Skip to main content
sharethis

รายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ชี้ว่าอัตราว่างงานในกลุ่มประเทศอาหรับยังคงสูง สวนทางกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แนะต้องเพิ่มความหลากหลายและการสร้างงานที่มีคุณค่าในภาคส่วนต่าง ๆ ให้มากขึ้น


ที่มาภาพ: ILO

รายงานฉบับใหม่โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สำนักงานภูมิภาคอาหรับ เผยว่าอัตราการว่างงานในภูมิภาคอาหรับคาดว่าจะยังคงสูงอยู่ที่ 9.8% ในปี 2024 ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด สาเหตุนี้สะท้อนถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อตลาดแรงงานในภูมิภาคนี้ เช่น การแบ่งแยก ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ความขัดแย้ง ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ภาคเอกชนที่อ่อนแอ และแรงกดดันด้านประชากรศาสตร์

รายงาน 'Arab States Employment and Social Outlook - Trends 2024: Promoting social justice through a just transition' ยังคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในภูมิภาคอาหรับมีแนวโน้มเติบโต 3.5% ในปี 2024 โดยกลุ่มประเทศสมาชิกสภาความร่วมมืออ่าวเปอร์เซีย (GCC) มีการเติบโตที่เร็วกว่าประเทศนอกกลุ่ม GCC (3.7% เทียบกับ 2.6%)

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดแรงงานหลังโควิด-19 ยังคงตามหลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และยังขาดแคลนตำแหน่งงานที่เหมาะสมสำหรับประชากรวัยทำงานที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น รายงานระบุว่าประเทศในกลุ่ม GCC มีการแบ่งแยกระหว่างชาวต่างชาติกับผู้อยู่อาศัย และระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ส่วนประเทศนอกกลุ่ม GCC มีปัญหาความไม่มีสเถียรภาพ ความขัดแย้ง ภาวะวิกฤต ภาคเอกชนที่อ่อนแอ และแรงกดดันด้านประชากรศาสตร์ ในปี 2023 ILO ประมาณการว่ามีผู้คนในภูมิภาคอาหรับ 17.5 ล้านคน ที่ต้องการทำงานแต่หางานไม่ได้ ส่งผลให้อัตราการว่างงานอยู่ที่ 23.7%

“เนื่องในวันความยุติธรรมทางสังคมโลก เราจึงเปิดตัวการวิเคราะห์นี้เกี่ยวกับแนวโน้มการจ้างงานและตลาดแรงงานในภูมิภาค และระบุวิธีส่งเสริมการทำงานที่เหมาะสมและความยุติธรรมทางสังคมในภูมิภาคของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันและการคุ้มครองแรงงาน” ราบา จาราดัต (Ruba Jaradat) ผู้อำนวยการ ILO ภูมิภาคอาหรับ กล่าว

“สถานการณ์ตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศอาหรับซับซ้อนและต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เราหวังว่ารายงานนี้จะแนะนำแนวทางแก้ไข ไม่เพียงแต่ตลาดแรงงานที่ดีขึ้น แต่ยังรวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพทั่วภูมิภาคของเราด้วย” จาราดัต กล่าว

เนื่องจากกลุ่มประเทศอาหรับเผชิญกับความท้าทายสองประการ ได้แก่ การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานที่มีคุณค่ามากขึ้น รายงานระบุว่าจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่เผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมัน และสร้างงานในภาคส่วนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความไม่มั่นคง

ความท้าทายด้านตลาดแรงงาน


ที่มาภาพ: ILO

รายงานยังระบุถึงปัญหาการจ้างงานหลายอย่างในภูมิภาคนี้ ที่ฝังรากมาจากปัญหาการสร้างงานที่มีคุณค่าให้เพียงพอต่อประชากรวัยทำงาน คนทำงานกว่าครึ่งหนึ่งทำงานในรูปแบบไม่เป็นทางการและไม่มั่นคง ไม่มีหลักประกันทางสังคมหรือสวัสดิการอื่น ๆ งานที่ไม่คงส่งผลกระทบต่อแรงงาน 7.1 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.6% ของการจ้างงานทั้งหมดในปี 2023 นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคสำคัญด้านอุปทาน ระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาทักษะที่คนทำงานมีไม่ตรงกับทักษะที่นายจ้างต้องการ สิ่งเหล่านี้ทำให้อัตราการว่างงานในภูมิภาคอาหรับมีสูงมาก แม้กระทั่งในกลุ่มผู้ที่มีการศึกษาระดับสูง แต่ถ้าเป็นผู้หญิง คนหนุ่มสาว และแรงงานต่างชาติ ก็ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบในตลาดแรงงาน

รายงานยังเน้นย้ำถึงวิกฤตผู้ลี้ภัยในภูมิภาค ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อตลาดแรงงาน แม้ว่าซีเรียจะเป็นแหล่งส่งออกผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เลบานอนและจอร์แดนก็เป็นประเทศผู้รับผู้ลี้ภัยรายใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยมีจำนวนผู้ลี้ภัยต่อหัวสูงที่สุดในโลก ผู้ลี้ภัยประสบความยากลำบากในการหางานในประเทศที่รองรับพวกเขา ซึ่งพวกเขาต้องแข่งขันกับคนท้องถิ่น หลายคนจึงหันไปทำงานแบบไม่เป็นทางการ

สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือ การเพิ่มขึ้นของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอันเกิดจากความขัดแย้ง ความรุนแรง และภัยธรรมชาติ ซีเรีย เยเมน อิรัก และปาเลสไตน์ เผชิญกับวิกฤตการพลัดถิ่นภายในประเทศ ก่อให้เกิดความตึงเครียดอย่างมากต่อทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขา

ภูมิภาคอาหรับยังเผชิญกับทั้งความท้าทายและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ รายงานพบว่า ด้วยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวที่เหมาะสมสำหรับภูมิภาคนี้ สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างงานได้อีก 2 ล้านตำแหน่งภายในปี 2050 อย่างไรก็ตาม ต้องมีการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่ามีการเปลี่ยนผ่านอย่างยุติธรรม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ก้าวไปข้างหน้า


ที่มาภาพ: ILO

"การส่งเสริมการสร้างตำแหน่งงานที่มีคุณค่าในเศรษฐกิจสีเขียว มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม ขจัดการเลือกปฏิบัติ และสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นด้านอายุ เพศ สัญชาติ หรือศาสนา" คำพูดนี้กล่าวโดยทาริก ฮัส (Tariq Haq) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการจ้างงานของ ILO และหัวหน้าหน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมประจำภูมิภาคอาหรับ ซึ่งเป็นผู้นำในการจัดทำรายงานฉบับนี้ 

"ความพยายามร่วมมือกันและการบูรณาการ จำเป็นต้องพิจารณาทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ของตลาดแรงงาน รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองด้าน รายงานฉบับนี้นำเสนอชุดคำแนะนำเชิงนโยบายเพื่อบรรลุสิ่งนี้" ฮัส กล่าว

คำแนะนำต่าง ๆ ในรายงานฉบับนี้ประกอบไปด้วย 

  • การออกแบบและดำเนินนโยบายมหภาคและนโยบายภาคเศรษฐกิจที่สนับสนุนการจ้างงานที่ครอบคลุม 
  • การสร้างปัจจัยเอื้อต่อการเติบโตของภาคการผลิตและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง 
  • การปรับปรุงระบบทักษะและการศึกษารวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 
  • คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจนอกระบบไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นทางการ 
  • การปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศ 
  • การปรับปรุงข้อมูลตลาดแรงงาน 
  • การแก้ไขความไม่เท่าเทียม และปกป้องสิทธิแรงงาน 
  • มาตรการเฉพาะต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอย่างยุติธรรม

อนึ่งประเทศที่ทำการศึกษาในรายงานฉบับนี้ประกอบไปด้วย บาห์เรน อิรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน ปาเลสไตน์ โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน


ที่มา:
High unemployment rates to worsen despite optimistic economic outlook in Arab States (ILO, 20 February 2024)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net