Skip to main content
sharethis

งานวิจัยโดยกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ระบุนโยบายป่าไม้ในยุค คสช.และโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นข้ออ้างเพื่อปิดล้อมและแย่งยึดที่ดิน - พื้นที่ป่าของชุมชน ก่อให้เกิดสภาวะความยากจนฉับพลันและเรื้อรังข้ามรุ่น

https://live.staticflickr.com/65535/53564181171_d526b6b866_k_d.jpg

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2567 กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้แก่ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) Protection International (PI) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และกรีนพีซ ประเทศไทย จัดเวทีเสวนา ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  เพื่อนำเสนอข้อค้นพบจากรายงานวิจัย “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง กรณีป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลง 2” [1] และข้อเสนอนโยบายสาธารณะที่เป็นรูปธรรมต่อหน่วยงานของรัฐด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กว่า 9 ปีที่ราษฎรในชุมชนคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร รวมตัวกันในนามนักปกป้องสิทธิ์ “กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคําป่าหลาย”เพื่อปกป้องที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติจากการถูกแย่งยึดโดยนโยบายของรัฐนับจากนโยบายป่าไม้ในยุค คสช.โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทรายเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างมาจนถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมโดยอ้างนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)

ข้อค้นพบหลักจากงานวิจัยรวมถึง ;

  • นโยบายป่าไม้ในยุค คสช ที่อ้างว่าเป็นการทวงคืนผืนป่า คือวาทกรรมของรัฐบาล คสช. ในการ สร้างความชอบธรรมในการแย่งยึดที่ดินของราษฎรเพื่อเปลี่ยนที่ดินและพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่เชิงเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้ทุนเข้ามาเปลี่ยนทรัพยากรไปเป็นสินค้าหรือการทำให้ธรรมชาติกลายเป็นทุน (Capitalisation of nature) ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำเหมืองหินทรายอุตสาหกรรมและโครงการไฟฟ้าพลังงานลม เป็นต้น โดยใช้ความคลุมเครือของเอกสารสิทธิ์ กรณีพื้นที่ประกาศเขตป่าทับซ้อนที่ยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ หรือกรณีพิพาทระหว่างรัฐและชุมชน และอำนาจกฏหมายตลอดจนการใช้ความรุนแรงมาบีบบังคับ แย่งยึดเอาที่ดินให้อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ
  • นโยบายป่าไม้ในยุค คสช ไม่เพียงเป็นการแย่งยึดที่ดินทำกินแต่ยังเปลี่ยนชาวบ้านจากผู้บุกเบิก ผู้อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ให้กลายเป็น “นอมินี” หรือ ตัวแทนผู้กระทำการแทนนายทุนในการเข้าบุกรุกทำลายป่า เป็นการสร้างสำนวนโวหารใหม่ในการพรากที่ดินจากราษฎร และเพื่อซ่อนเร้นผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวจากการรับรู้ของสาธารณะ โดยพบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายป่าไม้ในยุคคสช.เกือบทั้งหมดไม่ใช่นายทุนหรือผู้มีอิทธิพล เป็นเพียงเกษตรกร เป็นราษฎรที่พยายามดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจนและต้องการจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม
  • นโยบายป่าไม้ในยุคคสช.สัมพันธ์กับ “ความยากจน” อย่างแนบแน่น ทั้งนี้ ข้ออ้างเพื่อนำที่ดินไปขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกรผู้ยากไร้นั้นเป็นเรื่องหลอกลวง งานวิจัยพบว่า การแย่งยึดที่ดินก่อให้เกิดสภาวะ “ความยากจนฉับพลัน” และนำไปสู่ภาวะ “ความยากจนเรื้อรัง” ในระยะต่อไป เนื่องจากที่ดินที่ถูกยึดไปเกือบทั้งหมดเป็นที่ดินทำกินและเครื่องมือในการสร้างตัวของครอบครัว การสูญเสียที่ดินเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ราษฎรไม่อาจวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทัน การอาศัยอำนาจกองทัพและบรรยากาศรัฐประหารมากดดันสร้างความหวาดกลัวจนราษฎรไม่กล้าต่อรอง และเรียกร้องการเยียวยาจากรัฐ เกิดวิฤตการเงินของครัวเรือนซึ่งเป็นผลจากการหายไปของรายได้ที่เคยได้จากผลผลิตทางการเกษตรบนที่ดินที่ถูกยึด รายได้ที่ลดลงอย่างฉับพลันนำไปสู่การเป็นหนี้เพิ่มโดยการกู้ยืมเงินทั้งจากสถาบันการเงินในระบบและ นอกระบบเพื่อใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวัน บางส่วนนำมาหมุนหนี้ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเงินที่มีความเสี่ยงสูง งานวิจัยยังพบว่า ครัวเรือนจำนวนไม่น้อยไม่มีศักยภาพในการใช้หนี้ได้ตามสัญญา เนื่องจากรายได้ที่หายไปเป็นเงินก้อนสำคัญที่ใช้ “หมุนหนี้” สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดภาวะ “ปัญหาหนี้ข้ามรุ่น” และ “ความยากจนข้ามรุ่น” จากการขาดศักยภาพในการพึ่งตนเองเนื่องจากกลายเป็นครัวเรือนไร้ที่ดิน  
  • โครงการไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้ BCG Model กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแย่งยึดที่ดินและการเปลี่ยนทรัพยากรเป็นสินค้าผ่านกลไกทุนนิยมระดับ โลก การทำกังหันลมต้องถากถางพื้นที่ป่าเพื่อติดตั้งเสา 14 ต้น ใช้พื้นที่ต้นละ 6 ไร่รวมพื้นที่ 84 ไร่ จะมีการทำถนนเชื่อมต่อระหว่างเสาแต่ละต้นกว้าง 10 เมตรโดยแบ่งเป็นพื้นที่ถนน 8 เมตรไหล่ถนนฝั่งละ 1 เมตร ในส่วนของโรงไฟฟ้าซึ่งจะมีกำลังการผลิตที่ 80 เมกกะวัตต์จะใช้พื้นที่ราว 20 ไร่ [2]
  • กระบวนการแย่งยึดที่ดินที่อาศัยกระแสสิ่งแวดล้อมโลกไม่เพียงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนในประเทศเท่านั้น แต่ยังสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มประเทศศูนย์กลางอำนาจและกลุ่มประเทศชายขอบ การออกแบบให้ธรรมชาติกลายเป็นสินค้าในตลาดคาร์บอนเอื้อให้กลุ่มอุตสาหกรรม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปได้ตราบเท่าที่จ่ายเงินชดเชยให้กับกลุ่มประเทศที่มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ระบบคิดดังกล่าวก่อให้เกิดการขูดรีดธรรมชาติและผลักภาระให้ชุมชนท้องถิ่นในซีกโลกใต้ในสองลักษณะคือ (1) กีดกันและขับไล่ชุมชนท้องถิ่นออกจากทรัพยากรที่เคยพึ่งพิงและใช้ประโยชน์ เพื่อทำให้พื้นที่ป่ากลายเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนได้อย่างเต็มที่ เป็นการทำลายดุลยภาพและความสัมพันธ์ระหว่างคนและระบบนิเวศธรรมชาติ และ (2) ขูดรีดศักยภาพของชุมชนในการพึ่งตนเอง การแย่งยึดเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เปลี่ยนทรัพยากรให้เป็นสินค้าได้ทำลายศักยภาพในการพึ่งตนเองของชุมชนไปอย่างไม่สนใจใยดี

กิติมา ขุนทอง นักวิจัยโครงการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า “นโยบายทวงคืนผืนป่าได้สร้างความทุกข์จนทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับความทุกข์ตรมทางอารมณ์แก่ชาวบ้านผู้ถูกแย่งยึดที่ดิน รัฐต้องรื้อถอนกรอบคิดเรื่องธรรมชาติเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ และตระหนักว่าความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติไม่ได้อยู่ในลักษณะคู่ตรงข้ามหรือมุ่งทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติแต่เพียงด้านเดียว”

ข้อเรียกร้องจากนักปกป้องสิทธิกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายมีดังนี้

  • ยกเลิกแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ 2557 รัฐต้องยอมรับว่าการปฏิบัติการนโยบายดังกล่าวไม่ได้วางอยู่บนหลักการอันชอบธรรมทางกฏหมายและสิทธิมนุษยชน รวมถึงข้อเท็จจริงในพื้นที่จนทำให้เกิดสถานการณ์แย่งยึดป่าไม้และที่ดิน ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพของราษฎรโดยเฉพาะเกิดความยากจน เกิดความทุกข์ทนเชิงสังคมและอารมณ์
  • ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากนโยบายป่าไม้ในยุค คสช เพื่อแก้ไขปัญหา และเยียวยาในระดับจังหวัดและระดับประเทศ พร้อมให้ดำเนินการสำรวจรังวัดแนวเขตใหม่โดยใช้ความเป็นธรรมทางกฏหมายและข้อเท็จจริงในพื้นที่ ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีสิทธิพิสูจน์สิทธิการใช้ประโยชน์ แนวทางการแก้ไขปัญหาไม่ควรถูกบีบให้แคบอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในการแย่งยึดที่ดินของประชาชน
  • เปิดให้ประชาชนเสนอแนวทางการจัดการที่ดินตามบริบทของพื้นที่และสอดคล้องกับการใช้ที่ดินเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ในระหว่างแก้ไขปัญหา (1) ให้คืนสิทธิและยกเลิกคดี ให้สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยทางกฏหมาย (2) คืนเอกสารสิทธิประชาชน (สปก. 4-01) ที่รัฐริบไป
  • ตั้ง “กองทุนฟื้นฟูและเยียวยา” ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่ระยะสั้นจนถึงระยะยาว และการเยียวยาโดยครอบคลุมทุกมิติโดยเฉพาะการสูญเสียรายได้ รวมทั้งต้องนับรวมต้นทุนการต่อสู้เพื่อทวงคืนสิทธิเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบ
  • รัฐต้องยอมรับว่าการใช้กลไกตลาดมาเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกับการแสวงประโยชน์จากพื้นป่าและทรัพยากรธรรมชาตินั้นไปด้วยกันไม่ได้ รังแต่จะก่อให้เกิดการแย่งชิงและกีดกันชุมชนออกจากทรัพยากรที่พึ่งพิงและใช้ประโยชน์ ผลักภาระให้ธรรมชาติและราษฎรต้องแบกรับแทนภาคการผลิตอุตสาหกรรมอย่างไม่ยุติธรรม ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การถ่างกว้างของปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
  • รัฐต้องยุติการข่มขู่ คุกคาม และปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ลุกขึ้นมายืนหยัดถึงสิทธิในที่ดิน สิทธิในทรัพยากรและสิทธิชุมชน

ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาสังคม ฯ ได้จัดแสดงนิทรรศการ “BCG แย่งยึดอะไรที่คำป่าหลาย  นโยบายฟอกเขียวในนามความยั่งยืนหรือการแย่งยึดแผ่นดินราษฎร” สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิต และผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐที่มีต่อราษฎรกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการได้ที่ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) วันที่ 27 ก.พ. - 10 มี.ค. 2567 เวลา 10.00-20.00 น.


หมายเหตุ
[1] สรุปรายงานวิจัย “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง กรณีป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลง 2”
[2]
เอกสารสรุปข้อมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net