Skip to main content
sharethis

'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' เผยผลสำรวจ นักเรียน ม.ปลาย 504 คน พบ 76% ยังหวัง 'พิธา' เป็นนายกฯ ขณะที่ เศรษฐา และแพรทองธาร 3% สอดรับไปในทิศทางเดียวกันกับคน Gen Z ระดับมหาวิทยาลัย ปรารถนาให้ พิธา เป็นนายกฯ มากที่สุด 83.4%

4 ธ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า สำรวจดังกล่าว เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 15-19 ปี) ที่กำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 504 คน เกี่ยวกับทัศนคติทางการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เก็บแบบสอบถามระหว่าง 13 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2566

ข้อคำถามว่า “ในวันนี้ ท่านปรารถนาให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีไทยมากที่สุด” (รายชื่อที่ระบุนี้คัดสรรจากที่เสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยพรรคการเมืองในคราวเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566)

ผลการวิจัยพบว่า

1. คน Gen Z มัธยมปลาย ปรารถนาให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี มากที่สุดร้อยละ 76 (383 คน) เศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 3.0 (15 คน) แพรทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 3.0 (15 คน) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 1.4 (7 คน) อนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 1.0 (5 คน) และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 0.4 (2 คน) ส่วนที่ปรารถนาให้คนอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏในรายชื่อแบบสอบถามนี้เป็นนายกรัฐมนตรีมีร้อยละ 2.4 (12 คน) ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 12.9 (65 คน)

2. สอดรับไปในทิศทางเดียวกันกับคน Gen Z ระดับมหาวิทยาลัย ปรารถนาให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี มากที่สุดร้อยละ 83.4 แพรทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 8.0 นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 2

3. ข้อสังเกต คน Gen Z มัธยมปลายที่ตอบแบบสอบถามนี้ราวร้อยละ 75 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 คือยังไม่มีประสบการณ์การเลือกตั้ง แต่จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่าคน Gen Z ที่นิยมนายพิธามีแนวโน้มสูงที่จะเผยแพร่สนับสนุนให้คนในครอบครัวเลือก ส.ส. และบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

4. คำอธิบายของคน Gen Z มัธยมปลาย ผู้ปรารถนาให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคำอธิบายแบบเดียวกันกับคน Gen Z ระดับมหาวิทยาลัย เช่น มีกิมมิค, มีเสน่ห์, มีวาจาไพเราะ, มีรอยยิ้มที่อ่อนหวานตลอดเวลา, วิสัยทัศน์ก้าวไกล, เก่ง, ฉลาด, ทันสมัย, มีความสามารถ, มีความเป็นผู้นำ, ทัศนคติดี, สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีมากๆๆๆ, มีคุณสมบัติการเป็นผู้นำที่เหมาะกับยุคสมัยของสังคมไทยมากที่สุด, มีความคิดที่เข้าใจคนรุ่นใหม่, มีเเนวคิดสมัยใหม่ เป็นผู้สื่อสารทางคำพูดได้ยอดเยี่ยม, ประชาชนเลือกเข้ามา, มาจากคะเเนนเสียงของประชาชนอย่างถูกต้อง, มีวุฒิภาวะ, นโยบายของพรรคก้าวไกลไม่ทำขึ้นเพียงแค่โฆษณาหาเสียงอย่างแน่นอน, เข้าใจปัญหาในยุคปัจจุบัน, พร้อมอธิบายวิธีแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้เข้าใจ

เชื่อมั่นว่าจะไม่ผิดคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน, ซื่อสัตย์ต่อประชาชน, ซื่อตรงต่อประชาชาชน, มีความจริงใจ, เข้าถึงได้ง่าย, เข้าใจคนสมัยใหม่, มีวิธีจัดการปัญหาแบบใหม่ๆ และมุ่งแก้ปัญหาได้ตรงจุด, มีวิสัยทัศน์ชัดเจน, เป็นคนรุ่นใหม่, อยากเห็นความเจริญของประเทศ เชื่อมั่นว่ายึดมั่นในประชาธิปไตย และต่อต้านการรัฐประหาร, ไม่ทิ้งอุดมการณ์, เป็นผู้ที่อยู่ฝั่งประชาชนอยู่ฝั่งประชาธิปไตยมาโดยตลอด, มีความโปร่งใส, มีความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นว่าเป็นผู้นำพรรคก้าวไกลที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ไม่เหมือนเดิม, ให้ประเทศพัฒนาขึ้น, บ้านเมืองจะได้ไม่ล้าหลัง ไม่จมอยู่กับชีวิตแบบเดิมๆ, เห็นความพยายามจะแก้ปัญหาที่ต้นตออย่างแท้จริง

ประเด็นที่คน Gen Z ระดับมัธยมปลายและระดับมหาวิทยาลัยมีทัศนคติที่สอดคล้องกันคือรังเกียจนักการเมืองที่ไม่ซื่อสัตย์ คือไม่ทำตามที่หาเสียงไว้

ข้อมูลพื้นฐาน

เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากโรงเรียนมัธยมปลายในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร รวม 6 จังหวัด

มีผู้ตอบคำถามข้อนี้ครบ 504 คน

เพศ : หญิง 235 คน (46.6%) ชาย 232 คน (46.0%) เพศหลากหลาย 37 คน (7.4%)

โรงเรียนมัธยมปลาย: กรุงเทพฯ 109 คน (21.6%) สมุทรปราการ 160 คน (31.7%) นครปฐม 90 คน (17.9%) ปทุมธานี 117 คน (23.2%) นนทบุรี 20 คน (4.0%) สมุทรสาคร 8 คน (1.6%)

(หมายเหตุ: ปี 2566 โรงเรียนมัธยมปลายทั้งประเทศ มี 2505 โรง มีนักเรียน 1,073,311 คน ส่วนมัธยมศึกษาตอนต้นมีนักเรียน 1,661,053 คน ประถมศึกษามีนักเรียน 2,956,023 คน ก่อนประถมศึกษามีนักเรียน 859,689 คน ที่มา: สถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล <digi.data.go.th)

อายุ : อายุ 15 ปี 104 คน (20.6%) อายุ 16 ปี 136 คน (27.0%) อายุ 17 ปี 130 คน (25.8%) อายุ 18 ปี 95 คน (18.8%) อายุ 19 ปี 39 คน (7.8%)

ระดับชั้นการศึกษา : ม.4 จำนวน 182 คน (36.9%) ม.5 จำนวน 129 คน (26.2%) ม.6 จำนวน 182 คน (36.9%) (ระบุข้อนี้ 493 คน)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net