Skip to main content
sharethis
  • มกราคม - มีนาคม ของปี 2567 มีผู้ถูกคุมขังคดีการเมืองอย่างน้อย 42 คน เป็นผู้ต้องขังระหว่างสู้คดีอย่างน้อย 27 คน คดีถึงที่สุดอย่างน้อย 13 คน และมีผู้อดอาหารประท้วงในเรือนจำถึง 4 คน ได้แก่ เนติพร ทานตะวัน ณัฐนนท์ และมงคล
  • ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 - ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้ร่างกายประท้วงไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง เหตุต้านรัฐประหาร ค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เรียกร้องสิทธิประกันตัว และอดพร้อมคนที่ถูกคุมขังในเรือนจำ
  • ในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ปี 2564 ได้มีนักกิจกรรมหลายคนถูกคุมขังและเลือกใช้วิธีการอดอาหารประท้วงในเรือนจำเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว คือ ‘เพนกวิน และ รุ้ง’ หลังจากนั้นจึงมีการประท้วงอดอาหารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • ‘เพราะร่างกายเป็นเครื่องมือต่อสู้เดียวที่เหลืออยู่ในเรือนจำ’ เปิดเหตุผลการเลือกใช้วิธีอดอาหารของนักกิจกรรมตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
  • นักวิชาการ-ทนาย-นักกิจกรรม เสนอ ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-นิรโทษกรรมประชาชน’ ทางออกของการอดอาหารประท้วงในเรือนจำ ไม่ควรมีใครต้องใช้ร่างกายเรียกร้องสิทธิที่ตนควรได้รับตั้งแต่แรก

มกราคม - มีนาคม ของปี 2567 มีนักกิจกรรมถูกคุมขังในเรือนจำและอดอาหารประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิการประกันตัวถึง 4 คน ได้แก่ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ แฟรงค์-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร และ บัสบาส-มงคล ถิระโคตร

ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2567 เนติพรนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกสั่งถอนประกันในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ และมีคำสั่งลงโทษจำคุก 1 เดือน คดีละเมิดอำนาจศาลในวันเดียวกัน เนติพรตัดสินใจไม่ยื่นประกันหลังฟังคำสั่งทั้ง 2 คดี ทำให้ถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานหญิงกลางในเย็นวันดังกล่าว จากนั้น เนติพรได้ตัดสินใจอดน้ำ-อาหาร  (Dry Hunger Strike) ประท้วงศาลตั้งแต่เย็นวันที่ 27 ม.ค. 2567 และเปลี่ยนมาอดอาหาร และจิบน้ำปริมาณจำกัดเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2567 ถึงปัจจุบัน (14 มี.ค. 2567)

14 ก.พ. 2567 ทานตะวันและณัฐนนท์ได้ถูกคุมขังในคดีอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีที่ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์บีบแตรใส่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 และได้ตัดสินใจน้ำ-อาหารประท้วงในระหว่างการถูกฝากขังนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ปัจจุบัน (6 มี.ค. 2567) ทานตะวันถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และณัฐนนท์ได้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

ขณะที่เรือนจำกลางเชียงรายก็มีนักกิจกรรมอดอาหารประท้วงอีก 1 ราย คือ มงคล ถิระโคตร ซึ่งถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำคุก 50 ปี ในคดีมาตรา 112 จากเหตุโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 25 ข้อความ และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา ทำให้เขาถูกคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงรายมาตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2567 หลังยื่นประกันตัว 2 ครั้งและไม่มีคำสั่งให้ประกันตัว มงคลจึงตัดสินใจอดอาหารตั้งแต่ 27 ก.พ. 2567 และมีความตั้งใจจะอดน้ำ-อาหารตั้งแต่ 7 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป

โดยทั้ง 4 คน มีข้อเรียกร้องในการใช้ร่างกายประท้วงคล้ายกัน คือ การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องไม่มีใครถูกขังเพราะเห็นต่างทางการเมืองหรือการเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังคดีทางการเมือง โดยมีข้อเรียกร้องเพิ่มจากทานตะวันและณัฐนนท์ คือ ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

รวมการอดอาหาร-น้ำ-ฝืนตื่น และใช้ร่างกายประท้วงรัฐ ตั้งแต่รัฐประหาร 2549

ปี

ชื่อ

เหตุ

ประเภท

วันที่

จำนวนวัน

2549

ฉลาด วรฉัตร

รัฐประหาร

อดอาหาร

ไม่ระบุ

ไม่ระบุ

2557

ฉลาด วรฉัตร

รัฐประหาร

อดอาหาร

23/5/2557 - 6/7/2557

45

2558

ประสิทธิชัย หนูนวล

ค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้า

อดอาหาร

10/7/2558 - 24/7/2558

14

 

อัครเดช ฉากจินดา

อดอาหาร

2559

วิชาญ ภูวิหาร 

ค้านประชามติและการจับกุม

อดอาหาร

28/7/2559 - 8/8/2559

12

 

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

ค้านประชามติและการจับกุม

อดอาหาร

31/7/2559 - 19/8/2559

12

2560

ประเวศ ประภานุกูลกิจ

การจำกัดสิทธิของเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่อนุญาตให้ติดต่อบุคคลภายนอกระหว่างถูกจับกุม

อดอาหาร

29/4/2560 - 30/4/2560

2

2561

เครือข่ายปกป้องสองฝั่งเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน 63 คน

ค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้า

อดอาหาร

12/2/2561 - 20/2/2561

8

2562

เอกราช อุดมอำนวย

การเลื่อนเลือกตั้ง

อดอาหาร

11/1/2562 - 14/1/2562

3

 

ณราชัย รังโปดก

การเลื่อนเลือกตั้ง

อดอาหาร

15/1/2562

1

2564

พริษฐ์ ชิวารักษ์

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

15/3/2564 - 11/5/2564

58

พรหมศร วีระธรรมจารี

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

18/3/2564 - 5/4/2564

18

พรชัย (สงวนนามสกุล)

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหารและน้ำ

26/3/2564 - 29/3/2564

4

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

31/3/2564 - 6/5/2564

37

มงคล ถิระโคตร

อดพร้อมเพื่อน

อดอาหาร

12/4/2564 - 14/4/2564

3

สมณะดาวดิน

อดพร้อมเพื่อน

อดอาหาร

14/4/2564 - 21/4/2564

8

“ป้าเป้า” วรวรรณ

อดพร้อมเพื่อน

อดอาหาร

22/4/2564 - 29/4/2564

8

ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

24/4/2564 - 15/5/2564

22

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

อดพร้อมเพื่อน

อดอาหาร

26/4/2564 - 6/5/2564

11

พรหมศร วีระธรรมจารี

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

26/4/2564 - 10/5/2564

14

พัชณีย์ คำหนัก

อดพร้อมเพื่อน

อดอาหาร

2/5/2564 - 6/5/2564

5

ณัฐพล โชคสวัสดิ์ 

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

6/5/2564 - 12/5/2564

6

วรรณวลี ธรรมสัตยา

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

3/5/2564 - 7/5/2564

5

สิริชัย นาถึง

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

15/8/2564 - 23/8/2564

9

แซม สาแมท

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

15/8/2564 - 23/8/2564

9

พรหมศร วีระธรรมจารี

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

15/8/2564 - 23/8/2564

9

2565

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

20/4/2565 - 26/5/2565

37

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

5/5/2565- 24/5/2565

20

เนติพร เสน่ห์สังคม

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

2/6/2565 - 4/8/2565

64

ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

2/6/2565 - 4/8/2565

64

แซม สาแมท

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

17/6/2565 - 22/6/2565

6

ธีรวิทย์

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

18/6/2565 - 26/7/2565

39

ใบบุญ

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

กรีดแขน

25/6/2565

 

พุฒิพงศ์

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

กรีดแขน

25/6/2565

 

ศศลักษณ์

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

9/9/2565 - 13/9/2565

5

ใบบุญ

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

9/9/2565 - 13/9/2565

5

2566

สิทธิโชค เศรษฐเศวต

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

17/1/2566

 

อดอาหาร-น้ำ

26/1/2566

 

ฝืนตื่น

8/2/2566 - 10/2/2566

16

อรวรรณ ภู่พงษ์

เพื่อประท้วงความอยุติธรรม และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังคดีทางการเมือง

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร-น้ำ

18/1/2566 - 11/3/2566

52

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์

อดอาหาร-น้ำ

18/1/2566 - 11/3/2566

52

มงคล ถิระโคตร

อดพร้อมเพื่อน

อดอาหาร

31/1/2566

ไม่ระบุ

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

ฝืนตื่น

7/2/2566 - 20/2/2566

14

จตุพล

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

ฝืนตื่น

7/2/2566 - 13/2/2566

5-7

ณัฐพล

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

ฝืนตื่น

7/2/2566 - 13/2/2566

5-7

คทาธร

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

7/2/2566 - 

ไม่ระบุ

วารุณี

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

21/8/2566 - 6/10/2566

46

เวหา

เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

อดอาหาร

23/8/2566 - 10/10/2566

49

2567

เนติพร เสน่ห์สังคม

เพื่อประท้วงความอยุติธรรม และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังคดีทางการเมือง

อดอาหาร-น้ำ

27/1/2567

 

ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร

อดอาหาร-น้ำ

14/2/2567

 

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์

อดอาหาร-น้ำ

14/2/2567

 

มงคล ถิระโคตร

อดอาหาร

27/2/2567

 
 เพื่อประท้วงความอยุติธรรม และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังคดีทางการเมือง

อดอาหาร-น้ำ

13/3/2567

 

 

ในวันที่รัฐไม่ฟังเสียงประชาชน การใช้ร่างกายต่อสู้จึงเป็นทางออก? 

20140605ฉลาด วรฉัตรภาพ ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วงการรัฐประหาร 2557

หากย้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไทย การหาว่าใครคือผู้ริเริ่มใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือในการประท้วงผู้มีอำนาจนั้นอาจเป็นเรื่องที่หาได้ยาก แต่มีหนึ่งบุคคลที่กลายเป็นที่รู้จักจากการอดอาหารประท้วงเกือบทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง คือ ฉลาด วรฉัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้วในวัย 78 ปี เมื่อ 14 ธ.ค. 2564 โดยในช่วงชีวิตของฉลาดได้ใช้วิธีการอดอาหารประท้วงต่อรัฐอย่างน้อย 6 ครั้ง โดย 5 ครั้ง เป็นการอดอาหารเพื่อคัดค้านการใช้อำนาจแทรกแซงรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เช่น การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ชอบธรรมของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร เมื่อปี 2535 หรือการรัฐประหารปี 2549 และ 2557

  • พ.ศ. 2523 ฉลาดได้เลือกใช้การอดอาหารประท้วงครั้งแรกเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประชุมสภาวิสามัญชี้แจงเหตุผลในการกักตุนน้ำมัน
  • พ.ศ. 2526 ฉลาดอดอาหารเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่ให้ข้าราชการประจำสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเชื่อว่าในนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง 
  • 8 เม.ย. 2535 อดีต สส.พรรค ปชป. เป็นคนแรกที่ประกาศอดข้าวประท้วงบริเวณหน้ารัฐสภาเพื่อประท้วงรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม หลัง พล.อ.สุจินดา คราประยูร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นได้มี พลตรีจำลอง ศรีเมือง มาร่วมอดอาหารด้วย ก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
  • พ.ศ. 2537 อดอาหารประท้วงปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารเป็นเวลา 49 วัน นำสู่การถกเถียงเพื่อหาทางออกจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักวิชาการ สื่อมวลชนและภาคประชาสังคม มีการเริ่มปฏิรูปการเมืองเป็นรัฐธรรมนูญ 2540
  • พ.ศ. 2549 เกิดรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ฉลาดจึงอดอาหารเพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการยึดอำนาจ
  • 23 พ.ค. - 6 ก.ค. 2557 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ และการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉลาดได้อดอาหารเพื่อต่อต้านการใช้กฎอัยการศึก แต่สุดท้ายเขาต้องยุติการอดอาหารใน 45 วัน เนื่องจากเหตุผลด้านสุขภาพ

จากบทความ ‘อ่านเหตุการณ์การเมืองยุค คสช. ผ่านการอดอาหารประท้วง’ โดย iLaw รายงานว่า นอกจากฉลาดที่ใช้การอดอาหารเป็นเครื่องมือในการประท้วงหลังการรัฐประหาร 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. นั้น ยังมีประชาชนไม่น้อยกว่า 71 ราย เลือกใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหรือการร้องขอเรื่องทั่วไป เช่น การแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ การกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน การยืนยันในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เป็นต้น

 ความพยายามทั้งหมดที่เราได้ทำแต่ถูกเพิกเฉยจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และกระทรวงพลังงานในทุกรัฐบาล วันนี้เราหมดหนทางจากการได้ใช้วิธีการทั้งมวลแล้ว จึงได้แต่เอาชีวิตและความทุกข์ยากทั้งมวลมาแลกกับทะเลอันสวยงามของอันดามัน แลกกับชีวิตคนอันดามันนับล้านคนที่จะถูกทำลายโดยมลพิษถ่านหิน แลกกับธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องอีกนับ 100 ธุรกิจ แลกกับความรับผิดชอบที่เราพึงมีต่อโลกใบนี้โดยจะไม่สร้างมลพิษเพิ่มตามคำร้องขอของสหประชาชาติ เราขออดอาหารจนกว่านายกรัฐมนตรีจะยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

 

คมชัดลึกรายงานที่มาของการตัดสินใจอดอาหารประท้วงของ ประสิทธิชัย หนูนวล และ อัครเดช ฉากจินดา เมื่อ 9 ส.ค. 2558

การเลือกตั้ง 2562 ไม่ได้ทำให้ความตึงเครียดทางสถานการณ์การเมืองไทยลดลงแต่อย่างใด เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองระลอกใหม่ ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ การระบาดของไวรัสโควิด-19 การหายตัวไปของ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ เหตุการณ์เหล่านี้นำสู่การชุมนุมใหญ่ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในช่วงปี 2563 หรือที่รู้จักกันในนาม ‘คณะราษฎร 2563’

การชุมนุมระยะแรกเป็นไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ยุบสภาผู้แทนราษฎร การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการหยุดคุกคามประชาชน จากนั้น 3 ส.ค. 2563 อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การขยายพระราชอำนาจและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำสู่การประกาศ 10 ข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 10 ส.ค. 2563

19 พ.ย. 2563 ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราเอาผิดกับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มาตรา 112 ถูกนำกลับมาบังคับใช้และทำให้มีประชาชนถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  จากการติดตามของศูนย์ทนายความฯ ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 - 13 มี.ค. 2567 พบว่ามีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,951 ราย ในจำนวน 1,279 คดี โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีตามข้อหามาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 268 คน ใน 296 คดี

 

ผลสะเทือนต่อเนื่องจากการอดอาหารของ ‘เพนกวิน-รุ้ง’ เมื่อปี 2564

ปัจจุบัน (14 มี.ค. 2567) มีผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างน้อย 42 คน นับว่าเป็นจำนวนผู้ต้องขังการเมืองในเรือนจำที่มากที่สุดในรอบ 3 ปี (2564 - 2566) และเป็นอีกครั้งที่มีผู้อดอาหารประท้วงในเรือนจำถึง 4 คน ได้แก่ เนติพร ทานตะวัน ณัฐนนท์ และมงคล

เพนกวิน รุ้ง อดอาหารภาพ พริษฐ์ และ ปนัสยา ปี 2564

การอดอาหารประท้วงในเรือนได้รับความสนใจจากสาธาณะชนและกลายเป็นที่ถกเถียงถึงวิธีการใช้ร่างกายประท้วงอย่างกว้างขวางในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดีตแกนนำกลุ่มราษฎร 2563 ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และประกาศอดอาหารในเรือนจำครั้งแรกเมื่อ 15 มี.ค. 2564 เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี การอดอาหารของพริษฐ์นี้สร้างผลสะเทือนต่อนักกิจกรรมคนอื่นที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีตั้งแต่ปี 2564-2567 ไม่ต่ำกว่า 24 คน ซึ่งบางคนได้ตัดสินใจใช้ร่างกายของตนเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องระหว่างถูกคุมขังมากกว่า 1 ครั้ง ดังนี้

พ.ศ. 2564 มีการอดอาหารประท้วงในเรือนจำไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง โดยประชาชน 8 คน มี 1 คน ที่เลือกใช้วิธีการอดอาหารในเรือนจำถึง 3 ครั้ง คือ ฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารี ถัดมา พ.ศ. 2565 มีการใช้ร่างกายของตนเป็นเครื่องมือประท้วงไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง โดย 8 ครั้ง เป็นการใช้วิธีการอดอาหารประท้วง และมี 2 ครั้งใช้วิธีการทำร้ายร่างกายตนเองโดยการกรีดข้อมือ

ปี 2566 เป็นปีที่มีการยกระดับการใช้ร่างกายประท้วงในเรือนจำ เริ่มจากการถอนประกันตนเองของ ทานตะวัน และ อรวรรณ และประกาศอดอาหารและน้ำ พร้อมการเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการเสนอให้พรรคการเมืองประกาศจุดยืนต่อมาตรา 112 ซึ่งต่างจากการอดอาหารประท้วงในช่วง 2 ปีก่อนหน้าที่เป็นการอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ด้าน โสภณ, จตุพล และ ณัฐพล ใช้วิธีการฝืนตื่นประท้วง ขณะที่สิทธิโชคเริ่มยกระดับการประท้วงของตนเองจากการอดอาหาร อดน้ำ และฝืนตื่นประท้วง

แม้จะมีการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลพลเรือนหลังการเลือกตั้ง 2566 แต่สถานการณ์ของกระบวนการยุติธรรมยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น เนื่องจากยังมีผู้ถูกคุมขังคดีการเมืองในเรือนจำยังเลือกใช้วิธีการอดอาหารในการเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ได้แก่ วารุณี และ เวหา ที่อดอาหารในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 และ เนติพร ณัฐนนท์  ทานตะวัน และ มงคล ถิระโคตร ที่ประกาศใช้การอดอาหารและน้ำประท้วงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ช่วงปี 2564 ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันและใช้วิธีการอดอาหารพร้อมกับผู้ถูกคุมขังในเรือนจำผ่านกิจกรรม “อดพร้อมเพื่อน” โดยการเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมอดอาหารอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวจากด้านนอกเรือนจำไปพร้อมกัน ทั้งนี้ได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งผลัดกันอดอาหารอย่างน้อย 1 สัปดาห์ บริเวณหน้าศาลอาญา เพื่อย้ำเตือนถึงผู้ถูกคุมขังทางการเมืองขณะนั้น ได้แก่ มงคล ถิระโคตร, สมณะดาวดิน, ป้าเป้า-วรวรรณ, เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์, พัชณีย์ คำหนัก และ ณัฐพล โชคสวัสดิ์

 

ด้วยสภาพรัฐอยุติธรรม ‘ร่างกาย’ เป็นเครื่องมือสุดท้ายของการต่อสู้

ในวันที่รัฐไม่ฟังเสียงประชาชน การใช้ร่างกายต่อสู้จึงเป็นทางออก?

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ นักวิจัยและนักวิชาการอิสระ ผู้ทำการศึกษาเรื่องการอดอาหารและการฝืนตื่นประท้วง ให้เหตุผลว่า การอดอาหารประท้วงมักเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ผู้ประท้วงรู้สึกว่า พวกเขากำลังเผชิญสภาพอยุติธรรมที่เกินจะทานทน และแทบไม่เหลือหนทางอื่นที่สามารถคำนึงถึงได้อีกในขณะนั้น ร่างกายเป็นทรัพยากรที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่อย่างผู้ประท้วงได้ใช้ร่างกายของตนที่อยู่ในการควบคุมที่จะไม่กิน ชักนำความทุกข์ทรมานมาสู่ตนเอง เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการประท้วง และยืนยันถึงสภาพอยุติธรรมเกินทนที่พวกเขาเผชิญ 

“ตะวันกับแฟรงค์เคยบอกไว้ว่า เวลาที่เข้าไปอยู่ในเรือนจําเนี่ย สิ่งเดียวที่จะเหลืออยู่คือร่างกายของเขาที่ไว้ใช้ต่อสู้ได้ ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้วิธีนี้ในการทรมานตัวเอง อดน้ํา อดอาหาร หรืออะไรก็ตาม เพื่อเรียกร้องต่อ เพราะว่าเขาไม่สามารถไปประท้วงได้ เขาไม่สามารถทําอะไรได้แล้ว เพราะว่าเขาโดนจํากัดสิทธิ โดนจับอยู่ในห้องเล็กๆ แคบๆ ในเรือนจํา” นภสินธุ์ กล่าว

สายน้ำ-นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ นักกิจกรรมอิสระ เพื่อนสนิทของทานตะวันและณัฐนนท์ กล่าวถึงเหตุผลที่ทั้งสองคนตัดสินใจอดอาหารและน้ำในเรือนจำตอนนี้ว่า เพราะการถูกคุมขังในเรือนจำทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองหรือเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ ‘ร่างกาย’ เป็นสิ่งเดียวที่อยู่กับพวกเขาในห้องสี่เหลี่ยมนั้น การทรมานตนเองด้วยการอดอาหารและน้ำจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งในการส่งข้อเรียกร้องของตนสู่ภายนอก

หลังถูกจับกุมในหมายคนละคดีเมื่อ 13 ก.พ. 2567 ที่พวกเขาทั้ง 3 คน ถูกจับหน้าศาลอาญา คือ ทานตะวัน และ ณัฐชนน หมายจับคดีขบวนเสด็จ กรณีเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา และ นภสินธุ์ ถูกตำรวจแสดงหมายจับคดีพ่นกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อปี 2566 ระหว่างรอผลการประกันตัวที่ใต้เวรชี้ศาล ณัฐนนท์ได้ส่งจดหมายหานภสินธุ์ว่า ‘กูจะอดเลยนะ’ ทันที่ที่รู้ตัวว่าไม่ได้ประกัน ทั้งสองคนก็ตัดสินใจไม่กินอะไรเลยตั้งแต่ตรงนั้น 

นภสินธุ์กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงเพื่อนที่เลือกใช้วิธีดังกล่าว โดยเฉพาะทานตะวันที่ครั้งนี้ถือเป็นการอดอาหารครั้ง 3 ช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ณัฐนนท์เคยอดอาหารแล้ว 1 ครั้ง เมื่อปี 2564 จากการสังเกตพบว่า ทุกครั้งที่มีการอดอาหาร อาการของทานตะวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ ร่างกายของเขาทรุดลงเร็วกว่าครั้งที่ผ่านมา ด้านณัฐนนท์ที่เป็นคนตัวเล็กมาก น้ำหนักก่อนเข้าเรือนจำประมาณ 45 กก.

“จริงๆ ก็เป็นห่วงแต่ว่า ก็รู้สึกว่าเมื่อเพื่อนเลือกแล้ว สิ่งเดียวที่เราทําได้ก็คือซัพพอร์ตเขา เพราะว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นการตัดสินใจของเขา แล้วก็มันเป็นชีวิตของเขา” นภสินธุ์ กล่าว

พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นต่อสถานการณ์การใช้ร่างกายประท้วงในเรือนจำตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาว่า สิ่งเหล่านี้มีสาเหตุจาก ‘ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม’ คือ เมื่อประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ซ้ำยังถูกดำเนินคดีและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวแล้ว การถูกคุมขังในเรือนจำทำให้การแสดงออกถึงข้อเรียกร้องของพวกเขาเป็นไปอย่างจำกัด  คือ ไม่มีวิถีทางในการแสดงออกโดยไม่เดือดร้อนคนอื่น เช่น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หรือ ผู้ถูกคุมขังคนอื่น ๆ เป็นต้น 

ประกอบกับข้อจำกัดด้านทรัพยากรในเรือนจำ คือ พวกเขาไม่สามารถชูป้ายหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อส่งข้อเรียกร้องของพวกเขาออกมาให้สังคมภายนอกรับรู้ได้ การอดอาหารหรือการทรมานตนเองจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่พวกเขาเลือกใช้ แม้พูนสุขจะไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการเหล่านี้แต่ก็เคารพการตัดสินใจของผู้ถูกคุมขังทุกคน เพราะเชื่อว่า การอดอาหาร น้ำ หรือการฝืนตื่นนั้น ล้วนเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของร่างกายมนุษย์ วิธีการเหล่านี้จึงเป็นการต่อสู้กับจิตใจภายในของตนเองและต้องใช้ความอดทนสูงในการฝืนไม่หลับหรือไม่กินอาหาร

“ในอีกทางหนึ่ง เราคิดว่ามันเป็นการใช้ความพยายามอย่างมากด้วยนะ คืออาหารมันเป็นความต้องการพื้นฐานของร่างกาย… บางทีใจสู้เต็มที่แต่ร่างกายมันอาจจะไม่ไป อย่างนี้เราคิดว่า การที่จะต้องอดทนกับตัวเองในทุกๆ วัน ทุกวินาที มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่อยู่พอสมควร ...ถ้าเป็นตอนที่ใบปอ (ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์) กับบุ้งอดอาหารช่วงปี 65 คือเขาก็บอกว่าเขาสู้อยู่ทุกวินาทีที่อยู่ในเรือนจำ” พูนสุข กล่าว 

นอกจากนั้น พูนสุขยังมองว่าผู้ถูกคุมขังทุกคนล้วนมีเหตุและข้อเรียกร้องที่ต่างกันของตนเอง เช่นปี 2564 กรณีของรุ้งที่ตัดสินใจอดอาหารเป็นเพื่อนเพนกวินและไม่อยากให้เพนกวินโดดเดี่ยวในต่อสู้เรื่องนี้โดยลําพัง หรือกรณี วารุณี ที่ก่อนหน้านี้ตนไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีการอดอาหาร แต่เมื่อถูกคุมขังในเรือนจำช่วงปี 2566 และใช้สิทธิขอประกันตัวหลายครั้งแต่ถูกปฏิเสธ เขาก็เลือกใช้วิธีการนี้ในการเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของตนเอง

แน่นอนว่า การอดอาหารประท้วงทั้งในหรือนอกเรือนจำ ล้วนมีทั้งกรณีที่อาจเรียกได้ว่า ประสบความสําเร็จและไม่ประสบความสําเร็จ แต่พูนสุขยังเชื่อว่าการต่อสู้เหล่านี้เป็นแนวทางเฉพาะบุคคลที่ต้องมีความอดทนที่มีความกล้าหาญอย่างยิ่งยวด ทั้งนี้ยังมีนักกิจกรรมบางคนที่พยายามหาวิธีใหม่ในการต่อสู้เรียกร้องในเรือนจำ เช่น การฝืนตื่นของ โสภณ และเพื่อนกลุ่มทะลุแก๊ส ในปี 2566

“อย่างกรณีเก็ท โสภณ คือ เก็ทเขาก็บอกว่าเขาเลือกใช้วิธีการนี้เพราะว่า เรื่องสิทธิในการประกันตัวมันก็คือเรื่องสิทธิพื้นฐานเหมือนกัน… กล่าวคือตอนแรกเก็ทเคยใช้วิธีการนี้เนอะ (การอดอาหาร) แล้วในรอบที่ 2 เก็ทและเพื่อนก็ใช้วิธีการที่เรียกว่า ‘ฝืนตื่นประท้วง’  ก็คือพยายามไม่นอน เราคิดว่ามันเป็นความพยายามในการครีเอทของเขาในการต่อสู้อยู่ด้วยเหมือนกัน” พูนสุข

พูนสุขเล่าว่า โสภณเคยให้เหตุผลของการใช้วิธีการเหล่านี้ คือ สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ขณะที่การรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือหลับ ก็เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เช่นกัน เขาจึงมองว่าการใช้ร่างกายในการเรียกร้องสิทธิเหล่านี้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่สุดท้ายการใช้ร่างกายประท้วงในระยะเวลาที่ผ่านมา ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของพวกเขาโดยตรง ไม่ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวจะบรรลุหรือไม่ เช่น บางคนไม่สามารถรับประทานอาหารรสจัดได้อีกต่อไป ขณะที่การฝืนตื่นของโสภณก็ส่งผลต่อกล้ามเนื้อประสาทของเขาเช่นกัน 

“เราคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่มันจะต้องมีคนเอาชีวิตตัวเองเป็นประกันเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน คือการปล่อยตัวชั่วคราวมันเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ในกระบวนการยุติธรรมซึ่งทุกคนควรได้รับ ไม่ใช่ว่าได้รับเพราะว่าคุณอดข้าว… เพราะฉะนั้น โดยส่วนตัวก็หวังว่ากระบวนการยุติธรรมเรามันจะอํานวยความยุติธรรมกับทุกคนได้จริงๆ จนไม่ต้องมีใครต้องมาอดข้าวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว หรืออดข้าวอดนอนเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอีก” ทนายความจากศูนย์ทนายฯ กล่าว

 

‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-นิรโทษกรรมประชาชน’ ทางออกของการอดอาหารประท้วงในเรือนจำ

ต้องยอมรับว่า ความสนใจจากสังคมที่มีต่อวิธีการอดอาหารประท้วงในเรือนจำมีทีท่าลดลงอย่างต่อเนื่องหากเทียบกับเมื่อปี 2564 ทั้งยังมีการถกเถียงมากขึ้นว่าไม่อยากให้พวกเขาเลือกใช้วิธีการทรมานตนเองในการต่อสู้ครั้งนี้

พูนสุขเชื่อว่า กระแสสังคมที่ลดลงอาจไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจอดอาหารหรือไม่ของนักกิจกรรม เพราะการอดอาหารของแต่ละคนล้วนมีความมุ่งหมายต่างกัน คือ บางคนไม่ได้สนกระแสสังคมขนาดนั้น เพราะข้อเรียกร้องของพวกเขาคือความต้องการให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหรือการเรียกร้องสิทธิประกันตัว ดังนั้น หากกระแสสังคมที่มีต่อประเด็นนี้ลดลงก็อาจจะมีบางส่วนที่ไม่ใช้วิธีการนี้แล้ว แต่ส่วนตัวเชื่อว่าอาจมีบางส่วนที่ยังยืนยันจะใช้วิธีการนี้ต่อไป

เสกสิทธิ์มองว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่คดีจำนวนมากเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ  การนิรโทษกรรมสามารถช่วยแก้ปัญหาโดยคืนความบริสุทธิ์ให้แก่ผู้ต้องคดี  ถ้าเราเข้าใจว่าการอดอาหารประท้วงมักเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ความเป็นไปได้จำกัด  การนิรโทษกรรมก็เป็นการเสนอหยิบยื่นความเป็นไปได้อื่นแก่พวกเขา  

“หากสถานการณ์อยุติธรรมถูกคลี่คลาย ก็ย่อมไม่มีใครต้องเอาชีวิตตัวเองเข้าแลกเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมเฉพาะกรณีผ่านการเดิมพันด้วยชีวิตอีก” เสกสิทธิ์ กล่าว

ด้านนภสินธุ์ มองว่า ทุกคนในสังคมสามารถร่วมซัปพอร์ตนักกิจกรรมเหล่านี้ได้ทุกคน ไม่มากก็น้อย ขึ้นกับข้อจำกัดด้านเวลาและความสามารถของแต่ละคน อย่างน้อยที่สุดแค่สนใจอ่านข่าวและติดตามประเด็นเหล่านี้ ก็เป็นการซัปพอร์ตอย่างหนึ่งแล้ว พร้อมยืนยันว่า 

“สิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับโดยไม่จําเป็นต้องร้องขอ และหวังว่าจะไม่มีใครต้องมาเสี่ยงตายหรือตาย เพราะกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่มีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่แล้ว” นภสินธุ์

 

 

รายการอ้างอิง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net