Skip to main content
sharethis

อัยการมีความเห็นให้พนักงานสอบสวนแจ้ง 'ตั้ม' ชายวัย 46 ปี ข้อหา ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ กรณีถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจ 'คนกลมคนเหลี่ยม' วาดภาพการ์ตูนล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ ส่งผลให้ตอนนี้ ตั้ม ถูกดำเนินคดี 112 รวม 4 โพสต์

 

8 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (8 ม.ค.) ที่ศูนย์รับแจ้งความ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. 'ตั้ม' (สงวนชื่อ-นามสกุล) ชายอายุ 46 ปี เดินทางมาพบ พ.ต.ต.หญิง ณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ รองสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมฯ มาตรา 14(1) (3) จากกรณีถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก "คนกลมคนเหลี่ยม" ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊กวาดการ์ตูนล้อการเมือง โพสต์ภาพวาดการ์ตูนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และลงในเพจจำนวน 4 โพสต์ 

สำหรับคดีนี้มี ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวนที่ บก.ปอท. เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 เพื่อดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊กชื่อ "คนกลมเหลี่ยม" จากการโพสต์ข้อความและรูปภาพที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ จำนวน 4 โพสต์ 

เจ้าหน้าที่ บก.ปอท. จึงสอบสวนจนเชื่อว่า ตั้ม เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก "คนกลมคนเหลี่ยม" และได้ส่งหมายเรียกให้ตั้มมารายงานตัวเมื่อ 18 ก.ค. 2565 เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา แบ่งเป็น มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) (3) จำนวน 2 โพสต์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 8 ม.ค. 2567 ตั้มได้รับหมายเรียกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม เนื่องจากอัยการส่งความเห็นกลับมา โดยพิจารณาให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาให้ครบถ้วน คือ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1)(3) จำนวน 4 โพสต์ รวม 4 กรรม

รายละเอียดโพสต์

1. การ์ตูนล้อคล้ายว่าเป็น 'ธุรกิจครอบครัว' เหมือนตระกูลชินวัตร

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 เวลาประมาณ 17.18 น. ได้โพสต์ข้อความว่า “ตัวการ์ตูนและเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนเพจด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 2 ช่อง ลักษณะแนวตั้ง จำนวน 1 ภาพ

ในช่องแรกเป็นตัวการ์ตูน 5 ตัว ตัวแรก (จากซ้ายมือ) มีใบหน้าคล้ายทักษิณ ชินวัตร, “อุ๊งอิ๊ง” แพรทองธาร ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีการ์ตูนผู้หญิง 2 คนสวมใส่เสื้อเหลือง มีกล่องข้อความลักษณะเป็นคำพูดมีข้อความว่า “๕๕๕ ส่งต่อกันเป็นทอดๆ ธุรกิจครอบครัว”

ช่องที่ 2 เป็นภาพตัวการ์ตูนคล้ายพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-10 และตัวการ์ตูนเพศหญิง 2 คนทำท่าทางหมอบกราบอยู่ด้านข้าง 

ผู้กล่าวหาเห็นว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นการพูดและแสดงท่าทางเยาะเย้ยว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-10 เป็นธุรกิจครอบครัวส่งต่อกันเป็นทอดๆ เป็นการเปรียบเทียบและสื่อถึงการเมืองว่าคล้ายครอบครัวชินวัตร  

ผู้กล่าวหาระบุว่า ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นการสืบราชสันตติวงศ์ (สืบราชสมบัติ) ที่ถูกต้องตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้เข้าใจได้ว่าการสืบราชสมบัติเป็นธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดกันมาเป็นรุ่นสู่รุ่นเพื่อหาประโยชน์ของประเทศชาติให้แก่พวกพ้องของตนเอง เป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าการสืบราชสมบัติเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของคนในครอบครัว โดยมุ่งหวังกำไรจากประเทศชาติและประชาชน เป็นการดูหมิ่นพระเกียรติและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติและถูกดูหมิ่น เจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ 

2. การ์ตูนล้อคล้าย ร.9 ถก ร.8 

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 เวลา 09.48 น. โพสต์ข้อความว่า “ไม่มีใครร้ายเท่าน้องเล็ก ตัวการ์ตูนเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อแสดงความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปภาพวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 3 ช่อง จำนวน 1 ภาพ

ในช่องแรก เป็นตัวการ์ตูนมีใบหน้าคล้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ช่องที่ 2 เป็นตัวการ์ตูนมีใบหน้าคล้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 

และช่องที่ 3 เป็นตัวการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้ายรัชกาลที่ 9 สวมเสื้อขาว ท่าทางยิงอาวุธปืน

ผู้กล่าวหาเห็นว่า เป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รวมทั้งเป็นการบิดเบือนความจริง

3. การ์ตูนล้อคล้ายสื่อ ร.9 ในกรณีสวรรคต ร.8

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 เวลา 14.37 น. โพสต์ข้อความว่า “เล็กยิ่งพี่ทำมายยยยย ตัวการ์ตูนและเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อแสดงความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 5 ช่อง จำนวน 1 ภาพ

ผู้กล่าวหาเห็นว่า ผู้โพสต์ต้องการสื่อถึงการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้ายรัชกาลที่ 8 สนทนากับการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้ายรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการสร้างข้อมูลที่บิดเบือน ไม่ถูกต้อง เพื่อให้บุคคลที่พบเห็นเข้าใจว่าเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 เกิดจากรัชกาลที่ 9 

รวมทั้งในภาพช่องสุดท้ายมีการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้าย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งเป็นบุคคลที่มักจะพูดถึงหรือกล่าวอ้างเรื่องราวเกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่งการโพสต์ดังกล่าวเป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นพระเกียรติของรัชกาลที่ 9 รวมทั้งเป็นการบิดเบือนความจริง 

4. การ์ตูนล้อคล้ายเสียดสี ร.10

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 เวลา 07.08 น. โพสต์ข้อความว่า “เฝ้าไปนร้าาา ตัวการ์ตูนและเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนเพจด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 4 ช่อง จำนวน 1 ภาพ

ผู้กล่าวหาเห็นว่าผู้โพสต์ต้องการสื่อให้บุคคลที่พบเห็นเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่มีความห่วงใยประชาชน ไม่มีความสนใจในกิจการบ้านเมืองใดๆ แต่กลับเที่ยวเล่น ณ ต่างประเทศเป็นการเสียดสี ต้องการด้อยค่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติสักการะ

ปัจจุบัน ส่งผลให้ตอนนี้ ตั้ม ถูกแจ้งมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(1) (3) รวมทั้งหมด 4 โพสต์ 4 กรรม และผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ภาพการ์ตูนที่ถูกโพสต์แจ้งข้อหา มาตรา 112 เพิ่มนั้น (โพสต์ที่ 2-3) เป็นภาพเกี่ยวกับคดีรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 8 แต่ไม่มีภาพรัชกาลที่ 10 อยู่ในการ์ตูน

หลังแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม 'ตั้ม' ได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะส่งคำให้การเป็นเอกสารอีกครั้งในภายหลัง และมีนัดฟังคำสั่งฟ้องอัยการ อีกครั้งในวันที่ 22 ม.ค. 2567 ที่สำนักงานอัยการที่ถนนรัชดาภิเษก

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ก่อนหน้านี้เมื่อ 7 ก.ค. 2565 เวลาประมาณ 06.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ประมาณ 10 นาย เดินทางไปยังที่พักอาศัยของตั้ม เพื่อตรวจค้นและยึดโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และแท็บเล็ต 1 เครื่อง พร้อมทั้งเอกสารสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีธนาคาร และกระดาษโน้ตสรุปเวลาอ่านหนังสือ 

หลังจากตำรวจตรวจยึดสิ่งของแล้ว ตำรวจยังได้ควบคุมตัวตั้มไป บก.ปอท. โดยอ้างว่าเป็นการเชิญตัวไปเพื่อพูดคุย และเจรจา โดยไม่มีหมายจับแต่อย่างใด เมื่อไปถึง บก.ปอท. ตำรวจให้ตั้มถ่ายภาพคู่อุปกรณ์ไอแพดและมือถือที่ตำรวจยึดมาจากบ้าน พร้อมทั้งให้เจ้าตัวเซ็นเอกสารยืนยันสิ่งของเหล่านั้น ก่อนกลับออกจาก บก.ปอท. ตำรวจได้คืนซิมโทรศัพท์ให้

จากนั้น ตำรวจพาตั้มกลับ ถึงบ้านเวลาประมาณ 16.30 น. และมีการยื่นหมายเรียกในคดีนี้ให้ที่หน้าบ้าน พร้อมกับถ่ายรูปขณะที่เซ็นรับอีกด้วย โดยวันนั้นตั้ม ถูกคุมตัวอยู่ที่ ปอท.ราว 5-6 ชั่วโมง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า สำหรับคดีนี้ถือเป็นคดีจากการแสดงออกและแสดงความเห็นทางการเมืองคดีที่ 2 ของตั้ม โดยเมื่อปี 2559 เขาเคยถูกดำเนินคดีจากกรณีร่วมในเหตุการณ์ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ ที่หน่วยออกเสียงประชามติเขตบางนา เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ซึ่งต่อมาศาลพิพากษาจำคุกเขาและจำเลยอีก 2 รายในคดีนี้ คนละ 6 เดือน พร้อมทั้งปรับคนละ 6,000 บาท แต่ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 4 เดือนปรับ 4,000 บาท เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ โดยให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 1 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net