Skip to main content
sharethis

สส.ณัฐวุฒิ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องเด็กใส่ชุด นร.ขายนมเปรี้ยวกลางสี่แยกว่าทำได้หรือไม่ ด้าน รมว.พม. ย้ำทำไม่ได้ ประสานบริษัทนมเปรี้ยวแล้ว

20 ต.ค. 2566 วานนี้ (19 ต.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระกระทู้ถามสด ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นตั้งกระทู้ถามสด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบกระทู้แทน

ช่วงตั้งกระทู้ คลิปทางยูทูบโทรทัศน์รัฐสภา ช่วง 2.30.00 ถึง 2.48.00

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนตั้งใจจะถามนายกรัฐมนตรี เพราะนายกฯ มีตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ แต่ในเมื่อมีการมอบหมายให้ รมว. พม. มาตอบกระทู้แทนก็ต้องขอขอบคุณในความตั้งใจ

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนได้ส่งคนไปดูตามสี่แยกไฟแดงตามจังหวัดต่างๆ พบว่ามีการขายของหลายชนิด เช่น ดอกไม้ กล้วยแขก และการเช็ดกระจก แต่ที่ตนอยากจะเน้นมากที่สุดคือการขายนมเปรี้ยวซึ่งเกิดขึ้นบริเวณถนนหรือสี่แยก การขายนมเปรี้ยวไม่ได้เกิดมาแต่ดั้งเดิม แต่เพิ่งเกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความยากจน

“การกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่เด็กกระทำโดยตนเอง หรือมีบุคคลอื่นเป็นผู้จ้างวานให้เด็กเป็นคนกระทำ เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการใช้แรงงานเด็กที่นานาอารยประเทศก็จับตาดูว่าสถานะของประเทศไทยอยู่ในเทียร์ไหน”

ประเด็นดังกล่าว มี 4 คำถามย่อย ดังนี้

  1. เด็ก เยาวชน สามารถทำงานได้หรือไม่ ?
  2. เด็ก เยาวชน สามารถขายสินค้าหรือบริการบริเวณถนน / สี่แยกจราจรได้หรือไม่
  3. เด็ก เยาวชน สามารถใส่เครื่องแบบนักเรียนขายสินค้าหรือบริการได้หรือไม่
  4. บริษัท / ตัวแทนจำหน่ายหรือบุคคลใดเป็นผู้ใช้ จ้างวาน บังคับหรือไม่ได้บังคับให้เด็ก เยาวชน กระทำ

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า รัฐมนตรีมีลูก ตนเองก็มีลูก ในวัยเด็กสิ่งที่เราอยากให้ลูกของเราได้รับคือการเข้าศึกษา แต่เด็กจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยต้องเข้าสู่โลกของการทำงาน เราจะไปตอบนานาชาติเรื่องแรงงานเด็กที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างไร

วราวุธ ชี้แจงว่า อัตราเด็กเกิดใหม่นับวันจะน้อยลง ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ตนทราบดีว่าณัฐวุฒิ ทำประเด็นเรื่องเด็กและเยาวชนมาอย่างยาวนาน และตนได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงานเชิงรุก  

วราวุธ ระบุว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายบนพื้นที่การจราจรอยู่ 2 ฉบับคือ

  1. พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และ 
  2. พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 

สำหรับการทำกิจกรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย เรี่ยไร แจกจ่ายบนผิวจราจร ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้เด็ดขาด 

พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มีหลายมาตรา เช่น มาตรา 26 ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานเด็ก ทั้งการบังคับขู่เข็ญ แสวงประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งการบังคับ จ้างวานเด็กให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือไม่ก็แล้วแต่ รวมไปถึงมาตราที่ 78 ที่พูดถึงการระวางโทษจำคุก 

ผู้ใดพบเห็นเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งมาได้ที่สายด่วน 1300 ของกระทรวง พม. หรือว่า แอปพลิเคชันคุ้มครองเด็ก เพื่อที่พนักงานจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นสหวิชาชีพ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  

วราวุธกล่าวว่า ตนได้กำชับกรมกิจการเด็กและเยาวชนประสานงานกับทุกหน่วยงานและบริษัทนมเปรี้ยว 2-3 แห่งเพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งบางบริษัทบอกว่าไม่จำเป็นจะต้องประชุม เพราะบริษัทนั้นมีแนวทางในการกระจายการขายโดยที่ไม่ได้ใช้เด็กอยู่แล้ว ซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ที่อยู่คู่ประเทศไทยมา ซึ่งอันนั้นเราก็เข้าใจได้

ที่ผ่านมาทางกระทรวงได้จัดหาพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนได้หารายได้เสริม 33 จังหวัด 127 แห่ง เมื่อปีที่แล้ว วันที่ 8 พ.ย. มีตัวแทนของบริษัทนมเปรี้ยวรายใหญ่ได้เข้ามารายงานถึงความคืบหน้าและมีการทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังตัวแทนการขายของบริษัทตนเอง ย้ำว่าขอให้ยกเลิกการใช้เด็กและเยาวชนเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากฝ่าฝืนก็จะเขียนอยู่ในเงื่อนไขว่าบริษัทจะลงโทษโดยลดปริมาณสินค้าหรืออาจยกเลิกตัวแทนการขาย

นอกจากนี้ทางภาครัฐและประชาสังคม มีการเข้าไปจัดอบรมความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองเด็กแก่ผู้ปกครอง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กถูกบังคับใช้แรงงาน หรือถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทุกรูปแบบ

ทางตำรวจและฝ่ายปกครอง ถ้าท่านใดพบเห็นเยาวชนที่มีพฤติการณ์ไปขายสินค้าที่ผิดกฎหมายเหล่านั้น ขอให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ในส่วนของกระทรวง พม. เองนั้น เราทำหน้าที่แค่ในส่วนการมอนิเตอร์ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

วราวุธกล่าวด้วยว่า ส่วนในระยะยาวมีการเสนอให้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ให้มีเงื่อนไขเหมาะสมตามสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เช่น การว่าจ้างเด็ก แม้จะเป็นพ่อแม่ก็ไม่ควร หรือแม้แต่จะต้องมีการหาประโยชน์ใดๆ จากเด็กนั้น พ่อแม่เองจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยในการเฝ้าดู กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สังคมในชุมชนนั้นมีส่วนร่วมในการพิจารณา 

วราวุธกล่าวด้วยว่า ในส่วนเรื่องร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ตนก็ยินดีหากมีการเสนอ และคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีหากได้รับคำเสนอแนะจากฝ่ายค้าน เพื่อให้ พ.ร.บ.นี้สมบูรณ์ที่สุดและเร่งเสนอต่อสภาในสมัยการประชุมหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net