Skip to main content
sharethis

32 องค์กรสิทธิฯ ออกจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการองค์การสหประชาติและประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของนักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิมประเทศไทย รวมทั้งการฟ้องปิดปาก

8 ม.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Cross Cultural Foundation (CrCF)' ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการองค์การสหประชาติและประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของนักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิมประเทศไทย

จดหมายดังกล่าวมีองค์กรร่วมลงชื่อ 32 องค์กร โดยเรียกร้องเร่งด่วนให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยุติการฟ้องการดำเนินคดีในลักษณะปิดปาก (SLAPP) ในการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) และมาตรา 27 ว่าด้วย ประเด็นวัฒนธรรม ศาสนาและภาษา ของชนกลุ่มน้อยในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

รวมทั้งขอให้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ทวงถามความมุ่งมั่นทางการเมืองของรัฐบาลไทย ที่ให้คำมั่นในการลงสมัครรับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในปีนี้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐลักษณะนี้เป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการปิดกั้นการรวมกลุ่มของประชาชนหรือไม่

รายละเอียดจดหมาย : 

จดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการองค์การสหประชาติและประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของนักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิมประเทศไทย

เรียน เลขาธิการองค์การสหประชาติ

สำเนาถึง ประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 47ประเทศ

พวกเราเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอจังหวัดสงขลา ขอเรียกร้องให้หน่วยงานของท่านตรวจสอบการละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของนักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิมประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมด้านวัฒนธรรม สื่อมวลชน จำนวน 9 คน ได้รับหมายเรียกเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคดีความมั่นคงอย่างน้อยสองข้อหา ข้อหายุยงปลุกปั่นมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และข้อหาอั้งยี่ซ่องโจรมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้กิจกรรมที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาเกี่ยวกันการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมแต่งกายชุดมลายูทุกปีตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาติดต่อกันสี่ปี นักกิจกรรมทั้ง 9 คนมีกำหนดไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 ม.ค. 2567 ที่ สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี

ในวาระที่รัฐบาลไทยประกาศเมื่อเดือนกันยายน 2566 ว่าประเทศไทยจะลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิ มนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี ค.ศ.2025-2027 รัฐบาลได้แสดงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและค่านิยมประชาธิปไตย ทั้งยังพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานขององค์การสหประชาชาติ การดำเนินคดีอาญาข้อหาความมั่นคงปิดกั้นการรวมกลุ่ม (freedom of assembly) ต่อนักกิจกรรมในพื้นที่ความขัดแย้งในลักษณะกลั่นแกล้งให้ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาน การดำเนินการของรัฐบาลไทยขัดแย้งกับแนวทางการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาติและบทบาทหน้าที่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง ขอให้ประเทศสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงตรวจสอบว่าการดำเนินคดีอาญานักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิมประเทศไทยเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

อีกทั้งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 มีนักกิจกรรมจำนวนไม่น้อยกว่า 40 คน ถูกออกหมายเรียกบางคนรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญาแล้ว บางคดีสิ้นสุดการพิจารณา และในบางคดีมีการตั้งข้อหาหนักถึงขั้นยุยงปลุกปั่นและข้อหาอาญาด้านความมั่นคงอั้งยี่ซ่องโจร การดำเนินคดีอาญาต่อนักกิจกรรมในพื้นที่ตลอดมาสร้างให้เกิดความหวาดกลัว ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็น ปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาและการสร้างสันติภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างภาระให้กับนักกิจกรรมท้องถิ่นในฐานะผู้ต้องหา จำเลยในคดีอาญา มีภาระในการหาเงินประกันตัวที่มีจำนวนสูง และการช่วยเหลือทางกฎหมายที่ขาดแคลน ในบางคดีผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายทหารเช่น กรณีแม่ทัพภาคที่สี่ ที่แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและส่งผลให้คดีเหล่านี้เป็นคดีที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองให้ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เป็นต้น

ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2566 พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตกเป็นพื้นที่อุทกภัยใหญ่ ขณะนี้อยู่ในระยะเวลาการฟื้นฟูจากภัยพิบัติ ผู้ได้รับผลกระทบมีทั้งผู้สูงอายุ เด็กและสตรี กลุ่มเยาวชนและนักกิจกรรมเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนเต็มศักยภาพในภาวะภัยพิบัติ การที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารตำรวจอัยการศาลดำเนินคดีให้นักกิจกรรมเหล่านี้มีภาระทางคดี ทั้งที่พวกเราเป็นนักกิจกรรมที่ทำงานเป็นสะพานเชื่อมระหว่างชาวบ้านกับนโยบาย หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐตลอดมา พวกเราเชื่อว่าหน่วยงานความมั่นคงไม่เหตุผลทางกฎหมายของการดำเนินคดีอาญาลักษณะนี้และคดีเหล่านี้ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งขัดขวางกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลและเป็นแนวทางของสภาผู้แทนราษฎร

รายชื่อนักกิจกรรมที่ต้องไปรายงานตัววันที่ 9 มกราคม 2567 ที่สภ.สายบุรี ปัตตานี

1. “บง อาลาดี” หรือ มูฮัมหมัดอาลาดี (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมภาคประชาสังคม พิธีกรรายการวิเคราะห์การเมือง

2. “Budu Little” หรือ ซูกิปลี หรือ ลีบูดู (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมภาคประชาสังคม ศิลปินขับร้องบทเพลงมลายู

3. สอบูรี (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมภาคประชาสังคม พิธีกรงานการกุศล

4. มะยุ (สงวนนามสกุล) เป็นผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพและเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สภาผู้แทนราษฎร(กมธ.ศึกษากระบวนการสันติภาพ) ทำงานช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะเด็กกำพร้าเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ / ปาตานี

5. อุสตาส ฮาซัน นักบรรยายประวัติศาสตร์ชื่อดัง

6. มาหมูด (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมและทำงานช่วยเหลือสังคม

7. ซอลาฮูดิน (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมและทำงานช่วยเหลือสังคม

8. ซับรี (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมและทำงานช่วยเหลือสังคม

9. อานัส (สงวนนามสกุล) เป็นนักกิจกรรมและทำงานช่วยเหลือสังคม

นอกจากนี้ ยังมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา นักกิจกรรม องค์กรภาคประชาสังคม “กลุ่มพ่อบ้านใจกล้า” เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมาโดยในหมายเรียกดังกล่าวระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 8 ม.ค. 2567 ที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษชายแดนภาคใต้ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ อ.เมือง จ.ปัตตานีและอีกหลาย ๆ กรณีดังเอกสารแนบท้าย

ข้อเรียกร้องเร่งด่วน

1. ทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยุติการฟ้องการดำเนินคดีในลักษณะปิดปาก (SLAPP) ในการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) และมาตรา 27 ว่าด้วย ประเด็นวัฒนธรรม ศาสนาและภาษา ของชนกลุ่มน้อยในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

2. ขอให้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ทวงถามความมุ่งมั่นทางการเมืองของรัฐบาลไทย ที่ให้คำมั่นในการลงสมัครรับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในปีนี้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐลักษณะนี้เป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการปิดกั้นการรวมกลุ่มของประชาชนหรือไม่

รายชื่อองค์กรร่วมลงนาม

1. สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CIVIL SOCIETY ASSEMBLY FOR PEACE) หรือ CAP

2. สมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธา กัมปงตักวา

3. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม-MAC

4. เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมุสลิม - SPAN

5. องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี - HAP

6. กลุ่มด้วยใจ

7. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

8. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ- JASAD

9. สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ PERWANI

10. มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

11. กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม

12. เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ

13. สำนักสีลัตฮารีเมาปาตานี เพื่อสุขภาวะชุมชน

14. เครือข่ายสตรีปกป้องสิทธิมนุษยชนปาตานี

15. เครือข่ายเยาวชนพิทักษ์สิทธิเพื่อการพัฒนา

16. สถาบันครูเพื่อการวิจัยระบบการศึกษานูซันตรอ

17. เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม

18. องค์กรจิตอาสาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาสังคม

19. เครือข่ายเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิต

20. อัดดีนการแพทย์และสาธารณสุข – AD-DIN

21. เครือข่ายคนหนุ่มสาวเพื่อการเปลี่ยนแปลง YouthNet

22. เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี

23. เครือข่ายส่งเสริมจริยธรรมอิสลาม

24. Jaringan Guru Sekolah Melayu/Tadika

25. Pencinta Sejarah Patani

26. เครือข่ายปัญญาชนปาตานี - INSOUTH

27. ศูนย์บูรณาการคนหนุ่มสาวเพื่อศักยภาพชุมชน YICE

28. ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา – PUKIS

29. ชมรมอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม PICSEB

30. ศูนย์วัฒนธรรมมลายูปาตานี BUMI

31. กลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษา

32. The Patani

เอกสารแนบ รายชื่อนักกิจกรรมและนักศึกษาที่ถูกใช้กฎหมายปิดปากหรือSLAPP

1 ) คดีความ​ที่มีการฟ้องร้องและสิ้นสุด​แล้ว​

ปี 61 : ผู้ต้องหาคดีชุมนุม​คนอยากเลือกตั้ง​ปี 61

นาย ยามารุดดีน ทรงสิริ​

ความคืบหน้า​คดีความ : โดนปรับความผิดการใช้เครื่องเสียงเกินขนาด 200 บาท

ปี 62 : ผู้ต้องหาความผิด มาตรา 116,209,215 กรณีชุมนุมครบรอบสองปีรัฐประหารในกรุงเทพฯ​ เมื่อปี 2558 แต่เจ้าหน้าที่​สั่งฟ้องเมื่อปี

นายสุไฮมี ดุละสะ

ความคืบหน้า​คดี : ศาลชั้นต้น นัดตัดสินคดีในวันนี้ (18 ธ.ค. 66) โดยให้เหตุผล​ประกอบ​การตัดสินคดีว่า

1.การจัดกิจกรรม​ชุมนุม​ เป็นการใช้สิทธิ​เสรีภาพ​ตามรัฐธรรมนูญ​

2. ประเด็น​การแบ่งแยกดินแดน ศาลไม่เชื่อว่าหลักฐาน​บ่งชี้ว่าการจัดกิจกรรม​ ปราศรัย​ นำไปสู่ประเด็น​การแบ่งแยก​ดินแดน​

ปี 63 : ผู้ต้องหาฝ่าฝืน​ พรก.ฉุกเฉิน​ ฯ ปี 63

นาย ยามารุดดีน ทรงสิริ​

ความคืบหน้า​คดีความ : ข้อหา​กีดขวาง​การจราจร​ ปรับ 500 บาท​

ปี 64 : ผู้ต้องหาคดีคาร์ม็อบ ยะลา #1 (ฝ่าฝืน​ พรก.ฉุกเฉิน​ฯ โรคระบาด​โควิด19 )

นาย อารีฟีน โสะ

นาย ประเสริฐ​ ราชนิยม

นางสาว อามานียะห์ ดอเล๊าะ

นาย อับดุลซาตาร์ บาโล

นาย ฟิตราน การาวัล

นาย นูรฟา การาวัล

ความคืบหน้า​คดีความ : ศาลชั้นต้นความผิดฐานฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน

ตัดสินมีความผิดคดีลงโทษ ฐานใช้เครื่องขยายเสียงในที่สาธารณะ ความผิดทางจราจร ปรับคนละ 4,000 บาท​ ศาลอุทธรณ์​ตัดสิน​เช่นเดียวกับ​ศาลชั้นต้น และกำลังส่งเรื่องยื่นศาลฎีกา​

ปี 64 : ผู้ต้องหาคดีคาร์ม็อบ ยะลา #2 (ฝ่าฝืน​ พรก.ฉุกเฉิน​ฯ โรคระบาด​โควิด19 )​

นาย สารีฟุดดีน สาเมาะ

นาย อับดุลสาตาร์ บาโล

นาย ฟิตรี มามะเเตฮะ

นาย มะสอดี ดือรากี

นาย อารอฟัต อาบู

ความคืบหน้า​คดีความ : คำตัดสินศาลชั้นต้น

ยกฟ้อง ความผิดฐานฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน

ตัดสินมีความผิดคดีลงโทษ ฐานใช้เครื่องขยายเสียงในที่สาธารณะ ความผิดทางจราจร ปรับคนละ 4,000 บาท​

ปี 64 : ผู้ต้องหา​คดีชุมนุมคาร์ม็อบ ปัตตานี 2 คดี จำเลยคนเดียวกัน กรณีฝ่าฝืน​ พรก.ฉุกเฉิน​ฯ โรคระบาด​โควิด19 )

นาย ซูกรีฟฟี ลาเตะ

นาย อารีฟีน โสะ

นาย ​สูฮัยมี ลือแบสา

ความคืบหน้า​คดี : ศาลชั้นต้นตัดสิน​ให้ซูกรีฟฟี มีความผิดในฐานะผู้จัดกิจกรรม​ฝ่าฝืน​ พรก.ฉุกเฉิน​โรคระบาด​โควิด19 สั่งปรับ คดีละ 20,000 บาท จำคุก 4 เดือน รอลงอาญา​ 2 ปี และยกฟ้องจำเลยที่เหลือ

ศาลอุทธรณ์​ยืนยัน​เช่นเดียวกันศาลชั้นต้นและกำลังส่งเรื่องให้ศาลฎีกา​พิจารณา​คดี

ปี 66 : ผู้ต้องหาคดีขัดขวางการปฏิบัติการเจ้าหน้า 138 กรณีขุดศพ ในยัฮรี ดือเลาะ

นาย อารฟาน วัฒนะ

ความคืบหน้า​คดี : สำนวน​คดีอยู่ในชั้นอัยการพิจารณา​สั่งฟ้อง​

ปี 66 : ต้องหาต่อสู้​ คดีขีดขวางการปฎิบัติ​งานของเจ้าหน้าที่​ แย่งศพนักรบ กรณีปะทะที่ศรีสาคร

นาย ไฟซู ดาหง

ความคืบหน้า​คดีความ​ : อยู่​ในชั้นอัยการพิจารณา​​​

ปี 66 : ผู้ต้องหา​ข่มขืนใจเจ้าพนักงานและขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ กรณีปะทะที่ธารโต​ กรณีไลฟสดติดตามสถานการณ์​ (กลุ่มสื่อ Wartani​)

นาย มูฮัมมัดฮาฟีซี สาและ

นาย มะนาวาวี ยะโกะ

ความคืบหน้า​คดีความ​ : อยู่​ในชั้นอัยการพิจารณา​

ปี 66 : ผู้ต้องหา​คดีให้ที่พัก​พิง​ผู้ถูกหมายเรียกคดีความมั่นคง

นาย ฮาซัน ยามาดีบุ

ความคืบหน้า​คดีความ​ : อยู่​ในชั้นอัยการ​พิจารณา​​

ปี 66 : ผู้ต้องหาคดีขัดขวางการปฏิบัติ​การของเจ้าหน้าที่ กรณี ติดตามทำสื่อ ประชาชนแย่งศพนักรบ ที่โรงพยาบาลปัตตานี

นาย อัสมาดี บือเฮง

ความคืบหน้า​คดี : เจ้าหน้าที่​ตำรวจออกหมายเรียกผู้ต้องหา

ปี 66 : ผู้ต้องหาคดีผิดอาญา 116 กรณีเวทีวิชาการ​และกิจกรรม​ประชามติ ( จำลอง ) เอกราช ของ Pelajar​ Bangsa​

นาย อิรฟาน อูมา

นาย อาเต็ฟ โซะโก

นาย ฮูเซ็น บือแน

นาย สารีฟ​ สะแลมัน

นาย ฮากิม พงตีกอ

ความคืบหน้า​คดีความ : เจ้าหน้าที่​ตำรวจ​ส่งสำนวนคดีให้อัยการ

ปี 66 : กิจกรรม​ชุมนุม​ชุดรายอเมื่อปี 65 ผู้​ที่ถูก​ออกหมายเรียก

- นาย มูฮัมหมัด​อาลาดี เด็งนิ​

- ซูกิฟฟลี Budu Littel​

- นาย สอบูรี

- นาย อัยยุบ เจะนะ

- นาย ฮาซัน ยามาดีบุ

- นาย มาหมูด

- นาย ซอลาฮูดดิน

- นาย ซับรี ตาลี

- นาย อนัส ดือเระ

ความคืบหน้า​คดีความ​ : ตำรวจออกหมายเรียกผู้ต้องหา​แล้ว เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2566​

ผู้ที่คาดว่าจะถูกหมายเรียก​

นาย อานัส พงประเสริฐ​

นาย ชารีฟ สะอิ

และคาดว่ามีรายชื่ออื่น ที่ขึ้นปราศรัย​ในวันจัดกิจกรรม​อีกประมาณ​ 11 คน

ปี 66 : หมายเรียกผู้ต้องหาในข้อหานำข้อมูล​ที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์​ กรณีเปดเพจช่วยเหลือ​ด้านมนุษยธรรม​ ชื่อเพจพ่อบ้านใจกล้า

นาย ซาฮารี เจ๊ะหลง

ความคืบหน้า​คดีความ : ตำรวจออกหมายเรียกผู้ต้องหา​แล้ว เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2566

หมายเรียกพยานในข้อหานำข้อมูล​ที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์​ กรณีเปดเพจช่วยเหลือ​ด้านมนุษยธรรม​ ชื่อเพจพ่อบ้านใจกล้า​

นาย มูฮัมหมัด​อาลาดี เด็งนิ

นาย บัล​ยาน​ แวมะนอ

นาย มะยุ เจะนะ

นาย อับดุลเลาะ​ อาแว

นาย ชารีฟ สะอิ

นาย มูฮัมหมัด​กัสดาฟี กูนะ

นาย มูฮัมหมัด​ สาซู

นาย อัสมาดี บือเฮง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net