Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเข้าพบสหประชาชาติเพื่อขอให้สนับสนุนรัฐบาลไทยแก้ปัญหาประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิจากการถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยต้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองรวมถึงออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก่อนที่รัฐบาลไทยจะเป็นตัวแทนอาเซียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

22 ม.ค.2567 ที่อาคารสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินทางไปเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)  เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยแก้ปัญหาการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชนก่อนที่จะไทยจะเข้าร่วมรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจากประเทศสมาชิกนานาประเทศ

แถลงการณ์ของเครือข่ายระบุถึงสถานการณ์ที่มีประชาชนและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกว่า 1,400 คน ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกของตน และมีมากกว่า 6,000 คนถ้าหากนับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เป็นต้นมาโดยคนเหล่านี้รวมถึงผู้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย

ข้อเรียกร้องที่เครือข่ายยื่นถึง OHCHR  ครั้งนี้ได้เรียกร้อง OHCHR  เรียกร้องต่อไปถึงรัฐบาลเศรษฐาและสนับสนุนให้รัฐบาลต้องรับประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติตามข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 

นอกจากนั้นรัฐบาลไทยจะต้องระงับการดำเนินคดีต่อผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิดและการชุมนุม รวมถึงปล่อยตัวนักโทษในคดีเหล่านี้ด้วย และสนับสนุนให้รัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนก่อนสิ้นปี 2567

อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สอดคล้องกับข้อแนะนำภายใต้กระบวนการพิเศษแห่งสหประชาชาติ และคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าการมายื่นหนังสือครั้งนี้กับ OHCHR จะมีการพูดคุยถึงสถานการณ์คดีทางการเมืองที่ยังไม่ดีขึ้นแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่มาแล้ว แต่การดำเนินคดีทางการเมืองยังมีอย่างต่อเนื่อง สัปดาหห์ที่ผ่านมายังมีคดี ม.112 ที่ศาลลงโทษจำคุกมากถึง 50 ปี แล้วคดีทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นคดีที่ออกไปชุมนุมและใช้เสรีภาพการแสดงออกอย่างสงบที่พวกเขาไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก ซึ่งการนิรโทษกรรมก็เป็นทางหนึ่งในการลดความขัดแย้งด้วย

ทนายความกล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลไทยจะสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นนสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในฐานะตัวแทนอาเซียน ที่การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม 2567 นี้ ประเทศไทยควรจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างสง่างาม จึงคิดว่าโอกาสนี้เป็นโอกาสดีที่จะคลี่คลายความขัดแย้งโดยการยุติคดีทางการเมืองแล้วก็นิรโทษกรรมประชาชน 

พูนสุขกล่าวถึงกิจกรรมของเครือข่ายฯ ที่จะมีต่อจากนี้ว่า ช่วง 1-14 ก.พ.2567 จะมีแคมเปญเข้าชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน มาร่วมกันแสดงเจตจำนงเพื่อผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเข้าสู่สภาต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติทั้งในประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) มีความเห็นต่อการใช้มาตรา 112 ของไทยมาแล้วหลายครั้ง เช่น กรณี ศศิพิมล (สงวนนามสกุล), เธียรสุธรรม (สงวนนามสกุล) หรือ “ใหญ่ แดงเดือด”, สิรภพ หรือ ‘รุ่งศิลา’,พงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง และอัญชัญ ปรีเลิศ  

สนง.ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่ง UN ห่วงการใช้ ม.112 แนะทบทวนยกเลิก หลังทุบสถิติจำคุก 87 ปี

ความเห็นของคณะทำงานทั้งสองคณะดังกล่าวเป็นประเด็นเดียวกันคือเรื่องการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์กับการแสดงความคิดเห็นและประเด็นการลงโทษจำคุกที่สูงเช่นในกรณีของอัญชัญที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกสูงถึง 87 ปี 

“เรายังคงเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องว่าการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เพื่อเอาผิดประชาชนต้องไม่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อในทางลบต่อเสรีภาพด้านการแสดงออก จำกัดพื้นที่ของพลเมือง และลดทอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศไทย” เป็นข้อความที่ผู้รายงานพิเศษในประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นระบุถึงคดีของอัญชัญในแถลงการณ์เมื่อ 8 ก.พ. 2564

แถลงการณ์เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน

เรียกร้องให้สหประชาชาติสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกประชาชน โดยการสนับสนุนให้รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนก่อนสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อนการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรทางกฎหมาย นักวิชากร องค์กรภาคประชาสังคม และ นักกิจกรรมทางสังคมกว่า 23 องค์กร เพื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ต่อรัฐบาลไทยในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในทางการเมือง พวกเรากังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่กำลังเกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย และประชาชน จำนวนมากกว่า 1,400 ราย สืบเนื่องจากการออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสันติ

อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวเลขนี้นับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับภาพรวมที่ประชาชนกว่า 6,000 ราย ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองนับตั้งแต่การรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (เสื้อแดง) หลังจากรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 การชุมนุมประท้วงของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) การทำรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชน ประชาชนทั่วไป และคณะราษฎร เพื่อประท้วง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ก่อการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 และนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2557 จนถึงก่อนการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2566

ตลอดภาพประวัติศาสตร์ทางการเมืองนี้ มีประชาชนไม่ต่ำกว่า 6,000 คนที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการทำกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งภายหลังการทำรัฐประหารในปีพ.ศ. 2557 ยังมีบุคคลกว่า 2,400 รายที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ยิ่งไปกว่านั้นแล้วภายหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2563 จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีผ่านการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ อย่างน้อย 1,938 คน ซึ่งเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่น้อยกว่า 286 คน รวมกว่า 1,264 คดี

อย่างไรก็ดี ภายใต้รัฐบาลผสมชุดใหม่ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 นั้นยังปรากฏการดำเนินคดีทางการเมืองต่อนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องระหว่างเดือนกันยายนและธันวาคม พ.ศ. 2566 ศาลได้มีคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ คดีมาตรา 112 ในทั้งหมด 31 คดี โดยคดีที่ศาลลงโทษจำคุกทั้งหมด 28 คดี หรือคิดเป็น 90% ของช่วงเวลาดังกล่าว และมีคดีมาตรา 112 ที่จำคุกมากที่สุดถึง 50 ปี

พวกเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชนจากทุกฝักฝ่ายทางการเมืองในทุกมิติอย่างจริงจัง จะส่งผลเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการสร้างความปรองดองทางการเมือง พวกเราจึงมีความประสงค์ให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจต่อการสร้างความปรองดองทางการเมืองและความมุ่งมั่นต่อสิทธิมนุษยชน ด้วยการผ่านการสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมไปถึงมาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์) แห่งประมวลกฎหมายอาญา สำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อนการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 และ ขอเรียกร้องให้สหประชาชาติ

  • สนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติตามข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
  • สนับสนุนให้รัฐบาลไทยระงับไว้ซึ่งการดำเนินคดีต่อผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิดและการชุมนุม
  • สนับสนุนให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษทางความคิด โดยรวมไปถึงเยาวชนที่ถูกคุมขังสืบเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง
  • สนับสนุนให้รัฐบาลไทยทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์) แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวสอดคล้องกับข้อแนะนำภายใต้กระบวนการพิเศษแห่งสหประชาชาติ และคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ 
  • สนับสนุนให้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2567

 

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพ

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน




 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net