Skip to main content
sharethis

'อันนา' และเพื่อนทวงถาม 'วราวุธ' เยียวยากรณีถูกตำรวจและ พม.อุ้มไปคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหลังเรื่องผ่านมาเกือบสองปี ยังไม่มีความคืบหน้า

13 ม.ค. 2567 เวลา 8.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อันนา อันนานนท์ และ อ๊อกฟอร์ดเดินทางเพื่อเข้าพบ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. เพื่อติดตามความคืบหน้าจากกรณีที่อันนาและเพื่อนของเธอร้องเรียนเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและวราวุธว่าเคยถูกตำรวจและเจ้าหน้าที่ พม. ควบคุมตัวไปจากร้านแมคโดนัลด์สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 15 เม.ย. 2565 โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า เธอไม่สามารถอยู่ในร้านได้เนื่องจากจะมีขบวนเสด็จเคลื่อนขบวนผ่าน

ทั้งนี้ ขณะพวกเธอพยายามเข้ายื่นหนังสือต่อวราวุธที่เพิ่งเดินทางมาถึงบริเวณที่จัดงานวันเด็กหน้ากระทรวง ทางเจ้าหน้าที่หญิงในชุดโปโลขาวเขามาขวางกันออก ทำให้อ๊อกฟอร์ดตะโกนเรียกวราวุธให้รับหนังสือของทั้งสองคน

วราวุธได้รับหนังสือไปแต่ไม่ได้มีการพูดคุยอะไรเพียงแต่บอกกับอันนาว่าขอไปเปิดงานวันเด็กก่อนและให้รอ แต่หลังจากการกิจกรรมเปิดงานวันเด็กแล้วไม่ได้มีการเรียกให้ทั้งสองคนเข้าไปพูดคุยแต่เดินเข้ากระทรวงไป

อ๊อกฟอร์ดกล่าวว่าเขารู้สึกผิดหวังที่ข้อเรียกร้องตลอดสองปีที่ผ่านมาไม่ได้รับความใส่ใจจากทางกระทรวง ทั้งที่ปลัดกระทรวงเองก็รับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้วและก็รับตำแหน่งมาตั้งแต่ก่อนที่ กสม.จะมีคำวินิจฉัยออกมา แต่คนที่มีอำนาจถอดถอนเ้จ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่พวกเขาถูกกระทำกลับไม่ได้ทำอะไรอีกทั้งยังได้รับการปรับตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นการปล่อยคนผิดให้ลอยนวล

อ๊อกฟอร์ดยังได้กล่าวถึงท่าที่ของทาง พม.เองที่ในวันนี้มีการเอาเจ้าหน้าที่จากกองร้อยน้ำหวานเข้าและตำรวจเข้ามาในสถานที่จัดงานวันเด็กแม้จะเข้าใจว่าต้องเอามาเพื่อรักษาความปลอดภัย แต่ก็เอามาขัดขวางไม่ให้เข้าไปยื่นหนังสือกับวราวุธจนต้องขึ้นไปบนแท่นบันไดเพื่อตะโกนเรียกให้วราวุธมารับหนังสือ

“ทั้งที่เขาเห็นเราแต่เขาก็เดินหนี เราก็ต้องตะโกนสุดเสียงเพื่อให้เขาได้ยิน” อ๊อกฟอร์ดกล่าว

อ๊อกฟอร์ดกล่าวอีกว่ารู้สึกฝังใจกับที่เจ้าหน้าที่ พม.มาขอความเห็นใจเพราะวันนี้เป็นวันเด็กกลัวเด็กในงานรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่เราก็พยายามร้องขอความยุติธรรมอยู่แล้วเขาก็เมินเฉยและพยายามปกปิดและลืมว่าความรู้สึกไม่ปลอดภัยนี้เกิดจากกระทรวงของเขาเอง

อันนากล่าวต่อว่า ที่เวลาผ่านมาสองปีแล้ว พม.ที่ควรจะเป็นที่แรกที่ทำการสืบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะ ไม่ใช่ว่าพอมายื่นขอให้มีการตรวจสอบคัดค้านการขึ้นตำแหน่งของเจ้าหน้าที่แล้วก็มีแต่บอกว่าทำถูกต้องแล้ว ทั้งที่ กสม.เองยังหยิบเรื่องนี้มาตรวจสอบได้เลยเพราะเป็นเรื่องเยาวชนและตอนที่เกิดเหตุเธอก็ยังเป็นเยาวชนอยู่ แต่ พม.ที่มีหน้าที่กลับไม่มีการตรวจสอบเกิดขึ้น แม้จะยังมีความคาดหวังเล็กๆ น้อยๆ กับรัฐมนตรีอยู่บ้าง

“วันเด็ก พม.ก็ควรจะต้องฟังเีสียงของเด็กที่ถูกคุกคามด้วย ไม่ใช่เด็กที่ตัวเองอยากรับฟังอย่างเดียว ไม่งั้นการรับฟังก็ไม่มีค่าอะไร แล้วก็ที่มีคนถามว่าทำไมมาเรียกร้องวันนี้ เพราะวันเด็กเป็นวันที่เราในฐานะที่เคยเป็นเด็กที่ถูกคุกคามควรจะได้ออกมาส่งเสียงได้มากที่สุดและถูกรับฟังมากที่สุดก็คือวันนี้” อันนากล่าว

การติดตามเรื่องครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อ 25 ต.ค. 2566 อันนาได้ยื่นหนังสือเรื่อง "เยียวยาผู้เสียหายในกรณีการถูกเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คุกคาม" โดยมีเศรษฐาเป็นผู้รับหนังสือ โดยเนื้อหาหนังสือเป็นการเรียกร้องการเยียวจากเหตุดังกล่าว

นอกจากนั้นในหนังสือที่ยื่นถึงนายกฯ ได้อ้างรายงานคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ซึ่งระบุว่า การควบคุมตัวอันนา เมื่อ 15 เม.ย. 2565 เป็นการกระทำที่ขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพของเด็ก และไม่เป็นไปบัญญัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด หรือระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ. 2553 อีกทั้ง ยังไม่ปรากฏหลักฐานด้านพฤติการณ์ของเด็กและเยาวชนที่ควบคุมตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะกระทำผิด อย่างที่ทาง พม. ใช้กล่าวอ้างควบคุมตัว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net