Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

น้ำหมึกปากกาถูกวาดเป็นรูปกากบาทอีกครั้งบนตัวเลข 31
ที่หน้าสุดท้ายปฏิทินถูกฉีกออก    
วันที่ของศักราชใหม่ถูกนำมาวางแทนที่ชิ้นเก่า
แล้วพวกเราก็เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเองอีกครั้ง …

เมื่อห้วงยามของการเถลิงศกใหม่มาถึง สายลมแห่งการเฉลิมฉลองแด่วันใหม่และปีใหม่ก็วิ่งเข้ามาปะทะใบหน้าของเราอีกครั้ง หลายคนเดินทางกลับไปภูมิลำเนาเกิดเพื่อพบเจอครอบครัว หลายคนอิ่มอุ่นกับการนอนนิ่งในผ้าห่มหนาๆ บางคนร่ำสุรากับมิตรสหายที่ไม่ได้เห็นหน้ากันมานานหลังจบจากสถาบันศึกษา และ ใครอีกหลายคนถือเอาโอกาสเช่นนี้ใช้วางแผนเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง

สิ่งที่เราพบเจอจนเป็นปกติทุกขวบปี เมื่อปีใหม่มาถึง คนส่วนใหญ่มักจะมีการตั้งเช็คลิสต์ หรือ วางแผนการเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อใช้ชีวิตให้ไม่เหมือนเก่าในปีใหม่ การเปลี่ยนแปลงตนเองที่ว่านี้เป็นการตั้งต้นให้ตัวเองทำอะไรใหม่ๆ ในปีใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่เพื่อให้ชีวิตตนเองดีกว่าเดิมในปีที่แล้วมา ปณิธานในการเปลี่ยนแปลงมีหลายหลากต่างกันไป เริ่มตั้งแต่การดูแลรูปร่างและเปลี่ยนแปลงให้สมส่วน พัฒนาทักษะภาษา ไปจนถึงการลดปริมาณการดื่มเบียร์ เป็นต้น และ สิ่งที่เราพบเจอจนเป็นปกติทุกขวบปี (อีกเช่นกัน) คือ การตั้งปณิธานไว้แต่ไม่ได้ทำตามปณิธานนั้นจนสำเร็จ (บางทีก็ตั้งปณิธานไว้ให้สบายใจเป็นพอ) เมื่อทำไม่สำเร็จ ความรู้สึกแรกที่ถาโถมเข้ามาสู่หัวใจของใครหลายคนมักจะเป็นความรู้สึกที่รู้สึกว่าตนล้มเหลว รู้สึกผิดเมื่อแผนการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามคาด เกิดความรู้สึกลบ ความรู้สึกไม่พอใจต่อตนเอง บางคนถึงขั้นท้อถอยเลยก็มีให้เห็น คำถามที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์เหล่านี้ คือ หากเราตั้งปณิธานไว้แต่ทำไม่สำเร็จ เราควรที่จะตั้งปณิธาณเหล่านี้อยู่หรือไม่? และ เราควรจะทำมันต่อไปไหม? นักปรัชญาหนวดงามชาวเยอรมันนาม ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม นีทเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche, 1844-1900) อาจช่วยตอบคำถามนี้ได้ ลองดูว่าเขาจะตอบปัญหานี้อย่างไร

ก่อนอื่นเราควรเริ่มต้นพิจารณาคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงก่อน คำถามคือ เรายังจะเป็นคนคนเดียวกันกับคนที่เรากำลังจะเป็นในปีหน้าหรือไม่? คำตอบ คือ ไม่ เพราะว่า ทั้งลักษณะทางกายภาพของร่างกายและลักษณะทางสภาพจิตใจของเราจะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน กล่าวคือ ในด้านร่างกาย เซลล์ร่างกายจะแก่ขึ้นและผลัดเซลล์ใหม่ เส้นผมที่เคยดกดำจะหงอกและร่วงโรย ผิวหนังจะเหี่ยวย่นขึ้น รวมถึงกำลังวังชาจะถดถอยลง เป็นต้น ในด้านสภาพจิตใจ แน่นอนว่าเราจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะด้านอารมณ์และจิตใจ จากวันเวลาและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปหรือจากเหตุการณ์ที่พบเจอในอนาคต เช่น การย้ายงาน การแต่งงาน หรือสูญเสียบุคคลที่รัก เป็นต้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่นอนต่อตัวเราทุกคน และ เราจะไม่ใช่คนคนเดียวกันกับคนที่กำลังจะเป็นในปีถัดไปอย่างแน่นอน

ผ่านมุมมองของนิทเช่ เขาเห็นว่า ความแตกต่างระหว่าง มนุษย์ และ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ คือ มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะตั้งปณิธาณต่อตนเอง กล่าวคือ การตั้งปณิธานเป็นความสามารถที่จะคิด คาดการณ์ คาดหวังต่อตนเอง นิทเช่เชื่อว่า การตั้งปณิธานต่อตนเองเป็นลักษณะพื้นฐานที่บ่งบอกถึงการเป็นมนุษย์ และ มนุษย์แต่ละคนจะ ‘เป็น’ และ ‘ไม่เป็น’ บุคคล ที่กำลังจะเป็นในอนาคต (each of us is and is not the person we will become in the future) กล่าวคือ การตั้งปณิธานเป็นหนทางสำหรับการยืนยันถึงอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มนุษย์ไม่สามารถทราบได้เลยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดบ้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การตั้งปณิธานต่อตนเองจึงเป็นการคาดการณ์ต่อตนเองในอนาคตและเป็นการรักษาคำมั่นต่อตนเอง(ซึ่งบางทีอาจทำได้ยากในเชิงปฏิบัติ) นอกจากนี้การตั้งปณิธานต่อตนเองยังเป็นการป้องกันรักษาอัตลักษณ์ของตนเองเอาไว้ นั่นคือ ‘ความเป็นตัวฉัน’ (I) และขณะเดียวกันเป็นการผูกโยงเพื่อรวม ‘ความเป็นตัวฉันที่ตั้งใจจะเป็น’ (I promise) (ในอนาคตเข้าไว้ด้วยกัน)

ศักยภาพในการตั้งปณิธานนับเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงถึงการมีเจตจำนงของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล (individual) ซึ่งนิทเช่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ (nonhuman animal)โดยส่วนมากแล้วจะไม่ปรากฏการรับรู้ถึงตนเองในฐานะปัจเจกบุคคล รวมถึงไม่มีความเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ แม้ว่าสัตว์บางประเภทอาจมีประสบการณ์ของความรู้สึกผิด แต่ก็เป็นความรู้สึกผิดที่ไม่ได้มีที่มาจากการทำตามปณิธานไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามนิทเช่ชี้ว่า หากมนุษย์เราเอาแต่ตั้งปณิธานและประพฤติอย่างซื่อสัตย์จริงใจดุจความซื่อสัตย์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า เมื่อนั้นมนุษย์อาจตกอยู่ในสภาวะที่เหมือนสัตว์ (an animal-like state)

นิทเช่มองว่าเราตั้งปณิธานได้ แต่ไม่จำเป็นที่เราจะต้องรักษาปณิธานไปจนสำเร็จ (อาจฟังดูไม่เข้าท่าแต่กรุณาอ่านให้จบก่อน) เขาเห็นว่า บางทีการจะเต็มเติมให้ปณิธานที่ตั้งไว้สำเร็จลุล่วง ไม่ควรที่จะต้องแลกมาด้วยวิธีการที่ยากลำบากและโง่เขลาจนเกินไป เช่น อยากลดน้ำหนักมากจึงใช้วิธีการอดอาหารจนเป็นลมหมดสติ หรือ การให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานมากจนละเลยเรื่องความรัก ทั้ง ๆที่ทุกเช้าที่ออกไปทำงานมีโอกาสเจอคนที่ถูกใจและสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ได้ (แต่กลับปฏิเสธโอกาสนี้ เพราะปณิธานว่าจะโฟกัสแค่เรื่องงานเท่านั้น) เป็นต้น หากเราเจอเหตุการณ์ทำนองนี้แล้วเราเลือกที่จะพังปณิธานที่ตั้งไว้ลงบ้างในบางโอกาส นิทเช่
บอกกับเราทุกคนว่า การทำเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องผิดและไม่มีเหตุผลที่จะต้องรู้สึกผิดเลยหากการละเลยคำมั่นสัญญาต่อตนเองเกิดขึ้น และ จงมองตัวตนด้วยความรักต่อตนเอง (the Romantic View of Self) กล่าวคือ เราต้องรับรู้ตนเองในฐานะตัวเรา ไม่ใช่ตัวเราในฐานะทาสของความคิด (ที่ถูกตั้งไว้) จากความต้องการของเราในอดีตตลอดเวลา เพราะ ตัวตนของมนุษย์ไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลง และเติบโตอยู่เสมอ การมองตัวตนด้วยความรักต่อตนเองนี้เป็นวิธีการที่มนุษย์เตรียมตัวเตรียมใจที่จะทำลายล้าง (annihilate) ตัวตนของตนเองซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า[1] ทำลายล้างเพื่อสามารถสร้างสรรค์ตัวตนขึ้นมาใหม่และสร้างขึ้นใหม่เพื่อถูกทำลายล้าง ตัวตนจะถูกประกอบสร้างและถูกทำลายเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ และตัวตนจะประสบกับสองภาวะนี้ไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่หยุดนิ่ง ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ (human being) เป็นเช่นนี้เสมอ

กระบวนการประกอบสร้างตัวตนและทำลายล้างตัวตนตามแนวคิดของนิทเช่ที่ว่านี้ มีสิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพแบบสุดโต่ง (radical freedom) เป็นฐานคิดสำคัญตามแบบฉบับของสกุลความคิดอัตถิภาวนิยม เสรีภาพที่ว่านี้โยงใยเกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดสินใจและความรับผิดชอบ การเลือกสรรค์สร้างนิยามตนเองสามารถบรรลุได้ผ่านการกระทำ มนุษย์เลือกนิยามตัวตนอันมีความหมายผ่านการกระทำ เสรีภาพและความรับผิดจะเกิดขึ้นสมบูรณ์เมื่อมนุษย์อยู่ในภาวะของความวิตกกังวล (anxiety) สองสิ่งนี้ไม่สามารถแยกขาดกันได้ การดำรงอยู่ของมนุษย์เป็นสภาวะที่มีความเปลี่ยนแปลงอันปราศจากเหตุผลอยู่ตลอดเวลา ด้วยมีเสรีภาพและความรับผิดชอบที่ไม่สามารถแยกขาดออกไปมนุษย์ได้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อมนุษย์ดำรงอยู่ในสภาวะที่มีเสรีภาพอย่างมีความเป็นของแท้ (exist as an authentically free being) เมื่อนั้นมนุษย์จึงสามารถเลือกกระทำและรับผิดชอบเพื่อสร้างความหมายให้แก่ชีวิตตนเองได้ตลอดเวลา[2] และการเลือกขณะเดียวกันคือการสร้างคุณค่าบางอย่างต่อตัวเราเอง

ดังกล่าวข้างต้นเสรีภาพสุดโต่งเป็นพื้นฐานในทุก ๆ การตัดสินใจในการกระทำและความรับผิดชอบ การตั้งปณิธานในวันปีใหม่เองก็นับเป็นหนึ่งในการสร้างสรรค์ตนเองของมนุษย์ผ่านการกระทำเช่นกัน กล่าวได้ว่าการมีเสรีภาพสุดโต่งเป็นตัวการสำคัญที่เปิดโอกาสให้มนุษย์สามารถเลือกก้าวข้าม (overcome) หรือทำลายปณิธานที่ตั้งไว้ได้ (ในทำนองเดียวกันกับช่วงเวลาที่มนุษย์ตั้งใจตั้งปณิธานต่อตนเองขึ้นมา) ด้วยเสรีภาพอันสุดโต่งนี้เองมนุษย์สามารถเลือกรักษาปณิธานและทำลายปณิธานที่ตนเองก่อขึ้นมาได้ ทั้งนี้ภายหลังตัดสินใจเลือกและกระทำ มนุษย์จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาปณิธานต่อ หรือ เลิกล้มปณิธานลง รวมถึงการเลือกทุกครั้งในชีวิตก็เช่นกัน การเลือกและความรับผิดชอบดังกล่าวคือความยากลำบากที่มนุษย์ต้องแบกรับ เพราะว่าทุก ๆ การเลือกเป็นการเลือกเพื่อสร้างความหมายต่อตัวมนุษย์และนิยามตนเองอยู่ตลอดเวลา

จากมุมมองของนิทเช่ หากเราตั้งปณิธานไว้แล้วทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ไม่มีเหตุผลอะไรให้เราต้องเสียใจหรือรู้สึกผิด เพราะ เราสร้างมันใหม่ได้เสมอ และ ทำลายมันเมื่อใดก็ได้ หากมันมีความหมายต่อเรามากพอ

สุดท้ายแล้ว หลักใหญ่ใจความสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ไม่ใช่การถามว่า หากเราตั้งปณิธานไว้แต่ทำไม่สำเร็จ เราควรที่จะตั้งปณิธาณเหล่านี้อยู่หรือไม่? และ เราควรจะทำมันต่อไปไหม? สองคำถามนี้ไม่สำคัญเลย

คำถามที่สำคัญคือ เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความหมาย? ต่างหาก

สุขสันต์วันขึ้นปีใหม่ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย

Be less of the person you are expected to be, and more of the person you want to be. ---Nietzsche[3]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net