Skip to main content
sharethis

ก่อนโหวตนายกฯ “วันนอร์” ไม่ให้ “โรม” เสนอญัตติให้รัฐสภาทบทวนมติที่ไม่ให้เสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ อ้างฝ่ายกฎหมายมีความเห็นถ้าให้เกิดการทบทวนนมติจะทำให้มติของสภาไม่น่าเชื่อถือ จากนั้น “ชลน่าน” เสนอชื่อ “เศรษฐา” ให้ลงสภาลงมติโดยประธานเปิดให้มีการอภิปราย 3 ชั่วโมง

22 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา เกียกกาย มีนัดประชุมรัฐสภาที่ในวันนี้มีระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาทั้งสองสภาร่วมกันออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีแต่ก่อนเข้าสู่วาระดังกล่าว วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งว่าให้รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติที่ขอให้รัฐสภาพิจารณาทบทวนการลงมติเมื่อ 19 ก.ค.2566 ที่ไม่ให้มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำ

รังสิมันต์ โรม ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาว่าจากที่เขาเสนอให้รัฐสภาพิจารณาทบทวนการลงมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566 ที่ไปตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ว่าเมื่อญัตติใดมีการเสนอแล้วแต่ถูกตีตกไปจะเสนออีกครั้งไม่ได้รวมถึงการเสนอชื่อของคนที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ด้วย โดยอาศัยข้อบังคับที่ 41 แต่การตีความดังกล่าวก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่าการตีความดังกล่าวไม่ถูกต้องโดยมีคณาจารย์นิติศาสตร์ร่วมกันลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านไม่เห็นด้วยกับมติของสภาและยังเป็นการทำให้ข้อบังคับการประชุมใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญเพราะการเสนอชื่อนายกฯ เป็นกระบวนการที่อยู่ในรัฐธรรมนูญต่างจากญัตติทั่วไป แล้วรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้ามการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนเดิมไว้  ซึ่งไม่ควรทำให้ข้อบังคับการประชุมที่มีลำดับชั้นทางกฎหมายต่ำกว่าถูกตีความให้เหนือกว่ารัฐธรรมนูญเกิดเป็นบรรทัดฐานต่อไป และทำให้การเรียนการสอนเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดทำได้ยาก

รังสิมันต์กล่าวว่ากรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาว่าการตีความการเสนอชื่อและการลงมติเลือกนายกฯ เป็นขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่การดำเนินการตามข้อบังคับที่ 41 แล้วส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แม้ว่า สุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องนี้โดยให้เหตุผลว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่สามารถเป็นผู้ร้องได้ แสดงให้เห็นว่าในภาคส่วนในการตรวจสอบก็ยังเห็นแย้งกับการตีความของสภา

รังสิมันต์กล่าวว่าเขาและพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับแนวการตีความของอาจารย์กฎหมายทั้ง 151 คนและผู้ตรวจการแผ่นดิน แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมาตัดสินในกิจการของรัฐสภา และเมื่อรัฐสภามีมติใดแล้วหากเห็นว่าสมควรมีการแก้ไขก็สมควรที่จะหาข้อยุตินี้ในที่ประชุมแห่งนี้ จึงเป็นเหตุผลที่พวกเขาเสนอญัตติเพื่อขอให้รัฐสภามีการทบทวนการลงมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค.และเห็นเป็นเรื่องด่วนก่อนเสนอชื่อนายกฯ ตามวาระต่อเสนอไปเพื่อให้เกิดความชัดเจน

รังสิมันต์ยังกล่าวต่อในประเด็นที่อาจมีคนโต้แย้งว่าการลงงมติตามข้อบังคับที่ 41 นั้นได้อาศัยอำนาจตามข้อบังคับที่ 151 ที่ระบุว่าเมื่อที่ประชุมมีมติแล้วถือว่าเป็นเด็ดขาดดังนั้นจะทบทวนอีกไม่ได้ ในประเด็นนี้ที่ให้ถือว่ามติของที่ประชุมสภาถือเป็นเด็ดขาดนั้น คำว่าเด็ดขาดในข้อบังคับที่ 151 ไม่ได้หมายถึงรัฐสภาจะต้องถือตามคำวินิจฉัยของรัฐสภาที่มีมติโดยทบทวนไม่ได้อีก แต่หมายถึงเมื่อรัฐสภามีมติแล้วไม่ให้มีองค์กรอื่นใดอุทธรณ์เพื่อให้วินิจฉัยแตกต่างจากที่รัฐสภามีมติได้ แต่ถ้ารัฐสภาจะทบทวนมติของรัฐสภาย่อมทำได้เช่นเดียวกับที่ศาลฎีกาเคยพิพากษากลับหลักที่ตัวเองเคยมีคำพิพากษาไว้

ส.ส.ก้าวไกลยังชี้แจงอีกว่า การเสนอญัตติครั้งนี้ไม่ได้มีเป็นการพยายามเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์แคนดิเดตของก้าวไกลมาเสนออีกครั้ง เพราะสถานการณ์ขณะนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเสนอชื่อของพิธาได้แล้ว หากญัตติที่เขาเสนอนี้ได้รับเสียงเห็นชอบในที่ประชุมก็ใช่ว่าจะเสนอชื่อพิธาได้อีกเพราะตอนนี้ 8 พรรคร่วมก็แยกย้ายแล้ว จะเสนอชื่อใครก็ต้องคุยกันอีกยาวที่เขาและสมาชิกพรรคก้าวไกลเสนอญัตตินี้ก็เพื่อขอให้กลับมาสู่แนวทางที่ควรเท่านั้น

รังสิมันต์ย้ำว่าตามรัฐธรรมนูยระบุแล้วว่าการเลือกนายก ให้เลือกจากรายชื่อแคนดิเดตจากพรรคที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5  และแม้ว่าเสนอชื่อคนใดไปแล้วถ้ามีมติไม่ผ่าน รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ระบุว่าคนที่สภาไม่เห็นชอบแล้วจะไม่ใช่แคนดิเดตนายกฯ อีกต่อไป ทำให้สถานะของแคนดิเดตของคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อยังมีต่อไปเรื่อยๆ

“เรากลับมาสร้างบรรทัดฐานที่ถูกที่ควรเถอะครับ พวกท่านอาจจะไม่ต้องการให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อย่าต้องถึงขนาดเผาบ้านเพื่อไล่หนูตัวเดียวเลยครับ เราจะทำลายหลักการของรัฐสภาสร้างบรรทัดฐานกันแบบนี้จริงๆ เหรอครับ” รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้ายก่อนถูกประธานสภาปิดไมค์

วันมูหะมัดนอร์ตอบในประเด็นนี้ว่าต้องการเปิดให้ทางรังสิมันต์ได้ชี้แจง อย่างไรก็ตามที่ประชุมฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาไม่ควรให้มีการทบทวนมติของรัฐสภาเพราะเห็นว่าญัตติของรังสิมันต์เป็นญัตติซ้อนที่ได้มีการลงมติไปแล้วตามข้อบังคับที่  151 ถ้าหากว่าเสนอญัตติให้ทบทวนซ้อนไปเรื่อยหรือมีการเสนอให้ทบทวนมติที่ถือว่าเป็นเด็ดขาดไปแล้ว หากให้มีญัตติทบทวนมติของที่ประชุมรัฐสภาจะทำให้ความน่าเชื่อถือของมติลดน้อยลงไปและเกิดคำถามว่าควรจะเชื่อมติใด และจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อมติในเรื่องอื่นๆ ของสภาทำให้คนลังเล

ประธานรัฐสภาได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 ที่ให้ประธานดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม จึงเห็นว่าข้อบังคับที่ 151 ประกอบกับมาตรา 5 และข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญ เห็นควรว่าไม่รับญัตติของรังสิมันต์และตามที่ประชุมของวิปสามฝ่ายก็เห็นด้วย ดังนั้นจึงไม่รับญัตติด่วนของรังสิมันต์ที่เสนอมาแต่ให้มาชี้แจงในวันนี้เพื่อให้คนได้เห็นเหตุผลว่าทำไมไม่รับ และเมื่อไม่รับญัตติของรังสิมันต์แล้ว ญัตติที่สมชาย แสวงการ ส.ว.เสนอว่าให้ไม่รับญัตติของรังสิมันต์ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันก็ขอไม่รับญัตติของสมชายด้วย

ทั้งนี้หลังวันมูหะมัดนอร์ได้ชี้แจงแล้วมี ส.ส.ก้าวไกลลุกประท้วง แต่ประธานสภายังคงยืนยันตามคำวินิจฉัยก่อนที่จะเปิดให้มีกระบวนการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เพื่อให้ที่ประชุมสภาลงมติต่อไป

ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.เขตจังหวัดน่านและเป็นหัวพรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อของเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตอันดับหนึ่งของพรรคเพื่อให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้เป็นนายกฯ โดยที่ไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอชื่อแคนดิเดตแข่ง จากนั้นประธานสภาได้เปิดให้มีการอภิปรายแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยเป็นเวลา 3 ชั่วโมงก่อนการลงมติ

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net