Skip to main content
sharethis

‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ เกิดขึ้นในการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในปี 2563 วลีสั้นๆ ที่ถ่ายทอดความรู้สึกของการถูกกดทับมาเนิ่นนานและถึงเวลาแล้วที่ต้องจบ ‘ประชาไท’ สนทนากับอนุสรณ์ อุณโณ หนึ่งในคณะผู้เขียนหนังสือ ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย’ รุ่นเราหมายถึงใคร และแม้ว่าจะไม่ได้รับชัยชนะแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ทว่า อย่างน้อยบางสิ่งที่ดำรงอยู่มายาวนานก็ได้จบลงแล้ว

  • การชุมนุมเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในปี 2563 แตกต่างจากการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ไม่อิงสถาบันกษัตริย์ แต่กลับตั้งคำถามและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับการเมืองระบอบประชาธิปไตย
  • รุ่นเราไม่ได้จำกัดด้วยอายุหรือช่วงวัย แต่หมายถึงผู้ที่เกาะเกี่ยวกันด้วยประสบการณ์ร่วมและความคิดร่วมกัน
  • นักเรียน นิสิต นักศึกษาซึมซับรับรู้ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2540 พบว่าสถาบันกษัตริย์เป็นแกนกลางของความขัดแย้งทางการเมืองที่ต้องหาที่ทางใหม่ในการเมืองร่วมสมัย
  • การเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันไปตามบริบทประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความคิด-ความเชื่อ และสังคมในแต่ละแห่ง
  • อนุสรณ์มีความเห็นว่าปลูกฝังค่านิยม โลกทัศน์ หรือระบบคุณค่าแบบเก่าเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไปแล้ว ไม่สามารถทำได้เหมือนในอดีตอีกต่อไป และสิ่งที่ทำมาก่อนหน้าได้จบไปแล้ว

‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ วลีสั้นๆ ที่มีพลังต่อความรู้สึกนึกคิดในการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาช่วงปี 2563 มันเป็นวลีที่แสดงออกถึงการสิ้นสุดความอดทนต่อระบบระบอบที่ไม่เป็นธรรมและกดขี่มาเนิ่นนานซึ่งควรจบลงได้แล้ว นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เกือบครึ่งศตวรรษที่บทบาทของนักเรียน นิสิต นักศึกษาหายไปจากการเมืองไทย แล้วพวกเขาก็กลับมาใหม่พร้อมเป้าหมายใหญ่โตว่า มันต้องจบ

อนุสรณ์ อุณโณ (แฟ้มภาพ)

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะร่วมกันศึกษาการชุมนุมในปี 2563 เผยแพร่ออกมาเป็นหนังสือ ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย’ เล่าถึงการก่อเกิด วิธีการเคลื่อนไหว ปฏิกิริยาจากสังคมและรัฐ

‘รุ่นเรา’ ที่ไม่ได้หมายถึงอายุ แต่คือรุ่นคนที่เกาะเกี่ยวกันด้วยประสบการณ์และความคิดเดียวกัน ความคิดที่นำไปสู่ข้อสรุปเดียวกันว่า ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’

จากพันธมิตรฯ ถึง ‘รุ่นเรา’

อนุสรณ์และเครือข่ายคณาจารย์ล้วนมีความสนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างการเมืองมวลชนและการเคลื่อนไหวบนถนน นับตั้งแต่ชุดโครงการวิจัยทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทยซึ่งเป็นการศึกษาเสื้อแดง กระทั่งหลังปี 2557 ที่เกิดการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เขาก็มีโอกาสทำโครงการวิจัย ‘การเมืองคนดี ความคิด อัตลักษณ์ และปฏิบัติการทางการเมืองของผู้สนับสนุนขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหรือ กปปส.’ ซึ่งมีการอธิบายย้อนกลับไปถึงพันธมิตร กล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540

ในการชุมนุมตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ กปปส. มีนักเรียน นิสิต นักศึกษาเข้าร่วมในฐานะพลังบริสุทธิ์ เป็นไม้ประดับที่สร้างความชอบธรรมให้แก่การชุมนุม จวบจนหลังรัฐประหาร 2557 เมื่อกลุ่มการเมืองต่างๆ ต้องยุติบทบาทเพราะคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงเป็นเงื่อนไขให้นักเรียน นิสิต นักศึกษากลายเป็นผู้แสดงทางการเมือง ขยายตัว และปะทุขึ้นในปี 2563

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้อนุสรณ์และคณะสนใจว่าปัจจัยใดที่ทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ถูกปรามาสมาตลอดว่าไม่สนใจปัญหาบ้านเมืองลุกขึ้นมาอยู่แถวหน้า หากนับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่พวกเขาหายไปจากการเมืองไทย เฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน 2563 เกิดการเคลื่อนไหว 385 ครั้งใน 62 จังหวัดเป็นอย่างน้อยจาก 112 กลุ่มเป็นอย่างต่ำ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย

“ที่น่าสนใจกว่านั้นคือเมื่อเทียบเคียงกับขบวนการนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 หายไปกว่า 4 ทศวรรษ แล้วกลับมาใหม่อีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้เหมือนขบวนการนักศึกษาแบบเก่าอีกที่จะมีการจัดองค์กรที่มีศูนย์กลาง มีการจัดความสัมพันธ์ในเชิงลดหลั่นลงมา แต่เป็นการรวมตัวแบบหลวมๆ”

แต่สิ่งที่ต่างกันอย่างฟ้ากับเหวคือข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งตรงข้ามกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ขบวนการนักศึกษาในเวลานั้นอิงกับสถาบันกษัตริย์เพื่อต่อสู้กับเผด็จการทหาร มีการเดินชูพระบรมสาทิสลักษณ์ของกษัตริย์และพระราชินี ธงชาติไทยโบกสะบัดบนท้องถนนที่ให้อารมณ์ความรู้สึกไม่ต่างกับพันธมิตรฯ หรือ กปปส. แล้วจบลงด้วยการไล่เผด็จการทหาร

“แต่ครั้งนี้นอกจากไม่ได้อิงอาศัยสถาบัน กลับตั้งคำถามแล้วเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างถึงรากถึงโคน อะไรทำให้ 4 ทศวรรษอยู่ๆ โผล่ขึ้นมาแล้วไม่เหมือนรุ่นพี่ก่อนหน้าอีก นำมาสู่ว่าทำไมเราจึงอยากศึกษาขบวนการนักเรียน นักศึกษาในปี 2563 เป็นต้นมา”

‘รุ่นเรา’

อนุสรณ์กล่าวในฐานะนักเรียนมานุษยวิทยาว่าเวลาจะศึกษาใครต้องเริ่มต้นจากว่าคนคนนั้นนิยามตัวเองอย่างไร นิยามการกระทำของตนอย่างไร แล้วสำรวจว่ามีแนวทางหรือกรอบคิดทฤษฎีใดที่จะช่วยให้เข้าใจคนเหล่านั้นได้ เขากล่าวว่า

“สาเหตุที่ผมเลือกศึกษาเรื่องรุ่นเพราะมันเริ่มต้นจากคำประกาศเชิญชวนของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ตั้งขึ้นปี 2561 แต่ประกาศในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ว่า บัดนี้เวลาของการอดทนต่อการขูดรีด ต่อการกดขี่ รวมถึงการปลูกฝังค่านิยมที่ผิดที่ดำเนินมากว่า 80 ปี มันจบสิ้นลงแล้ว จะไม่ทนอีกต่อไป แล้วก็นัดรวมตัวกันวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

18 ก.ค.2563 ช่วงเย็น ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มประชาชนนำโดย กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free Youth และ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ชุมนุมเรียกร้อง ‪1. หยุดคุกคามประชาชน‬ ‪2. ประกาศยุบสภา‬ และ ‪3. เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ‬ 

“เช่นเดียวกันในวันรุ่งขึ้น 17 กรกฎาคม 2563 เพจของเยาวชนปลดแอกหรือ Free Youth ก็ประกาศข้อความชักชวนในทำนองเดียวกัน แล้วก็ลงท้ายว่า ให้มันจบที่รุ่นเรา เหมือนกัน แล้ววันที่ 18 กรกฎาคมก็มีการชุมนุมซึ่งเป็นการลงถนนครั้งแรก เป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดหลังจากรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา แล้วก็มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือหยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่”

นักเรียน นิสิต นักศึกษาหมายความตัวเองเป็นรุ่นและตั้งปณิธานว่าอยากจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นในรุ่นของพวกตน อนุสรณ์และคณะจึงนำแนวคิดเรื่องรุ่นในทางมานุษยวิทยามาใช้ในการศึกษาอยู่ เพราะว่ารุ่นคนในรุ่นหนึ่งจะมีประสบการณ์ร่วมไม่เหมือนกัน เนื่องจากอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อม เงื่อนไข บริบทที่ต่างกัน เรื่องหนึ่งคนรุ่นก่อนอาจเห็นว่าเรื่องแบบนี้น่ายกย่องบูชา แต่รุ่นถัดมากลายเป็นเรื่องที่น่าประณาม และแม้ว่ารุ่นจะมีหลายรุ่น หลายช่วงวัย แต่มักจะดูช่วงวัยเยาว์เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีประสบการณ์กับสิ่งที่สดใหม่พร้อมกับเป็นตัวรองรับการถ่ายโอน ส่งทอด ส่งผ่านความคิด จินตนาการ ระบบคุณค่า โลกทัศน์ของคนรุ่นก่อนหน้า จึงคล้ายกับเป็นจุดปะทะระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ซึ่งเป็นจุดที่มีแรงเสียดทานสูง

‘รุ่นเรา’ ที่มากกว่าคนวัยใดวัยหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้คนรุ่นเยาว์จะมีนัยสำคัญในการศึกษาเรื่องรุ่น แต่ในความเป็นจริงไม่ได้มีแค่คนช่วงวัยเดียวเพราะบางประสบการณ์ที่มีร่วมกันสามารถข้ามรุ่นคนหรือช่วงวัยได้ เช่น ประเด็นชนชั้นที่ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ คนวัยทำงาน หรือคนระดับล่างต่างก็เป็นประสบการณ์เดียวกัน ไม่จำกัดช่วงวัย คนที่มีประสบการณ์ร่วมกันอาจจะผ่านอัตลักษณ์ทางสังคมที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะช่วงวัย ดังนั้น การศึกษารุ่นคนจึงจำกัดแค่ช่วงวัยเดียวไม่ได้ ต้องกินความคนในช่วงวัยอื่นที่มีประสบการณ์ร่วมกันด้วย

ประการต่อมา อนุสรณ์และคณะยังพยายามชี้ให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างไรท่ามกลางความพยายามสร้างความสืบเนื่องของสังคมผ่านสถาบัน กฎหมาย และกลไกต่างๆ เช่น แนวคิดอำนาจนำ (hegemony) ที่ว่าชนชั้นนำรักษาสถานะทางสังคมด้วยการอ้างว่าตนสามารถดูแลผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นได้ดีที่สุด ดังนั้น การปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองคือการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นในเวลาเดียวกัน เป็นต้น

“อย่างไรก็ดี ผมจะเน้นในส่วนสภาวะนำโต้กลับ ถึงแม้ว่ากรัมชี่จะคิดตรงนี้ขึ้นมาเพื่ออธิบายชนชั้นปกครองรักษาสถานะนำของตนไว้ได้อย่างไร แต่ถ้าชนชั้นล่างต้องการปลดแอกตัวเองออกจากการครอบงำก็ต้องอาศัยความคิดนำใหม่ที่เป็นตัวเลือกหรือว่าต่อต้านซึ่งผลิตโดยปัญญาชนอินทรีย์ของตนเองใช้ในการร้อยรัดเกาะเกี่ยวผู้คนเอาไว้ ซึ่งในส่วนนี้ผมนำมาใช้ในงานเพื่อชี้ให้เห็นว่าคนต่างช่วงวัยถูกยึดโยงด้วยความคิดที่โต้กลับตรงนี้ได้อย่างไร”

อนุสรณ์อธิบายว่าเขาใช้แนวคิดเรื่องรุ่นใน 2 ความหมาย ความหมายที่หนึ่งคือคนหลายช่วงวัยที่เกาะเกี่ยวกันด้วยประสบการณ์ร่วมจนก่อให้เกิดสำนึกร่วมกัน ขณะเดียวกันก็มีการเกาะเกี่ยวกันด้วยความคิดด้วยซึ่งถูกผลิตโดยปัญญาชน รุ่นจึงไม่ได้หมายถึงคนช่วงวัยใดช่วงวัยหนึ่ง แต่หมายถึงคนหลากหลายช่วงวัยที่เกาะเกี่ยวด้วยประสบการณ์ร่วมกันและความคิด

เขายกตัวอย่างหลังปลายปี 2563 ที่การเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษาอยู่ในภาวะตั้งรับจากการถูกฟ้องดำเนินคดี บทบาทนำของคนช่วงวัยสูงกว่าก็ขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดกิจกรรม อย่างกิจกรรมคาร์ม็อบ ยืนหยุดขัง รวมไปถึงกองทุนราษฎรประสงค์

ทำไมพวกเขาจึงกลับมา?

คำถามที่หลายคนสนใจคือทำไมนักเรียน นิสิต นักศึกษาถึงออกมาหลังจากหายไปเกือบครึ่งศตวรรษ อนุสรณ์อธิบายว่าเยาวชน ‘รุ่นเรา’ เหล่านี้เติบโตขึ้นในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2540 พวกเขาซึมซับรับรู้ข้อมูลต่างๆ โดยปริยายจากครอบครัว ข่าวสาร และสังคมรอบด้าน

ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็นใจกลางความขัดแย้งทางการเมืองว่าสถานะหรือบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยควรอยู่ตรงไหนในการเมืองไทยสมัยใหม่ เป็นการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากถูกดึงมาใช้สร้างความชอบธรรมในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือ กปปส.

“มันเป็นการดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ทศวรรษ 40 เด็กเหล่านี้ก็เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ คุณอยู่ในช่วงเวลาที่กระบวนการปลูกฝังความจงรักภักดีต่อสถาบันไม่ได้อยู่ในสภาวะนิ่งสงบอีกต่อไป ไม่เหมือนในทศวรรษ 30 ตรงนี้เป็นภาวะโกลาหล สั่นคลอน และถูกท้าทาย ไม่ใช่ช่วงเวลาของการปลูกฝังความซาบซึ้งอะไรแล้ว เป็นช่วงเวลาของการตั้งคำถามซึ่งอีกฟากหนึ่งก็มีข้อมูลอย่างหนึ่ง อีกฟากก็มีข้อมูลอีกอย่าง เขาเติบโตมาในสภาพอย่างนี้”

ขณะเดียวกันยังมีโลกของสื่อดิจิทัลที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่สามารถเข้าถึงได้แค่ปลายนิ้ว ทำให้เยาวชนเกิดความรับรู้ใจกลางความขัดแย้งและรับรู้บนฐานข้อมูลที่กว้างและหลากหลาย

หลังรัฐประหาร 2557 เริ่มมีกลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มดาวดิน กลุ่มโกงกาง สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปี แต่ก็ไม่ได้เป็นกระแสใหญ่เพราะยังไม่รู้สึกว่ารัฐประหารเป็นปัญหากับชีวิตสักเท่าไร

“เขาเริ่มรู้สึกว่ารัฐประหารเป็นปัญหาและจำเป็นต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน เท่าที่เป็นกระแสใหญ่ก็คือกรณีห้ามการแชร์และฟังเพลงประเทศกูมีในตอนนั้น ตอนนั้นเป้าหมายของรัฐบาลและเครือข่าย คสช. ไม่ได้เล็งที่เยาวชน แต่เป็นเสื้อแดง แต่บังเอิญมันไปรุกล้ำชีวิตส่วนตัว รุกล้ำอิสระเสรีในการดูหนังฟังเพลงซึ่งสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาเป็นสิ่งที่เขาหวงแหนที่สุด มึงมายุ่งอะไรกับกู แทนที่การห้ามปรามจะทำให้กระแสการฟังหายไป ตรงกันข้ามเลย เหมือนเอาน้ำมันไปราดกองไฟ จากยอดฟังแค่หมื่นกลายเป็นสิบล้าน เริ่มกลายเป็นกระแสใหญ่ การต่อต้านครั้งแรกๆ ที่เราเรียกว่าการต่อต้านแบบรวมหมู่เป็นกระแสใหญ่มากที่เกิดขึ้นในตอนนั้น

“ด้วยความที่สื่อมีหลายช่องทางเขาเห็นถึงพฤติกรรมเหลวแหลกของบรรดารัฐบาล คสช. ตอนนั้นที่อ้างคุณงามความดีของตนเองเข้ามาขจัดนักการเมืองที่เขาว่าเลวร้าย แต่ตัวเองไม่ได้ต่างหรืออาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำไป แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน เป็นต้น เป็นหัวข้อการสนทนาของเด็กๆ เขาเห็นความเหลวแหลกทางศีลธรรมของบรรดาคนที่อ้างว่าเป็นคนดี แล้วก็จะมายึดอำนาจ แล้วมาห้ามกูฟังนู่นนี่อีก”

ภาพ กิจกรรมชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดสำคัญของการชุมนุมครั้งนี้คือ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา 3 ส.ค.63

ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องทะลุเพดานที่ไม่เคยมีมาก่อน

ผนวกกับการขยายตัวของโซเชียลมีเดีย การตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเริ่มหนาแน่นขึ้น เช่น ขบวนเสด็จหรือปิดเกาะที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ หรือการขยายตัวในรอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส เป็นต้น สื่อออนไลน์เป็นทั้งช่องรับข้อมูลข่าวสารและแสดงความไม่พอใจ ความอึดอัดคับข้อง

อีกทั้งในฐานะ new voters ก็รู้สึกผิดหวังกับการที่พรรคอนาคตใหม่ที่ตนเลือกไม่ได้เป็นกำลังหลักในการตั้งรัฐบาล แต่ฟางเส้นสุดท้ายคือการที่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองของผู้บริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ทำให้บรรดาเยาวชนไม่พอใจและแสดงออกในโลกออนไลน์ขยับมาสู่โลกออฟไลน์ มีแฟลชม็อบตั้งแต่เย็นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอถึงมีนาคมก็กระจายไปทั่วภูมิภาค

แล้วเมื่อเกิดการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาและการพาตัวเยาวชน 2 คนคือภาณุพงศ์ จาดนอก และณัฐชนน พยัฆพันธ์ ที่ประท้วงประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะลงพื้นที่จังหวัดระยอง ก็ทำให้ สนท. เยาวชนปลดแอก นัดลงถนนเป็นครั้งแรกในวัน 18 กรกฎาคม 2563 โดยมีเรียกร้อง 3 ข้อคือหยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

แต่หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาข้อเรียกร้องมาเป็นระยะ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ซึ่งเริ่มจากการปราศรัยของอานนท์ นำภาในการชุมนุมเสกคาถาประชาธิปไตยวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก เมื่อแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่รังสิต มีการอ่านข้อเรียกร้อง 10 ประการในการปฏิรูปสถาบัน จนกระทั่งเป็นหนึ่งในสามข้อเรียกร้องหลักของคณะราษฎร 2563 ที่ชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 คือให้ประยุทธ์ลาออก เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

“ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในแง่หนึ่งก็ทะลุเพดานและไม่เคยมีใครเคยเรียกร้องมาก่อน แต่ที่น่าสนใจคือมันกลายเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ยั่งยืน คงทน ในบรรดากลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวมากที่สุดเพราะหลังสลายการชุมนุมก็มีกลุ่มต่างๆ ไปเคลื่อนไหวกัน มีกลุ่มที่เป็นลักษณะจรยุทธ์ เช่น กลุ่มทะลุวังเน้นการทำโพลให้คนไปแปะ ปัจจุบันก็ยังทำอยู่ ทำประเด็นสถาบันกษัตริย์เป็นหลัก เช่นเดียวกันกลุ่มใหญ่ตอนนั้นที่แตกตัวออกไปก็มารวมตัวกันแบบหลวมๆ ก็ตั้งกลุ่มคณะรณรงค์ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ครย.112 แล้วก็ยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ถามว่ามันส่งผลสะเทือนยังไง มันสะเทือนเยอะมากคือเป็นเงื่อนไขหลักในการตั้งรัฐบาล

“ทำไมเขาถึงเน้นเรื่องสถาบันกษัตริย์ อย่างที่หนึ่งคือคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหลักของความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัยเกือบสองทศวรรษ มันเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อย่างแยกไม่ออก พอเด็กเหล่านี้ขึ้นมาก็รู้สึกว่ามันจำเป็นต้องพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ถ้าไม่พูดอย่างตรงไปตรงมาจะไม่มีทางแก้ปัญหาได้ ประเทศนี้ก็จะไม่สามารถหลุดไปจากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองได้”

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ขึ้นประกาศ 10 ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ วันที่ 10 ส.ค.63

10 ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก
6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

การเคลื่อนไหวในภูมิภาค

อนุสรณ์และคณะไม่ได้ศึกษาการเคลื่อนไหวเฉพาะส่วนกลาง หากยังศึกษาในภูมิภาคต่างๆ ด้วย ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งพบว่าการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา วางอยู่บนเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ บริบททางสังคม และการเมืองในแต่ละพื้นที่ที่กำกับความคึกคักเข้มแข็งของเยาวชนว่าจะเกิดขึ้นในระดับไหน รวมถึงการโต้กลับที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร

อนุสรณ์กล่าวว่าภูมิภาคที่การเคลื่อนไหวของเยาวชนความคึกคักเข้มแข็งโดยเปรียบเทียบคือภาคเหนือ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ เพราะภาคเหนือมีความสัมพันธ์กับส่วนกลางในลักษณะกระด้างกระเดื่องโดยเฉพาะการตั้งคำถามกับชนชั้นนำจารีตหรือสถาบันหลัก ครูบาศรีวิชัยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ขณะเดียวกันในบริบทการเมืองร่วมสมัย ภาคเหนือยังเป็นฐานที่มั่นของเสื้อแดงที่เหมือนกับผูกตัวเองเข้ากับชนชั้นนำใหม่ซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่แข่งหรือภัยคุกคามต่อชนชั้นนำจารีต นอกจากนี้ ภาคเหนือยังมีแนวร่วมปัญญาชนที่ค่อนข้างเข้มแข็งและผนึกตัวกันแน่นโดยเฉพาะที่เชียงใหม่คอยหนุนเสริมและทำให้ขบวนการเกิดความต่อเนื่อง

รองลงมาคือภาคอีสานซึ่งคล้ายกับภาคเหนือที่ในแง่ประวัติศาสตร์มีความกระด้างกระเดื่องกับส่วนกลาง เป็นฐานที่มั่นของเสื้อแดง แต่ที่อีสานมวลชนมีความโดดเด่นกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปัญญาชนและนักวิชาการ ทั้งยังเข้าร่วมชุมนุมในส่วนกลางด้วย มีการนำวัฒนธรรมอีสานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว ในเชิงพื้นที่ต้องถือว่าภาคอีสานมีบทบาทในการเคลื่อนไหวมาก แม้ในพื้นที่จะไม่คึกคักเท่าภาคเหนือ

ขณะที่ภาคใต้ 11 จังหวัดตั้งแต่ชุมพรจนถึงบางอำเภอในสงขลาเป็นภูมิภาคที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาถูกต้านมากที่สุด อนุสรณ์อธิบายว่า

“เพราะประวัติศาสตร์ของภาคใต้ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมามีความสัมพันธ์อันดีกับส่วนกลางหรือกรุงเทพ ไม่มีประสบการณ์จำพวกยกทัพไปบีฑาพวกกระด้างกระเดื่องในพื้นที่ มีแต่ช่วยกรุงเทพในการดูแลหัวเมืองสามจังหวัดชายแดนใต้ ภาพจำของคนในทางประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องการถูกกระทำย่ำยี พอชูอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็เลยสอดรับได้ ยิ่งเรื่องศาสนายิ่งแล้วใหญ่เพราะเขาจะถูกสั่งสอนกันมาว่านครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็โอบรับกันได้ ไม่แปลกใจที่คนใต้จะรักสถาบัน พอในช่วงการเมืองเสื้อสี พอทางพันธมิตรฯ ชูสถาบันขึ้นมา ภาคใต้ก็เป็นฐานที่มั่นของเสื้อเหลืองและ กปปส.

“ไม่นับรวมว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ที่เล่นการเมืองอิงกับสถาบัน แล้วคนใต้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ก่อนปี 2554 เมื่อคนใต้สร้างตัวตนผ่านการเลือกประชาธิปัตย์และประชาธิปัตย์ผูกตัวเองกับสถาบันกษัตริย์เลยทำให้คนใต้แสดงตัวตนทางการเมืองผ่านสถาบันกษัตริย์ไปด้วย พอเด็กพวกนี้ขึ้นมาก็จะเจอพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่เป็นอนุรักษนิยมในทางการเมืองและวัฒนธรรมก็มีปัญหาเรื่องครอบครัว”

เป็นเหตุให้การเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยมีข้อจำกัด ผู้บริหารและคณาจารย์ไม่ค่อยสนับสนุน หลายกรณีมีปัญหากับครอบครัว

กรณีสามจังหวัดชายแดนใต้แม้ไม่เชิงถูกห้ามส่วนหนึ่งเพราะเขาสู้กับรัฐไทย แต่ก็ไม่ได้รับการหนุนเสริมอย่างเข้มแข็งจากผู้ใหญ่หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่นักเรียน นิสิต นักศึกษาจะเคลื่อนไหวกันเองเพราะผู้ใหญ่ที่เป็นผู้นำศาสนาจะสงวนท่าทีที่จะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือความขัดแย้งในรัฐส่วนกลาง หรือบางกรณีก็อ้างว่าบางกิจกรรมหมิ่นเหม่กับการผิดหลักศาสนา เช่นกิจกรรมพวกมอเตอร์ไซค์ม็อบซึ่งเด็กหญิงชายซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์กัน

“ในสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วยความที่มีปัญหาความมั่นคงแทรกซ้อนขึ้นมา เวลาคนขึ้นบนเวทีบางคนก็ถูกใส่ความทำให้เลิกเคลื่อนไหวไปโดยปริยายก็มี จะถูกห้ามก็ไม่ใช่ จะได้รับการสนับสนุนก็ไม่เชิง แล้วดันมีประเด็นทางศาสนาและความมั่นคงมาแทรกซ้อนอีก เลยทำได้ก้ำๆ กึ่งๆ ภาคใต้ถึงคนวัยสูงกว่าจะเป็นอนุรักษนิยม แต่อย่างน้อยที่สุดได้มาจากพวกสหายเก่าที่เข้าป่าแทบเทือกเขาบรรทัดเป็นกำลังสำคัญในการหนุนเสริมเด็กๆ ในภาคใต้ แต่ในสามจังหวัดเขาแทบไม่ได้รับความช่วยเหลือจากใครเลย มันเป็นการเคลื่อนไหวโดยตัวพวกเขาเอง ยืนด้วยลำแข้งของตัวเองเลย ที่น่าสนใจคือมันก็สร้างแรงกระเพื่อมพอสมควร แม้ว่าพวกสายศาสนาจะมองด้วยสายตาที่ระมัดระวัง”

ความเงียบเฉยและการปรามาส

ในส่วนการโต้กลับของรัฐพบว่าไม่มีข้อเรียกร้องแม้แต่ข้อเดียวได้รับการตอบสนองหรือพิจารณาอย่างจริงจัง ตรงกันข้ามหลังจากปลายปี 2563 เป็นต้นมาหลังจากประยุทธ์ประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตราอย่างเข้มงวด ก็มีการตั้งข้อหาดำเนินคดีจำนวนมากเกือบ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 112

“ทางด้านสถาบันกษัตริย์เองก็ไม่เคยแสดงท่าทีใดๆ ต่อข้อเรียกร้อง แต่ก็เห็นได้ชัดว่าสถาบันเฝ้าจับตาดูอยู่ ถ้าเราดูกรณีหนึ่งที่กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสถาบันเองก็เฝ้าจับตาดูอยู่ แต่ไม่ได้ตอบสนองเป็นกิจจะลักษณะ”

ส่วนในระดับสังคมซึ่งพบในภาคใต้ตอนบนอันเป็นฐานที่มั่นของอนุรักษ์นิยมไทย ในแง่ดีคือมันไม่นำไปสู่การสร้างความเกลียดชังถึงขนาดต้องฆ่าแกงเหมือนสมัย 6 ตุลาคม 2519 แต่เป็นลักษณะการปรามาส มองว่าพวกนี้เป็นเด็ก ไม่รู้เท่าทันนักการเมือง ถูกปลุกปั่นโดยนักวิชาการ ทั้งหมดนี้วางอยู่บนโลกทัศน์ของผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน รู้อะไรมากกว่า ส่วนเด็กพวกนี้มองอะไรตื้นๆ และถูกครอบงำ

ภาพแถลงจัดตั้ง คณะราษฎร 8 ต.ค.64

ชัยชนะ?

คนที่มีความหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเช่นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คงเกิดคำถามว่าการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในครั้งนี้จะชนะหรือไม่ อนุสรณ์ตอบว่า

“มันเป็นอีกแบบหนึ่งไปแล้ว ในแง่หนึ่งพอไปเคลื่อนไหวในหลายมิติได้ก็ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายอาณาบริเวณ ไม่จำเป็นต้องเป็นชัยชนะในสมรภูมิเดียว ถ้าถามว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นคืออะไร มันคือการช่วงชิงการนำในพื้นที่โซเชียลมีเดียรวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งกว้างขวางในมิติทางสังคม วัฒนธรรม ในแง่ของการครองใจของสถาบันที่มีเหนือคนในสังคมซึ่งเปลี่ยนไปอย่างมโหฬาร ผมคิดว่าอันนี้เป็นผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของเยาวชนในปี 2563 อย่างสำคัญ

“ไม่มีใครสามารถจินตนาการได้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วว่าทุกวันนี้คนแทบทุกคนในโรงหนังจะไม่ยืนเมื่อมีการบรรเลงเพลง ก่อนหน้านั้นที่มีคนกระด้างกระเดื่องใหม่ๆ นอกจากจะถูกด่า ถูกทำร้ายแล้ว ยังถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีด้วย ตอนนี้กลายเป็นตรงกันข้าม กลายเป็นคนส่วนใหญ่ไม่ยืน อันนี้ผมคิดว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่มาก อันที่สองเราเห็นกรณีพระราชทานปริญญาบัตร หรือการจัดทำโพลของกลุ่มทะลุวังซึ่งหัวข้อเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์โดยตรง โดยไม่มีการเตรียมการประชาชนทั่วไปก็ต่างมาติดสติ๊กเกอร์ในฟากที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อเรียกร้อง

“แต่ถามว่ามันจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินแบบ 14 ตุลาคม 2516 มั้ย ไม่แล้วฮะ เพราะการเคลื่อนไหวมีหลายวิธี มีหลายช่องทาง ที่สำคัญคือตอนนี้มันไม่ใช่สถานการณ์ตีบตัน แต่เป็นเรื่องของการต่อรองกันภายใต้กลไกของระบบรัฐสภาคือการตั้งรัฐบาล กติกาเขียนแบบนี้ แล้วเราก็เล่นภายใต้กติกานี้ซึ่งเราก็รู้ข้อจำกัดของมัน ขณะเดียวกันก็เลยทำให้มีการเจรจาต่อรองกันได้ ไม่ใช่อับจนไปไหนไม่ได้”

นอกจากนี้ การปะทุขึ้นมาของความอัดอั้นไม่ได้เป็นลักษณะของการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องที่มีการจัดการ มีเครือข่าย มีความคิดนำเหมือนตอน 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งสังคมเห็นถึงความเลวร้ายของเผด็จการทหารที่ครองอำนาจมายาวนานสิบกว่าปี ทั้งยังสอดรับกับการครองใจหรือการนำของสถาบันในช่วงเวลานั้น ตัวสถาบันเองก็อยู่ในช่วงขับเคี่ยวกับกองทัพ นักศึกษาก็มีความจงรักภักดีต่อสถาบันทำให้ได้แรงสนับสนุนจากสังคมโดยรวมในช่วงเวลานั้น อีกทั้งตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมาสังคมไทยเกิดการแยกเป็นสองขั้วอย่างหยาบๆ จึงไม่สามารถก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ได้

สิ่งที่ ‘จบในรุ่นเรา’

แม้จะไม่มีชัยชนะแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แต่อนุสรณ์มีความเห็นบางสิ่งได้จบลงแล้ว

“ถ้าเราดูข้อความจากการประกาศชักชวนของ สนท. กับเยาวชนปลดแอกก็คือเวลาของการอดทนต่อการกดขี่ ต่อการขูดรีด และการปลูกฝังค่านิยมที่ผิดที่ดำเนินมากว่า 80 ปี มันจบสิ้นลงแล้ว จะไม่ทนอีกต่อไป แล้วมีข้อเรียกร้องสามข้อคือหยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พอมาเป็นคณะราษฎร 63 ก็มีประยุทธ์ออก เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

“ที่น่าสนใจเรื่องการปลูกฝังค่านิยมที่ผิดที่ดำเนินมากว่า 80 ปี ความหมายของมันก็เหมือนกับหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 ที่ปฐมรัฐธรรมนูญระบุว่าประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลายไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวงกัน แล้วก็มาเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ถ้าเรามาดูความสามารถที่จะปลูกฝังค่านิยม โลกทัศน์ หรือระบบคุณค่าแบบเก่า ผมคิดว่ามันอยู่ในระยะที่ทำไม่ได้เหมือนเก่าอีกต่อไป มันถูกท้าทายและกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

“ถ้าหมายความแต่เพียงความสามารถในการปลูกฝังค่านิยมอย่างที่ว่านั้น ผมคิดว่ามันจบแล้ว มันไม่สามารถทำได้เช่นเดิมอีกต่อไป เราน่าจะอยู่ในช่วงเวลาของการปรับสถานะของสถาบันในการเมืองร่วมสมัย การปรับสถานะของสถาบันกับประชาชนว่าควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าอันนี้ได้ถูกริเริ่มโดยการเคลื่อนไหวของเยาวชน แล้วมันทำให้สิ่งที่มาก่อนหน้านั้นจบไปแล้ว”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net