Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหลียวมองอินเดีย: อยู่ร่วม - หลากหลาย

ถ้าพูดถึง ‘อินเดีย’ คุณผู้อ่านนึกถึงอะไรกันครับ อาหารสตรีทฟู๊ดชวนหิว ประเทศที่มีประวัติศาสตร์แสนยาวนาน ดินแดนปฐมภูมิอันเป็นบ่อเกิดของศาสนาและศาสนาดาบันลือโลก พื้นที่ของความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ หรืออาจเป็นศูนย์รวมแห่งความแตกต่างทางด้านภาษาและด้านวัฒนธรรม นอกจากคำนิยามเหล่านี้ อินเดียยังนับเป็นประเทศที่มีพื้นที่เป็นอันดับเจ็ดของโลก (3,287,263 ตารางกิโลเมตร) และ อินเดียยังเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ราว 1,482 ล้านคน ด้วยจำนวนประชากรที่มากเหลือล้นและพื้นที่อันมหาศาล สองสิ่งนี้ทำให้สังคมของชาวอินเดียมีความแตกต่างและหลากหลาย (Diversity) หากจะนิยามอินเดีย ในทางหนึ่งเราอาจนิยามได้ว่า ความเป็นอินเดีย คือ การผสมผสานปนเปกันระหว่าง หลากวัฒนธรรม หลายศาสนา หลายผู้คนต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ที่อาศัยและร้อยเรียงกันเอาไว้อยู่ในพื้นที่แห่งการอยู่ร่วมและรวมกันได้ในแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลเดียวกัน (ฟังดูอลังการเลยทีเดียว) แต่ทว่า ท่ามกลางความหลากหลายและแตกต่างเหล่านี้ สิ่งที่ชวนฉงนคงเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกเสียจากคำถามที่ว่า คนอินเดียอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ทำไมคนที่มีความเชื่อต่างกันและคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันจึงอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่เดียวกัน (ความน่าสนใจอยู่ตรงนี้) คุณผู้อ่านคิดว่าคำตอบคืออะไรครับ ? (คำตอบอยู่บรรทัดถัดไป)


รัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย

ใช่ครับ คำตอบ คือ รัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย

หากย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์ ภายหลังจากที่อินเดียได้รับอิสรภาพในการปกครองตนเองปลดเปลื้องพันธนาการจากการเป็นประเทศภายใต้อาณานิคมของอังกฤษเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1947 อินเดียได้แต่งตั้งคณะกรรมร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียในวันที่ 29 สิงหาคม 1947 (เพียง 2 สัปดาห์จากวันที่ได้รับเอกราช อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 1946 สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียมีการพบปะพูดเป็นครั้งแรก ณ ที่ประชุมรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้ว่าอินเดียมีการเตรียมการเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญอย่างกระตือรือร้นแข็งขัน) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียเริ่มทำงานร่างและแก้ไขรายละเอียดในฉบับร่างรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายครั้ง ข้อมูลจากอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดร.อัมเบดการ์ บันทึกไว้ว่าในขณะที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญมีการลงมติ ถกเถียง ปัดตกข้อเสนอบางประการ และอภิปรายเพื่อแก้ไขมากถึง 7,635 การแปรญัตติ[1] และมี 2,473 การแปรญัตติ ที่ถูกยอมรับ) ในแต่ละครั้งมีการออกแบบปรับปรุงเพื่อให้ครอบคลุมต่อความหลากหลายที่มีอยู่ในอินเดีย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียตรากตรำทำงานจนรัฐธรรมนูญสำเร็จผ่านการรับรองโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 1949 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มกราคม 1950 (นับเป็นเวลาราว 3 ปีจากวันที่เริ่มต้นปรึกษาหารือเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย) ชาวอินเดียถือเอาวันดังกล่าวเป็น ‘วันแห่งสาธารณรัฐอินเดีย’ (The Republic Day of India) วันสำคัญที่สาธารณรัฐแห่งอินเดียถือกำเนิดขึ้น และ จากวันที่รัฐธรรมนูญแห่งอินเดียถูกประกาศใช้จวบจนวันนี้ รัฐธรรมนูญแห่งอินเดียถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เคยถูกล้มล้าง และประเทศอินเดียเป็นประเทศที่ไม่เคยมีการรัฐประหาร ใช่ครับ คุณผู้อ่านไม่ได้อ่านผิด ทั้งๆ ที่อินเดียเป็นประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายสูงมากและความแตกต่างหลากหลายโดยทั่วไปมักนำไปสู่ความไม่ลงรอยกันในทางสังคมและการเมือง แต่อินเดียไม่เคยใช้ข้ออ้างเรื่องความไม่ลงรอยกันของความแตกต่างหลากหลายนี้เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร และ การทำรัฐประหารไม่เคยเกิดขึ้นเลยสักครั้งในอินเดีย จากความพิเศษดังกล่าวนี้เป็นที่น่าสนใจว่า ชาวอินเดียมีวิธีการคิดและมีวิธีการออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไร? ที่ทำให้รัฐธรรมนูญเล่มเดียวนี้ไม่เคยถูกล้มล้างและใช้รัฐธรรมนูญเล่มเดิมนี้มาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 74 ปี (จากปี 1950 ถึงปัจจุบัน)


การออกแบบรัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย

ความท้าทายที่เกิดขึ้นในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย คือ การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อประชากรจำนวนมาก เพื่อการปกครองในพื้นที่ทางกายภาพที่กว้างใหญ่ระดับอนุทวีป และเพื่อครอบคลุมถึงความหลากหลายแตกต่างในทุกๆ มิติของชาวอินเดีย โจทย์ใหญ่ของการออกแบบนี้จึงต้องการคณะสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มองเห็นและเข้าใจองคาพยพเหล่านี้ และ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยบุคคลเหล่านี้[2]


คณะสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย (Drafting Committee for Constitution of India)[3]

ดร. ภิมเรา รามจี อัมเบดการ์ (Dr. Bhimrao Ramji Ambedkar) นักวิชาการและนักปฏิรูปสังคมที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับชาวอินเดียด้วยความคิดที่เขาเชื่อว่าสังคมที่เท่าเทียมเป็นจริงได้และมนุษย์สามารถสร้างโครงสร้างสังคมที่ดีกว่าได้ อัมเบดการ์ยังถือเป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมชาวอินเดีย ตามชีวประวัติของเขา อัมเบดการ์เกิดในวรรณะทลิต/ดลิต (Dalit) หรือ จัณฑาล วรรณะที่มาจากล่างสุดของสังคมอินเดีย เขาต่อสู้ฟันฝ่าความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอินเดียจนเรียนจบปริญญาเอกจาก London School of Economics สถาบันภายใต้ University of London และกลับมาทำงานในอินเดีย ภายหลังอินเดียได้รับอิสรภาพ เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และต่อมาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายและยุติธรรมคนแรกของอินเดีย ภายใต้คณะทำงานนายกรัฐมนตรีชวาหระลาล เนห์รู[4]

คานายาลาล มาเนคลาล มุนชี (Kanaiyalal Maneklal Munshi) นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวด้านอิสรภาพ นักการเมือง และนักวรรณกรรมชาวคุชราช (Gujarat) มุนชีเป็นหนึ่งในนักต่อสู้ เรียกร้อง และเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของชาวอินเดีย เขาสนับสนุนประชาธิปไตย ความหลากหลายทางสังคม และสนใจการพัฒนาวัฒนธรรมอินเดีย มุนชีมีวิสัยทัศน์ต่อวัฒนธรรมของอินเดีย เขาเห็นว่าควรพัฒนาประชาธิปไตยไปพร้อมกับการธำรงมรดกทางวัฒนธรรมอินเดีย เขาคือผู้ก่อตั้ง Bharatiya Vidya Bhavan สถาบันที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้วัฒนธรรมอินเดียเกิดการผนวกรวม รักษาจุดร่วมสงวนจุดต่างต่อกันในสังคม สร้างสังคมวัฒนธรรมให้มีความร่วมสมัยและยั่งยืน และหลอมรวมความแตกต่างให้เป็นหนึ่งเดียว[5]

ดี.พี.ไคตัน (D P Khaitan) นักอุตสาหกรรมจากเบงกอลตะวันตก (West Bengal) และ ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย (Federation of Indian Chambers of Commerce & Industry: FICCI) ไคตันเสียชีวิตหลังได้รับตำแหน่งได้ไม่นาน[6]

ติรุเวลลอร์ ทัตไต กฤษณะมาชารี (Tiruvellore Thattai Krishnamachari) นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์ชาวมาสดราส (Madras) แห่ง Madras Chirstian College เขาได้รับเลือกเป็นหนึ่งในทีมงานร่างรัฐธรรมนูญหลังจากการเสียชีวิตของไคตัน กฤษณะมาชารีมีบทบาทในการตั้งกระทู้เรื่องเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) ในระหว่างทำงานร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลางด้านแร่เหล็กและเหล็กกล้า ต่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมคนแรกของอินเดีย ทำงานด้านการปฏิรูปภาษีอินเดีย และมีบทบาทร่วมจัดตั้งองค์กรทางการเงินต่างๆ ของอินเดีย และ สถาบันการเงินที่สำคัญของอินเดีย เช่น Industrial Development Bank of India และ Unit Trust of India[7]

นราสิมหา โกปาลาสวามี อัยยางการ์ (Narasimha Gopalaswami Ayyangar) อัยยางการ์เป็นชาวมาสดราสที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐจัมมูและแคชเมียร์ (Jammu and Kashmir) เขามีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปกรมป่าไม้และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแคชเมียร์ ต่อมาหลังมีรัฐธรรมนูญ เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรถไฟและการขนส่ง เขามีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานเกี่ยวกับการรถไฟของอินเดีย ทั้งด้านการบริการและงานอุปกรณ์[8]

อัลลาดี กฤษณสวามี อัยยาร (Alladi Krishnaswamy Ayyar) นักกฎหมายในทีมร่างรัฐธรรมนูญ ในการทำงาน อัยยารเป็นอนุกรรมการด้านสิทธิขั้นพื้นฐาน เขามีส่วนในการผลักดันประเด็นความสำคัญของการเป็นพลเมือง (Citizenship) สิทธิขั้นพื้นฐาน และรายละเอียดเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน[9]

มูฮัมหมัด ซาดุลลา (Muhammad Saadulla) ทนายความ ผู้นำสันนิบาตมุสลิม และนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐอัสสัม (Assam) ซาดุลลาผลักดันนโยบายด้านการรักษาความมั่นคงทางการเงินของรัฐอัสสัมและสิทธิของชนกลุ่มน้อย[10]

บี.แอล. มิตเตอร์ (B. L. Mitter) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและทนายความ เป็นสมาชิกคณะสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องด้วยปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการทำงาน ภายหลังจากที่เริ่มต้นทำงานด้านการร่างรัฐธรรมนูญได้ไม่นาน[11]

นยาปาตี มาธาวา เรา (Nyapathi Madhava Rau) เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและเลขาธิการสูงสุดแห่งเมืองไมซอร์ (Mysore) เป็นตัวแทนชาวโอริสสา (Odisha) เขาเข้ารับตำแหน่งแทนที่มิตเตอร์[12]

จากบรรดาทีมงานร่างรัฐธรรมนูญข้างต้น ผมเห็นว่า สิ่งสำคัญที่เราจะเห็นได้จากทีมออกแบบรัฐธรรมนูญ นั่นคือ เราจะเห็นถึงความหลากหลายของสมาชิกที่มีที่มาแตกต่างกัน ในทีมประกอบไปด้วยคนจากต่างวรรณะ ต่างความเชื่อทางศาสนา เป็นคนจากหลายพื้นที่จากเหนือสุดจรดใต้สุด จากตะวันออกไปตะวันตก การออกแบบเป็นการร่วมกันออกแบบผสมผสานมุมมองที่มองออกมาจากวิธีคิดของผู้คนหลายความคิดหลายเลนส์ และ การออกแบบเป็นการนำปัญหามาตั้งวงหารือถกเถียงกันอย่างมีอารยะ ร่วมกันแก้ไข ปรับปรุง (ดังจะเห็นได้จากการแปรญัตติจำนวนหลายครั้ง) เพื่ออ้าแขนรับความหลากหลายในทุกๆ มิติเท่าที่จะสามารถทำได้ รัฐธรรมนูญอินเดียจึงเป็นผลผลิตที่มีลักษณะคำนึงถึงความหลากหลายและแสดงลักษณะของการไม่แบ่งแยก ออกแบบมาเพื่อรองรับอย่างครอบคลุมทั้งในแง่อาณาบริเวณด้านกายภาพภูมิประเทศและอาณาเขตด้านสังคม ความคิด และวัฒนธรรม

ในทางหนึ่ง ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก นักวิชาการด้านการเมืองการปกครองอินเดียเองก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งอินเดียมีลักษณะบางประการที่พิเศษ ประการแรก คณะสภาร่างรัฐธรรมนูญมีสมาชิกประกอบไปด้วยผู้นำจากกลุ่มต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะโอบอุ้มความหลากหลายทั้งภูมิภาค ศาสนา กลุ่มภาษา และกลุ่มความคิด ไว้ให้ได้มากที่สุด ประการที่สอง รัฐธรรมนูญแห่งอินเดียเป็นรัฐธรรมนูญรูปแบบผสม ที่มีเบื้องหลังแนวคิดสองแนวคิด นั่นคือ แนวคิดชาตินิยม และ แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม เป็นพื้นฐาน ทำให้อินเดียมีรูปแบบการเลือกตั้งทางตรง คือ การเลือกนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารประเทศ และมีการเลือกตั้งแบบทางอ้อมจากรัฐบาลท้องถิ่น คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีในฐานะประมุขของประเทศ ในด้านรูปแบบการจัดการโครงสร้างรัฐ อินเดียมีรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับรัฐ โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลแต่ละรัฐจะทำงานร่วมกัน มีการถ่วงดุลอำนาจจากรัฐบาลกลางโดยการส่งผู้ว่าการรัฐไปประจำยังรัฐต่างๆ เพื่อไม่ให้มุขมนตรีหรือผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากรัฐนั้นๆ มีอำนาจมากจนเกินไป ประการต่อมา รัฐธรรมนูญแห่งอินเดียแสดงท่าทีที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย มีการออกนโยบายที่ทำให้คนทุกคนเข้าถึงสิทธิประโยชน์เท่ากัน และ มีการบัญญัติข้อบังคับที่เน้นย้ำความเสมอภาค สิทธิการเข้าถึงบริการของรัฐอย่างเท่าเทียม ทั้งในด้านการปกป้องสิทธิแก่กลุ่มเปราะบางและชนกลุ่มน้อยในสังคมในทุกๆ ด้าน เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา และการสำรองที่นั่งให้สิทธิ์แก่คนที่เข้าถึงโอกาสได้ยากได้รับประโยชน์จากรัฐเทียมเท่าคนในระดับที่สูงกว่า รวมถึงมีการรองรับภาษาถิ่นเป็นภาษาราชการตามแต่ละรัฐมากถึง 22 ภาษา เป็นต้น ประการที่สี่ รัฐธรรมนูญอินเดียอนุญาตให้ศาลสูงสุดมีอำนาจในการตัดสินชี้ขาดการออกกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล โดยศาลมีสิทธิ์ชี้โทษแก่รัฐบาล หากกฎหมายที่ออกจากรัฐบาลนั้นๆ ขัดต่อสิทธิพื้นฐานตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ ประการที่ห้า รัฐธรรมนูญแห่งอินเดียมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เพื่อตอบสนองสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป[13]

ในแง่ของแบบแผนหรือรูปแบบที่คณะสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียใช้อ้างอิงเพื่อเทียบดูเป็นตัวอย่างนั้นมีแหล่งที่มาจากหลายประเทศมากถึง 10 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สกอตแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมันนี สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (ในขณะนั้น) ฝรั่งเศส อเมริกาใต้ และญี่ปุ่น โดยคณะสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย หยิบเอาจุดเด่นและข้อบัญญัติที่คาดว่าน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดจากรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศดังกล่าวมาปรับใช้และเขียนลงในรัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย เช่น การรับเอาระบบรัฐสภาของรัฐบาลตามแบบอังกฤษ รับเอาแนวคิดเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง หลักการทบทวนการพิจารณาคดี และ ความเป็นอิสระของศาลยุติธรรมจากสหรัฐอเมริกา วิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากสกอตแลนด์ ระบบสหพันธรัฐกับรัฐที่มีอำนาจและการคงอำนาจเหลือไว้ในศูนย์กลางจากแคนาดา ความมีเสรีทางการค้าและการพาณิชย์จากออสเตรเลีย หรือ แนวคิดเรื่องความยุติธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองจากส่วนนำของรัฐธรรมนูญโซเวียต และ แนวคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพจากฝรั่งเศส เป็นต้น[14] จากการอ้างอิงตัวอย่างจากรัฐธรรมนูญจากประเทศอื่นๆ เป็นอีกข้อยืนยันได้ว่า ทุกอณูข้อความในรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียมีความพยายามออกแบบเพื่อเฟ้นหาหนทางที่ดีที่สุดเพื่อคนอินเดียอย่างแท้จริง และ ขณะเดียวกันก็นับว่าเป็นการสร้างชาติอินเดียให้ก้าวทันทัดเทียมกับนานาอารยประเทศอีกด้วย หรืออาจกล่าวได้ในอีกทางหนึ่งว่า “รัฐธรรมนูญอินเดียออกแบบมาเพื่อคนอินเดียทุกคน” ก็คงไม่ผิดแต่ประการใด

 

ก้มลงมองตีน: แล้วรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียบอกอะไรกับเรา ?

เมื่อเงยหน้ามองอินเดียไปแล้ว คงจะดูมืดมนอนธการไปหน่อย หากเราเอาแต่ชายตามองเพื่อน แล้วไม่หันกลับมาก้มลงมองเท้าของตัวเอง คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือ ในประเทศไทย (ที่รักสงบของเรานี้) ใครเป็นคนออกแบบรัฐธรรมนูญให้กับเรา (ประชาชนตาดำๆ ผู้หาเช้ากินค่ำ) ? และ พวกเขาออกแบบรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการอย่างไร ?

เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยถูกประกาศใช้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 1932 มีผู้ยกร่าง คือ นายปรีดี พนมพงค์ ตัวแทนจากคณะราษฎร และ วันดังกล่าวถือเป็นที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ (ดูเพิ่มเติมที่ รวินทร์ คำโพธิ์ทอง[15]) รัฐธรรมนูญไทยและคนไทยผ่านร้อนผ่านหนาวกับเหตุการณ์ทางการเมืองเรื่อยมา โดยประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ ในระยะเวลา 92 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกถูกประกาศใช้ รัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (ต่อจากนี้จะใช้คำว่า รัฐธรรมนูญ 60) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560[16]

ที่มาของรัฐธรรมนูญ 60 เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คสช. เข้าควบคุมอำนาจ ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ปี 2557” ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2560 คณะร่างได้เขียนให้ คสช. มีอำนาจสามารถคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะองค์กรเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ (เทียบเท่ากับสภาผู้แทนราษฎร หรือ วุฒิสภา) รวมถึงการเขียนข้อบังคับให้ คสช. สามารถใช้มาตรา 44 ได้ ซึ่งมาตรา 44 นั้นเป็นอำนาจที่สามารถออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ ทั้งนี้คำสั่งจากมาตรา 44 นั้นเทียบเท่าการใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ กล่าวคือ มีผลทั้งในทางบริหาร(เทียบเท่า ระเบียบ คำสั่ง  กฎกระทรวง) ทางนิติบัญญัติ (เทียบเท่า พระราชบัญญัติ) หรือ ทางตุลาการ (เทียบเท่า คำวินิจฉัย คำพิพากษา) นอกจากแต่งตั้ง สนช. และ สปช. คสช. ยังแต่งตั้งคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กมธ. ทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญ ในยุคของ คสช. มีคณะร่างรัฐธรรมนูญ 2 ชุด ชุดที่หนึ่ง “คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ” โดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ร่างรัฐธรรมนูญชุดแรกไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำให้ต้องเริ่มร่างใหม่โดยคณะร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สอง มีประธานร่าง คือ มีชัย ฤชุพันธุ์ ในชื่อ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” [17]  ช่างเป็นความโชคดีของประชาชนชาวไทย (หรือเปล่า?) ที่รัฐธรรมนูญ 60 ผ่านการพิจารณาและถูกประกาศใช้จนสำเร็จ

ในด้านเนื้อหาในบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 60 มีหลายประการที่ออกแบบมาเพื่อประชาชนชาวไทย (จะเป็นการออกแบบมาเพื่อชาวไทยทุกคนหรือเปล่านะ) เช่น มีการเขียนบทเฉพาะกาลให้มาตรา 44 ยังคงอยู่และมีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการออกพระราชบัญญัติมายกเลิก,  คสช. มีอำนาจในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 250 คน มีวาระการทำงาน 5 ปี และ สว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้, นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกมา แต่เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีที่มาในฐานะคนนอกได้, องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และ สร้างกลไกให้รัฐธรรมนูญ 60 มีความยากลำบากเมื่อต้องการแก้ไข สร้างเงื่อนไข คือ ต้องให้ ส.ว. เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทั้งในวาระแรกและวาระที่สาม และ ต้องได้รับเสียงจาก ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพรรคฝ่ายค้านทุกพรรค[18] เป็นต้น

สำหรับรัฐธรรมนูญ 60 มีความเห็นจากนักวิชาการที่อธิบายลักษณะพิเศษของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (จะเหมือนหรือต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียหรือเปล่านะ?) ไว้ เช่น มุนินทร์ พงศาปาน เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 60 ในรายละเอียดมีการสร้างนวัตกรรมใหม่ทางรัฐธรรมนูญ เช่น การให้อำนาจ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้  และ การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง เป็นต้น เมื่อใช้เกณฑ์การจัดประเภทรัฐธรรมนูญโดยยึดตามสิทธิเสรีภาพประชาชน สามารถจัดรัฐธรรมนูญ 60 เข้าข่ายรัฐธรรมนูญประเภทที่เป็นเครื่องมือในการจำกัดบทบาทของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยสามารถใช้อำนาจได้อย่างบริบูรณ์ ผ่านการวางกลไกต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ และพบว่ารัฐธรรมนูญ 60 ถูกออกแบบผ่านแนวคิดที่มองว่าประชาชนไทยเป็นผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องมีองค์กรของรัฐและกลไกที่ซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมมาคอยตัดสินใจแทนตลอดเวลา นักวิชาการอีกท่านอย่าง พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย มองว่ารัฐธรรมนูญ 60 เป็นการรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ (Constitutional Coup) เขียนขึ้นโดยมีความพยายามลดทอนความเป็นประชาธิปไตย มีความพยายามควบคุมการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ มีความต้องการกำจัดศัตรูทางการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ และคงสถานะและอำนาจของคณะรัฐประหารของรัฐธรรมนูญ พรสันต์ยกตัวอย่างประกอบข้อเสนอนี้ เช่น การออกแบบระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม การมอบอำนาจศาลฎีกาให้พิจารณาคดีจริยธรรมนักการเมือง และ การสร้างความยากลำบากในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้สถานะของรัฐธรรมนูญ 60 กลายเป็นเครื่องมือใช้เพื่อประโยชน์อะไรบางอย่างและส่งผลกระทบต่อหลักนิติธรรมของสังคม[19]

จากข้อมูลข้างต้น คาดว่าคุณผู้อ่านคงพอจะเห็นความแตกต่างระหว่างอินเดียกับไทย ทั้งวิธีคิดในการออกแบบรัฐธรรมนูญ ที่มาของรัฐธรรมนูญ และผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ รวมถึงจุดประสงค์รัฐธรรมนูญว่าถูกออกแบบและนำไปใช้เพื่อใครและเป็นโยชน์ต่อใคร (ผมขอเว้นพื้นที่ว่างไว้ให้คุณผู้อ่านเปรียบเทียบ ตัดสินใจและตอบคำถามเหล่านี้ด้วยตัวเองนะครับ)


ฝันถึงอนาคต: หลับตาฝัน ฉันฝันถึงเธอ … เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ฉบับประชาชนเพื่อประชาชน

คงจะดีไม่น้อยนะครับ ถ้ารัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเพื่อประชาชนทุกคน ในสนามเลือกตั้ง ปี 66 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย เป็นเพียง 2 พรรคที่นำเสนอนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 หากได้รับเลือกเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยในช่วงที่มาหลังจากที่ได้รับตำแหน่งพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก รัฐบาลข้ามพันธุ์ผสมขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทยได้บรรจุการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ไว้ เป็น นโยบายเร่งด่วนสุดท้าย ด้วยเหตุผลว่า ต้องการให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้รัฐบาลจะหารือและดำเนินการต่อไป[20]

อย่างไรก็ตามมีแคมเปญหนึ่งที่น่าสนใจของ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ คือ การเสนอให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ สภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญให้หลักการไว้ว่า รัฐธรรมนูญ 60 มีการร่างขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจให้กับคณะรัฐประหาร และมีที่มาของรัฐธรรมนูญโดย คสช. แต่งตั้งกลุ่มคนของตนเองขึ้นมาร่าง และเห็นว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยเปิดให้แก้ไขได้เพียงบางเรื่องไม่ได้เป็นการ ‘เขียนรัฐธรรมใหม่’ แต่อย่างใด ดังนั้น ‘การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ’ จึงเป็นทางออกของปัญหา[21]

ในประเด็น สสร. กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คณะทำงานในนามผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน การให้ประชาชนได้เป็นผู้เลือกตั้งคนที่มาร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนชาวไทย เป็นกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมและมีส่วนในการตัดสินใจใช้อำนาจกำหนดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการเลือกคนที่ตนเองไว้วางใจ[22] นอกจากนี้ก็มีข้อเสนอเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานในการออกแบบ สสร. จาก 101 PUB (101 Public Policy Think Tank) โดยข้อเสนอดังกล่าวนี้ชูโรงสิ่งที่เรียกว่าความชอบธรรมให้เป็นแนวคิดพื้นฐาน และ ความชอบธรรม จะต้องไม่แยกขาดกันกับอำนาจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศนี้ หลักการในข้อเสนอประกอบด้วย[23]

1. ยึดโยงกับประชาชน: สสร. ต้องเป็นตัวแทนที่มาจากประชาชน รับฟัง และรับผิดชอบ ต่อเสียงของประชาชน

2. เปิดกว้างโอบรับความคิดที่หลากหลาย: มีตัวแทนที่มาจากหลากหลายกลุ่มและครอบคลุมทุกคนในสังคม

3. เปิดรับการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดกระบวนการ: มีพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความเห็นและถกเถียง และ

4. ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ: กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ สสร. และ กรอบเวลาในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ลดอุปสรรคให้ สสร. ได้อย่างสะดวกเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วและมีคุณภาพควบคู่กัน

อย่างไรก็ตาม การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นี้ เราคงจะต้องติดตามกันต่อไป ว่าหน้าตาของรัฐธรรมนูญจะคลอดออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร จะมีการเล่นแร่แปรธาตุอะไรให้เห็นอีกหรือไม่

บทส่งท้าย

หลังจากอ่านบทความนี้จบ ถ้ามีใครสักคนถามคุณอีกครั้งว่า ถ้าพูดถึง ‘อินเดีย’ คุณนึกถึงอะไร?

คำตอบที่คุณตอบไป อาจไม่ใช่ ‘โรตี’ หรือ ‘พระพิฆเนศ’ เหมือนเดิมอีกแล้ว

เพราะคำตอบ อาจจะเป็น ‘อินเดีย คือ ประเทศประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก’ ก็เป็นได้ครับ

จะว่าไปแล้วก็แอบอิจฉาคนอินเดียเหมือนกันนะครับ … คุณผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับ

 


อ้างอิง

[1] การแปรญัตติ (Amendment) ความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า แก้ถ้อยคำหรือเนื้อความในร่างกฎหมายที่สภารับหลักการแล้ว

[2] อิงตามข้อมูลจากอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดร.อัมเบดการ์ Dr. Ambedkar National Memorial, 26 Alipur Road, Delhi.

[3] Photo by https://www.constitutionofindia.net/blog/this-month-in-constitution-making-nov-1949-drafting-committee-comes-under-fire/

[4] https://www.inc.in/our-inspiration/dr-b-r-ambedkar และ ข้อมูลจาก Dr. Ambedkar National Memorial, 26 Alipur Road, Delhi.

[5] https://www.bhavansnbs.ac.in/munshi/ และ ข้อมูลจาก Dr. Ambedkar National Memorial, 26 Alipur Road, Delhi.

[6] ข้อมูลจาก Dr. Ambedkar National Memorial, 26 Alipur Road, Delhi.

[7] https://www.constitutionofindia.net/members/t-t-krishnamachari-2/  และ ข้อมูลจาก Dr. Ambedkar National Memorial, 26 Alipur Road, Delhi.

[11] ข้อมูลจาก Dr. Ambedkar National Memorial, 26 Alipur Road, Delhi.

[12] ข้อมูลจาก Dr. Ambedkar National Memorial, 26 Alipur Road, Delhi.

[18] อ้างอิงและดูเพิ่มเติม https://ilaw.or.th/node/4474 และ ดูเพิ่มเติม https://ilaw.or.th/node/5060

[20] ดูเพิ่มเติมที่ https://www.thaipbs.or.th/news/content/333631

[23] กรูณาดูเพิ่มเติมที่ https://www.the101.world/peoples-constitutional-assembly/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net