Skip to main content
sharethis

BINA Patani พร้อมระดมทุนภาคประชาสังคมปาตานี เผยครั้งแรกที่นักวิชาการ ผู้ศาสนาและประชาสังคมทำงานร่วมกัน เน้นสร้างเกราะป้องกันสังคมวัฒนธรรมปาตานี ดึงผู้นำศาสนาทำงานพัฒนาสังคม เป้าหมายเพื่อความยังยืนด้านงานสังคมและธุรกิจ

สถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์ (INSANI) สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) และเครือข่ายผู้นำอิสลามปาตานี (JAKIP) พร้อมจัดงานเลี้ยงการกุศลระดมทุนเพื่อจัดตั้ง “กองทุนองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี” หรือ BINA Patani ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 22-23 กรกฎาคม 2566 ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยในงานจะมีการจัดสัมมนาวิชาการปาตานี-นูซันตาราและพิพิธภัณฑ์การศึกษาและวัฒนธรรมปาตานีด้วย

การตั้งกองทุนดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อหนุนเสริมและสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนในปาตานีในการปกป้องรักษาอัตลักษณ์สังคมที่มีความหลากหลายสู่สันติภาพที่ยั่งยืน สำหรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมปาตานี ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การรักษาอัตลักษณ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม ปกป้องสิทธิมนุษยชนและหนุนเสริมสันติภาพปาตานี และภารกิจอื่นๆ

ไพซอล ดาโอ๊ะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองผู้อำนวยการสถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์ (INSANI) ในฐานะประธานโครงการ BINA Patani กองทุนองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี

สร้างเกราะป้องกันสังคมวัฒนธรรมปาตานี

ไพซอล ดาโอ๊ะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองผู้อำนวยการสถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์ (INSANI) ในฐานะประธานโครงการ BINA Patani กองทุนองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการเพื่อการสร้างคน เนื่องจากสังคมในพื้นที่ยังมีความอ่อนแอ มีปัญหาและอุปสรรคหลายอย่างที่ต้องเผชิญในอนาคต แต่องค์กรภาคประชาสังคมที่จะมีบทบาทแก้ปัญหาต่างๆ ก็มีปัญหาและอุปสรรคมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ

“การจัดตั้งกองทุน BINA Patani เพื่อจะช่วยให้องค์กรภาคประชาสังคมสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมสามารถเผชิญปัญหาต่างๆ ทั้งจากภายนอกและภายในเองที่จะมีผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรมและศาสนา ที่นับวันก็ยิ่งอ่อนแอลง” ทั้ง 3 องค์กร (INSANI, CAP และ JAKIP จึงได้ร่วมกันคิดว่า จำเป็นที่ต้องจัดงานระดมทุนเพื่อให้มีงบประมาณในการที่จะขับเคลื่อนงาน และกิจกรรมต่างๆ 

ดึงผู้นำศาสนาทำงานพัฒนาสังคม

สำหรับเครือข่ายผู้นำอิสลามปาตานี (JAKIP) ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน เกิดจากการก่อตั้งของกลุ่มผู้นำศาสนาที่เข้าอบรวมกับ INSANI ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลาและสงขลาทั้งหมด 5 รุ่น รวม 125 คนจาก ส่วนในจังหวัดนราธิวาสทางศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS : Pusat Pengembangan Kebudayaan Islam) เป็นผู้จัดอบรมจำนวน 2 รุ่น โดยวิทยากรจาก INSANI เป็นผู้ให้การอบรม

ไพซอล กล่าวด้วยว่า “เราค้นพบว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้นำศาสนามักไม่ค่อยมีบทบาททางสังคมมากนัก โดยเฉพาะการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม ส่วนใหญ่จะสอนศาสนาอย่างเดียว จึงเกิดแนวคิดที่จะดึงผู้นำศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยให้เข้ามาเรียนรู้ปัญหาต่างๆ ในสังคมร่วมสมัยที่ผู้นำศาสนาไม่เคยได้ยินมาก่อน ทั้งสถานการณ์ทางสังคม ศาสนา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม รวมถึงกระบวนการสันติภาพ

ประธานโครงการ BINA Patani กองทุนองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี กล่าวว่า เหตุที่กลุ่มผู้นำศาสนามักไม่ค่อยมีบทบาทด้านสังคมมากนัก อาจเป็นเพราะความหวาดกลัวหรือเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากหน่วยงานความมั่นคง ทั้งที่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ ซึ่งกลุ่มผู้เป็นศาสนาที่เข้ารับการอบรมได้ให้ความสนใจอย่างมาก และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม 

ไพซอล กล่าวว่า ต้องทำให้การทำงานเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างๆ ที่นำมาใช้ในพื้นที่ ต้องทำให้พวกเขามีความกล้าหาญมากขึ้นผ่านการทำงานร่วมกัน แม้อาจจะยังไม่เต็มร้อยก็ตาม “เราหวังว่า ในวันข้างหน้าพวกเขาจะมีบทบาทในการทำงานแก้ปัญหาในสังคมมากขึ้นไปอีก”

ครั้งแรกของการทำงานร่วมกัน

ประธานโครงการ BINA Patani กองทุนองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี กล่าวว่า ดังนั้น ครั้งนี้จึงเป็นการทำงานร่วมกันเป็นครั้งแรกระหว่างนักวิชาการ ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคม และถือเป็นการทำงานร่วมกันของคน 3 รุ่น คือผู้นำศาสนาส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นอาวุโส นักวิชาการจาก INSANI เป็นคนรุ่นกลาง ส่วน CAP เป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานภาคสนาม 

ไพซอล กล่าวว่า สำหรับ INSANI เองก็เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการมหาวิทยาลัยกับผู้มีความรู้กีตาบยาวีหรือตำราศาสนาภาษามลายูอักษรยาวีซึ่งส่วนใหญ่ก็จะทำงานในสถาบันปอเนาะ(สถานศึกษาศาสนาแบบดั้งเดิม) ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามที่จะสร้างการทำงานร่วมกันแบบนี้หลายครั้ง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

เป้าหมายกองทุนเพื่อความยังยืนด้านงานสังคมและธุรกิจ

ไพซอล กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายของกองทุน BINA Patani จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งสำหรับจัดกิจกรรม และอีกส่วนหนึ่งสำหรับการลงทุนเพื่อให้มีผลประโยชน์งอกเงยขึ้นมา

ประธานโครงการ BINA Patani กองทุนองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี กล่าวว่า ในเบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของ INSANI จะเสนอแผนธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย และเป็นธุรกิจที่ฮาลาล (เป็นที่อนุญาตทางศาสนา) เช่น การรับจำนำของสินทรัพย์ต่างๆ อย่างรถยนต์ รถจักรยานยนต์หรือทองคำ และจะดำเนินการในรูปแบบของสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้ก็ได้กำลังร่างระเบียบต่างๆ เพื่อเสนอต่อที่ประชุม

“เป้าหมายของธุรกิจก็เพื่อจะสร้างความยั่งยืนให้งานพัฒนาสังคมและการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ไม่จำกัดเฉพาะสมาชิกเท่านั้น แต่จะเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย” ไพซอล กล่าว

เน้นพัฒนาศักยภาพผู้นำศาสนานักพัฒนาสังคม

ประธานโครงการ BINA Patani กองทุนองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี กล่าวว่า ส่วนเป้าหมายในเชิงประเด็นการทำงาน ก็จะเน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพผู้นำศาสนาในการพัฒนาสังคม และการสร้างเกราะป้องกันภัยอันตรายในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละองค์กรก็จะมีเป้าหมายของตัวเองอยู่แล้ว

แต่สำหรับ INSANI เองก็มีเป้าหมายหลักๆ ก็คือ งานทางวิชาการ เช่น การทำวิจัยการ การสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ และการผลิตตำรา

เปิดมหาวิทยาลัยใหม่ – ยกระดับวิทยาลัยศาสนา

ไพซอล กล่าวว่า INSANI มีวางแผนถึงการเปิดมหาวิทยาลัยในสาขาที่ยังไม่มีสถาบันสอนในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านอาชีพและการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ เช่น สาขาเศรษฐศาสตร์ วิทยาการจัดการ รวมถึงเทคโนโลยี ส่วนด้านการศึกษาศาสนาถือว่ามีความเข้มแข็งอยู่แล้ว

ประธานโครงการ BINA Patani กองทุนองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี กล่าวว่า INSANI ยังมีบทบาทที่จะยกระดับสถาบันการศึกษาทางศาสนาในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะวิทยาลัยอิสลามเช็คดาวูดอัลฟาฏอนี หรือ JISDA จ.ยะลาให้ทันสมัยเริ่มจากระดับอนุปริญญาก่อน ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะจัดตั้งได้ เพราเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนแล้ว 

“สิ่งที่เรานำเสนอนี้เป็นแนวคิดที่เป็นไปได้ เนื่องจากมีผู้สนับสนุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ” ไพซอล กล่าว และระบุด้วยว่า การเปิดมหาวิทยาลัยเพิ่มซึ่งเป็นของคนในพื้นที่เองจะกระตุ้นให้คนอยากมีการศึกษาเรียนรู้มากขึ้น เพราะคนในพื้นที่มีความต้องการทางการศึกษาสูงมาก แต่คิดว่าไม่มีสถานศึกษาที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต แต่ก็ไม่แสวงหาที่อื่นที่เหมาะสมก็เลยไม่อยากเรียน อาจเพราะค่าเทอมแพง สอบเข้ายาก หรือเพราะภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนที่รู้สึกว่ายาก เพราะคนที่นี่ไม่ชำนาญภาษาไทย การเปิดมหาวิทยาลัยใช้ภาษาของคนในพื้นที่และทำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต คาดหวังได้ว่าน่าจะมีคนเข้ามาเรียนเยอะ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net