Skip to main content
sharethis

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน รวบรวมข้อมูลพบปี 2566 คนทำงานในจีนประท้วง 1,794 ครั้ง ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด 


ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI ของ Image Creator from Microsoft Designer

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน ได้วิเคราะห์ข้อมูลจาก 'แผนที่นัดหยุดงานประท้วงของ CLB' (CLB Strike Map) ในปี 2566 มีเหตุการณ์การประท้วงของคนทำงานได้ 1,794 ครั้ง เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2565 (831 ครั้ง) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ในปี 2566 พบว่าการประท้วงของคนทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้น 10 เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีเหตุการณ์ประท้วงทั้งหมด 438 ครั้ง (24%) อุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงมีจำนวนการประท้วงมากที่สุดที่ 945 ครั้ง (53%) ส่วนจำนวนเหตุการณ์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ยังคงใกล้เคียงกับหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ ภาคบริการ 208 ครั้ง (12%) รองลงมาคือการขนส่งและโลจิสติกส์ 115 ครั้ง (6%) ภาคการศึกษา 36 ครั้ง (2%) และภาคเหมืองแร่ 22 ครั้ง (1%)

แผนภูมิแสดงแผนที่นัดหยุดงานประท้วง (CLB Strike Map) ปี 2561-2566

การยกเลิกข้อจำกัดการระบาดอย่างกะทันหันในปลายปี 2565 ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนผันผวน อุตสาหกรรมการผลิตมีการฟื้นตัวระยะสั้นขณะที่การผลิตกลับคืนสู่ภาวะปกติ ตามด้วยการฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงต้นปี 2566 และการบริโภคในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มก็ฟื้นตัวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมภายในประเทศบางแห่งยังคงทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง 

ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ภาคการผลิตในภูมิภาคชายฝั่งทะเลมีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากยอดสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเสื้อผ้าลดลง การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดการค้างจ่ายค่าจ้างอย่างแพร่หลาย รวมถึงการปิดและย้ายโรงงานที่ประสบปัญหา ขณะเดียวกัน การแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็ทวีความรุนแรง แต่คนทำงานกลับต้องเผชิญกับการตกงานจากการถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่

นอกจากนี้ ภาวะตกต่ำของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงดำเนินต่อไปตลอดทั้งปี บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่บางแห่งผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ภาคการก่อสร้างหดตัวมากขึ้นและส่งผลต่อการค้างจ่ายค่าจ้างในอุตสาหกรรม

การแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกับร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมยังคงดำเนินต่อไป โดยซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตปิดสาขาและเลิกจ้างพนักงานอย่างรวดเร็ว ขณะที่แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ขยายตัวเข้าสู่ภาคส่วนนี้

ภาคเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มที่ดูเหมือนว่าจะมีแรงงานชั่วคราวป้อนให้ตลอดเวลานั้น เมื่อบริษัทแพลตฟอร์มลดราคาและแข่งขันแย่งส่วนแบ่งการตลาด ทำให้แรงงานชั่วคราวในบริการเรียกรถออนไลน์และแพลตฟอร์มขนส่งสินค้า มีรายได้ลดลง เลี้ยงชีพได้อย่างยากลำบาก

ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ธุรกิจต่างมีกำไรลดลง บริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะค้างจ่ายค่าจ้าง ประกันสังคม และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่นๆ และมักจะหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยสำหรับการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แรงงานบางส่วนอาจตัดสินใจยอมรับการถูกละเมิดสิทธิ์และหางานใหม่ แต่ในปี 2566 ที่ผ่านมาแผนที่นัดหยุดงานประท้วงของ CLB แสดงให้เห็นว่าแรงงานจำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพยายามปกป้องสิทธิ์ของตนเองด้วยการประท้วง และหวังว่าสภาพเศรษฐกิจในปี 2567 นี้จะดีขึ้น

อุตสาหกรรมการผลิต: โรงงานเสื้อผ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าปิดกิจการหรือย้ายที่ ขณะที่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าก็แข่งขันกันอย่างรุนแรง

ในปี 2566 โรงงานในภูมิภาคชายฝั่งจำนวนมากปิดกิจการหรือย้ายไปยังตอนในของประเทศ แผนที่การประท้วงในเดือน ม.ค. 2566 บันทึกเหตุการณ์การประท้วงและหยุดงานของพนักงานโรงงานเพียง 10 ครั้ง เพิ่มขึ้นเป็น 26 ครั้งในเดือน ก.พ. และสูงสุดของปีที่ 57 ครั้งในเดือน พ.ย.

เมื่อพิจารณาในด้านภูมิศาสตร์ การประท้วงและหยุดงานของพนักงานโรงงาน ขยายตัวออกจากมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของจีน ไปยังมณฑลเจ้อเจียง เจียงซู ฝูเจี้ยน และมณฑลอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการประท้วงประปรายในมณฑลภายในประเทศ เช่น เจียงซี และหูหนาน

ในปี 2566 แผนที่นัดหยุดงานประท้วงของ CLB บันทึกข้อมูลการประท้วงของแรงงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ 146 ครั้ง คิดเป็น 33% ของเหตุการณ์ทั้งหมดในอุตสาหกรรมการผลิต ส่วนอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการประท้วง 94 ครั้ง คิดเป็น 21%

แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปยังพื้นที่ตอนในประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อลดต้นทุนการผลิตนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในปี 2566 เกิดการย้ายฐานออกจากจีนรวดเร็วกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทต่าง ๆ ย้ายการผลิตไปยังประเทศไทยและภูมิภาคอื่นๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงและคว้าโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์

ประธานสมาคมผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งไต้หวันกล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา "ไม่มีใครอยากร่วมทัวร์ตรวจสอบโรงงานของสมาคมฯ ที่เวียดนามเหนือ ไทย และอินโดนีเซีย" แต่ในเดือน พ.ย. 2566 มีผู้ลงทะเบียนทัวร์ตรวจสอบโรงงานที่ประเทศไทยจนเต็มโควต้า ส่วนประธานบริษัทบางรายก็เดินทางไปประเทศไทยด้วยตนเองเพื่ออำนวยความสะดวกในการตัดสินใจลงทุน

แผนที่นัดหยุดงานประท้วงของ CLB บันทึกกรณีมากมายของบริษัทผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (กระจุกตัวอยู่ในกว่างโจว ตงกวน และเซินเจิ้น) ที่ปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิต บ่อยครั้งที่พนักงานไม่ได้รับแจ้งแผนการของบริษัท ล่วงหน้า แต่รับรู้สัญญาณจากการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ออกจากโรงงานหรือการกระตุ้นให้ลาออก

เมื่อบริษัทค้างจ่ายค่าจ้างหรือประกันสังคม พนักงานก็เตรียมพร้อมที่จะประท้วง บางคนขู่ฆ่าตัวตาย บางคนนั่งประท้วงหน้าโรงงานทั้งช่วงกลางวันและกลางคืนเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทย้ายสินทรัพย์ออกไปเพื่อเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชย

ผู้ผลิตเสื้อผ้าก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานเช่นกัน ยอดสั่งซื้อจากแบรนด์ระดับโลกที่ลดลงและการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนเป็นเทนรด์ในปีที่ผ่านมา แบรนด์เสื้อผ้าข้ามชาติอย่าง Nike มุ่งเน้นการลดสต็อกเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและการหดตัวของการบริโภคในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตต้นน้ำในจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากออเดอร์ที่สูญหาย ทำให้บางโรงงานตัดสินใจย้ายฐานการผลิตหรือปิดกิจการเร็วขึ้น

ในเดือน เม.ย. 2566 พนักงานโรงงานเย็บผ้า Quang Viet ซึ่งเป็นบริษัทไต้หวัน ในมณฑลเจ้อเจียง ออกมาประท้วงหลังบริษัทปรับลดค่าแรง เนื่องจากยอดสั่งสินค้าซบเซา สถานการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับโรงงานรองเท้า Baoyi ในหยางโจว ซึ่งเป็นบริษัทไต้หวันเช่นกัน ประกาศปิดกิจการในปลายเดือน พ.ย. 2566 พนักงานจึงประท้วงเรียกร้องให้บริษัทคำนวณค่าชดเชยอย่างชัดเจน นอกจากนี้นายจ้างก็ไม่ได้จ่ายค่าสมทบเงินประกันสังคมให้พนักงานมานานแล้ว

ในขณะที่ทุนไหลออกจากภาคการผลิตอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอของจีน แต่กลับไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทดแทน การปรับโครงสร้างการผลิตภายในประเทศนี้ ส่งผลต่อคนทำงานด้วยเช่นกัน พวกเขาต้องปรับตัวและหางานใหม่

ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งบริษัทรถยนต์ดั้งเดิมอย่าง GAC และ SAIC รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Huawei และ Xiaomi ต่างก็เร่งเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ตำแหน่งงานด้านนี้เพิ่มขึ้น 200% ในปี 2565 แต่ในปี 2566 สินค้าล้นตลาด ทำให้ราคารถยนต์ทั้งแบบใช้ไฟฟ้าและน้ำมันลดลงอย่างมาก ในเดือน เม.ย. 2566 มีแบรนด์รถยนต์กว่า 40 แบรนด์ และรุ่นรถยนต์กว่า 100 รุ่น ที่มีโปรโมชั่นลดราคา

อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ก็มีภาวะกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์เกินความต้องการ แต่บริษัทใหม่ ๆ ก็ยังผลิตเพิ่ม ส่วนบริษัทเดิมก็ขยายการผลิตเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด สงครามราคาส่งผลให้ราคาแผงโซลาร์เซลล์ลดลงใกล้เคียงต้นทุนการผลิตในเดือน มิ.ย. 2566 ส่วนวัตถุดิบซิลิคอนราคาลดลงเกือบ 80% ตั้งแต่ช่วงพีกของการแพร่ระบาด

ไม่เพียงแค่ภาวะล้นตลาด โรงงานในอุตสาหกรรมนี้ยังปิดกิจการและค้างจ่ายค่าแรง เช่น JinkoSolar ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และ Jiangsong Technology ผู้ผลิตอุปกรณ์การผลิตเซลล์โซลาร์เซลล์อัตโนมัติ พนักงานทั้ง 2 บริษัทต่างประท้วงเรียกร้องค่าแรงในช่วงปลายปี 2566

การขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้คนทำงานที่มีประสบการณ์ยาวนานกับรถยนต์แบบดั้งเดิม ต้องเผชิญกับภาวะว่างงานเนื่องจากเทคโนโลยี ปี 2566 บริษัทรถยนต์แบบดั้งเดิมหลายแห่ง มีแผนปลดพนักงานจำนวนมาก บางแห่งวางแผนเลิกจ้างพนักงานอายุเกิน 45 ปี ส่งผลให้พนักงานวัยกลางคนจำนวนมากตกงานและต้องออกสู่ตลาดแรงงานที่ไม่มีใครต้องการ

ข้อมูลจากแผนที่นัดหยุดงานประท้วงของ CLB ชี้ให้เห็นว่า การแข่งขันที่รุนแรงได้ส่งผลต่อสิทธิของแรงงาน ตัวอย่างเช่น เมื่อ พ.ย. 2566 พนักงานจาก Huajun Vehicles ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผลิตรถยนต์แบบใช้น้ำมัน จำนวนหลายร้อยคน ต้องตกงานหลังบริษัทล้มละลาย พวกเขารวมตัวประท้วงหน้าบริษัทเพื่อเรียกร้องค่าชดเชย

แม้กระทั่งบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า ก็มีปัญหาค้างจ่ายค่าแรง และนำไปสู่การประท้วงของพนักงาน เมื่อ ก.พ. 2566 พนักงาน WM Motor ติดป้ายประท้วง อ้างอิงกฎหมายสัญญาจ้างแรงงานของจีน และเรียกร้องค่าชดเชยการเลิกจ้าง เดือน เม.ย. 2566 พนักงาน Tianji Motors ประท้วงเพราะไม่ได้รับค่าแรงและนายจ้างค้างจ่ายเงินประกันสังคม ส่วนเดือน ก.ค. 2566 พนักงาน Baoneng Motors ประท้วงที่นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง

วิกฤตในวงการก่อสร้าง: ค้างจ่ายค่าจ้าง ท่ามกลางภาวะอสังหาริมทรัพย์ล้นตลาดและโครงการที่ชะงักงัน

สถานการณ์ในอุตสาหกรรมก่อสร้างของจีน อยู่ในภาวะทรุดลงอย่างต่อเนื่อง ต่างจากอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการปรับตัว ในอุตสาหกรรมก่อสร้างพบเห็นแรงงานทั่วประเทศประท้วงเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายเป็นจำนวนมาก

ปี 2566 มูลค่าการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ในจีนหดตัว ลดลงเกือบ 10% เมื่อเทียบกับปี 2565 ส่วนการลงทุนพัฒนาที่ดินลดลง 20% การก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ลดลง 20% ทั้งพื้นที่ขายและเงินทุนพัฒนาของบริษัทก็ลดลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์กลับเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า หลังตลาดอสังหาริมทรัพย์บูมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เกิดภาวะสินค้าล้นตลาดอย่างรุนแรง และกำลังค่อยๆ ปรับสมดุล

นโยบายของรัฐบาลจีน ที่ออกมาเพื่อควบคุมหนี้สินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเน้นย้ำว่า “บ้านเอาไว้อยู่อาศัย ไม่ใช่ไว้เก็งกำไร” รวมถึงเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงการแพร่ระบาด ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทรุดตัวลงอย่างหนัก

แม้กระบวนการขยายตัวของเมืองจะชะลอตัวลง และการลงทุนสินทรัพย์ถาวรด้านการขนส่งทางถนนและการจัดการสาธารณูปโภค ลดลงเล็กน้อยในปี 2566 แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศยังคงแข็งแกร่ง การลงทุนด้านการขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้น 25% เมื่อปี 2566 และการลงทุนด้านพลังงานเพิ่มขึ้น 23%

ปี 2566 แผนที่นัดหยุดงานประท้วงของ CLB บันทึกกรณีเรียกร้องค่าแรงของแรงงานย้ายถิ่นในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 945 กรณี เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2565 ในจำนวนนี้ ประมาณ 40% เป็นการเรียกร้องค่าแรงในโครงการที่อยู่อาศัย 18% เป็นห้างสรรพสินค้า และ 10% เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสัดส่วนใกล้เคียงกับปี 2565

Country Garden บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ที่ผิดนัดชำระหนี้เมื่อปี 2566 มีการประท้วงเรียกร้องค่าแรงในแผนที่นัดหยุดงานประท้วงของ CLB ทั้งหมด 33 ครั้ง ตัวอย่างเช่น โครงการ Emerald Era ของ Country Garden ในเหว่ยหนาน มณฑลส่านซี ค้างค่าจ้างพนักงานติดตั้งน้ำประปาและไฟฟ้า พนักงานได้รับเงินเพียง 60,000 หยวน จากที่ค้างจ่าย 150,000 หยวน เพื่อทวงความรับผิดชอบ พนักงานไปปิดกั้นประตูบริเวณก่อสร้าง แล้วฟ้องร้องบริษัทช่วงรับเหมา แต่จำเลยโยนความผิดไปให้บุคคลที่สาม สุดท้ายพนักงานไม่ได้รับเงินที่ค้างจ่าย เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ บริษัทอสังหาริมทรัพย์เอกชนอื่น ๆ เช่น Evergrande, Vanke และ Sunac คนทำงานก่อสร้างก็มีการเรียกร้องค่าแรงเช่นกัน

ภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้โอกาสการจ้างงานของแรงงานย้ายถิ่นโดยเฉพาะกลุ่มสูงวัยลดลงไปอีก บริษัทเดิมที่เคยทำงานด้วย มักไม่เคยจ่ายสมทบเงินประกันสังคม ทำให้นายจ้างใหม่ เช่น โรงงาน ไม่ค่อยรับคนอายุเกิน 50 ปี เข้าทำงาน แม้หลายคนยังจำเป็นต้องทำงาน แต่กลับต้องเผชิญกับตลาดแรงงานที่หดตัว ในบางเมือง แรงงานย้ายถิ่นสูงวัยต้องแย่งชิงงานกันเอง ส่งผลให้ค่าจ้างรายวันลดลงจนต่ำมาก คนที่หางานไม่ได้ต้องหันไปรับจ้างก่อสร้างเป็นรายวันค่าจ้าง 80 หยวน (ประมาณ 400 บาท) บางคนต้องนอนใต้ทางด่วนหรืออาคารก่อสร้างที่ยังไม่เสร็จ

การขนส่งและลอจิสติกส์: พนักงานแพลตฟอร์มต่อสู้กับนโยบายลดราคา ที่บริษัทต่าง ๆ ใช้ต่อสู้เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งการตลาด

อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ กลายเป็นแหล่งรองรับแรงงานตกงานจากภาคการผลิตและก่อสร้าง ส่งผลให้ขณะนี้ มีแรงงานล้นเกินในอุตสาหกรรมนี้ ตัวอย่างเช่น ในธุรกิจแพลตฟอร์มเรียกรถออนไลน์ สื่อ The Paper ได้วิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ชี้ว่าระหว่างปี 2565-2566 มีแพลตฟอร์มเรียกรถออนไลน์ใหม่เกิดขึ้น 41 แพลตฟอร์ม มีคนขับใหม่เข้าสู่ระบบ 1.26 ล้านคน แต่ความต้องการใช้บริการกลับไม่เพิ่มตาม ส่งผลให้มีคนขับล้นตลาด

สถานการณ์นี้ส่งผลให้สำนักงานขนส่งในเซินเจิ้น ตงกวน ฉงชิ่ง จูไห่ และเมืองอื่น ๆ ต้องออกประกาศเตือน "ความเสี่ยง" ต่อคนขับหน้าใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ธุรกิจเมื่อกลางปี 2566

การเข้ามาของคนขับและบริษัทขนส่งใหม่ ๆ ยิ่งทำให้การแข่งขันรุนแรง คนขับรถบรรทุกที่มีประสบการณ์ 10 ปี กล่าวในบทสัมภาษณ์ว่า เนื่องจากโรงงานผลิตสินค้าลดลง ทำให้คนขับรถบรรทุกหางานขนส่งสินค้าได้ยากขึ้น ผู้ขนส่งสินค้าจึงใช้สถานการณ์นี้กดราคาค่าขนส่งเพิ่มเติม สร้างความกดดันหนักให้กับคนขับที่กู้เงินมาซื้อรถบรรทุก พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกนอกจากนอนอยู่ในรถ บางคนอยากขายรถแต่ก็ไม่มีคนซื้อเช่นกัน

บริษัทขนส่งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ มองหาโอกาสในการลดราคาต่อหน่วยเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด  ส่งผลให้เกิดการประท้วงหลายครั้งในปี 2566 ที่ผ่านมา

พ.ย. 2566:  ไรเดอร์ของ Huolala (Lalamove) ในเฉิงตู ฉงชิ่ง และเหลียวเฉิง ไม่พอใจที่แพลตฟอร์มลดรายได้ของพวกเขาเพื่อดึงดูดลูกค้า นอกจากนี้ ยังบีบรายได้ของไรเดอร์ด้วยการเพิ่มค่าธรรมเนียมสมาชิกและหักค่านายหน้าของแพลตฟอร์ม

ต.ค. 2023: ไรเดอร์ในฝอซาน เฮิ่นหยาง และเฉิงตู ประท้วงการเปลี่ยนแปลงระบบการกดรับงานของแพลตฟอร์ม ซึ่งทำให้ไรเดอร์ต้องแข่งขันกันเพื่อรับงานในราคาต่ำกว่า สำหรับไรเดอร์ ระบบการกำหนดราคาแบบยืดหยุ่นคือการลดค่าแรงโดยปกปิด และทำให้การแข่งขันระหว่างไรเดอร์รุนแรงขึ้น

การประท้วงของไรเดอร์ส่งอาหาร: เพิ่มขึ้นเป็น 10 เหตุการณ์ในปี 2566 ที่ผ่านมา (เทียบกับเพียง 1 เหตุการณ์ในปี 2565) 3 กรณีในปี 2566 เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องขึ้นค่าแรง หนึ่งในนั้นคือการประท้วงของไรเดอร์ของ Meituan ในซานเหว่ย ปลายเดือน เม.ย. 2566 ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง สืบเนื่องจากเหตุการณ์ฝนตกหนักในมณฑลกวางตุ้ง ส่งผลกระทบต่อสภาพการทำงานและความปลอดภัยของไรเดอร์ อย่างไรก็ตาม Meituan ไม่เพียงยกเลิกเงินอุดหนุนไรเดอร์จำนวนมาก แต่ยังลดราคาต่อหน่วยและลงโทษไรเดอร์ที่ไม่รายงานตัวเมื่อมีสภาพอากาศเลวร้าย ส่งผลให้เกิดการประท้วงของไรเดอร์  Meituan ส่งไรเดอร์ต่างเมืองจำนวนมากมาทำงานแทนกลุ่มที่ประท้วง แต่หลังจากมีความคิดเห็นของประชาชนในแง่ลบ Meituan ได้ปรับขึ้นราคาต่อหน่วยและคืนเงินอุดหนุนบางส่วน

สงครามราคาในอุตสาหกรรมส่งสินค้าด่วน: ค่าธรรมเนียมการจัดส่งลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของพนักงานส่งของ  อย่างไรก็ตาม ร้านรับส่งสินค้าที่มีการจัดการแย่ได้ปิดตัวลงในปี 2565 จำนวนมาก ส่งผลให้การประท้วงเรื่องค่าจ้างค้างชำระลดลงในปี 2566 เหลือ 21 เหตุการณ์ (เทียบกับ 75 เหตุการณ์ในปี 2565)

ภาคบริการ: ร้านค้าปลีกดั้งเดิมปลดพนักงาน บริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด

ภาวะหดตัวของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ประกอบกับอัตราการว่างงาน และสัดส่วนการมีงานทำแบบไม่เต็มที่ที่สูงขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคในประเทศจีน การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเติบโตเร็วกว่าร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม รวมถึงไฮเปอร์มาร์เก็ต อีคอมเมิร์ซมีข้อดีคือมีระบบโลจิสติกส์ของตัวเอง ทำให้เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในด้านความสะดวกและราคาที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และการจัดส่งที่รวดเร็ว ยังส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของไฮเปอร์มาร์เก็ตแบบดั้งเดิมอีกด้วย

หลังจากห้างขายเครื่องใช้ไฟฟ้า Gome ปิดกิจการในปี 2565 เนื่องจากปัญหาค้างค่าจ้างและเงินสมทบประกันสังคมให้กับพนักงาน ร้านค้าของทั้งแบรนด์ Carrefour (Suning) และ BBK (Better Life Commercial) ต่างก็ทยอยปิดตัวลงเมื่อปี 2566 ย้อนไปในปี 2560, Carrefour มีสาขาในจีน 259 แห่ง ส่วนรายงานประจำปีของ Suning ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 แสดงให้เห็นว่า ร้านค้า Carrefour ปิดตัวลง 106 แห่ง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เหลือเพียง 41 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ร้านค้าเหล่านี้ยังประสบปัญหาสินค้าขาดแคลน ชั้นวางว่างเปล่า และการใช้คูปองส่วนลดลดลงในบางพื้นที่ ธุรกิจห้างสรรพสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตที่ดำเนินการโดย BBK ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยมีรายได้ลดลงและขาดทุนสุทธิ ในปี 2565 มีสาขาปิดตัวลงทั้งหมด 139 แห่ง และปิดตัวลงอีก 65 แห่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566

แผนที่นัดหยุดงานประท้วงของ CLB เก็บรวมข้อมูลการประท้วงเรียกร้องค่าแรงในภาคค้าปลีกทั้งหมด 39 กรณีในปี 2566 (คิดเป็น 17% ของอุตสาหกรรมบริการ) โดย Carrefour มีการประท้วง 9 กรณี และ BBK มี 6 กรณี

การถอนตัวออกจากตลาดของร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมบางส่วน เปิดโอกาสให้มีการลงทุนใหม่ บริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ เช่น Pinduoduo, Meituan, Alibaba และ JD.com ต่างทุ่มเม็ดเงินลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายบริการจัดจำหน่ายในท้องถิ่นระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกเขาใช้กลยุทธ์ตั้งราคาต่ำและใช่เครือข่ายโลจิสติกส์เดิมของตนเองเพื่อยึดส่วนแบ่งการตลาด

การซื้อของในโซเชียลมีเดียกำลังเติบโต อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทขนาดเล็กและกลางบางแห่งล้มละลาย ช่วงเวลาแห่งการทุ่มเงินลงทุนสิ้นสุดลง ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทั้ง Meituan และ Duoduo Maicai ต่างปรับทิศทาง จากการมุ่งเน้นการเติบโตอย่างเดียว ไปสู่การมุ่งเน้นผลกำไรขั้นต้น ทั้งค่าคอมมิชชั่นและผลตอบแทนที่มอบให้ผู้ขายก็ลดลงอย่างมาก

ภาคสาธารณะ: พนักงานสุขาภิบาล แพทย์ และครู เผชิญการถูกค้างจ่ายเงินเดือน เนื่องจากภาวะงบประมาณตึงตัวของท้องถิ่น

หน่วยงานบริการภาครัฐ รวมถึงภาคสุขาภิบาลและสาธารณสุข ประสบปัญหาค้างจ่ายเงินเดือนให้กับคนทำงาน ซึ่งสืบเนื่องจากภาวะกดดันทางการเงินของท้องถิ่นในจีน จากข้อมูลการประท้วง 45 กรณี ที่แผนที่นัดหยุดงานประท้วงของ CLB เก็บรวบรวม พบว่าอย่างน้อย 16 กรณี เกี่ยวข้องกับปัญหาการจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2023 พนักงานสุขาภิบาลในเมืองปาโจว มณฑลเหอเป่ย ประท้วงบริษัท Kangjie เรื่องการค้างจ่ายเงินเดือนพนักงานนาน 9 เดือน โดยให้เหตุผลว่าท้องถิ่นไม่จ่ายเงินตามสัญญา พนักงานสุขาภิบาลเหล่านี้มีรายได้ต่ำกว่า 1,400 หยวน (ประมาณ 7,000 บาท) ต่อเดือน พนักงานเหล่านี้ตัดสินใจยกเลิกสัญญาหลังจากทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเวลา 2 เดือน

ในภาคสาธารณสุข มีการประท้วงเรื่องค่าจ้างและเงินค้างจ่ายประกันสังคม 14 ครั้ง โดย 10 กรณี ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแม่และเด็กในเมืองรู่โจว มณฑลเหอหนาน รวมตัวกันเรียกร้องค่าจ้าง รัฐบาลเทศบาลเมืองรู่โจว ชี้แจงว่าเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตราการเกิดลดลงและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลมีรายได้ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนตรงเวลาได้ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังถูกศาล 3 แห่งในเหอหนาน ให้รับผิดชอบชำระหนี้เป็นเงินรวมประมาณ 10 ล้านหยวน โรงพยาบาลสูตินรีเวช โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านตา และคลินิกเอกชนอื่น ๆ ก็ถูกปิดเพื่อให้แก้ไขปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้างเช่นกัน

โรงเรียนบางแห่งก็มีปัญหาค้างจ่ายเงินเดือนเป็นระยะ ๆ โดยมีเหตุการณ์ในภาคการศึกษาเกิดขึ้นกว่า 30 ครั้งในปี 2023 ครูเหล่านี้ซึ่งประท้วงเรื่องค่าจ้างที่ไม่ได้รับชำระ มักอาศัยอยู่ในเมืองภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ครูโรงเรียน 34 คน ในเมืองซานเหมินเซีย มณฑลเหอหนาน ประท้วงอดอาหาร พวกเขาชี้แจงว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่พวกเขาได้รับการรับรองเป็นครูของรัฐ แต่กลับไม่ได้เซ็นต์สัญญาจ้างและยังไม่ได้รับเงินเดือนและการจ่ายสมทบประกันสังคม แม้ร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข 

 

ที่มา:
China Labour Bulletin Strike Map data analysis: 2023 year in review for workers' rights (China Labour Bulletin, 31 January 2024)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net