Skip to main content
sharethis

ทหารฝ่ายเผด็จการพม่าทั้งกองพันในรัฐกะยาแปรพักตร์ไปอยู่ข้างฝ่ายต่อต้าน กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเรนนี (KNDF) ทันที หลังจากที่ KNDF มีการบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มผู้บัญชาการของฝ่ายเผด็จการทหาร

 

2 ก.พ. 2567 กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเรนนี (KNDF) เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า หลังจากที่พวกเขาบรรลุข้อตกลงกับผู้บัญชาการกองพันฝ่ายเผด็จการในพื้นที่รัฐกะยา (กะเรนนี) ได้สำเร็จ ทางกองพันดังกล่าวนี้ก็พากันแปรพักตร์ทั้งกองทัพ และกลุ่มผู้แปรพักตร์เหล่านี้จะหันมารับใช้รัฐบาลปฏิวัติต่อต้านเผด็จการแทนโดยที่ยังคงได้รับตำแหน่งเดิมแบบเดียวกับตอนรับใช้เผด็จการทหาร

KNDF ระบุว่ากลุ่มปฏิวัติและกลุ่ม "รัฐบาลของประชาชน" จะเป็นฝ่ายคอยให้เบี้ยเลี้ยงพิเศษแก่ผู้ที่แปรพักตร์ โดยให้เป็นไปตามแผนแนวทางการแปรพักตร์ตามที่ร่างเอาไว้แล้ว นอกจากนี้ KNDF ยังเรียกร้องให้กองกำลังเผด็จการพม่าที่เหลือให้แปรพักตร์ด้วย

โฆษก KNDF กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าพวกเขา (กองกำลังเผด็จการพม่า) จะกำลังสละชีพตัวเองในการสู้รบ พวกเขาก็ไม่ได้รับกำลังเสริมหรือเสบียงใดๆ และบางครั้งพวกเขาก็ถูกยิงถล่มจากกองทหารของตัวเองที่อยู่ในแนวหลัง"

"ด้วยเหตุนี้เอง ทหารของกองทัพเผด็จการพม่าและผู้บัญชาการของกองกำลังต่างๆ จึงเริ่มเข้าใจสถานการณ์ว่าพวกเขาถูกบีบให้ต้องตายอย่างไร้ความหมาย" โฆษก KNDF กล่าว

โฆษกของ KNDF บอกว่า นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันถึงมีการหารือกันและการตกลงกันระหว่างกลุ่มต่อต้านกับผู้นำกองกำลังต่างๆ ของเผด็จการทหารที่วางกำลังอยู่ในรัฐกะยา (กะเรนนี) รวมถึงกับเจ้าหน้าทีกองพันฝ่ายเผด็จการที่อยู่ในรัฐดังกล่าว เพื่อให้พวกเขาทำการแปรพักตร์ ซึ่งทาง KNDF ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขว่ามีกองกำลัง กองพัน และผู้บัญชาการ รวมแล้วจำนวนเท่าไหร่ที่แปรพักตร์

"พวกเราจะไม่บังคับให้พวกเขา (ผู้แปรพักตร์) สู้รบกับเผด็จการทหาร พวกเขาจะมีอิสระที่จะเลือกได้ว่าพวกเขาจะต้องการสู้กลับ (ต่อเผด็จการทหาร) หรือไปอยู่กับครอบครัวของตัวเองอย่างสงบสุข พวกเราจะเคารพในความต้องการของพวกเขา พวกเราจะช่วยให้พวกเขาทำตามความฝันของตัวเองได้ รวมถึงการช่วยเหลือย้ายถิ่นฐานสำหรับผู้ต้องการออกนอกประเทศ" โฆษกของ KNDF กล่าว

ก่อนหน้านี้ KNDF เคยระบุไว้ในแถลงการณ์ว่าพวกเขาได้ออกมาตรการที่เข้มงวดให้มีการกำจัดกองกำลังฝ่ายเผด็จการทุกกองโดยสิ้นเชิงที่ก่ออาชญากรรมสงครามในรัฐกะเรนนี เช่น การสังหารหมู่ประชาชน การวางเพลิง และการทำลายบ้านเรือนพลเรือน

อย่างไรก็ตาม ทาง KNDF ก็ระบุในแถลงการณืว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามกฎหมายนานาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึก

การใช้กำลังอาวุธต่อต้านเผด็จการทหารพม่าในรัฐกะเรนนีเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564 สามเดือนหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด ในตอนนั้นกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวกะเรนนีเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มจับอาวุธขึ้นสู้รวมถึงอาวุธที่ทำขึ้นเองด้วย ในขณะที่กองทัพเผด็จการกำลังสังหารประชาชนหลายร้อยคนจากการปราบปรามการประท้วงต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติทั่วประเทศ

ในวันที่ 11 พ.ย. 2566 กลุ่ม KNDF ร่วมกับกลุ่มกองกำลังกะเรนนีอื่นๆ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) หลายกลุ่มร่วมกันปฏิบัติการรุกคืบต่อเป้าหมายที่เป็นกองทัพเผด็จการทหารทั่วรัฐกะเรนนี ในชื่อปฏิบัติการว่า "ปฏิบัติการ 1111"

นับตั้งแต่ที่มีปฏิบัติการดังกล่าวนี้ กลุ่มต่อต้านชาวกะเรนนีก็สามารถยึดฐานทัพของกองทัพเผด็จการพม่าได้หลายสิบแห่ง สังหารทหารของเผด็จการพม่าได้หลายร้อยนาย กลุ่มต่อต้านได้ทำการยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐกะเรนนีเอาไว้ได้ถึงแม้ว่าจะยังคงมีการสู้รบเกิดขึ้นในหลายส่วนของเมืองหลวงรัฐกะเรนนีคือ เมืองลอยก่อ

มีกองกำลังฝ่ายเผด็จการทหารหลายสิบกองในรัฐกะเรนนีที่ยอมแปรพักตร์มาอยู่ฝ่ายต่อต้านแล้ว

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Entire Military Battalions of Myanmar’s Junta Have Agreed to Defect in Karenni State: KNDF, The Irrawaddy, 25-01-2024

https://www.irrawaddy.com/news/war-against-the-junta/entire-military-battalions-of-myanmars-junta-have-agreed-to-defect-in-karenni-state-kndf.html

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net