Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศตวรรษที่ 20 จบลง พร้อมกับทิ้งคำถามต่อขบวนการแรงงานว่า สหภาพแรงงานในขอบข่ายทั่วโลก ซึ่งถดถอยลงทั้งทางปริมาณและคุณภาพ จะยังคงมีอยู่หรือไม่? หรือจะยังคงความสำคัญได้อย่างไร? บทความนี้นำเสนอประสบการณ์ การพยายามฟื้นตัวของสหภาพแรงงานในต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งเกิดขึ้นจากการขยายบทบาทของสหภาพออกมาสนับสนุนแรงงานกลุ่มอื่นๆนอกรั้วโรงงาน โดยเฉพาะแรงงานแพลตฟอร์ม  การขยายบทบาทของสหภาพได้ทำให้ขบวนการแรงงานที่ถูกแบ่งแยก กลับมาคึกคักและได้บทเรียนใหม่ๆ 

บทความเริ่มจาก ทบทวนสถานการณ์ถดถอยของสหภาพแรงงานทั่วโลกในภาพรวม จากนั้นนำเสนอรูปแบบความร่วมมือระหว่างสหภาพกับแรงงานแพลตฟอร์มในภาพรวมจากหลายประเทศ ตอนท้ายขยายความกรณีศึกษาในประเทศเกาหลีใต้ อินโดนิเชีย และยูกันดา

นับจากทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523) สหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นฐานกำลังสำคัญของขบวนการแรงงานได้อ่อนแรงลงเป็นลำดับ สัดส่วนสมาชิกสหภาพเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งหมดในภาพรวมทั้งโลก ลดลงจาก 36% ในปี 1990 เหลือ 18% ในปี 2016 หากพิจารณาเฉพาะทวีปยุโรปในช่วงเวลาเดียวกันพบว่า สัดส่วนสมาชิกสหภาพลดลงจากประมาณ 58% เหลือ 25% ส่วนอเมริกาเหนือลดลงจากประมาณ 24% เหลือ 12%[1]

การลดลงของสมาชิกสหภาพเกิดจากหลายสาเหตุ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการจ้างงาน จากอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมลดขนาด โรงงานอุตสาหกรรมเล็กลง กระจัดกระจาย สหภาพอุตสาหกรรมซึ่งเป็นฐานกำลังสำคัญอ่อนแรง ในขณะที่แรงงานภาคบริการมีมากขึ้น แต่สภาพการจ้างไม่เอื้อต่อการรวมตัว หรือรวมตัวเป็นสหภาพแต่อำนาจต่อรองลดลง; การลดลงของการจ้างงานตามมาตรฐาน ไปสู่การจ้างงานระยะสั้น งานชั่วคราว การจ้างเหมาช่วงงาน

ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ (informal economy, ประเทศไทยเรียนคนงานในเศรษฐกิจประเภทนี้ว่า “แรงงานอกระบบ”) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในประเทศกำลังพัฒนา; การขยายตัวของแรงงานย้ายถิ่น ซึ่งมีข้อจำกัดในการจัดตั้งสหภาพ; การเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงมากขึ้น แต่มีข้อจำกัดทางวัฒนธรรมในการร่วมกิจกรรมกับสหภาพ; การศึกษาภาคบังคับที่ยาวนาน ทำให้คนหนุ่มสาวเข้าสู่ตลาดแรงงานช้าลง, ภาพลวงตาของการเป็นผู้ประกอบการ และการหันหลังให้กับสถานะแรงงานและสหภาพแรงงานของคนยุคใหม่; การเปลี่ยนโครงสร้างครอบครัว ทำให้คนยุคใหม่ต้องทำงานพิเศษ (part time) หรือทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน; การขยายตัวของงานกิ๊ก (gig work) ที่แบ่งซอยแรงงานออกเป็นปัจเจก และถูกจัดให้เป็นผู้รับจ้างอิสระ[2]      

ในภาวะถดถอยของสหภาพแรงงานจากหลายปัจจัยรุมเร้า งานวิจัยเสนอว่า[3] สหภาพควรปรับยุทธศาสตร์ไปสู่การขยายสมาชิกและความร่วมมือออกไปนอกขอบเขตเดิม เช่น การรับคนหนุ่มสาวเข้าสู่สหภาพ ด้วยการเข้าไปขยายความคิดสหภาพแรงงานในสถาบันการศึกษา การเพิ่มจำนวนสมาชิกและบทบาทของผู้หญิง และแรงงานย้ายถิ่นในสหภาพ การสร้างพันธมิตรกับภาคประชาสังคม เพื่อเป็นสะพานไปสู่การทำงานกับแรงงานภาคไม่เป็นทางการ แรงงานย้ายถิ่น และแรงงานในสถานประกอบการขนาดเล็กที่ยังไม่มีสหภาพ หรือมีสมาชิกจำนวนน้อย การออกไปสนับสนุนแรงงานแพลตฟอร์มในการจัดตั้งองค์กร หรือผนวกองค์กรแรงงานแพลตฟอร์มเข้าสู่สหภาพ การใช้ช่องทางสื่อสารใหม่ๆทางออนไลน์เพื่อขยายฐานสมาชิกและการสนับสนุน  

งานวิจัยการปรับตัวของสหภาพแรงงานยุคทุนนิยมดิจิทัลอีกชิ้นหนึ่ง[4] พยายามหาคำตอบว่าในยุคที่เทคโนโลยีใหม่เข้ามาจัดระบบงานและควบคุมแรงงาน ดังที่บริษัทแพลตฟอร์ม มักอ้างว่าตัวเป็นตัวกลางระหว่างแรงงานกับผู้ว่าจ้าง จัดวางให้แรงงานเป็นผู้รับจ้างอิสระ ทำให้แรงงานถูกแบ่งแยก และแข่งขันกันเอง ในขณะที่เทคโนโลยีของแพลตฟอร์มควบคุมการทำงานของแรงงานอย่างเข้มงวด เช่นนี้แล้ว แรงงานแพลตฟอร์มจะสามารถโต้ตอบ และสหภาพแรงงานจะมีความหมายอยู่หรือไม่

การวิจัยได้ข้อค้นพบสำคัญที่ยืนยันว่า การเปลี่ยนเทคโนโลยีการควบคุมแรงงาน อาจทำให้ทุนแก้ไขปัญหาบางอย่าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัยคือ การควบคุมแบบใหม่ ก่อให้เกิดการต่อต้านของแรงงานรูปแบบใหม่ด้วย กรณีศึกษาจากหลายประเทศในซีกโลกเหนือและใต้ ทำให้พบว่าได้เกิดนวัตกรรมเชิงองค์กร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรแรงงานแพลตฟอร์มกับสหภาพแรงงาน คือแรงงานแพลตฟอร์มโดยทั่วไป – ซึ่งกฎหมายไม่รับรองการจัดตั้งสหภาพ -  มักรวมกลุ่มเป็นองค์กรไม่เป็นทางการ และองค์กรได้ร่วมมือกับสหภาพแรงงานดั้งเดิมในรูปแบบต่างๆ ตามบริบทเศรษฐกิจการเมือง และเงื่อนไขทางกฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศ

ความร่วมมือระหว่างองค์กรแรงงานแพลตฟอร์มกับสหภาพแรงงาน (platform unionism) แบ่งเป็น 4 รูปแบบหลัก ได้แก่ การร่วมมือกับสหภาพแรงงาน (union cooperation) ในประเทศเบลเยียม องค์กรแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารร่วมมือกับสมาพันธ์แรงงาน แต่ยังรักษาความเป็นอิสระขององค์กร คล้ายกับที่เยอรมัน แรงงานแพลตฟอร์ม Youtube ก่อตั้งสหภาพ และได้เข้าร่วมกับสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง โดยรักษาความอิสระของตน ขณะที่ในเนเธอร์แลนด์ องค์กรแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหาร ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธ์แรงงานเก่าแก่ โดยสลายความเป็นองค์กรของตน (integrated) เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้ เจ้าของรถขนส่งสินค้าได้จัดตั้งสหภาพแรงงาน โดยผนวกเข้าเป็นสาขาหนึ่งของสหภาพแรงงานด้านการขนส่งที่เข้มแข็ง

กลุ่มไม่เป็นทางการหลายรูปแบบ (variety organized informal group) เป็นลักษณะเด่นของแรงงานแพลตฟอร์มในโลกใต้ ซึ่งการจัดตั้งสหภาพแรงงานตามกฎหมายมีเงื่อนไขและอุปสรรคมาก เช่น ในอินโดนิเชียมีการรวมกลุ่มหลายรูปแบบ ดังกรณี ชุมชนคนขับ (driver community) เป็นกลุ่มไม่เป็นทางการเพื่อช่วยเหลือกันในการทำงาน สมาคมคนขับ (driver association) เป็นการจดทะเบียนในรูปแบบสมาคมกับทางการ รวมทั้งมีความริเริ่มของสหภาพแรงงานการขนส่ง สนับสนุนการเจรจาระหว่างตัวแทนแรงงานแพลตฟอร์มกับบริษัทเรื่องสภาพการจ้างที่เป็นธรรม  และสนับสนุนให้องค์กรแรงงานแพลตฟอร์มจดทะเบียนเป็นสหภาพ

 การพัฒนาเป็นสหภาพแรงงาน (unionization) ดังกรณีของอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นประเทศที่ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง คนขับรถส่งอาหารในสังกัดแพลตฟอร์ม เห็นว่าไม่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากบริษัท องค์กรไม่เป็นทางการของคนขับจึงได้รวมตัวกันเรียกร้องให้บริษัทปรับสภาพการจ้าง เมื่อบริษัทไม่ตอบรับ การต่อสู้จึงยกระดับไปสู่การเรียกร้องให้รัฐรับรองการจัดตั้งสหภาพของคนงานแพลตฟอร์ม และด้วยการหนุนช่วยของสหภาพแรงงานเก่าแก่ ในที่สุดทางการได้บัญญัติกฎหมายรับรองการจัดตั้งสหภาพของแรงงานส่งอาหารภายใต้แพลตฟอร์ม

และรูปแบบที่สี่ สหภาพที่ขยายฐานสู่สมาชิกหลายกลุ่ม (union’s hybridization) ดังกรณีประเทศยูกานดา สหภาพแรงงานของแรงงานขนส่งและแรงงานทั่วไป กำลังประสบปัญหาสมาชิกสหภาพลดน้อยลง จึงได้ปรับตัวต่อสถานการณ์ใหม่ โดยรับแรงงานขนส่งในภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ (informal economy) เข้าเป็นสมาชิกสหภาพ ในสถานการณ์ที่แรงงานในเศรษฐกิจไม่เป็นทางการกำลังขยายตัว การรวมเอาแรงงานกลุ่มนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพทำให้สหภาพแรงงานฟื้นความเข้มแข็งขึ้น และมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิของแรงงานกลุ่มใหม่นี้ด้วย         

ท่ามกลางความร่วมระหว่างองค์กรแรงงานแพลตฟอร์มกับสหภาพดั้งเดิมหลายรูปแบบ ต่อไปนี้จะขยายความ ความร่วมมือกรณีที่สหภาพแรงงานมีบทบาทที่น่าสนใจ ดังที่เกิดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ อินโอนิเชีย และยูกันดา 

เกาหลีใต้ อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางถนนเป็นเส้นเลือดเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ โครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นระบบเหมาช่วงงานหลายชั้น (multi-layer subcontract) โดยบริษัทขนส่งขนาดใหญ่ทำสัญญาเหมาช่วงกับบริษัทขนาดเล็กเป็นชั้นๆ และที่ปลายสุดของการว่าจ้างคือเจ้าของรถบรรทุกซึ่งเป็นคนขับ (owner-operators) ในโครงสร้างแบบนี้เจ้าของรถบรรทุกมักเผชิญสภาพการทำงานและค่าตอบแทนที่เลวร้าย 

กลุ่มเจ้าของรถบรรทุกซึ่งรวมตัวกันเป็นองค์กรไม่เป็นทางการ ได้ประสานงานกับสหพันธ์แรงงานขนส่งสินค้าแห่งเกาหลี (Korean Cargo Transport Workers Federation, KCTWF) ซึ่งมีนโยบายขยายฐานสมาชิกไปสู่บรรดาแรงงานในงานไม่มั่นคงอยู่ก่อนแล้ว ด้วยการสนับสนุนของสหพันธ์ องค์กรเจ้าของรถบรรทุก สามารถจัดตั้งสหภาพเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์ในนาม Cargo Truckers’ Solidarity Union (TruckSol) นับตั้งแต่ปี 2002

ภายใต้กระบวนการเรียนรู้ในองค์กร การมีกิจกรรมร่วมกับสหพันธ์ และการร่วมรณรงค์ “Safe Rates” ซึ่งเป็นการทำให้สังคมรับรู้ว่า การได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ทำให้คนขับรถบรรทุกไม่จำเป็นต้องโหมงานหนัก ค่าตอบแทนที่เหมาะสม จะทำให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งต่อคนขับรถบรรทุก และผู้ใช้รถใช้ถนน กระบวนการเรียนรู้ได้ทำให้เจ้าของรถบรรทุกเกิดสำนึกความเป็นแรงงาน (แทนที่จะเป็นผู้ประกอบการ) และเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นแรงงาน แม้ TruckSol ยังมีสัดส่วนสมาชิกจำนวนน้อยจากจำนวนเจ้าของรถบรรทุกทั้งหมด แต่การร่วมกับสมาพันธ์ทำให้มีอำนาจต่อรองที่เข้มแข็ง

ในช่วงหลัง TrackSol ได้ขยายฐานสมาชิกไปสู่แรงงานขนส่งภายใต้แพลตฟอร์ม ในเวลาเดียวกับที่แรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารซึ่งได้ต้นแบบจาก TrackSol ได้จัดตั้งสหภาพไรเดอร์ และเข้าร่วมรณรงค์ Save Rates ในปี 2018 สหภาพไรเดอร์รณรงค์ให้คนขับรถส่งอาหารได้รับการประกันค่ารอบขั้นต่ำ และมีสถานะเป็นลูกจ้างของบริษัท ในช่วงโควิด-19 TrackSol ร่วมกับสหภาพไรเดอร์ รณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยของไรเดอร์ ซึ่งเกิดจากความเร่งรีบส่งอาหาร การเปลี่ยนทัศนะคติของผู้บริโภคสามารถทำให้อุบัติเหตุลดลงได้[5]  

อินโดนิเชีย การขยายตัวของรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์รับจ้าง ภายใต้แอปพลิเคชั่นเรียกรถโดยสาร ขยายตัวอย่างรวดเร็วในอินโดนิเชียนับจากปี 2015 ก่อให้เกิดการรวมตัวของคนขับใน 2 รูปแบบคือ ชุมชนคนขับ (driver community) และสมาคมคนขับ (driver association) รูปแบบแรกเป็นการรวมกลุ่มของคนขับในย่านที่ทำงานเดียวกัน รูปแบบที่สองเป็นการรวมตัวกันของชุมชนคนขับหลายกลุ่ม เป็นเครือข่ายข้ามพื้นที่ ทั้งสองแบบมีจุดร่วมกันคือเป็นกลุ่มช่วยเหลือกันในการทำงาน เยียวยาอุบัติเหตุ ช่วยกันเมื่อกระทบกระทั่งกับคนขับรถรับจ้างระบบเดิม (ไม่ได้ใช้แอป) หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่กลุ่มแรก ยังคงรักษาสถานะเป็นองค์กรไม่เป็นทางการ กลุ่มแบบที่สอง ได้จดทะเบียนกับทางราชการ เพื่อให้มีสถานภาพทางกฎหมายรองรับ

ท่ามกลางองค์กรคนขับหลากหลายกลุ่ม มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของสหภาพแรงงาน แผนกการบินและการขนส่งแห่งสหพันธ์สหภาพแรงงานโลหะแห่งอินโดนีเซีย (The Aerospace and Transportation Workers division of the Federation of Indonesian Metal Workers’ Union (Serikat Pekerja Digantara dan Transportasi Federasi Serikat Pekerja Metal Indonesia, SPDT-FSPMI) ซึ่งมุ่งมั่นจะยกระดับสภาพการจ้าง สิทธิ และสวัสดิการของคนงานขนส่งทั้งมวล ในปี 2016 สมาพันธ์มีนโยบายสนับสนุนให้คนขับรถภายใต้แอปที่กำลังขยายตัว ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับแรงงานขนส่งอื่นๆ พยายามส่งเสริมให้กลุ่มคนขับยกระดับองค์กรเป็นสหภาพ และเข้าร่วมกับสหพันธ์     

ฝ่ายจัดตั้งของสมาพันธ์ ทำกิจกรรมเชิงกลยุทธ์หลายอย่างเพื่อสร้างความร่วมมือกับชุมชนและสมาคมคนขับ เช่น โครงการอำนวยความสะดวกการเข้าถึงการบริการสุขภาพของรัฐ โดยอาสาสมัครของสมาพันธ์ให้คำแนะนำเรื่องสิทธิที่ได้รับและช่วยให้เข้าถึงแก่สิทธิคนขับ โครงการสหกรณ์ออมทรัพย์สำหรับคนขับเพื่อใช้จ่ายในยามจำเป็น โครงการทำงานต่อเนื่องกับสมาชิกสหภาพ ที่ถูกกลั่นแกล้ง ปลดออกเลิกจ้าง จากงานประจำ แล้วหันมาเป็นคนขับใต้แอป โครงการส่งนักจัดตั้งไปทำงานร่วมกับชุมชนคนขับ เพื่อเข้าใจสถานการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

การริเริ่มได้ประสบความความสำเร็จขั้นต้น เมื่อ SPDT-FSPMI สามารถผลักดันให้ชุมชนคนขับในจังหวัด Riau จดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงาน แม้มีอุปสรรคจากกฎหมาย และการขัดขวางของบริษัทแพลตฟอร์ม แต่ในที่สุดสามารถจดทะเบียนสหภาพได้ โดยดำเนินตามเงื่อนไขบางประการ ในปี 2020 สหภาพไรเดอร์แห่งแรกได้เกิดขึ้น จากสมาชิกเริ่มต้น 300 คน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,700 คน เป็นคนขับจากหลายแอปพลิเคชั่น[6]

ยูกันดา เป็นประเทศในอัฟริกาตะวันออก สหภาพการขนส่งและคนงานในกิจการทั่วไปแห่งยูกันดา (Uganda’s Amalgamated Transport and General Workers’ Union, ATGWU) เคยมีสมาชิกสหภาพลดลงถึงขั้นวิกฤต เมื่อเกิดโครงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การขนส่งสาธารณะซึ่งดำเนินการโดยภาครัฐเป็นหลัก เปลี่ยนไปสู่การแข่งขันของภาคเอกชน สมาชิกสหภาพซึ่งเป็นคนงานขนส่งภาครัฐลดลง หันไปทำงานขับรถขนส่งผู้โดยสารซึ่งเป็นงานในเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ ในสถานการณ์นี้ ATGWU ได้ปรับตัวทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่เพื่อให้สหภาพยังคงความสำคัญ

ท่ามกลางการขนส่งสาธารณหลายระบบ รถแท็กซี่ และรถมอเตอร์ไซค์ส่งผู้โดยสาร เป็นการขนส่งที่สำคัญในตัวเมือง รถสาธารณะทั้งสองมีผู้ขับซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เช่ารถหรือรถมอเตอร์ไซค์ จากของซึ่งให้เช่ารถเป็นธุรกิจ โดยเสียค่าเช่ารายวัน โดยสภาพการทำงานเช่นนี้ คนขับรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์ส่งผู้โดยสาร มีสถานะเป็นแรงงานในภาคไม่เป็นทางการ แข่งขันกันสูง ไร้สิทธิและสวัสดิการ แท็กซี่และมอเตอร์ไซค์ส่งผู้โดยสาร ไม่เพียงเป็นอาชีพของคนจำนวนมาก แต่ทำให้เกิดอาชีพต่อเนื่อง เช่น พนักงานติดต่อลูกค้า ไกด์ทัวร์ คนยกกระเป๋า ช่างเครื่องยนต์ ปะยาง หุ้มเบาะ อะไหล่ยนต์ พนักงานล้างรถ คนขายโทรศัพท์ คนขายอาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ

ด้วยการถกเถียงกันอย่างหนัก กรรมการ ATGWU ตัดสินใจสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยรวมแรงงานภาคไม่เป็นทางการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพ แทนที่จะเปิดรับสมัครรายบุคคล ATGWU เชื้อเชิญกลุ่มและสมาคมแท็กซี่และรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างซึ่งมีอยู่ทั่วไป เข้าเป็นสมาชิกสหภาพ ในปี 2515 สมาคมใหญ่ของแท็กซี่ (The Kampala Operational Taxi Stages Association, KOTSA) และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (Kampala Metropolitan Boda-Boda Association, KAMBA) ซึ่งเป็นสองสมาคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้เข้าร่วมกับ ATGWU ทำให้มีสมาชิกสหภาพเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คน

การเข้าร่วมของสองสมาคมใหญ่ทำให้ต้องผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ การสัมมนาหลายครั้ง นำไปสู่การออกแบบกฎระเบียบ และโครงสร้างองค์กร เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยและธรรมภิบาลในองค์กร และทำให้องค์กรสามารถตอบสนองความต้องการของแรงงานทุกกลุ่ม สหภาพยุติการใช้คำว่า คนงานทางการ/ไม่เป็นทางการ (formal/informal) ไปใช้คำว่า คนงาน/สมาชิก (workers/members) สิ่งยืนยันความสำเร็จของสหภาพคือ ทำให้คนขับไม่ถูกถูกข่มขู่คุกคามจากจากหน้าที่ หรือผู้ให้เช่ารถ หรือมีปัญหาลดลง และลูกจ้างที่ทำงานในบริษัทได้รับการปฏิบัติที่ดีจากนายจ้าง มีความราบรื่นในการยื่นข้อเรียกร้องและการเจรจากับนายจ้างมากขึ้น

ในยุคดิจิทัล สหภาพปรับตัวด้วยการใช้ระบบออนไลน์ ในการรับสมัครสมาชิก และสื่อสารกับสมาชิก อีกด้านหนึ่ง ขณะที่กำลังมีการขยายตัวของคนขับภายใต้แอปเรียกรถโดยสารของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ซึ่งคนขับรถใต้แอปเผชิญกับงานที่ยากลำบาก ไร้สิทธิและสวัสดิการ สหภาพได้จัดทำแอปพลิเคชั่นเรียกรถโดยสาร เพื่อให้เป็นทางเลือก ซึ่งพบว่าได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ คือคนขับในแอปของบริษัทยอดนิยมคงที่หรือลดลง และที่มีผู้เข้ามาใช้แอปของสหภาพมากขึ้นเป็นลำดับ[7]

กรณีตัวอย่างที่กล่าวมา แสดงให้เห็นการปรับตัวของสหภาพ จากสหภาพตามแบบแผนเดิม ก้าวข้ามขอบเขตโรงงาน  อุตสาหกรรม สภาพการจ้าง ออกไปสู่การจัดตั้ง สนับสนุน สร้างแนวร่วม กับแรงงานกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าแรงงานภาคไม่เป็นทางการ แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานต่างชาติ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร การสนับสนุนบทบาทของผู้หญิง คนหนุ่มสาว คนต่างชาติในองค์กร รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม พรรคการเมือง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม

ในบทความนี้จะเห็นถึง ด้านหนึ่งคือการปรับตัวของสหภาพแรงงานดั้งเดิม อีกด้านหนึ่งคือการรวมตัวอย่างกระตือรือล้นของแรงงานแพลตฟอร์มเป็นองค์กรไม่เป็นทางการ การร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ช่วยปลุกความสำคัญของสหภาพ เป็นประโยชน์แก่แรงงานแพลตฟอร์ม และขบวนการแรงงานโดยรวม

แน่นอนว่า การปรับตัวของสหภาพ และการยกระดับองค์กรแรงงานแพลตฟอร์ม ย่อมขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและกฎหมายของประเทศ แต่บทเรียนที่กล่าวมา น่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาปรับใช้กับสหภาพดั้งเดิมและแรงงานแพลตฟอร์มไทย ซึ่งอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน.

 

อ้างอิง

[1]Visser, J.(2019a). Can unions revitalize themselves? International Journal of Labour Research; Geneva, 9.1/2: 17-48. น. 20-21

[2]เพิ่งอ้าง. น. 21-33.

[3]เพิ่งอ้าง และ ดู Visser, J. (2019b). Trade unions in the balance. Geneva, ILO.

[4]Basualdo, V., Dias, H., Herberg, M., Schmalz, S., Serrano, M., & Vandaele, K. (2021). Building Workers' Power in Digital Capitalism: Old and New Labour Struggles. Berlin: Friedrich-Ebert Stiftung.

[5]Yun A. (2020). Safety for the public, rights for the driver. South Korea’s transport workers campaign for safe rates. Berlin, Friedrich-Ebert Stiftung.

[6]Panimbang F., Arifin S., Riyadi S. and Septi Utami D. (2020) Resisting exploitation by algorithms. Drivers’ contestation of app-based transport in Indonesia. Berlin, Friedrich-Ebert-Stiftung.

[7]Manga E., Hamilton P. and Kisingu S. (2020) Riding on a union app. Uganda’s public transport workers’ digital response to platforms. Berlin, Friedrich-Ebert-Stiftung.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net