Skip to main content
sharethis

หลังโควิด-19 ระบาดมาหลายปี พบครึ่งแรกของปี 2566 การนัดหยุดงานและการประท้วงของคนทำงานก็เพิ่มสูงขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ของจีน


แฟ้มภาพ China Labour Bulletin

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 CLB Strike Map ได้บันทึกเหตุการณ์การนัดหยุดงานและการประท้วงของคนทำงานจีนไว้ถึง 741 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อเทียบกับจากตลอดทั้งปี 2565 ที่จำนวน 830 ครั้ง ยอดการประท้วงรายเดือนในปี 2566 ก็เพิ่มขึ้นเดือนต่อเดือน จาก 86 ครั้ง ในเดือน ม.ค. 2566 ขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 165 ครั้ง ในเดือน พ.ค. 2566 CLB ชี้ว่าหากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป การนัดหยุดงานและการประท้วงของคนทำงานจีนในปี 2566 นี้อาจแตะถึง 1,300 ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะใกล้เคียงตัวเลขสูงสุดก่อนเกิดการระบาดที่ 1,384 ครั้ง ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2562

เมื่อพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม สาหกรรมการผลิตมีการนัดหยุดงานและการประท้วงเพิ่มขึ้นจาก 10 ครั้ง ในเดือน ม.ค. 2566 เพิ่มเป็น 59 ครั้ง ในเดือน พ.ค. 2566 ส่วนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง คนทำงานประท้วงเรื่องการค้างค่าจ้างอย่างต่อเนื่องในอัตราประมาณ 50 ครั้ง ต่อเดือน ในภาคบริการและอุตสาหกรรมการขนส่ง มีการนัดหยุดงานและการประท้วงประมาณ 10 และ 5 ครั้ง ต่อเดือนตามลำดับ แม้ว่าคนทำงานในอุตสาหกรรมการศึกษาและอุตสาหกรรมเหมืองแร่จะไม่ได้ประท้วงบ่อยนัก แต่อัตราดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 เป็นต้นมา

อุตสาหกรรมการผลิต: พนักงานโรงงานอิเล็กทรอนิกส์และเสื้อผ้าต้องเผชิญกับการปิดตัวและการย้ายที่ตั้ง

CLB วิเคราะห์ว่าในเดือน พ.ค. 2566 การประท้วงของคนทำงานที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากการปิดโรงงานและการย้ายที่ตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เนื่องจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจหดตัวลงชัด CLB ได้เรียกร้องให้ทางการและสหภาพแรงงานมีมาตรการเชิงรุกเพื่อเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของคนทำงานอย่างแท้จริง ผ่านการเจรจา ไม่เพียงแต่ในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงห่วงโซ่อุปทานทั้งอุตสาหกรรมด้วย

นอกเหนือจากการดีดตัวขึ้นในช่วงสั้นๆ หลังตรุษจีน มูลค่าการส่งออกรวมของจีนลดลงตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2565 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)* ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจในภาคการผลิตและบริการยังคงอยู่ต่ำกว่า 50 ในจีนตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตในจีนยังคงหดตัว เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ หดตัวเช่นกัน คำสั่งซื้อจากต่างประเทศจึงลดลง รวมถึงข้อพิพาททางการค้าที่ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในภาคการผลิตของจีน

*Purchasing Managers Index (PMI) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เป็นดัชนีสะท้อนถึงภาวะการณ์การขยายตัวหรือหดตัวของภาพรวมของภาคการผลิตและบริการ (Manufacturing PMI และ Service PMI) โดยการสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในบริษัทเอกชนเกี่ยวกับ ยอดสั่งซื้อใหม่ ปริมาณสินค้าคงคลัง สายการผลิต การส่งสินค้าซัพพลาย และการจ้างงาน เป็นต้น โดยปัจจุบันมี 2 สถาบันหลักที่จัดทำดัชนี PMI โดยในสหรัฐฯ จัดทำโดย ISM (Institute for Supply Management) ขณะที่กว่า 30 ประเทศทั่วโลกจัดทำโดย IHS Markit Ltd ส่วนประเทศจีนมีการจัดทำจากทั้งภาครัฐ และเอกชนโดยสถาบัน Caixin (Caixin Media Company Ltd)

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายได้รับผลกระทบหนักที่สุด อุตสาหกรรมเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 นี้ มีการประท้วง 66 ครั้ง โดยคนทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนคนทำงานในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายประท้วง 38 ครั้ง การประท้วงของทั้ง 2 อุตสาหกรรมนี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการประท้วงในภาคการผลิตทั้งหมดในช่วงครึ่งปีแรก เหตุการณ์นัดหยุดงานและประท้วงที่เหลืออยู่ในผลิตภัณฑ์โลหะ (18 ครั้ง) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (14 ครั้ง) ยานยนต์ (12 ครั้ง) เครื่องจักร (9 ครั้ง) และของเล่น (6 ครั้ง) เป็นต้น

สาเหตุของการนัดหยุดงานและการประท้วงที่พบบ่อยที่สุดในภาคการผลิตนั้น เกี่ยวข้องกับการย้ายโรงงานและการปิดโรงงาน ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีสาเหตุที่หลากหลายที่สุด คนทำงานไม่เพียงแค่ประท้วงเกี่ยวกับความกังวลทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการค้างค่าจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชยสำหรับการย้ายโรงงานและการปิดบริษัทเท่านั้น คนทำงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังแสดงความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของผู้บริหารบริษัทและเกี่ยวกับเงื่อนไขของสัญญาการจ้างงานอีกด้วย ซึ่งแทนที่ทำการเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยให้ แต่บริษัทกลับย้ายคนทำงานไปยังตำแหน่งอื่น ขอให้พวกเขาเซ็นสัญญาใหม่ หรือดำเนินการบังคับให้ลาออกโดยสมัครใจ (ทำให้ไม่ได้ค่าชดเชย)

ต่อประเด็นการย้ายโรงงานนั้น เมื่อเทียบกับในช่วงปี 2556-2558 ที่มีปรากฎการณ์การย้ายโรงงานในจีนเช่นเดียวกันนี้ แต่กลับพบว่าหยุดงานประท้วงโดยคนทำงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันถือว่าค่อนข้างน้อย CLB Strike Map บันทึกว่าประมาณ 40% ของการประท้วงในภาคอิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวข้องกับคนทำงานระหว่าง 101-1,000 คน ซึ่งการประท้วงส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคนทำงานน้อยกว่า 100 คน เมื่อมีการประท้วง คนทำงานที่ไม่พอใจกับการค้างค่าจ้าง การปิดหรือย้ายโรงงาน มักจะรวมตัวกันในพื้นที่เปิดโล่งบริเวณโรงงานหรือหน้าสำนักงาน บางครั้งคนทำงานปิดกั้นประตูโรงงาน เป้าหมายคือให้ต้องการกดดันฝ่ายบริหารให้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการ รวมถึงจ่ายค่าชดเชยสำหรับการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานตามกฎหมายแรงงานของจีน

การประท้วงในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ไม่เพียงแต่มีความถี่น้อยกว่าในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่ก็ยังมีขนาดของการประท้วงที่เล็กกว่าด้วย หลายเหตุการณ์เป็นเพียงการนั่งล้อมวงคุยกันโดยมีผู้เข้าร่วมไม่ถึง 100 คน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับขนาดของอุตสาหกรรมนี้ซึ่งเล็กกว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 

อุตสาหกรรมก่อสร้าง: การชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์ทำให้คนงานไม่ได้รับค่าจ้าง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่สุดของจีน


ที่มาภาพ: hxdbzxy/Shutterstock.com (อ้างใน China Labour Bulletin)

ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นภาคส่วนที่มีการนัดหยุดงานและประท้วงสูงสุดที่ CLB Strike Map บันทึกไว้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่มีมากกว่า 50 ครั้งในแต่ละเดือน เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนกำลังหดตัว ส่วนใหญ่คนทำงานประท้วงเรื่องการค้างค่าจ้าง โดยคนทำงานก่อสร้างในโครงการที่อยู่อาศัยออกมาประท้วงมากที่สุด (111 ครั้ง) คิดเป็น 1 ใน 3 ของการประท้วงทั้งหมดในครึ่งปีนี้ ตามมาด้วยโครงการก่อสร้างห้างสรรพสินค้า (79 ครั้ง) และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน (22 ครั้ง)

ข้อมูลที่ CLB รวบรวมจากโซเชียลมีเดีย ไซต์ก่อสร้างหลายแห่งที่รับเหมาช่วงมาจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มีปัญหาเรื่องการค้างจ่ายค่าจ้างหลังจากโครงการเสร็จสิ้น เนื่องจากผู้รับเหมาช่วงไม่ได้รับค่าจ้างมาจากบริษัทเหล่านั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถจ่ายเงินให้คนทำงานได้ 

เมื่อพิจารณาตามภูมิภาค การประท้วงของคนทำงานก่อสร้าง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในมณฑลกวางตุ้ง (83 ครั้ง) รองลงมาคือส่านซี (39 ครั้ง) เหอหนาน (22 ครั้ง) เจ้อเจียง (19 ครั้ง) ซานตง (18 ครั้ง) และเสฉวน (16 ครั้ง) มณฑลเหล่านี้มีการเติบโตของประชากรจำนวนมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังประสบปัญหาอสังหาริมทรัพย์ล้นตลาด การสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติครั้งที่ 7 ของจีนในปี 2563 รายงานว่าเซินเจิ้นและกวางโจวอยู่ในอันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับในด้านการเติบโตของจำนวนประชากรต่อปี เมืองเหล่านี้มีผู้อยู่อาศัยถาวรเพิ่มขึ้นประมาณ 7 ล้านคน และ 6 ล้านคนตามลำดับ นับตั้งแต่การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งก่อนในปี 2553 ส่วนในปี 2566 เมืองที่เติบโตเร็วรองลงมาก็ได้แก่ ซีอาน มณฑลส่านซี, เจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน, ฉางชา มณฑลหูหนาน, เฉิงตู และหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เป็นต้น

การเติบโตของเมืองใหญ่อันดับต้นๆ ของจีนในทศวรรษที่ผ่านมา หมายความว่าธุรกิจและคนทำงานได้กระจุกตัวอยู่ในเขตอุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งกระตุ้นการก่อสร้างและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาการค้างค่าจ้างที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ได้เกิดขึ้นพร้อมกับการก่อสร้างเมืองอย่างรวดเร็ว การทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนในช่วงที่ผ่านมายิ่งทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น CLB Strike Map แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ไซต์งานก่อสร้างในเมืองใหญ่อันดับต้นหลายแห่ง มีอัตราค้างค่าจ้างสูงมากเมื่อเทียบกับปี 2554-2558

อุตสาหกรรมบริการ: คนทำงานในธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม เผชิญการถูกเลิกจ้างและค้างค่าจ้าง

การประท้วงของคนทำงานในอุตสาหกรรมบริการอยู่อันดับที่ 3 จากข้อมูล CLB Strike Map รองจากการก่อสร้างและการผลิต โดยมีการนัดหยุดงานหรือการประท้วงเฉลี่ย 17 ครั้งต่อเดือน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 สาเหตุอันดับแรกของการประท้วงคือการค้างค่าจ้าง การหยุดงานและประท้วงส่วนใหญ่อยู่ในภาคสุขาภิบาล (22 ครั้ง) ขายปลีกและส่ง (21 ครั้ง) และโรงแรมและจัดเลี้ยง (15 ครั้ง)

นอกจากนี้ในภาคธุรกิจการค้าปลีกแบบดั้งเดิมกำลังเผชิญกับการแข่งขันจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การปิดร้านของไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีหน้าร้านหลายแห่ง เกิดการเลิกจ้าง รวมทั้งค้างจ่ายค่าจ้าง 

ภาคสุขาภิบาลรองรับคำทำงานสูงอายุจำนวนมาก รวมถึงแรงงานย้ายถิ่นจากชนบท ซึ่งก็มีปัญหาค้างค่าจ้างสูงเช่นกัน บริษัทด้านสุขาภิบาลมักระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับเงินจากคู่สัญญา ซึ่งในหลายๆ กรณีก็คือท้องถิ่น ดังนั้นบริษัทต่างๆ จึงผิดนัดค่าจ้างและส่งต่อปัญหาไปยังคนทำงาน 

อุตสาหกรรมการขนส่งและลอจิสติกส์: คนทำงานทั้งในรูปแบบการขนส่งแบบใหม่และแบบเก่า เผชิญสภาพการทำงานที่กดดันมากขึ้น


ที่มาภาพ: Rob Crandall/Shutterstock.com (อ้างใน China Labour Bulletin)

ดังที่เป็นมาหลายปีแล้ว การประท้วงส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมขนส่ง เป็นการประท้วงโดยคนขับแท็กซี่ มีการประท้วงดังกล่าวทั้งหมด 26 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ในฐานะที่เป็นรูปแบบการขนส่งแบบดั้งเดิม แท็กซี่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแข่งขันจากแท็กซี่ที่ไม่มีใบอนุญาตและจากแพลตฟอร์มเรียกรถออนไลน์ 

นอกจากนี้ ทางการจีนได้ออกกฎหมายบังคับให้รถแท็กซี่ให้ต้องอัพเกรดเทคโนโลยีใหม่ เช่นการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า คนขับแท็กซี่ได้ต่อต้านสิ่งนี้ และยังประท้วงในประเด็นต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันที่สูง และการเรียกร้องขึ้นค่าโดยสาร ส่วนใหญ่แล้วบริษัทให้เช่ารถแท็กซี่และคนขับมักจะร่วมมือกันในกันประท้วงเรียกร้องผลประโยชน์ของพวกเขา

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยเหล่านี้ คนขับแท็กซี่ได้เพิ่มเวลาทำงานเพื่อพยายามหารายได้ที่สูงขึ้น สิ่งนี้มีผลเสียในระยะยาว มีรายงานว่าสุขภาพของคนขับแท็กซี่แย่ลงจากการทำงานหนักเกินไป

สำหรับการประท้วงในอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์รูปแบบใหม่ คนทำงานส่วนใหญ่ประท้วงค่าตอบแทนที่ลดลงของแพลตฟอร์ม CLB Strike Map บันทึกการนัดหยุดงานของคนทำงานจัดส่งผ่านแพลตฟอร์ม 3 ครั้ง ในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2566 โดยมีกรณีที่คนทำงานประท้วงที่แพลตฟอร์มได้ยกเลิกค่าอุดหนุนการทำงานในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งลดราคาต่อหน่วย เป็นต้น


ที่มา:
After years of pandemic anomalies, worker strikes and protests are on the rise across industries in China (China Labour Bulletin, 28 July 2023)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net