Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เปิดตัวหนังสือ 'พุทธศาสนาในยามสงคราม' หนังสือเล่มแรกที่ศึกษาจุดร่วมระหว่างหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนากับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ 

เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. 2566 คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross – ICRC) หรือ ไอซีอาร์ซี เปิดตัวหนังสือเล่มแรกที่ศึกษาจุดร่วมระหว่างหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนากับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL)  โดยเป็นโครงการที่ทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติจากทั่วโลก

ปัจจุบัน งานเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาส่วนใหญ่กล่าวถึงการหลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่แทบจะไม่มีงานชิ้นไหนที่ศึกษาลงลึกไปถึงวิธีปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา ที่สามารถนำมาควบคุมความประพฤติและการปฏิบัติตนในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ หนังสือ “พุทธศาสนาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” จึงจัดทำขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะเติมเต็มเนื้อหาในส่วนนี้

ผู้เขียนนำเสนอแนวทางของพุทธศาสนาในการบรรเทาความทุกข์ทรมานอันเกิดจากสงคราม ที่ทั้งเน้นย้ำและเสริมสร้างประสิทธิภาพของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเป็นการอธิบายแบบที่นำไปปฏิบัติได้จริงและเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงประเด็นที่หลายคนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น ประเด็นที่ว่าพุทธศาสนาไม่สนับสนุนการดำเนินการทางการทหาร โดยหนังสือเล่มนี้เสนอให้เห็นว่า พุทธศาสนาเข้าใจว่า ในบางกรณีการทำสงครามก็เป็นสิ่งที่จำเป็น หากสงครามนั้นเป็นไปเพื่อการป้องกันหรือคุ้มครอง 

หนังสือเล่มนี้สรุปว่า พลรบที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องหาสมดุลให้ได้ระหว่าง อุดมคติทางพุทธศาสนาและมนุษยธรรม กับเป้าหมายทางการทหาร

“ในฐานะที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติ จึงเกิดมีปริศนาหนึ่งขึ้นมาว่า พุทธศาสนามีหลักธรรมคำสอนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์หรือการประพฤติตนที่เกี่ยวกับสงครามหรือไม่ ซึ่งเนื้อหาที่หลากหลายของชุดบทความต่างๆ ที่รวบรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนามีหลักธรรมคำสอนดังกล่าวจริง โดยแนวคิดที่มาจากพุทธศาสนาอย่าง เมตตา กรุณา และขันติ ต่างเป็นแนวคิดที่ช่วยหนุนเสริมหลักการสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอยู่หลายประการ เช่น หลักการจำแนกความแตกต่าง หลักความจำเป็นทางทหาร หลักความได้สัดส่วน และหลักการระมัดระวังล่วงหน้า ที่มุ่งคุ้มครองปกป้องผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสู้รบโดยตรง” ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ประจำคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวถึงเนื้อหาโดยรวมของหนังสือเล่มนี้

ไอซีอาร์ซีริเริ่มโครงการศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เมื่อ ค.ศ. 2017 เนื่องจากพบว่าหลายประเทศทั่วโลกมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่ปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพ แต่ที่ผ่านมากลับมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำพุทธศาสนามาใช้เป็นแนวทางการทำสงครามสมัยใหม่อยู่น้อยมาก   

แม้ว่าพุทธศาสนิกชนได้มีการร่วมสู้รบในสงครามมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว แต่หลายคนกลับเชื่อว่าพุทธศาสนาและสงครามเป็นสิ่งที่ขัดกัน จึงทำให้ไม่ค่อยมีการศึกษาถึงหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาที่อาจนำมาใช้จำกัดหรือควบคุมการสู้รบ เนื้อหาบทหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ศึกษาประเด็นที่ว่า พุทธศาสนานั้นจะสามารถช่วยส่งเสริมกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในการทำให้การสู้รบมีมนุษยธรรมได้หรือไม่ โดยเสนอว่า หลักการพื้นฐานของพุทธจริยศาสตร์นั้นแปลความได้ว่า คู่สงครามจะได้ประโยชน์จากการจำกัดอันตรายต่อคู่สงครามหรือฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสู้รบ เนื่องจากเป็นการจำกัดผลกรรมที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองด้วย ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องอย่างยิ่งกับหลักการของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

“หนังสือเล่มนี้ที่ไอซีอาร์ซีให้การสนับสนุนจัดทำขึ้นมา เป็นความพยายามร่วมกันครั้งแรกในการเชื่อมผสานพุทธศาสนากับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน แม้ว่าทั้งสองสิ่งต่างมีความมุ่งหมายเดียวกันคือการบรรเทาความทุกข์ทรมานของมนุษย์” ศ.ดร.พระคำหมาย ธัมมสามิ มหาวิทยาลัยพุทธศาสนารัฐฉาน กล่าว

หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ถึงหลักพุทธจริยศาสตร์และการนำหลักธรรมคำสอนมาเป็นแนวทางให้แก่ทหาร รวมถึงการนำไปใช้ในการฝึกอบรมทางทหาร โดยกล่าวถึงการที่พุทธศาสนานั้นกระตุ้นหนุนเสริมให้กองทัพมีวินัย ยึดมั่นในศีลธรรม และมีทักษะความเชี่ยวชาญเพื่อปกป้องสิ่งที่เป็นคุณงามความดี

“ทั้งพุทธศาสนาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่างยอมรับการมีอยู่ของความขัดแย้ง และต่างพยายามหาหนทางเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้คน” แดเนียล ราเธเซอร์ ฝ่าย Global Affairs ของไอซีอาร์ซี และบรรณาธิการร่วมของหนังสือเล่มนี้ กล่าว และเสริมว่า “หลักพุทธจริยศาสตร์ยังมีความสอดคล้องกันกับกฎเกณฑ์ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในขณะที่หลักธรรมคำสอนในเชิงจิตวิทยาของพระพุทธศาสนาก็ช่วยส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามบรรทัดฐานด้านมนุษยธรรมที่กำหนดโดยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เราจะพบว่า เทคนิคการเจริญสติในทางพุทธศาสนาสามารถช่วยให้พลรบที่ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน มีจิตใจที่เข้มแข็งและสามารถสู้รบได้อย่างประสิทธิภาพและมีขอบเขต”

หนังสือเล่มนี้เผยแพร่บนแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงได้แบบเปิด (Open Access) และสามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (https://library.oapen.org/handle/20.500.12657/75921) สามารถสั่งซื้อฉบับตีพิมพ์ได้จากสำนักพิมพ์ Routledge (https://www.routledge.com/Buddhism-and-International-Humanitarian-Law/Bartles-Smith-Crosby-Harvey-Tilakaratne-Ratheiser-Trew-Travagnin-Harris-Deegalle-Kilby/p/book/9781032575490)

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้และการดำเนินงานของไอซีอาร์ซีเกี่ยวกับพุทธศาสนาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ได้ที่เว็บไซต์ Religion and Humanitarian Principles (https://blogs.icrc.org/religion-humanitarianprinciples/)

 

เกี่ยวกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ - คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี (International Committee of the Red Cross – ICRC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1863 โดยมีภารกิจด้านมนุษยธรรมในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการสู้รบและสถานการณ์รุนแรงอื่นที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงส่งเสริมและเสริมสร้างความรู้เรื่องกฎหมายมนุษยธรรมและหลักการมนุษยธรรมสากลเพื่อป้องกันความเดือดร้อนและจำกัดผลกระทบจากการสู้รบ ตามพันธกิจที่ระบุไว้ในอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ตลอดระยะเวลากว่า 160 ปีที่ผ่านมา ไอซีอาร์ซีปฏิบัติงานโดยยึดมั่นในหลักการแห่งความเป็นกลาง เป็นอิสระ และไม่เลือกปฏิบัติ และความร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศทั่วโลก ไอซีอาร์ซีมีสำนักงานใหญ่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีเจ้าหน้าที่มากกว่า 20,000 คน ปฏิบัติหน้าที่ประจำพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ งบประมาณส่วนใหญ่ของไอซีอาร์ซีมาจากการบริจาคโดยรัฐบาลและสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงทั่วโลก

ไอซีอาร์ซีดำเนินงานด้านมนุษยธรรมในประเทศไทยมานานกว่าห้าทศวรรษ โดยเริ่มก่อตั้งสำนักงานเมื่อ พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงครามอินโดจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ต่อมา พ.ศ. 2536-2543 (ค.ศ. 1993-2000) ไอซีอาร์ซีในไทยได้เริ่มปรับบทบาทเป็นสำนักงานภูมิภาค โดยขยายขอบข่ายงานครอบคลุมประเทศ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมีสำนักงานภูมิภาคในกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการประสานงานและช่วยเหลือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานด้านมนุษยธรรมผ่านความร่วมมือกับสภากาชาดในประเทศ และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในหลากหลายระดับ ปัจจุบัน สำนักงานไอซีอาร์ซีในประเทศไทยได้ขยายขอบข่ายงานเป็นศูนย์รวมความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทำงานครอบคลุมการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญกับหน่วยงานและองค์กรทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net