Skip to main content
sharethis

เมื่อเหมืองโปแตชในลาว ไม่ได้เป็นการสร้างงานให้กับคนในประเทศลาวแต่อย่างใด แต่กลับกลายเป็นการนำเอาคนงานชาวจีนเข้าไปทำงานแทนที่แรงงานชาวลาว จนทำให้มีแรงงานชาวจีนมากกว่าชาวลาว กลายเป็นการละเมิดข้อตกลงที่เคยทำไว้ระหว่างรัฐบาลลาวกับบริษัทเหมืองแร่

มีแรงงานชาวจีนจำนวนมากเข้าไปทำงานที่เหมืองแร่โปแตชในใจกลางประเทศลาว ทำให้ตัวเลขจำนวนแรงงานจีนในพื้นที่ดังกล่าวพุ่งขึ้นไปที่ประมาณ 3,000 คน แล้ว มากกว่าจำนวนแรงงานลาวที่มีอยู่แค่ประมาณ 100 คนเท่านั้น ถึงแม้ว่ามีข้อตกลงที่ว่าผู้ประกอบการเหมืองแร่จะต้องจ้างงานชาวลาวเป็นจำนวนมากกว่าชาวจีน

รัฐบาลและคนในพื้นที่เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการเคลื่อนย้ายคนงานชาวจีนประมาณ 1,000 คนไปยังเหมืองในแขวงคำม่วนจนทำให้เกิดการเลย์ออฟคนงานชาวลาว ทำให้พวกเขาจำนวนมากไม่สามารถหางานได้

เหมืองแร่โปแตชในเมืองหนองบก แขวงคำม่วน กินเป็นที่ 35 ตร.กม. เป็นเหมืองแร่ที่ดำเนินการโดยบริษัท ซีโน-แอกรี อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทแม่ชื่อ เอเชีย โปแตช อินเตอร์เนชันแนล อินเวสต์เมนต์ (กว่างโจว) จำกัด ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับหน่วยงานรัฐบาลจีนที่ชื่อ คณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน

โปแตชมีชื่อทางเคมีคือ "โพแทสเซียมคลอไรด์" เป็นแร่โพแทสเซียมที่สามารถละลายน้ำได้ ส่วนมากแล้วมักจะนำมาใช้เป็นปุ๋ยรดพืชผัก โปแตชจากลาวจะถูกส่งออกต่อไปยังจีนซึ่งกำลังมีนโยบายเน้นจัดหาแหล่งแร่ให้กับประเทศตัวเองเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ

จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมลาวระบุว่า แรงงานจีนมีเอกสารอนุญาตทำงานและกำลังทำงานอย่างถูกกฎหมายในเหมืองโปแตชในลาว ที่มีแหล่งแร่โพแทสเซียมคลอไรด์อยู่ถึง 152,000,000 ตัน

แต่รัฐบาลลาวก็ไม่สามารถควบคุมจำนวนแรงงานจีนได้เพราะว่านักลงทุนชาวจีนที่เป็นผู้ประกอบการเหมืองแร่ต้องการจะจ้างแรงงานของตัวเองเพราะพวกเขาอ้างว่าแรงงานของลาวนั้นขาดทักษะ

การที่จำนวนแรงงานลาวกับแรงงานจีนในเหมืองแร่ไม่สมดุลกัน กลายเป็นการละเมิดบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลลาวลงนามร่วมกับเจ้าของเหมืองแร่ชาวจีน

มีชาวลาวคนหนึ่งที่เคยทำงานในเหมืองแร่กล่าวหาว่ารัฐบาลลาวปล่อยให้ชาวจีนเข้ามาในประเทศเพื่อแข่งขันกับแรงงานไร้ฝีมือของลาว ผู้ที่ถูกเลย์ออฟหลังจากนั้น เรื่องนี้ส่งผลให้มีบางคนกลับบ้านเกิดของตัวเองในชนบทหรือไม่ก็หางานทำที่อื่น กลายเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์

แรงงานชาวลาวเปิดเผยอีกว่า ลูกจ้างประจำส่วนใหญ่ที่เหมืองจะเป็นชาวจีน ในขณะที่ชาวลาวจะถูกจ้างในฐานะลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น โดยที่ชาวจีนจะได้รับงานขุดเจาะอุโมงค์และสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเหมือง ในขณะที่คนงานลาวจะทำงานก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่นสร้างถนน, สำนักงาน และค่ายที่พักสำหรับลูกจ้างประจำ แต่ก็จะถูกเลย์ออฟหลังจากที่โครงการเหล่านี้เสร็จสิ้น

ลูกจ้างชั่วคราวที่เหมืองเป็นแรงงานไร้ฝีมือชาวลาวที่ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดอื่น เพราะคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่อยากทำงานที่เหมืองเพราะมีค่าแรงถูก จึงหันไปทำงานที่อื่นแทน

นอกจากนี้ชาวลาวยังมีความกังวลในเรื่องที่เสี่ยงจะต้องสัมผัสกับสารเคมีจากเหมืองในขณะเดียวกับที่ไม่มีสวัสดิการแรงงานหรือสวัสดิการสุขภาพใดๆ ในสัญญาจ้างงานชั่วคราว

ชาวลาวที่เคยทำงานที่เหมืองเปิดเผยว่า แรงงานไร้ฝีมือชาวลาวที่นั่นได้รับค่าจ้าง 5.4 ล้านกีบต่อเดือน (ราว 9,800 บาท) ในขณะที่บริษัทจีนที่ทำเหมืองจ่ายให้แรงงานมีฝีมือประมาณ 10,000-20,000 บาท ต่อเดือน

บริษัท ซีโน-แอกรี ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาวลาวผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง มีการกล่าวหาว่าทางบริษัทไม่ได้จ่ายค่าชดเชยอย่างเหมาะสมจากการที่พวกเขาเข้ามายึดพื้นที่ทำเหมืองแร่ จนทำให้คนในพื้นที่สูญเสียบ้านและไร่นา

ในเดือน ธ.ค. 2565 ทางการลาวเคยทำการจับกุมชาวบ้าน 5 คนที่ประท้วงต่อต้านบริษัทซีโน-แอกรี กล่าวหาว่าพวกเขาไม่ได้รับเงินค่าชดเชยจากการสูญเสียทรัพย์สินที่ดินให้กับโครงการเหมือง ชาวบ้านเหล่านี้ได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

กลุ่มคนท้องถิ่นในลาวมักจะไม่ได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสมเมื่อต้องถูกบีบให้ละทิ้งที่อยู่อาศัยหรือที่ดินทำกินของตัวเองเพื่อโครงการพัฒนาของลาวที่เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากเหมืองแร่แล้ว บริษัท ซีโน-แอกรี ยังเคยลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับรัฐบาลลาวเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ในเรื่องแผนการสร้าง "นิคมอุตสาหกรรมแบบสมาร์ทอีโค" เป็นพื้นที่ 20 ตร.กม. ในเมืองหนองบกและท่าแขกของประเทศลาวด้วย ซึ่งเรื่องนี้ได้ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นรู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางลบกับชุมชนของพวกเขาและผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่เน้นพึ่งพาอาศัยผืนป่า

โดยที่นิคมอุตสาหกรรมที่ว่านี้จะมีส่วนที่เอาไว้ทำเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยด้วย ซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการใช้ปุ๋ยมากที่สุดในโลก และบริษัทแม่เอเชียโปแตชก็ระบุเป้าหมายว่าพวกเขาต้องการผลิตโพแทสเซียมที่เป็นวัตถุดิบปุ๋ยในลาวให้ได้ 3-5 ล้านเมตริกตันภายในช่วง 2-3 ปีนี้ เพิ่มจากเดิม 1 ล้านเมตริกตัน


เรียบเรียงจาก
At Lao potash mine, flood of Chinese workers are displacing local laborers, Radio Free Asia, 13-07-2023
Chinese-funded project would build industrial city near Laos mine, Radio Free Asia, 03-04-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net