Skip to main content
sharethis

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เข้าให้ข้อมูลกรรมการสอบข้อเท็จจริง หลังร้องเรียน 'กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน' เกณฑ์คนเข้าเหมือง-จ่ายเงินแลกลายเซ็นสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตช 

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด แจ้งข่าวว่าเมื่อ 27 ก.ค. 2566 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดประมาณ 150 คน เดินทางไปที่ที่ว่าการอำเภอด่านขุนทด เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องตรวจสอบพฤติกรรมของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ต.หนองไทร ต.หนองบัวตะเกียด และ ต.โนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายในการทุจริตและประพฤติมิชอบให้ชาวบ้านลงลายชื่อสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตช

โดยจุดเริ่มต้นของการร้องเรียนดังกล่าว เกิดจากขณะที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ มีการร้องเรียนคัดค้านการทำโครงการเหมืองแร่โปแตช ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด เนื่องจากบริษัทดังกล่าว ได้สร้างผลกระทบและเกิดความเสียหายขึ้นในพื้นที่ ต.หนองไทร และยังมีความพยายามในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการ และขุดเจาะสำรวจในพื้นที่ต่างๆ จนน่ากังวลว่าจะเกิดผลกระทบนั้น ทางกลุ่มฯได้มีการเดินทางไปยื่นข้อร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และทางผู้ว่าฯ ได้แจ้งว่าจะมีการชะลอการดำเนินการของโครงการเหมืองแร่โปรแตช และโรงต้มเกลือ ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ทั้งหมดเอาไว้ก่อน

แต่ในระหว่างรอการลงพื้นที่ของผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่กลับมีการกระทำในลักษณะเกณฑ์คนเข้าไปในเหมืองแร่ และมีการมอบเงินให้ 2,000 บาท โดยต้องมีการลงลายมือชื่อสนับสนุนโครงการฯ โดยพฤติกรรมดังกล่าวเกิดจากผู้นำชุมชน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน กลับมีพฤติกรรมเอนเอียงและสนับสนุนให้เกิดการกระทำในลักษณะซื้อสิทธิ์ขายเสียง

ทั้งนี้ขณะรอการประสานงานจากทางอำเภอฯ  ณ ลานอนุสาวรีย์ย่าโม หน้าที่ว่าการอำเภอด่านขุนทด กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ได้ปราศรัยเรื่องผลกระทบความเสียหายจากการประกอบกิจการของเหมืองแร่โปแตชที่เกิดขึ้นที่ ต.หนองไทร เนื่องจากเหมืองไม่รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งไม่มีมาตราการป้องกันผลกระทบ และดำเนินการเหมืองแร่ฯ และโรงต้มเกลือ โดยกังวลว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นที่ ต.หนองไทร จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งตอนนี้เริ่มมีปรากฏการณ์น้ำเค็มจากเดิมที่ใช้ได้ ดินเค็ม บ้านเรือนผุผัง พืชผลทางเกษตรเสียหาย และห้วยลำมะหลอด ที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำลำเชียงไกร เริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม ชาวบ้านเกรงว่าถ้าเหมืองสามารถดำเนินกิจการต่อได้ คนอำเภอด่านขุนทดทุกคนจะได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลที่ได้เดินทางมาที่อำเภอในวันนี้

ต่อมาปลัดอำเภอด่านขุนทด ได้แจ้งต่อกลุ่มฯว่า ขอให้ตัวแทนเข้าไปให้ข้อมูลเพียง 6 คน และขอให้เป็นการส่งตัวแทนขึ้นไปพูดคุยที่ห้องประชุมศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งไม่ตรงกับที่เคยแจ้งไว้เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ว่าจะมีการจัดให้มีการให้ข้อมูลที่หอประชุมอำเภอฯ กลุ่มฯจึงยืนยันขอให้ทางอำเภอทำตามข้อตกลงเดิม ปลัดอำเภอด่านขุนทด จึงตกลงให้ชาวบ้านเข้าให้ข้อมูลในหอประชุมโดยต้องจัดเก้าอี้กันเอง

ตัวแทนกลุ่มฯ เข้าให้ข้อมูลทางวาจาประกอบกับคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบ โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 3 จาก 5 คน และ มอบหมายให้ตัวแทนประมาณ 10 คน ให้ข้อมูลกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยยืนยันถึงข้อเท็จจริงในพื้นที่ว่าผู้นำชุมชน มีพฤติการณ์ในการชักชวนชาวบ้านในชุมชน ให้ไปรับเงินเพื่อแลกกับการเซ็นชื่อสนับสนุนบริษัทเหมืองแร่จริง โดยมีการสุมหัวกันเป็นขบวนการ จากการสั่งการจากกำนัน สู่ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ให้ อสม. ในพื้นที่ลงจดรายชื่อชาวบ้านแล้วส่งให้บริษัทฯ ก่อนจะเกณฑ์คนเข้าบริษัทฯ ชมวีดีทัศน์แล้วลงลายมือชื่อแลกรับเงิน 2,000 บาท

จากการมาให้ข้อมูลในครั้งนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด หวังว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะทำหน้าที่ในการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นข้าราชการที่มีหน้าที่ดูแลชาวบ้านในพื้นที่มีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม  เพราะจริงๆแล้วบุคคลเหล่านี้ ชาวบ้านเป็นผู้เลือกมา ไม่ฟังเสียงของความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่กลับไปสนับสนุนบริษัทฯ โดยเฉพาะสนับสนุนให้เกิดการจ่ายเงินเพื่อรวมรายชื่อผู้สนับสนุนซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net