Skip to main content
sharethis

นักวิชาการเตือนภาวะเงินฝืดจีนยืดเยื้อเกิน 6 เดือน กระทบเศรษฐกิจไทยและอาเซียน เร่งรัดพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-เขมร เชื่อมรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินสู่เวียดนาม

11 ก.พ. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มีการคาดการณ์ว่าภาวะเงินฝืดและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงของจีนมีโอกาสยืดเยื้อไปได้อีกเกิน 6 เดือนถึงหนึ่งปี และ ยุคสมัยของความรุ่งเรืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า 10% ของจีนได้จบลงแล้ว จีนอาจไม่ได้เผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยยาวนานเหมือนญี่ปุ่นเคยเผชิญเนื่องจากจีนมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจเข้มแข็งกว่า มีตลาดภายในใหญ่กว่า ตอบสนองต่อพลวัตปัญหาวิฤติฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการลงทุนได้เร็ว และยังมีความพร้อมทางด้านการคลังการเงินในการผ่อนคลายและอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แม้นหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ในสัดส่วนที่สูงก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินฝืดที่ค่อนข้างรุนแรงของจีน โดยมีอัตราเงินเฟ้อติดลบมาอย่างต่อเนื่อง อุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิต ทำให้อุปสงค์ภายในจีนที่ยังอ่อนแอไม่สามารถดูดซับได้ จึงมีการส่งออกสินค้าต่างๆในราคาถูกมากทุ่มตลาดมายังไทยและอาเซียน ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศของไทยและอาเซียน กดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและติดลบในบางประเทศ จีนส่งออกภาวะเงินฝืดผ่านการทุ่มตลาด การที่ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงต่อเนื่องได้เกิดสภาวะ ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคชะลอการซื้อเพราะคาดว่าราคาจะปรับลดลงอีก ผู้ผลิตชะลอการผลิตเพราะขายไม่ได้ราคา ภาวะเงินฝืดมักเกิดขึ้นเมื่อมีอุปทานสูง (มีส่วนเกินของผลผลิตมากจากการลงทุนส่วนเกินหรือลงทุนอย่างไม่ระมัดระวัง) มีอุปสงค์ต่ำ (การบริโภคลดลงมาก) หรือ อุปทานเงินลดลงและดอกเบี้ยสูง ภาวะเงินฝืดและเงินเฟ้อลดต่ำลงดังกล่าวยังเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ผลิตภาพของแรงงานและทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก การเปิดเสรีที่ทำให้การแข่งขันมากเกินไป ภาวะเงินฝืดเป็นภาวะเจ้าหนี้ได้ประโยชน์ ขณะที่ภาระหนี้แท้จริงของลูกหนี้เพิ่มขึ้น มูลค่าแท้จริงของหนี้สินสูงขึ้น และ เป็นภาวะที่คนที่ถือเงินสดได้ประโยชน์เพราะอาจเกิดโอกาสของการลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้มากขึ้น 

ดัชนีหุ้น CSI300 ของจีนปรับตัวลดลงแล้วไม่ต่ำกว่า 40% เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดในปี พ.ศ. 2564 ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตล้วนปรับตัวติดลบ ในส่วนของดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 16 เดือนติดต่อกัน ตัวเลขล่าสุดเดือนมกราคมดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลงติดลบ -2.5% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมกราคาติดลบเป็นเดือนที่สี่เหมือนประเทศไทย โดยจีนมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ -0.8% ไทยมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ -1.1% อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินฝืดและอัตราเงินเฟ้อติดลบในจีนนั้นย่ำแย่กว่าไทย แม้นติดลบต่อเนื่องสี่เดือนเหมือนกัน แต่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีที่แล้วของจีนติดลบ ขณะที่ไทยยังคงเป็นบวกอยู่ สถานการณ์เงินเฟ้อจีนติดลบจะส่งผลให้สินค้าราคาถูกมากหลากหลายชนิดทะลักเข้าตลาดไทยและอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจการขนาดย่อมและขนาดเล็กที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนต้องออกจากตลาดไป  

ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าการเจรจาทางเศรษฐกิจ การทำข้อตกลงเศรษฐกิจและการทำความร่วมมือด้านต่างๆระหว่างไทยกับกัมพูชาจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน การขยายตัวตามแนวชายแดนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนมากขึ้น ความสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศจะนำมาสู่การเจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเพื่อสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ให้กับทั้งสองประเทศ การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชาเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการกับมาเลเซียจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของประเทศในอนาคต สามารถลดราคาพลังงานได้ในระยะยาว ลดต้นทุนภาคการผลิตและการดำเนินชีวิตของประชาชน สามารถทดแทนการนำเข้าพลังงาน ส่งผลบวกต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน หากไม่ตัดสินใจดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน Overlapping Claims Area ตอนนี้แล้ว มูลค่าทรัพยากรพลังงานที่ได้จากพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวจะลดมูลค่าลงไปเรื่อย ๆ ในช่วงสามทศวรรษข้างหน้า จนกระทั่งในที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนเหล่านี้อาจไม่คุ้มทุนที่จะสำรวจขึ้นมาใช้ ตนจึงขอเสนอให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. เสนอให้มีการทำบันทึกความเข้าใจเฉพาะเรื่องการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชาเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยแยกเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในเรื่องเขตแดนที่ยังตกลงกันไม่ได้ออกไปก่อน 2. จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศ (ไทยและกัมพูชา) ในการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน 3. เสนอให้มีการจัดจ้างบริษัทเชี่ยวชาญระดับโลกทำการสำรวจทางธรณีวิทยาเพื่อยืนยันศักยภาพทางด้านทรัพยากรปิโตรเลียมของพื้นที่ทับซ้อน 4. เริ่มต้นทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2570-2572 เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานและราคาพลังงานถูกลงซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศ 

โลกจะเผชิญวิกฤติภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นตามลำดับ การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกรุนแรงขึ้น และ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีพลังงาน ความก้าวหน้าของพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะเข้ามาแทนที่พลังงานปิโตรเลียมในอัตราเร่งเพื่อบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนให้ดีขึ้น อุปสงค์ต่อพลังฟอสซิลแบบดั้งเดิมจะลดลงอย่างมากในอัตราเร่งในทศวรรษหน้า เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนของข้อตกลงระดับโลกต่างๆ จะทำให้ แหล่งพลังงานดั้งเดิม ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน มีมูลค่าลดลง หากไม่สำรวจและขุดมาใช้ในเวลาที่เหมาะสมจะเกิดการสูญเสียโอกาสการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ความคุ้มค่าต่อการลงทุนพัฒนาโครงการจะลดลงตามลำดับ ภัยคุกคามต่อมนุษยชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อพลวัตของธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงขอเสนอให้ใช้ Green New Deal แก้วิกฤติโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ระบบการใช้พลังงาน จากข้อมูลของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) บ่งชี้ตรงกันว่า โลกมีเวลาอีกเพียง 10 กว่าปีเท่านั้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกมีแนวโน้มเกินขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีฐานในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมโดยเกิดขึ้นตลอดทั้งปีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ถึงมกราคม 2567 ความร่วมมือเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์อย่างแท้จริงนั้นเร่งด่วนกว่าที่เคยเป็นมา ทุกเศษเสี้ยวของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นคือสภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงมากขึ้นและระดับน้ําทะเลที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน สรรพชีวิตบนโลกและการสูญพันธุ์ของสัตว์และพืช รวมทั้ง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ  ผลกระทบที่รุนแรงกว่าจะตกอยู่กับครัวเรือนยากจนและประเทศยากจนที่มีความสามารถน้อยที่สุดในการป้องกันตนเองจากระดับทะเลที่สูงขึ้น การแพร่กระจายของเชื้อโรค และ ภาวะขาดแคลนอาหารจากผลผลิตภาคเกษตรลดต่ำลงมาก

ดร.อนุสรณ์ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติม ว่า ควรจะพลักดันให้เกิดโครงการลงทุนเชื่อมโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินผ่านกัมพูชาสู่เวียดนาม ด้วย รวมทั้ง พัฒนาศูนย์วิจัยและนวัตกรรม สถาบันการศึกษาชั้นสูง การพัฒนาและยกระดับท่าเรือน้ำลึกที่มีอยู่แล้วตามระเบียงเศรษฐกิจจากตะวันตกสู่ตะวันออก สิ่งเหล่านี้จะเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค และทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี ยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่มีสภาวะแวดล้อมรองรับอุตสาหกรรม 4.0 และ อุตสาหกรรม New S-Curve ได้ดียิ่งขึ้น                         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net