Skip to main content
sharethis

"พวงทอง" ฝากถึงคนเดือนตุลาฯ ในรัฐบาลถ้าไม่เกิดการประนีประนอมทางการเมืองในทศวรรษ 2520 พวกเขาคงไม่มีอนาคตทางการเมืองอย่างทุกวันนี้ ขอให้ใช้สิ่งที่ตัวเองเคยได้เป็นแบบอย่างในการคืนอิสรภาพแก่ประชาชนและเยาวชนในวันนี้ และหากยังปรักปรำขบวนการเคลื่อนไหวต่อไปอาจซ้ำรอย 6 ตุลาฯ

14 ก.พ.2567 ที่ลานประชาชน หน้ารัฐสภา เกียกกายในงาน “ส่งรักถึงสภา นิรโทษกรรมประชาชน” งานปิดการรณรงค์ล่ารายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน  มีเสวนา “ปัญหาการดำเนินคดีทางการเมือง” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิฆเนศ ประวัง เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  และพิชชา เกตุอุดม ตัวแทนบ้านเก็ท-โสภณ

พิฆเนศ ประวัง

พิฆเนศ ประวัง เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มจากกล่าวถึงสถานการณ์การดำเนินคดีในขณะนี้ว่าที่วันนี้ตนต้องมาขี้นเวทีแทนทนายความอีกคนเนื่องจากช่วงสองวันที่ผ่านมามีคนถูกจับกุมดำเนินคดีและช่วยเหลือทานตะวัน ตัวตุลานนท์ แฟรงค์ แล้วก็สายน้ำอยู่ทำให้ไม่สามารถมาร่วมเสวนาวันนี้ได้และทำให้เขาต้องมาขึ้นเวทีแทนกันหลังจากเพิ่งทราบว่าทนายความไม่สามารถมาได้เพียงไม่กี่นาที  

ส่วนเรื่องจำนวนคดีต่างๆ ตั้งแต่ 2557 ที่ศูนย์ทนายความฯ เก็บข้อมูลไว้คดียุค คสช.เช่นฝ่าฝืนประกาศคำสั่งต่างๆ ก็หมดไปแล้ว แต่คดีส่วนใหญ่ที่ยังเหลืออยู่ก็คือคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วก้คดีม.112 มีจำนวนร่วมกันมากกว่าพันคดี โดยที่อัตรากำลังทนายความของศูนย์ทนายความฯ มีอยู่แค่ 8-9 คน ที่เหลือก็เป็นทนายความอาสา 30-40 คนที่ช่วยกันอยู่

พิฆเนศกล่าวว่าเขาก็หวังให้ร่างกฎหมายได้รับการพิจารณาในสภาโดยรวมทุกคนทุกฝ่ายเข้าไปทั้งหมด ถ้าจะพูดเรื่องปรองดองการร่วมทุกความผิดที่คุยกันว่าเป็นความผิดทางการเมืองก็หวังว่ากฎหมายจะออกมาโดยรวมทุกคนเข้าไปด้วย

พิชชา เกตุอุดม

พิชชา เกตุอุดม การนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งกระบวนการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของการเยียวยาและไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่ต้องได้รับการเยียวยาจิตใจและได้รับการชดเชย แต่รวมไปถึงคนแวดล้อมของคนโดนดำเนินคดี

พิชชาเล่าทั้งน้ำตาว่า คนรอบตัวเหล่านี้จิตใจก็ถูกขังไปพร้อมกับผู้ที่ถูกคุมขังในเรือนจำไปด้วย เช่นเธอเองที่ไม่กล้าไปเที่ยวที่ไหนที่เคยให้สัญญากับเก็ทไว้เพราะกลัวที่จะเห็นภาพของเก็ทในทุกที่และเหมือนกับเวลาของเธอและครอบครัวของเก็ทก็ถูกหยุดเอาไว้

เพื่อนของเก็ทกล่าวอีกว่า การที่มีพรรคการเมืองบางพรรคบอกว่ามาตรา 112 ไม่ใช่คดีทางการเมือง ไม่สามารถเอามารวมกับการนิรโทษกรรมได้ แต่จะเห็นว่าคดีข้อหานี้ผู้แจ้งก็คือประชาชนด้วยกันแจ้งความเพราะความไม่พอใจผู้เห็นต่างทางการเมือง แล้วจะบอกว่าไม่ใช่คดีทางการเมืองได้อย่างไร เพราะคนแจ้งก็คือคนที่เห็นต่างทางการเมือง

พิชชาหวังว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นก้าวแรกในการคืนความยุติธรรมให้ทุกคน และหวังว่าจะเกิดกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านต่อไปหลังจากนิรโทษกรรมแล้วก็ควรจะต้องมีการปฏิรูปองค์กรในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงต้องนำคนผิดมาลงโทษและคืนความจริง เพราะที่ผ่านมาที่เกิดการชุมนุมทางการเมืองคนที่กระทำความรุนแรงกลับไม่เคยต้องมารับผิดและการลงโทษ นอกจากนั้นการเยียวยาก็ต้องให้แก่คนทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย

เพื่อนเก็ทกล่าวถึงความคาดหวังระยะสั้นของเธอด้วยว่าพรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่รวมคดีมาตรา 112 เข้าไปด้วย

พวงทอง ภวัครพันธุ์

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นการรวมคดีนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาทั้งเสื้อแดงปี 53 คดีเผา คดีม.112 และม.116 บางคนอาจจะติดคุกมานานจนโทษสิ้นสุดไปแล้ว คนเหล่านี้ก็ยังไม่ได้หลุดพ้นจากการถูกจองจำ เพราะเป็นเช่นที่พิชชากล่าวไปที่คนที่เคยถูกคุมขังและคนรอบตัวก็ยังถูกคุมขังไปด้วยทำให้ทุกคนรู้สึกถูกจองจำกับความทุกข์เหล่านี้ และคนเหล่านี้ก็ยังมีประวัติอาชญากรรมติดตัวพวกเขาไปด้วยทำให้ไม่สามารถหางานทำได้อย่างปกติ เช่นงานราชการ แล้วบางทีบริษัทห้างร้านก็จะถามว่าเคยติดคุกหรือถูกลงโทษอาญามาก่อนหรือไม่ ซึ่งรวมไปถึงคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินและคดีความมั่นคงต่างๆ ไปจนถึงงานไรเดอร์ต่างๆ ซึ่งก็ประสบพบเจอคนที่ต้องประสบปัญหาเหล่านี้มาเป็นสิบปีแล้วเคยเจอกับนักศึกษาปริญญาโท ธรรมศาสตร์ที่ไม่สามารถสมัครอาจารย์ได้เพราะเคยโดนคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปี 2553

จากข้อมูลของ ศปช. คนที่โดนคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเป็นพันคน แล้วบางที่ศาลก็ตัดสินพิพากษาเสร็จในวันเดียวโดยไม่มีหลักฐานเลย ตำรวจก็ส่งฟ้องไป บางคนถูกตัดสินจำคุก 3 เดือน 6 เดือน แม้จะรอลงอาญาก็ยังมีตราบาปติดตัวพวกเขาต่อไป จึงต้อช่วยจัดการลบประวัติให้พวกเขาด้วยเพราะพวกเขาไม่ทำอะไรที่จะไปสั่นคลอนอำนาจรัฐ แต่รัฐกลับใช้อำนาจกำลังอาวุธและกฎหมายมาปราบปรามผู้คนในปี 2553 และถ้ารัฐมั่นคงมากก็คงไม่เกิดการรัฐประหารในปี 2557 นอกจากนั้นคนที่โดนคดีจำนวนมากก็เป็นคนเสื้อแดง

อย่างไรก็ตาม นอกจากคนเสื้อแดงแล้วก็ยังมีคนเสื้อเหลืองก้ยังมีคดีความจำนวนมาก แต่ก็รู้กันอยู่ว่าแกนนำเสื้อเหลืองที่จะได้รับประโยชน์จากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้คดีความไม่สิ้นสุดสักทีแล้วก็โอกาสที่จะติดคุกก็ยาก ส่วนที่ติดคุกไปแล้วกลับเป็นระดับมวลชนของคนเสื้อเหลือง แต่เขาก็ต้องการให้ล้างประวัติเหล่านี้ไปด้วยเพราะการมีประวัติอาชญากรรมก็ทำให้ทำธุรกรรมบางอย่างไม่ได้หรือมีปัญหาในการเดินทางไปต่างประเทศ

แต่เรื่องที่ทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนหรือของพรรคก้าวไกลเจอปัญหาคือการที่มีเรื่องมาตรา 112 รวมอยู่ด้วย แม้ในสายตาของเธอจะมองว่าคดีมาตรา 112 ไม่ได้ร้ายแรงอะไรเพราะไม่ได้ทำให้เกิดความสูญเสียหรือเกิดการทำร้ายร่างกายใคร แต่ในสายตาของรัฐหรือฝ่ายขวากลับเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ไม่สามารถประนีประนอมได้สำหรับพวกเขา เพราะความแตกต่างทางความคิดของอีกฝ่ายที่เสนอมาได้ไปทำหลายฐานความชอบธรรมและสั่นคลอนระบอบของพวกเขาในระยะยาว

“พวกเขารู้ว่า 112 มันไม่ฆ่าใคร เขารู้แน่ๆ เขารู้ว่าเป็นอาชญากรรมทางความคิด เขารู้ว่าเป็นคดีทางการเมือง แต่เขาไม่สามารถยอมรับได้ เพราถ้าเขายอมรับเขาต้องยอมให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีพื้นที่ในการแสดงออก แต่ยิ่งคุณแสดงความคิดเท่าไหร่มันยิ่งทำลายความชอบธรรมของพวกเขามากยิ่งขึ้น นี่ต่างหากคืออันตรายและรัฐไทยยอมรับไม่ได้” พวงทองกล่าว

อาจารย์รัฐศาสตร์กล่าวต่อว่า รัฐไทยจึงต้องปราบปราม คุมขัง ไล่ล่าคนที่ลี้ภัยออกไปแล้ว ไปจนถึงการปฏิเสธการนิรโทษกรรมให้ ถ้าหากต้องการเป็นอิสระก็ต้องขอโทษยอมรับผิด ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ใช่การประนีประนอม แต่เป็นการบอกให้ยอมรับว่าแพ้และยอมรับว่าทำผิด

พวงทองกล่าวถึงข้อเรียกร้องของเธอถึงพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยและเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ว่าขอให้กลับมามีสติและมีความกล้าหาญมากกกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแต่หาทางเอาตัวรอดอยู่ในอำนาจ 2-3 วันที่ผ่านมาคนก็ยังพูดถึงกรณี 6 ตุลาฯ กันมากเพราะรู้สึกว่าบรรยากาศใกล้เคียงกัน แม้ว่าเธอเองจะไม่ได้คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นในเร็ววันนี้ แต่สิ่งที่เห็นอยู่ตอนนี้คือมีบรรยากาศของความหวาดกลัวเกิดขึ้น

“เวลาที่คนพูดถึง 6 ตุลาฯ คือความกลัวว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่ภาวะที่มันอึมครึม มืด แล้วก็มีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นทุกทีหรือไม่” พวงทองกล่าวถึงความกลัวที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ขบวนเสด็จและบรรดาแกนนำรวมถึงผู้สนับสนุนของอีกฝ่ายที่พยายามกล่าวหาปรักปรำกระบวนการประชาธิปไตย ขบวนการเยาวชน รวมถึงพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามด้วยว่าเป็นพวกสุดโต่ง และยังปรักปรำว่ามีคนอยากให้เกิด 6 ตุลาฯ ก็คือพรรคก้าวไกลที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของเยาวชนไปจนถึงอยากให้เกิดการปราบปรามเพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมืองให้กับตัวเอง แล้วไม่เพียงแค่ผู้สนับสนุนที่กล่าวปรักปรำแต่ภูมิธรรม เวชชยชัย ก็ยังกล่าวหาว่าขบวนการเยาวชนมีคนอยู่เบื้องหลังด้วยเช่นกัน

“เราคงไม่เกิด 6 ตุลาฯ ในระยะอันใกล้ แต่การพูดแบบนี้คือการปูทางไปสู่การปราบปรามจับกุมประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ พวกคุณนี่แหละที่สร้างนิยายสมคบคิดขึ้นมา เพื่อมาปรักปรำฝ่ายที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ปูทางไปสู่การจับกุมประชาชนอีก การพูดเช่นนี้เหมือนสนับสนุนให้เกิดการยุบพรรคก้าวไกลในระยะอันใกล้ใช่หรือไม่ การพูดเช่นนี้คือการสร้างความชอบธรรมให้พรรคเพื่อไทยที่จะไม่ต้องสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มีมาตรา 112 ด้วยใช่หรือไม่”  พวงทองตั้งคำถามและสะท้อนว่าการพูดปรักปรำแบบนี้ไม่ได้ต่างกับกลุ่มขวาจัดทำกับประชาชนก่อน 6 ตุลาฯ

พวงทองได้เล่าถึงการกล่าวหาปรักปรำที่เกิดขึ้นในยุค 6 ตุลาฯ ว่าเหตุการณ์ในเวลานั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รู้สึกไม่ปลอดภัยจนต้องเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 6 ต.ค.2519 แต่ก็ยังต้องเจอมีกลุ่มอันธพาลทางการเมืองที่มุ่งไปทำร้ายถึงสนามบินดอนเมือง เธอจึงอยากฝากถึงคนเดือนตุลาฯ ในพรรคเพื่อไทยและมีอำนาจในรัฐบาลขณะนี้อย่างเช่น ภูมิธรรม, พรหมมินทร์ ไปจนถึงสุรพงษ์ สืบวงศ์ลีว่าอย่าลืมประวัติศาสตร์ของพวกเขาเองในปี 2519 ที่ต้องเข้าป่าจับอาวุธสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพราะพวกเขาเองก็เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกสุดโต่ง ล้มเจ้า ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มาก่อน และหากไม่เกิดการประนีประนอมกันทางการเมืองในช่วงต้นทศวรรษ 2520 พวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้มีอนาคตทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้

“ถ้าไม่มีการประนีประนอมทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2520-2530 ประเทศไทยก็จะสูญเสียบุคลากรที่มีค่าต่อสังคมจำนวนมาก ทำไมคุณไม่ใช้สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณเมื่อปี 2521 เป็นต้นมา เป็นแบบอย่างในการคืนอิสรภาพ เสรีภาพให้กับคนรุ่นหลังบ้าง พวกคุณจำไม่ได้เหรอว่าปี 2519 พวกคุณก็เป็นเยาวชนที่มีความฝันมีความหวังที่จะทำให้สังคมไทยดีขึ้น เยาวชนที่ติดคุกมีคดีความอยู่ในขณะนี้ก็เป็นแบบเดียวกับพวกคุณ” พวงทองย้ำถึงการประนีประนอมทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้น

“หากพวกคุณปฏิเสธที่จะมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมแบบนี้ ดิฉันสงสัยจริงๆ ว่าเวลาพวกคุณจัดงานรำลึก 6 ตุลาฯ คุณจัดด้วยจิตวิญญาณแบบไหน คุณจะคิดถึงเพื่อนที่ตายไปด้วยเหตุผลยังไง พวกเขาสมควรที่จะถูกฆ่าแล้วเพราะเคยเป็นพวกล้มเจ้า เป็นพวกสุดโต่งหรือเปล่า หรือนั่นคือความยุติธรรม ถ้าคุณคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2519 คือความยุติธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือความยุติธรรมด้วยเหมือนกัน” พวงทองฝากทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net