Skip to main content
sharethis

นักเขียนและสื่ออิสระชาว อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เป็นงง ถูกตำรวจกล่าวหาแย่งศพผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม ยืนยันไม่ได้อยู่ตอนเกิดเหตุ เชื่อว่าเป็นการเข้าใจผิด อดีตรองเลขาฯ พรรคเป็นธรรม ชี้คดีฟ้องปิดปากนักกิจกรรม (SLAPP) เพราะคิดว่าเชื่อมโยงแบ่งแยกดินแดน คือการปิดทางออกทางการเมือง ย้ำสันติภาพไม่มีทางเกิดถ้ารัฐไม่กล้าเปิดพื้นที่ทางการเมือง ถ้าอยากมีสันติภาพ รัฐต้องกล้าบอกข้าราชการให้เชื่อแนวทางทางการเมือง 

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2566 เวลา 14.00 น. นายอัสมาดี บือเฮง อายุ 31 ปี ชาว อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี นักเขียนและสื่ออิสระได้ เข้าพบ พ.ต.ต.นัฐพงษ์ ชาพรหมสิทธิ์ สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี ในฐานะพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน หรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป 

เหตุเกิดขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารได้นำศพนายฮัยชัม สมาแฮ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการวิสามัญฆาตกรรม เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 มาที่โรงพยาบาลปัตตานีเพื่อพิมพ์มือศพนายฮัยซัมฯ ประกอบสำนวนการสอบสวนในคดี โดยนายอัสมาดีได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

หลังรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำแล้วปล่อยผู้ต้องหาไปโดยไม่ได้จับกุมหรือควบคุมตัวไว้ โดยระหว่างสอบปากคำมีนายอารีฟิน โซ๊ะ มาเป็นพยานรับฟังการสอบปากคำด้วย

ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่า ระหว่างที่ศพถูกนำลงมาจากรถพยาบาลของเจ้าหน้าที่ทหารผู้ต้องหากับพวกได้เดินไปที่ศพนายฮัยชัมฯ และได้แย่งชิงศพของนายฮัยซัมฯ ไป โดยเจ้าหน้าที่ทหารพยายามห้ามและอธิบายถึงขั้นตอนที่ยังไม่เสร็จสิ้นให้ผู้ต้องหากับพวกฟังแล้ว แต่ผู้ต้องหากับพวกไม่สนใจ แต่ผู้ต้องหาได้ง้างมือจะทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ทหาร จากนั้นผู้ต้องหากับพวกได้นำศพนายฮัยซัมฯออกไปฯ โดยไม่สนคำห้ามปรามของเจ้าหน้าที่ เหตุเกิดที่ ลานจอดรถหน้าห้องดับจิต โรงพยาบาลปัตตานี เวลาประมาณ 21.30 น.

คดีนี้ พ.ต.ต.นัฐพงษ์ เป็นผู้กล่าวหานายอัสมาดี พร้อมกับนางแมะดะ สะนิ แม่ของนายฮัยซัมด้วยอีกคนหนึ่ง

นายอัสมาดี เปิดเผยหลังรับทราบข้อกล่าวว่า ในวันเกิดเหตุตนได้เข้าไปติดตามสถานการณ์เพื่อเขียนรายงานข่าวตั้งแต่ช่วงปิดล้อมนายฮัยซัม บริเวณบ้านตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ไปจนถึงการทำพิธีฝั่งร่างนายฮัยซัม โดยขณะเกิดเหตุที่โรงพยาบาลนั้น ตนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุเนื่องจากได้เข้าห้องน้ำและไม่เห็นเหตุการณ์ ซึ่งในฝ่ายชาวบ้านถือว่ามารับศพกลับ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นการแย่งศพ

ส่วนสาเหตุที่กลายเป็นผู้หานั้น นายอัสมาดีกล่าวว่า ก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่าทำไม

คดีนี้ทางฝั่งตำรวจอ้างว่ามีภาพวงจรปิดในโรงพยาบาลจับภาพอัสมาดีสวมเสื้อยีนส์สีฟ้าเป็นคนแย่งศพไป โดยสวมหน้ากากอนามัยสีดำด้วย แต่นายอัสมาดีบอกว่า วันนั้น ตนไม่ได้สวมเสื้อยีนส์ แต่สวมเสื้อยืดสีขาว โดยระหว่างเกิดเหตุได้คนไลฟ์สดด้วย

ฟ้องปิดปากนักกิจกรรม ปิดทางออกการแก้ปัญหาทางการเมือง


ฮากิม พงตีกอ อดีตรองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม

ด้านนายฮากิม พงตีกอ อดีตรองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ซึ่งมาร่วมให้กำลังใจนายอัสมาดีด้วยให้สัมภาษณ์ว่า นายอัสมาดี เป็นคนที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเขียนวิเคราะห์ข่าว โดยเฉพาะเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมซึ่งมีเยอะมากในช่วงที่ผ่านมา คิดว่ากรณีนี้เป็นความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่เพราะคนที่มาแย่งศพมีการปิดหน้าและสวมเสื้อคนละสีกับที่ในอัสมาดีสวม ในฐานะนักกิจกรรมด้วยกันก็อยากให้ทุกคนได้ติดตามคดีนี้

นายฮากิม กล่าวด้วยว่า เหตุที่ช่วงนี้มีนักกิจกรรมในพื้นที่ถูกดำเนินคดีหลายคน คิดว่าเกิดจากชุดวิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่มองว่า นักกิจกรรมเหล่านั้นเป็นภัยความมั่นคง เห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐว่า การเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมในพื้นที่เชื่อมโยงกับประเด็นแบ่งแยกดินแดน 

ถ้าอยากมีสันติภาพ รัฐบาลต้องกล้าบอกข้าราชการให้เชื่อแนวทางทางการเมือง 

นายฮากิม กล่าวว่า ชุดวิเคราะห์นี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะเราเชื่อว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขที่ว่าประชาชนมีเสรีภาพที่จะตัดสินใจ และต้องมีรัฐบาลที่กล้าหาญพอที่จะบอกข้าราชการว่า ถ้าอยากมีสันติภาพก็ต้องเชื่อในแนวทางทางการเมือง ต้องเชื่อว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองต่างหากที่เป็นวิธีการแก้ปัญหา

“หากปล่อยให้ข้าราชการบังคับใช้กฎหมายบนฐานคิดว่า การคิดการแสดงออกทางการเมืองเป็นปัญหา เขาก็พยายามใช้กฎหมายมาขัดขวางนักกิจกรรมในพื้นที่ หรือที่เรียกว่า คดี SLAPP (การฟ้องปิดปาก) ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องช่วยกันหาทางแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย”

นายฮากิม กล่าวว่า คนที่ถูกคดีลักษณะนี้ในช่วงหลังๆ ก็จะเป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย หรือการใช้แนวทางทางการทหารในการแก้ปัญหาต่างๆ ไปจนถึงเรื่องการปฏิรูปฝ่ายความมั่นคง นักกิจกรรมกลุ่มนี้จะตกเป็นเป้าถูกตรวจสอบ ดำเนินการหรือหาช่องทางเอาผิดทางกฎหมาย 

นายฮากิม กล่าวต่อไปว่า การมองว่านักกิจกรรมเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบนี่คือปัญหา เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ในพื้นที่ขัดแย้ง การเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นความขัดแย้งในการกำหนดชีวิตของตนเองเป็นเรื่องปกติ และวิธีคิดที่จะเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่การเมืองก็เป็นเรื่องทั่วไป

“แต่ถ้ารัฐมองว่าสิ่งนี้ไปเชื่อมกับนโยบายของขบวนการก่อความไม่สงบ จึงต้องเพ่งเล็งไว้นี่คือปัญหาแน่นอน เพราะสวนทางกับแนวทางและความพยายามของนักกิจกรรมที่จะเสนอทางออกว่า เราจะหลุดพ้นจาก ความขัดแย้งได้ ก็ด้วยเหตุผลที่ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองด้วยวิธีการต่างๆ นั่นเอง” นายฮากิม กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net