Skip to main content
sharethis

ธงชัย วินิจจะกูล ร่วมรำลึก 69 ปีที่หะยีสุหลงถูกอุ้มหายช่วยฉายให้เห็นภาพใหญ่ของความสัมพันธ์สยาม-ปาตานีใน 200 กว่าปี และเป็นตัวแทนของทุกความพยายามในความสัมพันธ์นั้น ทว่าถูกทำให้หายไป “ราวกับมันไม่มีอยู่ ทั้งๆที่ทุกคนก็รู้ว่ามันมี” การอุ้มหายได้สร้างเงาให้บันทึกไว้แทบตลอดกาล โปรดอย่าทำลายสายพิราบ อย่าทำลายคนที่ยินดีจะพูดคุย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา บรรยายหัวข้อ “หะยีสุหลงในความทรงจำของสังคมไทย” ในงาน “รำลึก 69 ปีการถูกบังคับสูญหายของหะยีสุหลง” 13 ส.ค. 2566 ณ บ้านหะยีสุหลง อ.เมือง จ.ปัตตานี ภายใต้แนวคิด “The Memoirs of HAJI SULONG” ร่องรอยความทรงจำต่อหะยีสุหลงผ่านบันทึกและจดหมาย

แม้ ศาสตราจารย์ฯธงชัย ออกตัวว่ามีความรู้เกี่ยวกับปาตานีและหะยีสุหลงไม่มาก เพราะเป็นเรื่องยากและซับซ้อนเกินกว่าที่ตนเองจะทุ่มเทให้ แต่กลับเป็นนักประวัติศาสตร์ชื่อดังที่คนปาตานี/ชายแดนใต้อย่างฟังมากที่สุดคนหนึ่งในสิ่งที่คนพื้นที่ก็ “รู้อยู่แล้ว แต่พูดไม่ได้..?”

อะไรที่ทำให้ศาสตราจารย์ฯ ธงชัย สนใจเรื่องปาตานีและหะยีสุหลง อีกทั้ง กรณีหะยีสุหลงสามารถบอกอะไรได้กว้างกว่ากรณีของหะยีสุหลงเองได้อย่างไร ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สยาม-ปาตานีในช่วง 200 ปี

ธงชัย บอกว่า ความเข้าใจของตนเองต่อปาตานีนั้นตื้นเขินมาก แต่เริ่มสะกิดใจครั้งแรกตอนเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในช่วงทศวรรษที่ 1980-2000 ที่มีการจัดสัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 100 ครั้งในจังหวัดใหญ่ๆ แต่ตอนนั้นเริ่มสังเกตว่าทำไมจังหวัดปัตตานีไม่เคยจัด แต่ไม่พยายามหาคำตอบว่าทำไม

“คนจัดไม่อยากจัด หรือคนจัดอยากจัดแต่จัดไม่ได้ หรือคนจัดไม่อยากจัดเพราะถ้าจัดแล้วจะเกิดปัญหาเลยไม่อยากจัด อะไรก็แล้วแต่” ระหว่างนั้นก็อ่านไปเรื่อยๆ สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ปาตานีมากมาย แต่มีข้อมูลหรือวัตถุดิบที่เป็นภาษาอังกฤษให้อ่านพอสมควร

“ผมไม่ทราบว่า หนังสือของอิบรอฮิม ชุกรี Controversial (เป็นที่ถกเถียง) ผมอ่านเพราะมีในห้องสมุด ผมอ่าน Hikayat Patani เพราะมีให้อ่าน ผมอ่าน Sekarah Melayu โดยไม่สนใจไม่รับรู้ว่า ตอนนั้นเรื่องไหนสำคัญไม่สำคัญมาก”

พูดในสิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว แต่เขาพูดไม่ได้

ธงชัย บอกว่า พยายามทำความเข้าใจว่าทำไมประวัติศาสตร์ปัตตานีไม่เคยจัดแต่ไม่ได้คำตอบ จนกระทั่งย้อนไปดูประวัติศาสตร์ไทยและอ่านประวัติศาสตร์ปาตานีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะมีลูกศิษย์ซึ่งเป็นเหลนของหมอ “บรัดเลย์” ชื่อ ซิสโก้ แบรดลี่ ซึ่งสนใจประวัติศาสตร์การค้าระหว่างอินเดียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานีจากลูกศิษย์คนนี้

ธงชัย เล่าว่า ตนได้คำตอบเรื่องนี้ในปี 2545 เมื่อมีคนชวนให้มาพูดถึงเรื่องเล่าจากปัตตานี “ผมก็เล่าว่าทำไมประวัติศาสตร์ปาตานีจึงขัดฝืนกับประวัติศาสตร์ไทยในหลายมิติ เล่าจบก็มีคนมาแสดงความยินดีจนทำตัวเองรู้สึกงงว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ตนเองก็ไม่ได้พูดอะไรที่แปลกประหลาดมาก

“ผมมาเข้าใจทีหลังนานพอสมควรว่า ผมพูดในสิ่งที่เขารู้อยู่แล้วแต่เขาพูดไม่ได้ คนที่นี่นักวิชาการท้องถิ่นรู้อยู่แล้ว แต่พูดไม่ได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าผมจะต้องรู้จักปาตานีให้มากขึ้น”

ธงชัย บอกว่า จากนั้นไม่นานเกิดเหตุการณ์ในปี 2547 ซึ่งชวนให้ถอยไปพักหนึ่ง เพราะตระหนักอย่างจริงจังว่า เรื่องเล่าสารพัดเกี่ยวกับปาตานีนั้น มีลักษณะบางอย่างที่รู้สึกว่าไม่เหมือนที่อื่น แต่ตอนนั้นยังอธิบายไม่ได้ว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไร

“พอเกิดเหตุปี 2004(2547) ผมรู้เลยว่า เรื่องราวมันซับซ้อนและยากเกินกว่าผมจะเข้าใจ หลังจากนั้นสิ่งที่ผมทำได้ก็คือค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ติดตาม...จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่กล้ากระโจนลงมา ผมเข้าใจว่าปัญหามันซับซ้อนเกินกว่าจะทุ่มเวลาให้อย่างมากมายถึงจะเข้าใจ”

ธงชัย บอกว่า ตนเองบอกไม่ได้ว่าความสนใจของสังคมไทยต่อหะยีสุหลงเป็นอย่างไร แต่บอกได้ว่าเขาไม่รู้เรื่องหรอก และบอกได้แค่ว่าตนเองเข้าใจเรื่องหะยีสุหลงอย่างไร ซึ่งตนก็ไม่ใช่ตัวแทนของสังคมไทย “แน่ๆ สิ่งที่ผมคิดหลายอย่างเป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่ยอมรับ”

“ผมไม่ได้สนใจหะยีสุหลงในแง่การเป็นนักการศาสนาที่วิเศษวิโสคนหนึ่งหรือไม่ ผมไม่ได้สนใจหะยีสุหลงจะเป็นกรณีสำคัญที่สุดยิ่งกว่ากรณีอื่นๆหรือไม่ ผมไม่ได้สนใจว่าปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯกับปาตานีในรอบ 200-300 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดหรือไม่ ผมคิดว่าไม่สำคัญด้วยซ้ำไป”

ธงชัย กล่าวว่า ความสนใจที่ตนมีเป็นความสนใจเชิงกว้าง และพยายามจะเข้าใจว่าหะยีสุหลงพอก็จะบอกอะไรกับเราได้บ้าง โดยฝากให้คิดว่า กรณีหะยีสุหลงฉายให้เราเห็นภาพใหญ่ของเรื่องอะไร อย่างไรบ้าง ตนจะไม่ตอบเพราะยังเป็นการบ้านที่ยังตอบไม่ชัด แต่พอมีแนวที่จะเล่าให้ฟัง และไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

ไม่จำเป็นต้องมีความทรงจำแบบเดียวกัน

ธงชัย บอกว่า กรณีหะยีสุหลงไม่ใช่แค่ตัวหะยีสุหลงตัวคนเดียว รายละเอียดต่างๆ ในความทรงจำที่คุณเด่น (โต๊ะมีนา ลูกของหะยีสุหลง) เล่าให้ฟัง คือสิ่งที่ลูกหลานญาติมิตรต้องเก็บไว้และสำคัญมาก แต่สำหรับเขาและคนปาตานีที่เป็นคนนอกครอบครัวก็อาจไม่จำเป็นต้องมีความทรงจำแบบเดียวกัน แต่หาแง่มุมอื่นให้เห็นว่ากรณีนี้สำคัญมาก

ธงชัยให้เหตุว่า เพราะเรื่องเล่าเกี่ยวกับหะยีสุหลง เหมือนกับคำในภาษาอังกฤษ 2 คำง่ายๆ คือ Microcosm กับคำว่า Macrocosm (จักรวาล) โดยคำว่า Microcosm เป็นกรณีที่จะฉายให้เห็นเรื่องที่ใหญ่กว่าเรื่องของตัวเอง

(Microcosm ภาษาไทยแปลว่า พิภพเล็ก หมายถึง ชุมชน สถานที่ หรือสถานการณ์ที่ถือเป็นการสรุปคุณสมบัติหรือคุณสมบัติของสิ่งที่ใหญ่กว่ามากในลักษณะย่อส่วน)

ฉายให้เห็นภาพใหญ่ของความสัมพันธ์สยาม-ปาตานีใน 200 กว่าปี

ธงชัย อธิบายว่า กรณีหะยีสุหลงถึงจะมีรายละเอียดเฉพาะกรณีมากมาย ซึ่งต่างจากกรณีอื่นๆอีกเยอะเลย แต่เป็นหนึ่งในจำนวนไม่มากนักที่สามารถจะเป็น Microcosm หมายถึงใช้ให้เห็นภาพใหญ่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสยามกับปาตานีอย่างน้อยใน 200 กว่าปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าได้

“ถ้าเราจับเรื่องนี้มาศึกษาในแง่ประวัติศาสตร์ ศึกษาความทรงจำในกรณีนี้ให้ดี ทั้งจากแง่มุมของญาติ จากแง่มุมของคนในท้องที่ที่ไม่ใช่ญาติ จากแง่มุมคนนอก จากแง่มุมของกรุงเทพ จากแง่มุมของหน่วยงานความมั่นคง ผมเชื่อว่า กรณีนี้จะช่วยฉายให้เราเห็นมิติที่สำคัญๆแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯกับปาตานี ได้”

ธงชัยได้ยกตัวอย่าง เช่น ภูมิหลังของหะยีสุหลงที่เราอาจคิดว่าเป็นเรื่องครอบครัว แต่เคยคิดหรือไม่ว่า ความสำคัญของอูลามา(นักปราชญ์ทางศาสนาอิสลาม) ในปาตานีในยุคนั้นเป็นอย่างไร ในความสัมพันธ์กับเชื้อสายเครือญาติฝ่ายสุลต่านเก่าของปาตานีและในที่อื่นๆ และกับความสัมพันธ์ที่มีกับเครือข่ายอำนาจในกรุงเทพฯ

เป็นตัวแทนของทุกความพยายามในความสัมพันธ์นั้น

ธงชัย ย้ำว่ากรณีหะยีสุหลงไม่ใช่กรณีเฉพาะในมิติของการเป็นตัวแทนให้เห็นความสัมพันธ์นี้ แต่(เป็นตัวแทน)ในแง่ที่กว้างขึ้นกว่านั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ความพยายามของหะยีสุหลงในการที่จะสร้างและปรับปรุงการศึกษา โรงเรียนศาสนาและความพยายามนำข้อเรียกร้อง 7 ข้อยื่นเสนอไปยังกรุงเทพฯ

อ่านข้อเรียกร้องของหะยีสุหลงทั้ง 7 ข้อ

เราอาจจะมองในแง่หนึ่งเป็นเรื่องเฉพาะ 7 ข้อ แต่คิดหรือไม่ว่า ความพยายามอันนี้ก็เหมือนกับหรือเป็นทำนองเดียวกับความพยายามอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับกรุงเทพฯ และกรณีเหล่านั้นอาจจะมีแบบแผนและมีความเกี่ยวพันกัน จนกระทั่งรัฐที่กรุงเทพฯ เข้าใจผิด ไม่ไว้ใจหรือจนกระทั่งมองในแง่ร้าย

ธงชัยเห็นว่าข้อเรียกร้อง 7 ข้อไม่ได้เป็นเพียงข้อเรียกร้องของหะยีสุหลงโดยเฉพาะเท่านั้นแต่เห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่คนในท้องถิ่นหลายรุ่นหลายกรณีพยายามเรียกร้องและยังพยายามมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น ความพยายามที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ใช้ครั้งแรก แม้มีลักษณะเฉพาะแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามหลายครั้ง และเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับปาตานีซึ่งดำเนินมาอย่างน้อยถึง 200 ปี

ธงชัย กล่าวว่า ความพยายามของหะยีสุหลงนี้เกิดขึ้นในแบบแผนความสัมพันธ์ในรอบ 200 ปี และก่อนหน้านั้นประมาณ 2-3 แบบแผนใหญ่ๆ ที่นักวิชาการท่านหนึ่งได้แนะนำเพราะฉะนั้นแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆไม่ใช่เรื่องเล็ก จุดเล็กๆที่เป็นเรื่องใหญ่มาก

ทำให้สิ่งที่มีอยู่หายไป ราวกับมันไม่มีอยู่ ทั้งๆที่ทุกคนก็รู้ว่ามันมี

“เรานึกถึงหะยีสุหลง ณ ปีนี้ พร้อมๆ กับแสดงความยินดีกับความสำเร็จของ พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย”

ธงชัย ชวนคิดถึงในแง่ประวัติศาสตร์ทางกฎหมายว่า ถ้าไม่พูดถึงการอุ้มหายในแง่มุมกฎหมายแล้วการอุ้มหายคืออะไร แปลตรงตัวการอุ้มหายก็คือการเอาตัวไปสังหารและทำให้หายไป

“การอุ้มหาย” เรามักจะแปลแค่ว่า “การทำให้สิ่งที่มีอยู่หายไป ราวกับไม่มีอยู่ไม่มีอยู่” ที่จริงประโยคไม่จบแค่นี้ ประโยคที่ยาวก็คือ

“การทำให้สิ่งที่มีอยู่หายไป ราวกับมันไม่มีอยู่ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้ว่ามันมี”

การอุ้มหาย คือการสร้างเงาให้บันทึกไว้แทบตลอดกาล

การอุ้มหาย คือ การสร้างเงาให้บันทึกไว้ แทบตลอดกาล เจ้าของผู้ทำให้เกิดเงา อาจจะถูกทำให้สูญหายไปแล้ว แต่เงากลับไม่หายไปด้วย ทุกคนรับรู้ถึงเงา และทุกคนเห็นสิ่งที่หายไปผ่านเงาของสิ่งที่ถูกทำให้หายไป

ธงชัยเห็นว่าเพราะฉะนั้นแล้วการอุ้มหายจึงไม่ได้แปลตามภาษาไทยว่า คือการลักพาและทำให้หายไป แต่การอุ้มหายคือภาวะตามที่เขาเขียนในหนังสือภาษาอังกฤษ เรียกว่า Silence Un forgetting (เงียบจนลืมไม่ลง) ก็คือทำให้เกิดภาวะที่ลืมไม่ได้ จำไม่ลง อยู่ตรงกลางระหว่างการลืมกับการจำ จะบอกว่าจำได้ 100% ก็ไม่ใช่ เพราะวัตถุของความทรงจำได้มันหายไปแล้ว จะบอกว่าเราลืมเราก็ไม่ลืม ก็เงาของมันกลับไม่หายไป

การอุ้มหาย คือการทำให้สิ่งที่มีอยู่ไม่มีอยู่ ทำให้เกิดภาวะของเงาหลอนต่อคนที่ยังอยู่ตลอดเวลา คือทำให้เห็นสิ่งนั้นโดยตระหนักถึงการไม่มีอยู่ของมัน เขาได้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของเงาตัวนั้น ตัวสิ่งนั้นได้หายไปแล้ว แต่ศึกษาว่าคนรับรู้เรื่องเงานั้นอย่างไร และตรงนี้บอกถึงสังคมนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

จากกรณีของหะยีสุหลงนี้ธงชัยเห็นว่าอาจทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปาตานีในรอบ 200 ปีก็เป็นไปได้

“ผมอยากชวนให้สนใจเรื่องหะยีสุหลง ไม่ใช่ในฐานะลูกหลานญาติพี่น้อง แต่ในฐานะกรณีของสังคมที่จะช่วยฉายให้เห็นเรื่องที่ใหญ่ มากกว่ากรณีของหะยีสุหลง ไม่ใช่เพียงกรณีเดียว แต่เป็นหนึ่งในไม่กี่กรณีที่ช่วยฉาย เป็น microcosm แบบนี้ได้”

ผู้ไม่มีสุสาน ย่อมมีสุสานทุกหนแห่ง

การอุ้มหายทำให้เกิดภาวะของการเป็นอมตะ การอุ้มหายทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ผู้ไม่มีสุสาน ย่อมมีสุสานทุกหนแห่ง” (บทกวีของ ซะการีย์ยา อมตยา 2558) บทกวีบทนี้คือ Ontology (ภววิทยา)ของภาวะอุ้มหายเพราะฉะนั้นอนาคตถ้าจะมีการศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปาตานี หรือศึกษาปัญหาจังหวัดภาคใต้ เราสามารถศึกษาได้หลายแง่หลายมุมจากหลายกรณี

ธงชัยเชื่อว่ากรณีหะยีสุหลงน่าจะเป็นกรณีสำคัญที่ทำให้เกิด Microcosm ที่ฉายภาพที่ใหญ่กว่านั้นได้ หมายถึงการสร้างฐานข้อมูลและการเปิดเผยข้อมูลก็เป็นเรื่องสำคัญ การไล่ถามว่าญาติพี่น้องคนไหนมีความทรงจำอย่างไร หรือคนในท้องที่มีความทรงจำอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญ และต้องไม่ปิด ใครจะชอบมาก ใครจะชอบน้อย ใครจะชอบปานกลาง ใครจะไม่ค่อยชอบก็ถือว่าเป็นข้อมูลที่จำเป็นสำหรับความเข้าใจทั้งหมด แล้วจะช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ปาตานีที่กว้างขึ้น ถ้ามีข้อมูลก็เปิดเผยออกมา

แบข้อมูลออกมาจากทุกฝ่ายให้ถกเถียงกัน

ธงชัยเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยไปเสวนาที่ ม.อ.ปัตตานีเมื่อ 10 กว่าปีก่อนว่า ให้แบข้อมูลออกมาจากทุกฝ่าย อย่าไปโกรธอย่าไปเกลียด และที่สำคัญเถียงกันได้ แต่อย่าตีหัวกันก็แล้วกัน แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยกัน เพราะประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องไม่ได้มีหนึ่งเวอร์ชั่น ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องมีหลายเวอร์ชั่นในขณะเดียวกันได้

เขากล่าวต่อว่าถ้าฝ่ายความมั่นคงจะเข้าใจเรื่องธรรมดาสามัญของมนุษย์ ก็ยอมให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ของปาตานี ทุกกรณี รวมถึงกรณีหะยีสุหลง เปิดเผยเอามา แบออกมาในที่สาธารณะ แล้วมาแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน บนหลักพื้นฐานแค่ว่า อย่าตีหัวกัน จะเป็นประโยชน์มาก

ส่วนใครจะหยิบยกประวัติของหะยีสุหลงขึ้นมาทบทวนขยายความ ในแง่ไหน ควรปล่อยให้ เกิดขึ้นโดยหลักที่ว่าอย่าตีหัวกัน หากใครจะเอาข้อเรียกร้อง 7 ข้อ กลับมาทบทวนใหม่ พิจารณาใหม่ เชื่อว่าไม่มีใครเอา 7 ข้อมาใช้อย่างเดิมโดยไม่มีการปรับ แต่ควรจะต้องถกเถียงกันพูดคุยกัน อย่าระแวงสงสัยกัน และไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน

อย่าทำลายสายพิราบ อย่าทำลายคนที่ยินดีจะพูดคุย

ธงชัยย้ำว่าตั้งแต่การศึกษาประวัติศาสตร์ไปจนถึงการขบคิดถึงอนาคต และขอทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงได้ตระหนักว่าสิ่งที่ทำกับหะยีสุหลงเมื่อ 69 ปีก่อน คือการทำลายสายพิราบ สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงทำหลายกรณีในประเทศไทย เช่นการฟ้องการจับเด็ก ได้ 2-3 ปีที่ผ่านมาด้วยข้อหาสารพัดนี้กำลังทำร้ายคนที่ยินดีจะพูดคุยและทำลายสายพิราบ

กรณีที่เล่นงานพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน คุณกำลังทำลายสายพิราบ ไม่ได้แปลว่าเราต้องเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกล แต่อย่างน้อยอย่ารังแก อย่าเล่นนอกเกมนอกกติกา เราควรจะพูดคุยกันได้แลกเปลี่ยนกันได้ทะเลาะกันได้บนพื้นฐานว่าอย่าตีหัวกัน แค่นั้นเองซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ต่ำมาก

ก่อนจะถึงวันนั้น ผมเชื่อว่าการสืบค้นและการศึกษาเรื่องหะยีสุหลงจะมีประโยชน์มากต่อการสร้างภาวะเช่นนั้น และเมื่อถึงวันนั้นการศึกษา การสืบค้นเรื่องหะยีสุหลงจะช่วยผลักดันความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปาตานีเป็นไปในแง่ที่สร้างสรรค์มากขึ้น บนหลักพื้นฐานง่ายๆ อย่าตีหัวกัน

“ผมเชื่อว่าถึงวันนั้นมันมีทางออก ที่ทุกฝ่ายยินดีจะพร้อมรับ พร้อมปรับเข้าหากันคนละนิดคนละหน่อย และถึงวันนั้นถ้ามันมีจริง เราจะต้องขอบคุณหะยีสุหลง ขอบคุณบ้านโต๊ะมีนาที่มีส่วนช่วยให้เราได้เรียนรู้อดีตให้เรามีความหวังต่ออนาคต ให้เราค่อยๆ หาทางที่จะอยู่ร่วมกันในอนาคตอย่างมีสันติได้ “


ฟังบรรยายเต็มได้ระหว่างนาทีที่ 36.20-1.10.30 ที่

https://www.facebook.com/HajiSulongFoundation/videos/66104377903853

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net