Skip to main content
sharethis

‘เพื่อไทย’ ชี้รับฟังข้อเสนอแนะเงินดิจิทัล 10,000 บาท วอนคนค้าน ‘รับฟังเสียงประชาชน’ ด้วย เหตุลงพื้นที่มีแต่คำถาม ‘เมื่อไหร่จะได้เงินหมื่น’ ยันต้องกระตุ้นพื้นฐานเศรษฐกิจให้แข็งแรง - ผลสำรวจของ ม.หอการค้าไทย พบประชาชนส่วนใหญ่ 76.4% จะใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท และเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

7 ต.ค. 2566 นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการ และรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยรับทราบถึงข้อคิดเห็นจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งมีทั้งบวกและลบจากทั้งนักวิชาการบางส่วน จึงขอทำความเข้าใจ ดังนี้

1. ที่มาของออกนโยบายดังกล่าว มาจากการที่พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน คนหาเช้ากินค่ำ และพี่น้องเกษตรกร ต่างต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก จากปัญหาที่สะสมมาตลอดระยะเวลาหลายปี โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนสะดุดจนติดลบ จนทำให้หนี้ครัวเรือนปี 2563 พุ่งขึ้น 10 เท่าจากปี 53 และในไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 90.6% ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงโควิดจนมาถึงปัจจุบัน หนี้ที่เพิ่มขึ้นเพราะประชาชนอ่อนแอเปราะบาง เป็นที่มาของการ ‘ลดรายจ่าย’

2. จากการประเมินของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุดพบว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ (fiscal multiplier) คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1-1.6 ล้านล้านบาท และประเมินจีดีพีไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ถึง 5-7% แม้ถูกมองว่าเป็นการกระตุ้นระยะสั้น แต่พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นการเริ่มต้นปูพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับเศรษฐกิจในปี 2567 เพื่อที่ในปีต่อๆ ไป การลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามามากขึ้น เป็นที่มาของการ ‘เพิ่มรายได้’ ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ค่าแรง 600 บาทใน 4 ปี และเงินเดือนปริญญา 25,000 บาท ที่กำลังจะตามมา

3. โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่เป็นการลงทุนระยะยาว ยังมีหลากหลายโครงการที่รัฐบาลเตรียมการไว้ด้วยเช่นกัน เช่น โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ โครงการแลนด์บริดจ์, โครงสร้างพื้นฐาน ที่ จ.ภูเก็ต, โครงการอีอีซี และระบบขนส่งมวลชนต่างๆ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น สามารถดำเนินควบคู่กันไปกับโครงการขนาดใหญ่ ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว

4. ขณะนี้ประเทศไทย อยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น กนง.ได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุด 0.25% เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยติดกัน 8 ครั้ง นับตั้งแต่ 10 สิงหาคม 2565 อาจส่งผลให้การลงทุน และการส่งออกของไทยหดตัวลงได้ ดังนั้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ควบคู่การลดรายจ่ายให้กับประชาชนระดับฐานรากของสังคม และการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ เป็นทางออกที่เหมาะสม และจะช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาวได้

“พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล มองภาพใหญ่ มองภาพรวม ของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ที่ สส.พื้นที่เราได้รับฟังเสียงสะท้อนมาตลอด ที่ผ่านมา ไม่มีใครบอกว่าไม่อยากได้เงินดิจิทัล 10,000 บาท มีเพียงคำถามว่า ‘เมื่อไหร่จะได้เงินหมื่น?’ ข้อกังวล เรารับทราบ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการเราเปิดรับเสมอ แต่อยากให้คนที่คัดค้าน ฟังเสียงประชาชนร่วมด้วย คนที่เขารอรับ เขาอาจเสียงไม่ดังเหมือนพวกท่าน แต่พวกเขาเดือดร้อนและรออยู่” นางสาวลิณธิภรณ์ กล่าว

ด้านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า จนถึงเวลานี้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศยังไม่ถึงเดือน แต่สามารถสร้างผลงานได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตราการ การพักชำระหนี้เกษตรกร 2.7 ล้านราย ลดราคาพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน ทั้งดีเซลและเบนซินอย่างต่อเนื่องเกิดประโยชน์กับคนทุกกลุ่ม

รัฐบาลทำเต็มที่ในทุกนโยบายที่หาเสียงไว้ กับประชาชน ในขณะเดียวกันเวลาที่คณะรัฐมนตรีลงพื้นที่หรือส.ส.ลงพื้นที่ พบปะพี่น้องประชาชนจะได้รับ คำถามจากประชาชนว่าว่าเมื่อไหร่จะได้ใช้เงิน 10,000 บาท ในโครงการ Digital Wallet นโยบายดังกล่าวเป็นเหมือนความหวังของพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคบรรเทาปัญหาค่าครองชีพที่ไม่พอใช้ในครัวเรือน

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้เงิน 10,000 บาท จะสามารถช่วยเหลือพี่น้อง เกษตรกรพี่น้องทุกหมู่เหล่า เรื่องนี้พี่น้องประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งรัด การจ่ายเงินในโครงการ Digital Wallet โดยเร็วยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะเกิดผลดีกับประเทศมากเท่านั้น เพราะปัจจุบันกำลังซื้อในมือของ พี่น้องประชาชนทั่วประเทศนั้นลำบากมาก เงินที่จ่ายผ่าน Digital Wallet จะเกิดประโยชน์มหาศาลกับพี่น้องประชาชนสามารถนำไปซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคได้

“เม็ดเงินจำนวนกว่า 560,000 ล้านบาท จะถูกอัดฉีดเข้าระบบในต้นปี 2567 มั่นใจว่าจะสร้างประโยชน์มหาศาลประชาชน นอกจากนี้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ภาคอุตสาหกรรมก็ได้ประโยชน์ โรงงานผลิตสินค้าจะผลิตสินค้ามากขึ้น แรงงานก็มีงานทำมากขึ้นตามไปด้วย ตามมาคือรายได้ที่เพิมขึ้นจากเดิม ส่วนนักวิชาการที่ออกมาโจมตีนโยบาย Digital Wallet เพราะคนเหล่านี้อยู่ดีมีกินแล้ว ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะคนเหล่านี้อยู่สบายแล้ว จึงไม่คิดถึงประชาชนที่กำลังลำบาก ดังนั้นรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ ประชาชนมีความสุขนโยบายที่ออกมาจึงเป็นนโยบายที่ยึดประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศเป็นที่ตั้ง นโยบายดังกล่าวจะส่งผลต่อประเทศ และประชาชน อย่างแน่นอน”นายสมคิด กล่าว

ม.หอการค้าไทย พบประชาชนส่วนใหญ่ 76.4% จะใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 1,280 ตัวอย่างทั่วประเทศ ถึงทัศนะต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท พบว่า 76.4% คาดว่าจะใช้เงินดิจิทัล ส่วนผู้ที่มีรายได้เดือนละ 40,001 บาทขึ้นไป จำนวน 15.6% ระบุว่าจะไม่ใช้ โดยในส่วนของผู้ที่จะใช้เงินดิจิทัล อยากใช้ซื้อสินค้าในครัวเรือนมากที่สุด 24.5% รองลงมาคือใช้ซื้ออาหาร 21.0% ขณะเดียวกัน เมื่อถามว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการดิจิทัลหรือไม่ มีผู้ตอบแบบสอบถามว่าไม่แน่ใจมากที่สุด 38.4% เนื่องจากมีความกังวลเรื่องภาษี ยังไม่ทราบหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการที่ชัดเจน และคิดว่าจะได้รับเงินช้ากว่าการขายปกติ และ 33.8% ตอบว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการเพราะจะทำให้มียอดขายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม 48.3% เชื่อว่าเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้มาก และ 35.6% เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ปานกลาง

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงผลสำรวจของประชาชนถึงความกังวลต่อเหตุยิงกลางศูนย์การค้าด้วยว่า 67.8% มีความกังวลปานกลาง กังวลน้อย 18.9% และกังวลมาก 11.8% นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบว่า การก่อเหตุยิงกลางห้างจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยปานกลาง 45.7% และ 35.1% แสดงความเห็นว่าจะส่งผลกระทบมาก

นอกจากนี้ นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงแนวคิดที่จะมีการขยายเวลาการปิดสถานบันเทิงในเขตโซนนิ่งด้วยว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าการปิดตามเวลา เพราะจะทำให้การท่องเที่ยวคึกคัก เกิดการจ้างงาน ส่วนข้อเสียจะมีเพียงแค่เรื่องของอาชญากรรม แต่เจ้าหน้าที่คงจะป้องกันได้ ซึ่งยุคสมัยปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว 

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะนำไปสู่การทำลายอย่างสร้างสรรค์มากมาย โดยจะมีการคิดสิ่งใหม่ๆ เข้ามาทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ อันหมายถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน และธุรกิจ พร้อมระบุด้วยว่าเศรษฐกิจดิจิทัลกำลังจะเป็นแนวโน้มสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ ว่า 60.6% จะไม่กินเจ เพราะอาหารเจแพง และ 16.0% ระบุว่า ไม่ตั้งใจกินเจเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วน 39.4% ตอบว่า จะกินเจ เพราะตั้งใจที่จะทำบุญและจะกินเพื่อสุขภาพ สำหรับพฤติกรรมการกินเจในปี 2566 มีถึง 61.4% บอกว่าจะกินเจตลอดเทศกาล ส่วน 38.6% ตอบแบบสอบถามว่าจะกินเพียงบางมื้อเท่านั้น

ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net