Skip to main content
sharethis

“เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ” แถลง กกต.เพิ่งบอกลงชื่อออนไลน์เพื่อเสนอคำถามประชามติไม่ได้ต้องเซนลงกระดาษส่งเท่านั้น หลังทางเครือข่ายโทรถามหลายครั้งไม่ยอมตอบ ทำให้ 4 หมื่นกว่าชื่อตกน้ำทันที เครือข่ายขอประชาชนไปลงชื่อที่จุดรับหรือพิมพ์แบบฟอร์มมาเซนส่งแทน เร่งหาใหม่ให้ทันก่อนสองทุ่ม 25 ส.ค.เพื่อให้ทันก่อนประชุม ครม.นัดแรก

22 สิงหาคม 2566 เวลา 22.45 น. เพจ iLaw ลงแถลงของเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญถึงประเด็นที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่งตอบคำถามถึงวิธีการลงชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติว่าไม่สามารถลงชื่อทางออนไลน์ได้ ต้องลงในกระดาษและส่งเอกสารตัวจริงพร้อมส่งไฟล์ที่สแกนเอกสารลงชื่อเป็น PDF และรายชื่อทั้งหมดลงในตาราง Excel ให้ กกต.เท่านั้น ทำให้รายชื่อของประชาชนที่ลงชื่อทางเว็บไซต์ไม่ถูกนับรวมมากกว่า 40,000 ชื่อ

แถลงการณ์ระบุว่าเมื่อวานนี้(22 ส.ค.) วีระ ยี่แพร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับนัดหมายพูดคุยและให้คำตอบกับตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ในการเข้าชื่อเสนอคำถามตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ทำให้มากกว่า 4 หมื่นชื่ออาจไม่ถูกนับ

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายภาคประชาชนเคยทำหนังสือสอบถามเรื่องการลงชื่อออนไลน์ไปยัง กกต. ตั้งแต่ปี 2565 และได้รับหนังสือชี้แจงหมายเลข ลต 0012/2565 เมื่อ 24 พ.ย. 2565 ว่า “การเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติ ไม่ได้กำหนดวิธีการลงชื่อเอาไว้” เพียงต้องมีรายละเอียดเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ-สกุล และลายเซ็น ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และบันทึกลงบนแผ่น CD หรือแฟลชไดร์ฟมาส่งด้วยเท่านั้น แต่เมื่อพยายามนัดหมายเพื่อสอบถามตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.2565 กลับได้รับการตอบกลับมาอย่างกำกวม ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าลงรายชื่อออนไลน์ได้หรือไม่

“ก่อนการเริ่มแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้ติดต่อไปหา กกต. ทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามว่าการลงชื่อออนไลน์สามารถทำได้หรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ กกต. ขอให้เป็นการนัดพูดคุยแทน แต่ก็มีการเลื่อนนัดมา โดยทุกครั้งที่สื่อสารกันทางโทรศัพท์ได้สอบถามย้ำตลอดแต่ไม่เคยได้รับคำตอบ จนกระทั่งได้พบกันในวันที่ 22 สิงหาคม 2566  ซึ่ง กกต. แจ้งว่าไม่สามารถลงชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุว่าขณะที่แถลงนี้มีคนที่ลงชื่อมาแล้ว 57,800 กว่ารายชื่อ แต่รายชื่อของประชาชนจะถูกลดหายไปมากกว่า 40,000 รายชื่อด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้จำนวนรายชื่อที่ต้องใช้สำหรับการเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติต่อรัฐบาลให้ทันการประชุม ครม. นัดแรกอาจไม่ถึง 50,000 รายชื่อที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย

กกต. ให้เหตุผลว่า การลงชื่อผ่านเว็บไซต์และพิมพ์ออกมาเป็นแบบฟอร์มนำส่ง กกต. ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก กกต. ไม่อยู่ภายใต้การกำกับ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มาตรา 4 เพราะเป็นองค์กรอิสระ แตกต่างจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายอื่นๆ ที่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ได้

วีระยังกล่าวว่า กกต. เคยส่งหนังสือตอบข้อสอบถามจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงวันที่ 21 มีนาคม 2566 ในหัวข้อเช่นเดียวกันนี้ รวมถึงอัปโหลดเอกสารดังกล่าวลงเว็บไซต์ของ กกต. เรียบร้อยแล้ว ทว่าจากการสืบค้นแล้วยังไม่พบเอกสารดังกล่าว ตามที่ กกต. แจ้ง ประชาชนจึงยังไม่อาจทราบข้อเท็จจริงประเด็นนี้ได้

ทั้งนี้ วิธีการนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นตามที่ กกต. อธิบาย หลังประชาชนกรอกแบบฟอร์มในกระดาษพร้อมลงลายมือชื่อแล้ว ผู้เสนอจะต้องนำรายชื่อดังกล่าวมาสแกนให้เป็นไฟล์ PDF และกรอกข้อมูลของผู้ลงชื่อทั้งหมดเป็นไฟล์ Excel นำส่ง กกต. ในรูปแบบ CD และ กกต. จะใช้เวลาตรวจสอบรายชื่ออีกไม่เกิน 30 วัน เป็นกระบวนการที่สร้างภาระเกินความจำเป็น โดยเฉพาะกับประชาชนที่ต้องการจะใช้สิทธิของตนเองตามกฎหมาย

ทั้งนี้แถลงการณ์ระบุว่าจะยังพยายามรวบรวมรายชื่อส่ง กกต. เพื่อเสนอให้ทันการประชุม ครม. นัดแรกตามเจตนารมณ์เดิมที่เคยประกาศไว้กับประชาชน จึงขอความช่วยเหลือจากประชาชนที่เคยเข้าชื่อในรูปแบบออนไลน์ไปก่อนหน้านี้ รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้ลงชื่อ หรือผู้ที่ลงชื่อไปแล้วแต่ต้องการเชิญชวนคนอื่นๆมาลงชื่อให้มากยิ่งขึ้น ช่วยกันรวมรายชื่อในรูปแบบกระดาษ แล้วส่งมายังโต๊ะเข้าชื่อที่ใกล้ที่สุดอีกครั้ง ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ก่อนเวลา 20.00 น. และร่วมลุ้นความพยายามที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนทุกคนร่วมกันในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566

“เราเชื่อว่าทุกคนมีแรงใจ ทุกคนทำได้ ช่วยกันเขียนรายชื่อใส่กระดาษแล้วส่งมา เราจะทำทุกวิถีทางให้คำถามประชามตินี้ถูกเสนอไปยัง ครม. ให้ได้” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญกล่าว

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ย้ำว่า เราไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการของ กกต. แต่เราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเสนอคำถามประชามตินี้ให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ ถ้าทุกคนเข้าใจว่าทำไมต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% เพื่อเดินหน้ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เราจำเป็นต้องขอแรงประชาชนสร้างปาฏิหาริย์อีกครั้ง

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะร่วมลงชื่อเสนอคำถามประชามติที่ทางเครือข่ายเสนอไว้ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”  ยังสามารถร่วมลงชื่อได้โดยสามารถไปที่จุดลงชื่อที่อยู่ใกล้โดยดูจาก สถานที่ลงชื่อ

หากไม่สะดวกเดินทางสามารส่งเอกสารแบบฟอร์มที่ลงชื่อแล้วได้ที่ ตู้ ปณ.79 ปณศ.สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ประเทศไทย 10400 โทร. 0996786031 หรือนำส่งด้วยตนเองหรือบริการส่งของไปที่สำนักงานของ iLaw ตามนี้ https://goo.gl/maps/aZzV2MY3nnrGzJUx7 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net