กัณวีร์ เสริมว่า การลักลอบพาเข้าประเทศผิดกฎหมาย ละเมิด พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 จริง แต่ต้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบพาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามที่พนักงานสอบสวนดำเนินคดี และว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่เด็กเป็นเหยื่อ ไม่ได้อยู่ในขบวนการใดๆ 

ประการที่สาม ตามข้อตกลงร่วม MOU 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ตาม พ.ร.บ. ตรวจเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หากพบเด็กกระทำผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ไม่ต้องดำเนินคดีใดๆ สามารถส่งกลับได้เลยตามกระบวนการที่วางไว้ ดังนั้น หากดูตามกฎหมายคนเข้าเมือง รวมถึงกระบวนการต่างๆ ก็สามารถส่งกลับได้ 

กัณวีร์ ระบุต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ครอบคลุม “เด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี” เด็ก คือ เด็ก ไม่แยกแยะสัญชาติ และใน พ.ร.บ.นี้ โดยเฉพาะในหมวดและมาตราที่การคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ดังนั้น ส่วนราชการต้องสังเคราะห์สถานการณ์เรื่องผลประโยชน์สูงสุดของเด็กให้ดีว่า เด็กมีความประสงค์ในการศึกษาเล่าเรียน ไม่ได้แสวงหาประโยชน์ด้านอื่น อีกทั้งนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เรื่อง "Education for All" การศึกษาสำหรับทุกคน โดยไม่แยกแยะชาติพันธุ์ และสัญชาติ 

ดังนั้น ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองเด็กและนโยบายการศึกษาแห่งชาติ น้องๆ 126 คนนี้ต้องได้รับความคุ้มครองโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก และเป็นไปตามนโยบายการศึกษาสำหรับทุกคน

กัณวีร์ มองว่า ตอนนี้เหมือนมีกฎหมายหลายฉบับซ้อนทับกัน แต่รัฐไทยใช้เพียง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ปี 2522 เพื่อให้จบปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และง่ายที่สุด แต่การแก้ไขปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่ออนาคตเด็ก 126 รายที่ต้องใช้ชีวิตต่อไป

ส.ส.พรรคเป็นธรรม ระบุต่อว่า ขั้นตอนต่อไป เด็กๆ ทั้ง 126 ราย ได้ออกจากระบบการศึกษาสามัญแล้ว และจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง หากสามารถติดต่อผู้ปกครอง และได้รับการตรวจสอบว่าเป็นผู้ปกครองที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม กัณวีร์ สำทับว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองบังคับใช้กับเด็กและเยาวชน เนื่องจากเด็กเหล่านี้ไม่ว่าจะสัญชาติใดควรได้รับการศึกษา โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ และการให้เด็กเรียน และทำเรื่องขอ G Code สามารถทำได้ 

นอกจากนี้ การผลักดันเด็กควรคำนึงถึงหลักการไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง เนื่องจากขณะนี้ประเทศเมียนมาอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง การส่งเด็กกลับไปอาจทำให้พวกเขาได้รับอันตราย และอาจละเมิดจารีตประเพณีระหว่างประเทศอีกด้วย 

"ง่ายนะ แต่ผมว่า (ผู้สื่อข่าว - การผลักดันเด็ก 126 รายกลับประเทศต้นทาง) ไม่ถูก ไม่ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ไม่ได้ดูว่ามนุษย์เป็นทรัพยากรทางมนุษย์ที่มีคุณค่า การศึกษาเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้คนมีคุณภาพและร่วมสร้างพัฒนาโลกแห่งนี้ได้ การที่ไทยให้การศึกษาต่อเด็กไม่ว่าสัญชาติใด ตามงบประมาณและแนวทางการปฏิบัติที่มีอยู่ได้ เราควรทำ ไม่งั้นเราจะมีการขอทำทะเบียน G Code สำหรับเด็กไม่มีสัญชาติไปทำไม

"แยกให้ออก ขบวนการลักลอบนำพา (หากมีจริง) เหยื่อผู้ถูกกระทำ อะไรคือผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก การศึกษาสำหรับทุกคน

"นี่ยังไม่ได้พิจารณาถึงพื้นที่ที่เด็กๆ กำลังจะถูกผลักดันไปยังพื้นที่ ที่จะมีสงครามระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมานะครับ หลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) ที่เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ทุกประเทศในโลกต้องเคารพและปฏิบัติตาม

"หากเป็นเรา ถามจริงเถอะ จะตัดใจให้ลูกๆ ไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อไปเรียนหนังสือได้เหรอ หากมันไม่หมดหนทางจริงๆ ตัดใจได้มั้ยหากเป็นลูกๆ ของเรา ที่ต้องออกจากอ้อมอกของเราทุกคน

"ผมจะตามต่อ" กัณวีร์ ทิ้งท้าย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net