Skip to main content
sharethis

'สุทิน' พร้อมแจงสภาฯ ปมเปลี่ยน 'เรือดำน้ำ' เป็น 'เรือฟริเกต' ยันเป็นทางออกดีที่สุด มั่นใจอธิบายได้ คิดอย่างรอบคอบ ไม่พละการ ยันจ่ายเพิ่มพันล้านไม่เสียเปรียบ - กมธ.การทหาร เตรียมเชิญกองทัพเรือชี้แจง ระบุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จี้ขอรายละเอียดเรื่องผิดสัญญา


สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)

23 ต.ค. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมาธิการการทหาร เตรียมเรียกชี้แจงกรณีการเปลี่ยนการจัดหาเรือฟริเกตแทนเรือดำน้ำ ว่า ก็ไปได้ และพร้อมชี้แจงทุกที่ ซึ่งทราบว่าคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ก็จะมาพบตนด้วย ซึ่งตนยินดีเพราะจะได้ทำความเข้าใจกัน

เมื่อถามว่า การเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตจะทำให้เสียงบประมาณที่ดำเนินโครงการไปก่อนหน้านี้หรือไม่เช่น การส่งบุคลากรไปอบรม และเตรียมสถานที่จอดเรือดำน้ำ นายสุทิน ระบุว่า ต้องชั่งน้ำหนักกัน ระหว่างการเดินหน้าต่อเอาเครื่องยนต์จากจีน และการเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ก็มีได้มีเสียเหมือนกัน พร้อมยืนยันว่าได้คิดรอบคอบในทุกมิติ รวมถึงมิติของกฎหมาย คิดว่านี่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และหากเดินหน้าต่อ คิดว่าจะต้องเจอคำถามมากกว่านี้

ส่วนเสียงสะท้อนจากผู้ใต้บังคับบัญชาของเหล่าทัพว่าอย่างไร นายสุทิน กล่าวว่าทุกคนเข้าใจดี เพราะก่อนจะตัดสินใจเรื่องนี้ก็ได้หารือกันอย่างละเอียด ไม่ได้ตัดสินใจโดยพละการ หรือใช้อำนาจของรัฐมนตรีหรือรัฐบาลไปชี้เลยนั้นไม่ใช่ แต่ได้ประชุมหารือในทุกแง่ทุกมุม

ส่วนไทยจะเสียเปรียบหรือไม่ที่จะต้องเสียเงินเพิ่ม อีกกว่าพันล้านบาท นายสุทิน ยืนยันว่าไม่เสียเปรียบ เพราะต้องดูมูลค่าของแต่ละอย่างด้วย เพราะหากเรือถูกแล้วเขามาบวกแพง อันนั้นเสียเปรียบ ซึ่งทุกอย่างเป็นราคาที่รับรู้กันทั่วโลก และเป็นราคามาตรฐาน

“ไม่ได้มองว่าจีนผิดสัญญา แต่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงมากกว่า เพราะเป็นเรื่องของจีทูจี ซึ่งมีมิติของความเป็นมิตรประเทศ มิติของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ ที่จะต้องมาพิจารณาประกอบกัน ไม่ใช่ดำเนินการซื้อขายอย่างเดียว” นายสุทิน กล่าว

เมื่อถามว่าจะใช้กลไกของรัฐบาลในการเจรจาหรือไม่นั้น นายสุทินระบุว่าขณะนี้ใช้กลไกของกระทรวงก่อน ซึ่งที่ผ่านมาคือกลไกของรัฐบาล ส่วนรายละเอียดต่อจากนี้ก็เป็นกลไกของกระทรวง ที่จะต้องไปคุย

ส่วนกังวลกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่นั้น นายสุทิน กล่าวว่า คิดว่าอธิบายได้ เพราะมองว่ากระแสก็คงมี เนื่องจากออกทางไหน คนไทยก็วิพากษ์วิจารณ์ แต่เชื่อว่าเราอธิบายได้

กมธ.การทหาร เตรียมเชิญกองทัพเรือชี้แจง ระบุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จี้ขอรายละเอียดเรื่องผิดสัญญา

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2566 PPTV Online รายงานว่านายวิโรจณ์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงความคืบหน้าภายหลังกระทรวงกลาโหม และกองทัพเรือ ยกเลิกจัดซื้อเรือดำน้ำ แบบ S26T มาเป็นเรือรบฟริเกตแทน ว่า ในวันที่ 26 ต.ค. นี้ กมธ.การทหาร จะเชิญกองทัพเรือเข้ามาชี้แจงในกรณีนี้ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงว่ามีการผิดสัญญาจริงหรือไม่ อย่างไร และมีความเป็นไปได้ในการคลี่คลายปัญหานี้อย่างไร 

โดยนายวิโรจณ์ ระบุว่าเข้าใจว่าการทวงเงินคืนอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องดูสัญญาก่อน พร้อมตั้งคำถามว่า  แต่เงินจำนวน 7,000 ล้านบาทที่จ่ายไปแล้ว จะทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

นายวิโรจน์ บอกอีกว่า ส่วนกรณีที่อาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มนั้น ต้องดูมีรายละเอียดอย่างไร หากจะต้องมีการจ่ายเงินจริง ต้องตั้งคำถามว่า เมื่อประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อเรือรบฟริเกตเองได้ ทำไมไม่เลือกทางเลือกอื่น แล้วนำเงินที่เหลือไปแลกเปลี่ยน เช่น ซื้ออุปกรณ์เพื่อนำมาประกอบในประเทศไทย หรือสามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นได้หรือไม่ อาทิ เรือ OPV หรืออุปกรณ์ที่เราผลิตเองไม่ได้แต่มีความจำเป็น เพื่อให้สามารถทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อเรือฟริเกตได้ โดยมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องของรัฐต่อรัฐด้วย ต้องระมัดระวัง แม้ขณะนี้จะมีความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่เราต้องยึดตามข้อเท็จจริงเป็นหลัก

ก่อนหน้านี้ก็มีความเห็นกรณีเดียวกันออกมาจาก นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งระบุว่า  เรื่องนี้ต้องตรวจสอบว่าการที่กองทัพเรือจะเปลี่ยนแปลงสัญญาซื้อเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาทนั้นทำได้หรือไม่ เพราะตามหลักสัญญาต้องพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย 
 
โดยกรณีเรือดำน้ำ มองว่า ฝ่ายจีนผิดสัญญา แต่เหตุใดทางกองทัพเรือจึงยอม และถามว่าทางการจีนจะรับผิดชอบอย่างไร และยังตั้งคำถามต่อว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเรือฟริเกตเพิ่มหรือไม่ หรือเพราะว่ามีเรื่องเงื่อนไขเรือดำน้ำที่อาจได้เครื่องยนต์ไม่ได้มีคุณภาพอย่างที่ต้องการ จึงใช้โอกาสนี้ซื้อเรือฟริเกต  

ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นคิดว่าเป็นลิงแก้แห ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงๆ กลายเป็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และทร. จะแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่ได้สนใจว่าจะใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างไม่คุ้มค่าขนาดไหน สุดท้ายยังวนเวียนอยู่กับการซื้ออาวุธแบบที่ไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้ว่าตกลงแล้วประเทศได้อะไรจากเรื่องนี้

เมื่อถามว่าถึงขั้นต้องส่งเรื่องให้ป.ป.ช.หรือจะยื่นอภิปรายตรวจสอบรัฐบาลด้วยหรือไม่หรือไม่ นายรังสิมันต์ บอกว่า คงต้องดู ข้อมูลพยานหลักฐานก่อน  ซึ่งย้อนไปก่อนหน้านี้ นายสุทิน คลังแสง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ระบุว่า ได้คุยกับรัฐบาลจีน แต่ยังไม่จบ 100% ซึ่ง ทางการจีนก็เข้าใจ ว่าเรื่องนี้เป็นความลำบากใจของไทย แต่จีนขอความเห็นใจเช่นกันว่าเกิดปัญหาถูกเบี้ยว เรื่องเครื่องยนต์เช่นกัน โดยยอมรับว่าไทยได้เสนอขอเป็นเรือฟริเกตจริงเพราะมีแผนจัดซื้ออยู่แล้ว แต่ไม่ใช่การยกเลิกสัญญา แต่เป็นการปรับปรุงหรือเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ คือให้ระงับเรื่องเรือดำน้ำ แล้วมาเขียนข้อตกลงขึ้นใหม่ว่าจะเอาเรือฟริเกต และชะลอเรื่องเรือดำน้ำออกไปทำในวันที่มีความพร้อม

ส่วนเงินที่จ่ายไปแล้ว ไทยเสนอว่า ให้เป็นค่าเรือฟรีเกต ราว 7 พันล้านบาท เมื่อหักลบกับที่ยังไม่ได้จ่าย อีก 6,000 ล้านบาท อาจจะต้องเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ส่วนราคารวมของเรือฟริเกตลำใหม่นี้ ทางจีนยังไม่ได้พูดเรื่องราคา แต่จากการศึกษา อยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านก็ใกล้เคียงกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net