Skip to main content
sharethis

ศาลสูงสุดของญี่ปุ่นตัดสินให้ข้าราชการสตรีข้ามเพศสามารถใช้ห้องน้ำหญิงได้ เป็นการพลิกคำตัดสินของศาลสูงโตเกียวที่สตรีข้ามเพศรายนี้เคยยื่นฟ้อง โดยเธอถูกกีดกันจากนโยบายของกระทรวงการคลังที่ทำงาน ซึ่งบังคับให้เธอต้องขึ้นอาคารไปอีก 2 ชั้น เพื่อเข้าห้องน้ำชาย ศาลสูงสุดยังระบุว่าการมีนโยบายจำกัดไม่ให้คนข้ามเพศเข้าห้องน้ำตามเพศสภาพของตนเองนั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

 

15 ก.ค. 2566 เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของญี่ปุ่นได้ตัดสินในเรื่องที่เป็นหมุดหมายความก้าวหน้าสำคัญในเรื่องความหลากหลายทางเพศ คือการตัดสินว่าควรมีการอนุญาตให้สตรีข้ามเพศใช้ห้องน้ำตามเพศสภาพที่เป็นหญิงของพวกเธอได้ และระบุว่าการมีนโยบายจำกัดไม่ให้คนข้ามเพศเข้าห้องน้ำตามเพศสภาพของตนเองนั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

คำตัดสินของศาลสูงสุดญี่ปุ่นกลายเป็นการหักล้างคำตัดสินเดิมของศาลสูงโตเกียวที่ระบุห้ามไม่ให้ผู้หญิงข้ามเพศใช้ห้องน้ำหญิง อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ศาลสูงสุดของญี่ปุ่นตัดสินในเรื่องเกี่ยวกับการใช้ห้องน้ำของผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย

ผู้พิพากษาศาลสูงสุดในญี่ปุ่นทั้ง 5 คนนั่งบัลลังก์ตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางสื่อเจแปนไทม์ระบุว่าเป็นความก้าวหน้าสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้นสำหรับคนข้ามเพศ และอาจจะส่งผลต่อการพิจารณาเรื่องแบบนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัทต่างๆ และกระทรวงต่างๆ ในรัฐบาลญี่ปุ่นในอนาคต

สตรีข้ามเพศที่ฟ้องร้องในเรื่องนี้เป็นคนที่ทำงานในกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น เธอฟ้องร้องกล่าวหารัฐบาลที่บังคับให้เธอต้องไปใช้ห้องน้ำที่อยู่เหนือสำนักงานที่เธอทำงานอยู่ขึ้นไปอีก 2 ชั้น โดยที่ทางกระทรวงห้ามในเรื่องนี้โดยอ้างนโยบายที่พวกเขาเชื่อว่า การให้ผู้หญิงข้ามเพศใช้ห้องน้ำผู้หญิงนั้นมีความเป็นไปได้เล็กน้อยที่จะทำให้เพื่อนร่วมงานหญิงของเธอรู้สึกไม่สบายใจจนไม่ยอมใช้ห้องน้ำ

เรื่องนี้เคยมีการตัดสินในศาลแขวงกรุงโตเกียวเมื่อปี 2562 ที่ระบุไปในทางสนับสนุนโจกท์คือคนข้ามเพศที่ฟ้องร้อง แต่ต่อมาในศาลสูงโตเกียวเมื่อปี 2564 ก็มีการตัดสินไปในทางตรงกันข้ามโดยสนับสนุนนโยบายกีดกันของกระทรวงการคลัง

ยูกิฮิโกะ อิมาซากิ ผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่พิจารณาคดีนี้กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังตัดสินใจที่จะคงไว้ซึ่งนโยบายกีดกันการใช้ห้องน้ำของโจทก์นั้น ถือเป็นการ "คิดแทนอย่างเกินเลย" ต่อเพื่อนร่วมงานหญิงของเธอ กลายเป็นการส่งผลให้เกิด "การละเลยอย่างไม่เป็นธรรมต่อความเสียเปรียบของโจทก์"

อิมาซากิกล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น "ขาดความสมเหตุสมผลอย่างมาก" ดังนั้นแล้ว "มันถึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะมันอยู่นอกขอบเขตดุลยพินิจ และนับเป็นการลุแก่อำนาจ"

ฮิโรคาซุ มัทสึโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีกล่าวว่าทางรัฐบาลจะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป หลังจากที่ข้อโต้แย้งของพวกเขาถูกปฏิเสธ

สตรีข้ามเพศผู้ที่เป็นโจทก์ในคดีนี้กล่าวหลังการตัดสินครั้งล่าสุดว่า "ฉันรู้สึกพึงพอใจกับความคิดเห็นทางบวกของผู้พิพากษา (ในเรื่องที่ว่าควรจะต้องสร้างสังคมที่มีความหลากหลาย)"

โทชิมาสะ ยามาชิตะ ทนายความของหญิงข้ามเพศรายนี้กล่าวชื่นชมคำตัดสินของศาลที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กระทรวงการคลังญี่ปุ่นในเรื่องความไม่สมเหตุสมผลของข้ออ้างในการปิดกั้นเรื่องห้องน้ำ

สตรีข้ามเพศที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะความทุกข์ใจในเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด (gender dysphoria) มาตั้งแต่ปี 2542 หลังจากนั้นเธอก็เข้าทำงานในกระทรวงการคลังและใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงนอกที่ทำงานมาตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ต่อมาเธอขออนุญาตแต่งหญิงและแต่งหน้ามาทำงาน เธอถูกย้ายไปทำงานในอีกที่หนึ่งและเริ่มแสดงออกเป็นหญิงในที่ทำงานตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา แต่ในตอนนั้นเธอก็ยังถูกห้ามไม่ให้ใช้ห้องน้ำหญิงที่อยู่ชั้นเดียวกับสำนักงานของเธอ หรืออีกสองแห่งที่อยู่ห่างออกไป 1 ชั้นทั้งชั้นบนและชั้นล่าง

ในเอกสารระบุตัวตนของสตรีข้ามเพศรายนี้ยังคงถูกระบุเป็น "ชาย" เพราะเธอยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ เพราะกฎหมายของญี่ปุ่นในปัจจุบันยังคงกำหนดให้ต้องมีการผ่าตัดแปลงเพศเสียก่อนถึงจะเปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้ ตรงกันข้ามกับหลายประเทศที่ก้าวหน้ามากกว่าในเรื่องนี้ เช่น ฟินแลนด์ ที่คนข้ามเพศไม่จำเป็นต้องแปลงเพศก็สามารถเปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้

ในปี 2556 สตรีข้ามเพศผู้นี้ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานบริหารทรัพยากรบุคคลของรัฐให้มีการยกเลิกข้อจำกัดห้ามไม่ให้เธอเข้าห้องน้ำหญิง แต่ข้อร้องเรียนของเธอก็ถูกปฏิเสธจากข้ออ้างที่ว่ามันจะสร้างความไม่สบายใจให้กับเพื่อนร่วมงานหญิงตามเพศกำเนิด จนกระทั่งในปี 2558 เธอก็ได้ฟ้องร้องต่อศาลในเรื่องนี้

ทางกระทรวงเคยอ้างว่ามีข้าราชการหญิงหลายคนที่แสดงความไม่สบายใจที่จะใช้ห้องน้ำร่วมกับสตรีข้ามเพศ แต่คำตัดสินล่าสุดออกมาคัดค้านกับข้ออ้างของกระทรวง เพราะกระทรวงไม่ได้ถามไถ่ข้าราชการหญิงอย่างที่อ้างแต่แค่ทึกทักไปเอง คิดแทนพวกเธอ ซึ่งกลายมาเป็นข้อถกเถียงหลักของคดีนี้ นอกจากนี้ศาลสูงสุดยังตัดสินอีกว่า มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่สตรีข้ามเพศผู้เป็นโจทก์จะก่อเหตุประทุษร้ายทางเพศในห้องน้ำหญิง

ในทางตรงกันข้าม เคยมีผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) ระบุว่าเป็น คนข้ามเพศ ต่างหาก ที่มีโอกาสเผชิญกับความรุนแรงทางเพศมากถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับชายหญิงตามเพศกำเนิด ไม่ว่าจะเป็น การข่มขืน, การประทุษร้ายทางเพศ และความรุนแรงอื่นๆ

ทั้งนี้ผู้พิพากษาอิมาซากิยังกล่าวอีกว่า ขอให้คำตัดสินนี้กลายเป็นแนวทางในเรื่องการใช้ห้องน้ำสำหรับคนข้ามเพศ และขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเรียกร้องของคนข้ามเพศกับเพื่อนร่วมงานอื่นๆ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

ประเด็นเรื่องการที่คนข้ามเพศถูกกีดกันจากการใช้ห้องน้ำตามเพศสภาพของตนนั้นยังคงเป็นปัญหาในญี่ปุ่น เคยมีการสำรวจเมื่อปี 2565 โดยมหาวิทยาลัยคานาซาวะร่วมกับบริษัทผลิตที่กั้นห้องและเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน Lixil ระบุว่า คนข้ามเพศร้อยละ 42 ไม่ได้ใช้ห้องน้ำที่ตรงกับเพศสภาพของพวกเขาหรือพวกเธอตอนอยู่ในที่ทำงาน

 

 

เรียบเรียงจาก

Japan's Supreme Court makes landmark decision on transgender rights, Japan Times, 11-07-2023

https://www.japantimes.co.jp/news/2023/07/11/national/crime-legal/trans-official-bathroom-use-supreme-court/

Transgender people over four times more likely than cisgender people to be victims of violent crime, UCLA, 23-03-2021

https://williamsinstitute.law.ucla.edu/press/ncvs-trans-press-release/

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Gender_self-identification

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net