Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องคดีที่ “พงศ์ศิริ คิดดี” อาจารย์วิจิตรศิลป์ มช. ฟ้องหมิ่นประมาท “พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ” นักวิจารณ์ศิลปะ ที่เขียนบทความพาดพิงผลงานศิลปะ ศาลระบุ บทความดังกล่าวตั้งข้อสังเกตถึงหลักเกณฑ์จัดซื้อผลงานศิลปะของหน่วยงานรัฐที่มีการใช้งบประมาณร่วม 19 ล้านบาท จำเลยในฐานะประชาชนย่อมมีสิทธิตรวจสอบการใช้ภาษีประชาชน สามารถวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น หรือเขียนข้อความอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยสุจริตได้

 

15 พ.ย. 2566 เว็บไซต์ WAY Magazine รายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าคดีที่พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ (Content Creator) และนักวิจารณ์ศิลปะ ถูกพงศ์ศิริ คิดดี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฟ้องต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช จากกรณีที่พีรมณฑ์ได้เขียนบทความเรื่อง “สมบัติชาติหรือสมบัติใคร ภาษีเรา รัฐเอาไปเปย์งานศิลป์อะไรเนี่ยถามจริ๊ง” ลงเว็บไซต์ way magazine ซึ่งในเนื้อหาส่วนหนึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานศิลปะของพงศ์ศิริ

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พงศ์ศิริในฐานะโจทก์ ฟ้องร้องพีรมณฑ์จำเลย ข้อหาหมิ่นประมาท กรณีเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์และพาดพิงโจทก์ โดยศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าในวงการศิลปะนั้น การวิพากษ์วิจารณ์หรือติชมด้วยความเป็นธรรมถือเป็นเรื่องปกติ และยังเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่า บทความดังกล่าวมีการตั้งข้อสังเกตถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกและจัดซื้อผลงานศิลปะของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งที่มีการใช้งบประมาณร่วม 19 ล้านบาท จำเลยในฐานะประชาชนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิในการตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน สามารถวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น หรือเขียนข้อความอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยสุจริตได้

ส่วนข้อความที่จำเลยกล่าวถึงตำแหน่งทางวิชาการและวุฒิการศึกษาของโจทก์ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องความประพฤติส่วนตัวในทางที่ไม่ดี และไม่ถึงขนาดเป็นการดูถูกเหยียดหยามให้โจทก์เสียหาย

นอกจากนี้ การวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของโจทก์ว่ายังเหมือนเดิมโดยไม่มีการพัฒนา ในมุมมองของจำเลยซึ่งเป็นผู้มีความรู้และมีความสนใจในผลงานศิลปะ เสมือนเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบความเคลื่อนไหวและสะท้อนผลงานในแวดวงศิลปะซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะเป็นการสร้างสรรค์ผลงานซึ่งผู้ที่พบเห็นสามารถติชมได้ตามมุมมองของตนเอง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้ความจาก ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี และนายศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า งานศิลปะกับการวิพากษ์วิจารณ์เสมือนกระจกส่อง เกื้อกูลกัน อีกทั้งการวิจารณ์ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนและการปฏิบัติในหลักสูตร”

ศาลอุทธณ์ภาค 8 เห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด และที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net