Skip to main content
sharethis

9 นักกิจกรรม 'มลายูรายา' เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ความผิดยุยงปลุกปั่น อั้งยี่ ซ่องโจร ก่อความไม่สงบ ที่ปรึกษาเครือชาวพุทธเพื่อสันติภาพชี้การบังคับใช้กฎหมายปิดปาก หรือ SLAPP ส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพ ด้าน ตร.แจงดำเนินคดีไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งกาย

9 ม.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ม.ค.67) เมื่อเวลา 14.30 น. มูฮัมมัดอาลาดี เด็งนิ ฮาซัน ยามาดีบุ เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ พร้อมผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่สถานีตำรวจภูธรสายบุรี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยทางเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เป็นอั้งยี่ เป็นช่องโจร จากกรณีการจัดกิจกรรมมลายูรายา เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565 ที่หาดวาสุกรี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

รักชาติ สุวรรณ ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ หรือ Buddhist Network For Peace เข้าร่วมสังเกตการณ์การเดินขบวนให้กำลังใจนักกิจกรรมมลายูรายาให้ความเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายเชิงนโยบายในลักษณะการยับยั้งเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพ ที่กำลังเริ่มต้นใหม่ในช่วงสมัยรัฐบาลพลเรือน

รักชาติ สุวรรณ

รักชาติ ยังตั้งข้อสังเกตต่อความเงียบของกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่ต่อประเด็นการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มพ่อบ้านใจกล้า การระดมทุนด้านมนุษยธรรม และการจัดกิจกรรมมลายูที่กำลังถูกคุกคามด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นทั้งตัวชี้วัดความกลัวและเป็นการวัดจุดยืนต่อหลักการของภาคประชาสังคมในพื้นที่อีกด้วย

“Public Consultation จะเป็นไปได้จริงหรือไม่ เมื่อการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองกลายเป็นความผิด ” รักชาติ กล่าว

สำหรับ Public Consultation เป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ถูกออกแบบให้เป็นกลไกหนึ่งในการแสวงหาทางออกทางการเมือง เมื่อความกลัวต่อการบังคับใช้กฎหมายต่อบุคคลที่แสดงออกทางการเมือง แสดงความคิดเห็นเกิดขึ้น ประชาชนจะกล้าพูดความจริงหรือไม่ในกลไกดังกล่าว การรับฟังเสียงสาธารณะจึงต้องประกอบด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่เอื้ออำนวย รักชาติกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ รอมซี ดอฆอ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) การดำเนินคดีในครั้งนี้ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับนักกิจกรรมสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพที่จัดงานมลายูรายาเท่านั้น มีการดำเนินคดีความกับนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวในพื้นที่มาแล้วประมาณ 43 คน รวมถึงนักศึกษาที่จัดกิจกรรมประชามติจำลอง เป็นความพยายามในการยับยั้งความเคลื่อนไหวของประชาชน ซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพ

รอมซี เชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายในจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี ในปัจจุบันมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางความขัดแย้ง ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายที่ทำกิจกรรมล้วนต้องการให้เกิดสันติภาพในพื้นที่  จึงไม่อยากให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นเงื่อนไขในการยับยั้งการแสดงออกทางความคิดของประชาชน ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการสันติภาพโดยตรง

“อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก เพราะเราต่างมุ่งหวังให้เกิดสันติภาพในอนาคต” รอมซีกล่าว

ทั้งนี้ด้านสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ เตรียมที่จะส่งจดหมายเปิดผนึกให้กับองค์กรระหว่างประเทศ และเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของการจัดกิจกรรม ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสันติภาพให้มากที่สุด

ตร.แจงดำเนินคดีไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งกาย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีได้ชี้แจงการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการแต่งกาย การแสดงทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม โดยส่งเป็นจดหมายให้กับผู้สื่อข่าวระบุเนื้อความว่า

ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 9 ราย กรณีกลุ่มสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ หรือ CAP ได้ประกาศเชิญชวนให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมภายใต้หัวข้อ "เยาวชนคือความหวังแห่งสันติภาพ” ณ หาดวาสุกรี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565 อันเป็นการจัดให้มีการชุมนุมทำกิจกรรมในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID -19)

วันนี้ (9 ม.ค. 2567) เวลา 14.00 น. คณะพนักงานสอบสวนกลุ่มงานสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี และสถานีตำรวจภูธรสายบุรี ได้แจ้ง ข้อกล่าวหาและดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 9 ราย ตามคดีอาญาที่ 330/2565 กรณี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน  ให้ดำเนินคดีกับแกนนำผู้จัดการชุมนุม ซึ่งมีเนื้อหาสอดแทรกการแบ่งแยกความเป็นชาติ ศาสนา มาตุภูมิ และบิดเบือนประวัติศาสตร์ โดยอ้างวัฒนธรรมความเป็นมลายูทำให้เยาวชนและบุคคลทั่วไป ถูกชักนำให้เกิดความ สับสนได้ พฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เป็นอั้งยี่ เป็นช่องโจร

การดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหานี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแต่งกายหรือการแสดงวัฒนธรรมอันดีงามของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลุ่มผู้ต้องหาได้แอบแฝงสอดแทรกความคิด บิดเบือนประวัติศาสตร์ไว้ในกิจกรรมเป็นเครื่องมือในการยุยงคนในสังคมให้เกิดความแตกแยก ทั้งนี้ภาครัฐได้ส่งเสริมอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของทุกเชื้อชาติ ศาสนาที่อาศัยในแผ่นดินไทย โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกายของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี จะเห็นได้จากการจัดงานในสถานที่ต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้มีการจัดงาน สนับสนุน และส่งเสริมวัฒนธรรมเรื่อยมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net