Skip to main content
sharethis

นักสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศจากยูกันดา พูดถึงการที่พวกเขาต้องลี้ภัยหลังมีการออกกฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกันฉบับใหม่ ทั้งที่ยูกานดามีกฎห้ามเรื่อง LGBTQ+ อยู่แล้ว แต่หลังจากหนีออกมา พวกเขายังก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคจากการเลือกปฏิบัติ และการที่ประเทศที่พักพิงก็มีกฎห้ามเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่เช่นกัน

ในหลายประเทศของโลก การรักเพศเดียวกันยังถูกทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เช่น ในยูกันดา ที่เพิ่งจะมีการผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกันเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ระบุโทษการรักเพศเดียวกันแบบที่สมยอมทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องผิดกฎหมายในระดับที่อาจจะถูกระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และในบางกรณีเช่นการมีเพศสัมพันธ์กับคนพิการหรือคนสูงอายุจะถูกลงโทษประหารชีวิต เรื่องนี้ทำให้นักกิจกรรมเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่าง เฮนรี มูคีบี หนีออกจากประเทศ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เฮนรี มูคีบี เป็นผู้อำนวยการบริหารของกลุ่ม LGBTQ+ ชื่อมูลนิธิชิลเดรนออฟเดอะซันของยูกันดา (COSF) เขากำลังอยู่ในช่วงหลบหนีออกจากยูกันดาและอาศัยอยู่ในกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา หลังจากที่เขาได้ข้อมูลมาว่าเจ้าหน้าที่ทางการยูกันดาต้องการจับกุมตัวเขาโดยอ้างใข้กฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกันฉบับใหม่

สื่อพิงค์นิวส์ระบุว่า กฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกันฉบับใหม่ที่ออกมาเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในกฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ ที่เลวร้ายที่สุดในโลก กฎหมายฉบับนี้ได้ทำให้เกิดกระแสการลิดรอนสิทธิต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในยูกันดา มีผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายคนที่ถูกจับกุม ขณะที่คนอื่นๆ อย่างเช่น มูคีบี สามารถหนีออกจากประเทศได้

มูคีบีใคร่ครวญหลังจากที่หนีออกจากยูกันดาว่าเขา "ได้ทิ้งอะไรเอาไว้" ที่นั่นบ้าง มูคีบีบอกว่าสถานการณ์ในยูกันดาเลวร้ายลงกว่าเดิม เขาพบเห็นว่ามีคนที่ "เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันอย่างมาก" ในระดับที่ "เริ่มโจมตี" สมาชิกคณะกรรมการ COSF โดยทำการ "ทุบตีพวกเขาเพียงเพราะสิ่งที่พวกเขาเป็น"

มูลนิธิ COSF ให้บริการประชาชนในด้านสุขภาพและกฎหมาย รวมถึงเป็นแหล่งพักพิงสำหรับบุคคลที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด รวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎหมายโดยรัฐบาลยูกันดาด้วย

มูคีบีบอกว่า "สิ่งที่พวกเราทำคือการขอให้ผู้คนที่ใกล้ชิดกับพวกเขา(ผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ให้นำตัวพวกเขามาที่คลินิก แล้วพวกเราจะให้บริการสุขภาพแก่พวกเขา เพื่อคอยดูแลให้พวกเขาได้รับการรักษา"

นอกจากนี้ในกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้มีวรรคหนึ่งระบุว่า ผู้เป็นเจ้าของที่ดินจะต้องไม่ให้ที่พักพิงแก่ LGBT หรือให้เช่าอาศัย เป็นเหตุให้มีชาว LGBT จำนวนมากในยูกันดาถูกไล่ออกจากที่พัก เพราะพวกเจ้าของที่ดินกลัวว่าจะถูกจับ ซึ่งมูลนิธิ COSF ของมูคีบีมีความยินดีที่จะให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศพักพิงในพื้นที่ของพวกเขาได้ แต่โชคร้ายที่เจ้าของที่ดินของมูลนิธิก็เขียนจดหมายขับไล่มูคีบีเพราะรู้ว่ามูคีบีเป็นคนรักเพศเดียวกัน

นอกเหนือจากเรื่องการลงโทษคนที่มีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันแล้ว กฎหมายใหม่นี้ยังระบุบทลงโทษสำหรับผู้ที่ส่งเสริมสิทธิของ LGBTQ+ เป็นโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี และบุคคลที่ให้ชาว LGBTQ+ เช่าที่พักอาศัยก็อาจจะถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี

มูคีบี กล่าวว่าชีวิตในกรุงไนโรบีของเคนย่าก็มีความยากลำบาก และเขาอยากจะย้ายไปตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศอื่น ในขณะเดียวกันก็กลัวเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง และเขาก็ยังคงคิดถึงชุมชนชาว LGBTQ+ ที่ยังคงต้องพยายามเอาชีวิตรอดในยูกันดา

"ถ้าหากผมอพยพออกมา ผมได้ทิ้งอะไรเอาไว้ข้างหลังหรือเปล่า ... มันมีคำพูดที่ว่า 'ผมไม่สามารถเป็นวีรบุรุษได้อีกเป็นครั้งที่สอง' "

"นอกจากนี้ผมก็พยายามจะดูว่าผมสามารถทำงานจากระยะไกลได้หรือไม่ เพื่อให้ชุมชนของพวกเราได้รับบริการที่พวกเขาควรจะได้ สาเหตุที่ผมมีไอเดียเกี่ยวกับคลินิกเป็นเพราะว่าบางทีชุมชน LGBT จะถูกกีดกันเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพต่างๆ แล้วผมก็เห็นมันเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ... มีผู้คนที่ไปเยือนสถานบริการสุขภาพที่สั่งสอนให้พวกเขาตีเด็กจนกว่าจะเลิกเป็นคนรักเพศเดียวกัน" มูคีบีกล่าว

ยูกันดามีการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ก่อนที่กฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกันฉบับใหม่ของยูกันดาจะออกมาบังคับใช้ ในสังคมยูกันดาก็มีการกีดกันเลือกปฏิบัติอย่างหนักต่อชาว LGBTQ+ อยู่แล้ว และยูกันดาก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศของแอฟริกาที่ทำให้ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย พวกเขาเคยเสนอร่างกฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกันฉบับเก่าในปี 2557 แต่ในตอนนั้นศาลตีตกไป ทำให้ไม่มีการบังคับใช้ กระนั้นก็ตาม กฎหมายที่มีอยู่แล้วในยูกันดาก็ทำให้ LGBTQ+ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ทัศนคติของสังคมในยูกันดา ก็เป็นไปในลักษณะต่อต้าน LGBTQ+ ประธานาธิบดี โยเวนี มูเซเวนี ของยูกันดา พูดถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าเป็น "พวกเบี่ยงเบน" และข้าราชการของยูกันดาก็ทำการโจมตีกลุ่มที่เน้นเรื่องความหลากหลายทางเพศ มีกรณีที่ตำรวจยูกันดาเคยอ้างใช้สถานการณ์ COVID-19 ในการบุกค้นสถานทำการชุมชน LGBTQ+ ของ COSF โดยกล่าวหาว่าผู้พักพิงในสถานทำการได้ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับเรื่องการวางระยะห่างทางสังคม

ถึงแม้ว่าชาว LGBTQ+ จำนวนมากจะอพยพไปอยู่ที่เคนยา แต่พวกเขาก็ยังคงต้องเผชิญกับการกีดกันเลือกปฏิบัติที่นั่น

ดาลี บุลยาบา ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มครอบครัวโลกขององค์กรเซฟเพลสอินเตอร์เนชันแนล ตัดสินใจหนีออกจากยูกันดาแล้วเดินทางไปที่เคนยา เพราะต้องการหาที่ๆ จะไม่มีคนตั้งคำถามว่าทำไมถึงแต่งตัวแบบนี้หรือต้องคอยอธิบายว่าพวกเขามีอัตลักษณ์อย่างไร แต่ก็เจอปัญหาว่าการพยายามหาที่พักพิงผู้ลี้ภัยและการยื่นเรื่องต่อทางการนั้นบีบบังคับให้ชาว LGBTQ+ ต้องเปิดเผยอัตลักษณ์ตัวเอง

บุลยาบาบอกว่า เคนยา เป็นหนึ่งในที่ๆ มีผู้ลี้ภัยมากที่สุดในแอฟริกา พวกเขารับผู้ลี้ภัยจากโซมาเลีย, ซูดาน, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และพื้นที่อื่นๆ ที่มีสงคราม ดังนั้นแล้วพอมีคนบอกว่าลี้ภัยมาจากยูกันดาที่ในปัจจุบันไม่มีสงครามเจ้าหน้าที่ของเคนยาเลยสับสน เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะถามผู้ลี้ภัยว่าทำไมถึงมาที่เคนยาเพราะไม่มีสงครามในยูกันดา บีบให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเปิดเผยตัวเองและภาวนาให้ไม่ถูกลงโทษเพราะในเคนยาก็มีกฎหมายลงโทษการรักเพศเดียวกันเช่นกัน

ในเคนยามีกฎหมายห้ามคนรักเพศเดียวกันเช่นกัน โดยระบุโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี และเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้าน LGBTQ+ หลายร้อยคนที่เดินขบวนอยู่นอกศาลสูงสุดของเคนยาเพื่อประท้วงคำตัดสินของศาลที่อนุญาตให้ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิในการรวมกลุ่มและจัดตั้งองค์กรเอ็นจีโอในประเทศ

กลุ่มอนุรักษ์นิยมต่างประเทศมีเอี่ยว ส่งอิทธิพลต่อการละเมิดสิทธิ LGBTQ+ ในยูกันดา

บุลยาบาบอกว่าการปราบปรามผู้มีความหลากหลายทางเพศในแอฟริกาไม่ได้มาจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมในแอฟริกาแต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่กลุ่มจากอังกฤษและสหรัฐฯ ก็มีอิทธิพลในการลิดรอนสิทธิของชาว LGBTQ+ ด้วย

มีกลุ่มชาวคริสต์จากสหรัฐฯ ที่ต่อต้านทั้งสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งและต่อต้านเสรีภาพของชาว LGBTQ+ ต่างก็ใช้การลงทุนเพื่อแผ่อิทธิพลไปทั่วแอฟริกาเพื่อผลักดันวาระแบบอนุรักษ์นิยมให้เข้มงวดขึ้นในช่วงตลอดสิบปีที่ผ่านมา และเมื่อเดือน เม.ย. 2566 ก็มีรายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลอังกฤษได้ให้ทุนกลุ่มศาสนาในยูกันดาเพื่อทำการต่อต้าน LGBTQ+

เพื่อเป็นการโต้ตอบธนาคารโลกเลิกให้เงินกู้ยืมแก่ยูกันดา และทางสหภาพยุโรปก็ทำการประณามการออกกฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ ของยูกันดาฉบับล่าสุด

ซูลาห์ มาเวจเจ ผู้อำนวยการเซฟเพลสอินเตอร์เนชันแนล ดรีม อเคเดมี ประเทศเคนยา กล่าวว่า ธนาคารโลกและองค์กรอื่นๆ ควรจะมีปฏิบัติการเชิงรุกมากกว่านี้และควรจะเลิกเน้นแต่ตั้งรับ เพราะขบวนการต่อต้าน LGBTQ+ ในแอฟริกาได้รับเงินทุนจากองค์กรต่างชาติ

มาเวจเจขยายความว่า "ทำไมพวกเขา(องค์กรต่างๆ) ถึงต้องรอให้มีอะไรเกิดขึ้นก่อน อย่างเช่นมีการออกกฎหมายต่อต้านเกย์ออกมาก่อน ถึงจะทำการคว่ำบาตรแล้วก็พยายามจะแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาล"

มาเวจเจบอกว่าพวกเขาสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการออกกฎหมายกดขี่ LGBTQ+ ตั้งแต่แรก ซึ่งจะเป็นการทำให้ผู้คนไม่ต้องลี้ภัยออกจากประเทศ และไม่ต้องเผชิญกับกระบวนการที่ยากลำบากในการขอลี้ภัย

นอกจากจะทำงานให้กับเซฟเพลสอินเตอร์เนชันแนลแล้ว มาเวจเจยังทำงานพาร์ทไทม์เป็นล่ามให้กับข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติด้วย เขาบอกว่า สิ่งที่หนักหนายิ่งกว่าการเป็นผู้ลี้ภัยคือการที่จะต้องเผชิญกับการกีดกันเลือกปฏิบัติในระดับที่ย่ำแย่เหลือจะพรรณาในตอนที่พวกเขาหนีออกจากยูกันดา


เรียบเรียงจาก
‘What am I leaving behind?’: Queer Ugandans on the run from anti-homosexuality law speak out, Pink News, 11-11-2023

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net