Skip to main content
sharethis

จาก “คนจนมีสิทธิมั๊ยคะ” เนื้อเพลงหมอลำไวรัลที่เอาออกจากหัวไม่ได้ ชวนดู 5 เรื่องสิทธิที่มีอยู่แล้ว แต่ยังต้องทวง

1. ชาวกะเหรี่ยงท่าเสลา โดนคดีรุกป่า

หลังรัฐขีดเส้นอุทยานทับที่ชนพื้นเมือง

  • ปี 2565 ศาลฎีกาพิพากษา จำคุก 2 ปี 8 เดือน ปรับ 310,000 บาทไม่รอลงอาญา “วันเสาร์ ภุงาม” ชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี คดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
  • ย้อนไปเมื่อปี 2561 วันเสาร์ ถูกจับกุมใส่กุญแจมือจากข้อกล่าวหาบุกรุกพื้นที่อุทยาน ขณะที่วันเสาร์ยืนยันว่าที่ดินผืนนี้คือมรดกตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
  • ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิดข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติ ให้จำคุก 3 ปี 8 เดือน ให้ออกจากที่ดิน รื้อถอนบ้านออกจากที่ดิน และจ่ายค่าเสียหายให้รัฐ 2,124,060 บาท ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนว่าเป็นจำนวนที่มากเกินไปหรือไม่ที่ชาวบ้านคนหนึ่งจะต้องจ่าย หากเป็นนายทุนก็อาจพอเข้าใจได้
  • อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศเมื่อปี 2524 เส้นแนวเขตในพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 92 วันที่ 12 มิถุนายน 2524 คือเส้นที่เธอและชาวบ้านท่าเสลารับรู้ทั่วกัน และไม่เคยรุกล้ำเข้าไป
  • แต่ต่อมากรมอุทยานได้ลากเส้นแนวเขตใหม่ โดยอ้างว่าแนวเส้นเดิมนั้นไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักทางวิชาการ ประกอบกับในปี 2558 คณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบให้ ดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า โครงการ ‘One Map’ เพื่อให้หน่วยงานราชการใช้แผนที่เดียวกันในการทำงาน
  • อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงยึดเอาเส้นแนวเขตที่ถูกขีดขึ้นใหม่เป็นเส้นทางการ และเส้นแนวเขตใหม่นี้เองได้รวมเอาพื้นที่ของวันเสาร์เข้าไปอยู่ในเขตอุทยานด้วย

2. ภาค ปชช. ส่งเสียงให้กรุงเทพมีคลินิกทำแท้งปลอดภัย 

  • เมื่อปีที่ 2565 กลุ่มทำทางและภาคีเครือข่ายฯ จัดงาน “กรุงเทพทำแท้ง” (Bangkok Abortion) ส่งเสียงถึง กทม. ผลักดันข้อเสนอให้กรุงเทพฯ มีคลินิกทำแท้งปลอดภัยที่ทุกคนเข้าถึงได้ เนื่องจากกรุงเทพฯ ยังไม่มีบริการทำแท้งฟรี ต้องไปที่สิงห์บุรี ย้ำจุดยืน “สิทธิทำแท้งปลอดภัยคือสิทธิมนุษยชน”
  • ณฐกมล ศิวะศิลป ที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มทำทาง กล่าวว่า แม้จะมีการแก้กฎหมายที่ก้าวหน้าขึ้นแล้ว แต่เมื่อตัดสินใจทำแท้ง และต้องการเข้าถึงสถานบริการที่ถูกกฎหมาย ประชาชนก็ยังคงเผชิญกับกระบวนการในการรับบริการที่สร้างบาดแผลทางใจ ทั้งการข่มขู่และการหมิ่นประมาทซึ่งหน้าจากเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ 
  • ขณะที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานอย่าง “ธนพร วิจันทร์” ชวนมองการทำแท้งเป็นสิทธิของแรงงาน เนื่องจากการลาคลอดทำให้นายจ้างไม่ได้ผลผลิต ลูกจ้างหญิงถ้าท้องแล้วจะทำงานไม่ได้จึงต้องแอบไปทำแท้งที่คลินิกตามซอย เพื่อให้ได้ทำงานต่อ ดังนั้นตนจึงสนับสนุนสิทธิในการทำแท้งเพราะจะช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • นุชนารถ แท่นทอง นักเคลื่อนไหวจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค พูดถึงความจำเป็นของการทำแท้งปลอดภัยสำหรับคนจนเมือง ระบุว่า สังคมมักจะตีตราคนสลัมว่าไม่ติดยาก็ท้องไม่พร้อม แต่เด็กในชุมชนแออัดที่ท้องไม่พร้อมนั้นไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถปรึกษาใครได้ เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะท้อง บางคนถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมาด้วยซ้ำ

3. แรงงานข้ามชาติ ม.33 ฟ้องศาลปมตัดสิทธิเยียวยา อ้าง “ไม่มีสัญชาติไทย”

  • เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 เครือข่ายแรงงานข้ามชาติผู้ประกันตน มาตรา 33 ยื่นฟ้อง 5 หน่วยงานรัฐต่อศาลปกครองกลาง กรณีมาตรการเยียวยาโควิด-19 โครงการ “ม.33 เรารักกัน” จำกัดสัญชาติผู้ได้รับสิทธิไว้เพียงสัญชาติไทยเท่านั้น ทั้งๆ ที่แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ก็ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนเหมือนกับคนไทย และได้รับผลกระทบในการจ้างงานหลัง โควิด-19 แพร่ระบาดเช่นกัน

4. ปชช.ค้าน เกณฑ์จ่ายเบี้ยคนชราแบบพิสูจน์ความจน 

  • เมื่อ 17 ส.ค. 2566 เครือข่ายประชาชนจัดขบวนไปเยือน 3 ที่ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อคัดค้านปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยเรียกร้องให้กลับไปใช้ระเบียบเดิม ซึ่งคงสิทธิถ้วนหน้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน
  • สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 
  • ประเด็นสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แก้คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ ต้องเป็น “ผู้ที่ไม่มีรายได้” หรือ “มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด เป็นการเปลี่ยนเกณฑ์จากเดิมที่ให้แบบถ้วนหน้า ซึ่งตัดความซ้ำซ้อนกับสิทธิอื่นแล้ว ไปเป็นการให้แบบสังคมสงเคราะห์เฉพาะคน

5. กว่าจะได้เรียน เด็กชายแดนไทย-เมียนมา

  • "เด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามควรมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา" ข้อความนี้ถูกระบุในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN) ปี 1948 ข้อที่ 26 แต่ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในเมืองไทยเมื่อปี 2563-2565 ลูกหลานชาวเมียนมาที่อาศัยในชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก ต้องหลุดจากระบบการศึกษาด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ
  • แม้ว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ศูนย์การเรียนฯ ของนักเรียนเมียนมาจะกลับมาเปิดเรียนตามปกติอีกครั้ง แต่ไฟสงครามอันสืบเนื่องจากการทำรัฐประหารในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่า เมื่อปี 2564 ที่ไม่มีทีท่าว่าจะดับในเร็ววัน ทำให้เด็กเมียนมาที่ตั้งใจกลับไปใช้ชีวิตและเรียนที่ประเทศบ้านเกิดไม่สามารถทำได้ การเรียนในระบบการศึกษาไทยอาจกลายเป็นเส้นทางหลักที่ต้องพิจารณา และถึงเวลาที่รัฐควรสนับสนุนในมิติด้านการเรียนรวมถึงปรับเปลี่ยนมุมมองต่อชาวเมียนมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net