Skip to main content
sharethis

ศาลธัญบุรีลงจำคุก 6 ปี ปรับ 8 หมื่น ก่อนลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือ 3 ปี ปรับ 4 หมื่น รอลงอาญา-คุมประพฤติ 4 ปี คดี ม.112 อดีตพนักงานบริษัท วัย 29 ปี ปมพ่นสเปรย์สีน้ำเงินมีข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์ทับป้ายบอกทาง

 

15 ส.ค. 2566 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (15 ส.ค.) ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ "สมพล" (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทวัย 29 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112, “ทำให้เสียทรัพย์และทำให้ทรัพย์สาธารณะเสื่อมค่า” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ 360, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 กรณีถูกกล่าวหาว่าพ่นสีสเปรย์สีน้ำเงินที่มีข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์ ทับป้ายบอกทางสองจุด ได้แก่ บริเวณหน้าสนามกอล์ฟเอไอที และหน้าศาลอุทธรณ์ภาค 1 จ.ปทุมธานี 

คดีนี้ "สมพล" ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 โดยตำรวจอายัดตัวสมพล หลังเพิ่งได้ประกันตัวในคดีปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ในพื้นที่ของ สภ.ปากเกร็ด และ สภ.เมืองปทุมธานี 

จากนั้นในวันที่ 22 ก.พ. 2565 พนักงานสอบสวนจาก สภ.คลองหลวง ได้แจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่รอทนายความเข้าร่วม ต่อมาเขาถูกตำรวจนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดธัญบุรี และศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน 

ต่อมา วันที่ 12 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ชัยวัฒน์ ด้วงสง มีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ โดยสรุปพฤติการณ์ที่ถูกสั่งฟ้องระบุว่า เมื่อระหว่างวันที่ 28-30 ม.ค. 2565 จําเลยได้ใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นข้อความลงบนแผ่นป้ายบอกเส้นทางที่ติดตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธินขาออก บริเวณหน้าสนามกอล์ฟ เอไอที และหน้าศาลอุทธรณ์ ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ของแขวงการทางหลวงปทุมธานี กรมทางหลวง ผู้เสียหาย 

การกระทำของจําเลยดังกล่าวนั้น ย่อมทําให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 มีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ซึ่งไม่เป็นความจริง และทําให้แผ่นป้ายบอกเส้นทาง 2 แผ่นดังกล่าว เสียหายใช้การไม่ได้ คิดเป็นค่าเสียหายจํานวน 30,000 บาท 

ภายหลังจากเกิดเหตุ จําเลยได้ส่งภาพถ่ายแผ่นป้ายบอกเส้นทางที่ใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นข้อความแล้ว ไปยังกลุ่ม "LINE" อันเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

คดีนี้ก่อนการสืบพยานในวันที่ 7 มิ.ย. 2566 สมพล ได้กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ทำให้ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ส.ค. 2566 

จำคุก 6 ปี ปรับ 8 หมื่นบาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง  รอลงอาญา และคุมประพฤติ 4 ปี

เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรี อ่านคำพิพากษาโดยสรุป พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 4 ปี และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเกี่ยวกับราชอาณาจักร จำคุก 2 ปี ปรับ 8 หมื่นบาท รวมจำคุก 6 ปี ปรับ 8 หมื่นบาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท 

พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยและคำแถลงประกอบคำรับสารภาพแล้ว เห็นว่าระหว่างพิจารณาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 จำเลยเดินทางไปกราบบังคมทูลถวายขอรับพระราชทานอภัยโทษที่พระบรมมหาราชวัง โดยทำเป็นหนังสือฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยจำเลยได้ผ่านการคัดกรองประวัติอาชญากรรมโดย สน.พระราชวัง ได้รับการรับรองโดยประทับตราสำนักงานตำรวจแห่งชาติยื่นผ่านทหารราชองค์รักษ์เวรที่ทำหน้าที่รับเรื่องฎีกาตามขั้นตอน กรณีถือว่าจำเลยสำนึกในการกระทำแล้ว

ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 4 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 4 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 12 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสารธรณะประโยชน์เป็นระยะเวลา 30 ชั่วโมง 

ห้ามจำเลยกระทำการอันใดอันมีลักษณะเช่นเดียวกับการกระทำที่ถูกฟ้อง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นๆ เนื่องจากคดีนี้ให้รอการลงโทษ จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอส่วนนี้จึงให้ยก

สำหรับโทษปรับ 4 หมื่นบาท ทนายความได้ยื่นคำร้องขอบริการสาธารณะแทนค่าปรับ โดยศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลยกคำร้อง ขอบริการสาธารณะแทนค่าปรับ โดยให้เหตุผลว่าการที่จะขอบริการสาธารณะนั้นจะต้องไม่มีเงินมาชำระค่าปรับแล้ว แต่ศาลเห็นว่าเงินประกันขอคืนได้แล้วก็ยังคงมีเงินที่จะชำระค่าปรับได้ จึงยกคำร้อง แต่ให้ผ่อนผันการชำระหนี้ไปได้ โดยชำระก่อนในวันนี้เป็นเงิน 10,000 บาท และชำระเป็นงวด งวดละ 10,000 บาท จำนวน 3 งวด ในวันที่ 22, 29 ส.ค. และ 5 ก.ย. 2566

ทั้งนี้ สมพลถูกกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 รวมทั้งหมด 6 คดี โดยนอกจากคดีนี้แล้ว อีก 5 คดี เกิดจากเหตุการณ์ขับรถจักรยานยนต์ไปปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์หลายจุดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 และได้ถูกตำรวจดำเนินคดีแยกไปตามท้องที่เกิดเหตุ 

ก่อนหน้านี้มี 2 คดี ที่ศาลจังหวัดปทุมธานีได้มีคำพิพากษาแล้ว โดยให้ยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เพราะเห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตามมาตรา 360 โดยคดีแรกลงโทษจำคุก 6 เดือน และคดีที่สองจำคุก 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่สมพลยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ 

ขณะที่คดีปาสีแดงอีกคดีหนึ่ง ซึ่งถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดธัญบุรีนี้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. 2566
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net