Skip to main content
sharethis

'สิทธิพล' ก้าวไกล อภิปรายงบฯ ปี'67 กังวลช่วย SME ไม่ทั่วถึง เสนอเติมเงิน บยส.ทำสินเชื่อให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ เผยไม่ขัดรัฐบาลอัดเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน แต่ควรพิสูจน์การทำงานก่อน หวั่นเอาเงินไปแช่ประเทศเสียโอกาส 

 

3 ม.ค. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญที่ 2) ประจำวันที่ 3 ม.ค. 2567 สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณด้าน SMEs โดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี SME ทั้งหมด 3.2 ล้านราย และกำลังอยู่ในวิกฤตทั้งเชิงรายได้ ต้นทุน และหนี้สิน 

สิทธิพล กล่าวว่า สำหรับรายได้ของ SME นั้นดูได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายให้รัฐ พบว่าลดลงต่อเนื่องทุกปี ส่วนในแง่ต้นทุน ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าต้นทุนพลังงาน หรือต้นทุนวัตถุดิบ เพิ่มสูงขึ้นมาก ในเชิงหนี้สิน ธุรกิจยิ่งเล็ก ยิ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง ลูกหนี้ SME ที่เดิมเป็นลูกหนี้ชั้นดี กำลังเสี่ยงมีปัญหาหนี้เสียมากกว่า 2 ล้านบัญชี 

จัดงบลำเอียง กระจุกไม่กระจาย

สิทธิพล กล่าวว่า ตนเชื่อว่านายกฯ ก็ทราบวิกฤตเหล่านี้ เพราะเอาไปพูดในหลายเวที แต่พอมาดูว่ารัฐบาลจัดงบอย่างไร กลับต้องส่งเสียงเอ๊ะดังๆ เพราะปี 2567 รัฐบาลจัดงบให้ SME รวมทั้งสิ้น 8,744,797,500 บาท ภายใต้แผนแม่บทผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ มีหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณอย่างน้อย 29 หน่วยงาน โดยกองทุนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้งบมากสุดคือ 5,550 ล้านบาท หรือคิดเป็น 62% ของงบ SME ทั้งหมด และน่าสังเกตว่าได้รับงบเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าจากปีที่ผ่านมา 

ภายในงบ 5,550 ล้านบาทที่ สสว.ได้รับ จำนวน 5,000 ล้านบาท หรือเกือบ 60% ถูกนำไปทำโครงการ Matching Fund จนเรียกได้ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวของรัฐบาลในการช่วยเหลือพี่น้อง SME ไทย ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของกองทุนนี้ ความน่าสนใจคือในตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการนี้ พบว่ามีเป้าหมายแค่ 600 คน 

"การจัดสรรงบ SME แบบนี้มีปัญหา นอกจากจัดงบกระจัดกระจายถึง 29 หน่วยงาน ยังจัดงบลำเอียง เพราะมี SME เพียง 600 รายที่ได้งบ 5,000 ล้านบาท หรือเกือบ 60% ขณะที่งบที่เหลือสำหรับ SME 3.2 ล้านราย ได้ 3,744 ล้าน หรือแค่ 40% เท่านั้น เท่ากับ 600 รายได้งบเฉลี่ย 8-9 ล้านบาท ขณะที่ 3.2 ล้านราย ได้งบเฉลี่ย 1,170 บาทต่อรายเท่านั้น" สิทธิพล กล่าว

เครื่องหมายคำถามต่อศักยภาพของ สสว.

สิทธิพล กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ ต้องตั้งคำถามให้หนักว่า สสว. มีศักยภาพในการบริหารงบดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากในช่วงปี 2560-2561 สสว. เคยออกโครงการปล่อยเงินกู้ฟื้นฟูผู้ประกอบการ SME วงเงิน 2,000 ล้านบาท ต่อมาปี 2563 ในรายงานผลประกอบการ สสว. โครงการดังกล่าวมีลูกหนี้ที่คาดว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ รวมยอดหนี้ 352 ล้านบาท เรียกว่าผ่านไป 3 ปี โครงการวงเงิน 2,000 ล้านบาท ปล่อยได้แค่ครึ่งเดียวคือประมาณ 1,000 ล้านบาท และในจำนวนนั้นเป็นหนี้เสียไปถึงหนึ่งในสาม

"ผมพยายามหาข้อมูลที่ล่าสุดกว่านี้ แต่ในรายงานปีหลังจากนั้นของ สสว. ข้อมูลเหล่านี้หายไปแล้ว ไม่แน่ใจว่าทำไมไม่รายงาน หรือเพราะบริหารดีมากจนหนี้หายไปหมดแล้ว" สิทธิพล กล่าว

นอกจากนี้ พอมาดูโครงการที่ สสว. ร่วมทุนกับบริษัทอื่นๆ ซึ่งคล้ายกับ Matching Fund ที่รัฐบาลนี้นำเสนอ จากรายงานผู้สอบบัญชี สสว. ปี 2561 โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แสดงผลการดำเนินงานในบริษัทที่ สสว. ไปร่วมลงทุน 13 บริษัท พบว่าใน 13 บริษัท มี 5 บริษัท ที่สถานะล้มละลาย ร้าง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เสร็จสิ้นการชำระบัญชี 

ในรายงานของ สตง.ยังระบุว่า ถ้าย้อนไปดูบริษัทที่ สสว.ร่วมลงทุนตั้งแต่ปี 2550-2562 ทั้งหมด 39 บริษัท สสว. มีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาลงทุนไปแล้ว แถมยังส่งอัยการสูงสุดฟ้องร้องบริษัทร่วมค้าแล้วทั้ง 39 บริษัท เห็นอย่างนี้แล้วหนาว ไม่รู้จะหนาวแทน สสว. ที่ไปลงทุนแล้วเจ๊ง หรือสงสารบริษัท SME ที่ สสว.ไปลงทุนด้วย ไม่รู้ใครทำใครเจ๊งกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ทั้งหมดนี้คือภาษีประชาชน 

ดังนั้น ข้อเสนอต่อรัฐบาลในประเด็นนี้คือ 

  1. ขอให้ทบทวนการจัดสรรงบประมาณ ที่วันนี้กระจายอยู่ในหน่วยงานจำนวนมาก มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือ SME ได้จริงหรือไม่ 
  2. ขอให้ทบทวนการจัดสรรงบที่ลำเอียงสุดๆ SME 3.2 ล้านราย อยู่ตรงไหนในหัวใจของรัฐบาล เมื่อเทียบกับ 600 รายที่ได้ประโยชน์จากกองทุน 5,000 ล้านบาท 
  3. ขอให้ทบทวนบทบาทและศักยภาพของ สสว. ในการสนับสนุนเงินทุนแก่ SME 

โดยทางเลือกที่อาจดีกว่า คุ้มกว่าสำหรับงบ 5,000 ล้านบาทนี้ คือนำไปให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้ SME รายเล็กรายน้อยทั่วประเทศ เพราะวงเงิน 5,000 ล้านบาท บสย. สามารถไปสร้างวงเงินสินเชื่อได้ 20,000-25,000 ล้านบาท ถ้าช่วยรายละ 8 ล้านบาทเหมือน Matching Fund ก็ช่วยได้ 2,000-3,000 คน มีคนได้ประโยชน์มากกว่า 600 คนแน่ๆ 

ที่สำคัญยังเป็นการใช้กลไกตลาดทำงาน ดูว่าผู้ประกอบการใดเหมาะสม ไม่ใช่บังเอิญมีใครมาจิ้ม 600 คนผู้โชคดี นอกจากนี้ ศักยภาพของสถาบันการเงินทั่วไป มีความสามารถในการประเมินสินเชื่อ จัดการหนี้เสียได้ดีกว่า สสว. แน่ๆ

กองทุนเพิ่มขีดฯ ก่อนขอเงินเพิ่ม ควรพิสูจน์ประสิทธิภาพ

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ประเด็นถัดมา คืองบกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นายกฯ ถึงกับประกาศว่าจะเพิ่มงบให้กองทุนนี้ 1 แสนล้านบาท โดยเป็นความหวังคว้าอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ใหม่ๆ ของรัฐบาล ซึ่งอันที่จริงพวกเราพรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับรัฐบาลและนายกฯ ในการดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ อุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้าประเทศ เพราะปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในภาวะวิกฤต ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยโตต่ำต่อเนื่อง การขยายตัวของ GDP ลดลง การลงทุนต่ำลง การส่งออกนับวันยิ่งหดตัว โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลังรัฐประหาร 

กองทุนเพิ่มขีดฯ มีเงิน 10,000 ล้านบาทเป็นทุนประเดิมตั้งแต่ 6 ปีก่อน ผ่านมา 6 ปี กองทุนใช้เงินไปราว 19 ล้านบาท ปัจจุบันกองทุนเหลือเงิน 9,980 ล้านบาทเศษ หรือพูดง่ายๆ ว่า 6 ปี ใช้ไม่ถึง 20 ล้าน หรือเพียง 0.19% เท่านั้น ที่สำคัญคือไม่มีโครงการขนาดใหญ่ ไม่มีโครงการที่เพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้จริง 

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า คำถามต่อนายกฯ คือ ก่อนจะขอเงินเพิ่ม กองทุนควรพิสูจน์ประสิทธิภาพให้เห็นก่อนหรือไม่ ว่าจะนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่จริง ไม่ใช่เอาเงินไปแช่ไว้เฉยๆ ตลอด 6 ปีคือค่าเสียโอกาสของประเทศมหาศาล และจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าถ้าขอไป 15,000 ล้านบาท หรือ 100,000 ล้านบาทในอนาคต แล้วจะไม่เอาเงินไปแช่ไว้อย่างนี้อีก ทำประเทศเสียโอกาสอีก
 
"พรรคก้าวไกลยืนยันว่า หากท่านไม่ทราบปัญหา ไม่ลงรายละเอียด ต่อให้ท่านเติมเงินไป หมื่นล้าน แสนล้าน ก็ไม่อาจดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ได้" สิทธิพล กล่าว

ที่สำคัญ รัฐบาลควรกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ชัด ไม่เหวี่ยงแหแบบนี้ การตั้ง 13 อุตสาหกรรมเป้าหมายแบบปัจจุบัน ทั้งเยอะและกว้างเกินไป ผิดหลักการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย จากบทเรียนในต่างประเทศ มักกำหนดเพียง 3-5 อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกันเท่านั้น จะช่วยให้สอดคล้องกับความจำกัดของงบประมาณและเจ้าหน้าที่ในการผลักดันให้ถึงเป้าหมายได้จริง

เพิ่มงบอย่างเดียว แก้ปัญหาของ SME ไม่ได้

สส.พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า ทั้งหมดสรุปได้ว่า รัฐบาลจัดงบแบบไม่เข้าใจปัญหา ไม่เข้าใจวิกฤต สิ่งที่รัฐบาลควรแก้ คือปัจจุบันการจัดงบประมาณสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กนั้น 'กระจุก' มี SME ได้ประโยชน์นิดเดียว รัฐบาลควรจัดใหม่ให้ประโยชน์ 'กระจาย' หรือทั่วถึงกว่านี้ ส่วนรายใหญ่หรืออุตสาหกรรมเป้าหมาย จากปัจจุบันที่ 'เหวี่ยงแห' รัฐบาลควรปรับใหม่ มุ่งอุตสาหกรรมให้ 'ตรงเป้า' มากขึ้น 

ที่สำคัญ การเพิ่มแต่งบประมาณอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้อง SME หรือดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้าประเทศได้ รัฐบาลและนายกฯ ต้องเข้าใจปัญหา ลงรายละเอียด แก้ปัญหาของกลไกและองค์กร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นกองทุน สสว. หรือกองทุนเพิ่มขีดฯ กลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ มีแต่การทำแบบนี้เท่านั้น ที่การเพิ่มเงินลงไป ถึงจะเกิดประโยชน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net