Skip to main content
sharethis

สภาฯ ร่วมกับภาคประชาสังคม-องค์กรระหว่างประเทศหลายเครือข่าย จัดสัมมนาหารือสถานการณ์ 3 ปีหลังรัฐประหารเมียนมา 'โรม' และ 'ปดิพัทธ์' กล่าวเปิดงาน หวังวงประชุมเป็นพื้นที่พูดคุย-เป็นสะพานเชื่อมความต่างสู่การแก้ปัญหาอย่างสันติ

 

4 มี.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานเมื่อ 2 มี.ค. 2567 ที่อาคารรัฐสภา องค์กรภาคีเครือข่ายทั้งไทย และต่างประเทศ ร่วมด้วยคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง (International IDEA) กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR), องค์กรภาคประชาสังคม "Fortify Rights", มูลนิธิเสมสิกขาลัย, และสำนักข่าวเมียนมา "Mizzima Media Group" ร่วมจัดการประชุมนานาชาติและนิทรรศการ "3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยในเมียนมา และผลกระทบต่อความมั่นคงชายแดนไทย" ระหว่างวันที่ 2-3 มี.ค. 2567

งานสัมมนามีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั้งหน่วยงานด้านการระหว่างประเทศของไทย ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงตัวแทนของภาคส่วนและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา ที่เข้าร่วมทั้งด้วยตนเองและผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์รวมกว่า 200 คน รวมทั้งบุคคลสำคัญอย่าง จ่อโมทุน ผู้แทนถาวรเมียนมา ประจำสหประชาชาติ, 'ซินหม่าอ่อง' รัฐมนตรีการต่างประเทศ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG), ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษด้านเมียนมาประจำสหประชาชาติ ดันแคน แมคอาเธอร์ จาก “The Border Consotium” และอื่นๆ 

รังสิมันต์ โรม

ในโอกาสนี้ รังสิมันต์ โรม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้เป็นผู้กล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมในครั้งนี้ โดยระบุว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในประเทศเมียนมา ได้ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนออกมาสู่ทั้งภูมิภาครวมทั้งประเทศไทย และเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสันติภาพและความเป็นไปในเมียนมามีผลอย่างสำคัญต่อความเป็นไปในประเทศไทยและทั้งภูมิภาคอาเซียน

ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ตนขอย้ำว่า รัฐสภาต้องมีความรับผิดชอบสำคัญในการปกป้องการเติบโตและงอกงามของประชาธิปไตย รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ซึ่งจะไม่เพียงแต่เติมเต็มความฝันของชาวเมียนมา แต่ยังจะเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับความมั่นคงและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคด้วย

รังสิมันต์ กล่าวต่อไป ว่าประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่พิเศษกับเมียนมาอย่างที่ไม่มีประเทศไหนสามารถมีได้เสมือน ด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีร่วมกันมาอย่างช้านาน รวมถึงพรมแดนที่อยู่ใกล้ชิดกัน และด้วยสถานะแบบนี้ ทำให้ประเทศไทยสามารถมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางสำหรับการพูดคุยเพื่อแสวงหาหนทางสู่สันติภาพให้กับความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นได้

ดังนั้น การมีส่วนร่วมของประเทศไทยอย่างแข็งขันในกระบวนการสันติภาพ ด้วยการนำพาภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาสู่การพูดคุยกันภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตร จะปูทางสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองและอนาคตประชาธิปไตยของเมียนมาอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่ต่อเพียงเฉพาะเมียนมาเท่านั้น แต่จะเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทย ที่พร้อมจะร่วมมือกับทุกส่วนในการแสวงหาความมั่นคงในภูมิภาคด้วย

"สิ่งที่เรากำลังทำในวันนี้คือบันไดก้าวแรก ในการนำผู้มีส่วนได้เสียที่แตกต่างหลากหลายมาร่วมพูดคุยกัน นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่การสร้างพื้นที่ในการพูดคุยและแสวงหาความร่วมมือต่อกัน และด้วยการพูดคุยครั้งนี้ จะเป็นการปูทางสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองในเมียนมาอย่างสันติและยั่งยืนต่อไปในอนาคต" รังสิมันต์ กล่าว

นอกจากนี้ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ยังได้ร่วมกล่าวต้อนรับทุกภาคส่วนที่มาร่วมการประชุมในวันนี้ด้วย โดยระบุว่าเป็นเวลา 3 ปีแล้วที่กองทัพเมียนมาได้ทำการรัฐประหาร การแสวงหาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นเป้าหมายของชาวเมียนมาที่ยังไม่บรรลุ การต่อสู้เพื่ออนาคตที่เป็นธรรมและมีสันติภาพยังคงดำเนินต่อไป และยังส่งผลต่อทั้งภูมิภาครวมทั้งประเทศไทยด้วย

การประชุมตลอดทั้งสองวันนี้เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นที่พวกเรา ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ตัวแทนประชาคมระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญ และที่สำคัญที่สุดคือประชาชนชาวเมียนมาที่กล้าหาญ ต่างมีร่วมกันในการตระหนักรู้ถึงปัญหาที่ซับซ้อนและมีหลายระดับของสิ่งที่เกิดขึ้นล

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อไป ว่าด้วยการพูดคุยอย่างเปิดเผยและการร่วมแลกเปลี่ยนอย่างเสรี และด้วยความปรารถนาที่จะแสวงหาร่วมมือระหว่างกัน ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้นต่อสถานการณ์ในเมียนมา ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวิกฤติมนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

รวมทั้งการมองให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในอนาคตของเมียนมา เพื่อเตรียมตัวเราเองให้พร้อมสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ทั้งในแง่ของความท้าทาย และสิ่งที่เราจะทำได้ในอนาคต รวมถึงการนำไปสู่ยุทธศาสตร์และแผนที่เป็นรูปธรรมสำหรับทั้งประเทศไทยและประชาคมโลก ในการสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยในเมียนมา การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และการสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคนี้ภายใต้ความร่วมมือและการให้เกียรติต่อกัน

"เรามารวมกันที่นี่ ไม่ใช่เพียงเพื่อมารับฟังความคิดที่แตกต่างกันและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เท่านั้น แต่เราจะร่วมกันสร้างสะพานเชื่อมความแตกต่างเข้าหากัน แสวงหาพื้นที่ตรงกลาง และการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างอนาคตให้แก่เมียนมาที่เป็นธรรมและมีสันติภาพต่อไปในอนาคต" ปดิพัทธ์ กล่าว

ปดิพัทธ์ ยังกล่าวต่อไป ว่าความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างกองทัพของสองประเทศคือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่อนุญาตให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้ หากเทียบกับที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงตัวอย่างการปฏิบัติจากองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐสภาระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น IPU หรือ AIPA ที่ปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐบาลทหารเมียนมา สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการยึดถือหลักการประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน

สำหรับตนและเพื่อนสมาชิกรัฐสภาของประเทศไทย เราจะใช้กลไกของสภาในการตรวจสอบรัฐบาลไทยให้มีความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เช่น การตั้งคำถามต่อวิกฤติมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จากการทะลักข้ามพรมแดนของผู้หนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีคำตอบหรือแนวทางใดๆ

สำหรับการประชุมในวันนี้ มีการพูดคุยในหลายประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้ง, สถานการร์ทางเศรษฐกิจ, สถานการณ์เสรีภาพสื่อและบทบาทสื่อมวลชน, ความสาหัสของวิกฤติทางมนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้น, บทบาทของประชาคมระหว่างประเทศรวมทั้งประเทศไทย ในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาในเมียนมา เป็นต้น

โดยประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงอย่างน่าสนใจ คือความเป็นไปได้ของระบบการเมืองของเมียนมาในอนาคต ที่เป็นรูปแบบประชาธิปไตยสหพันธรัฐ (Federal democratic governance) ที่ในขณะนี้มีข้อเห็นร่วมกันอย่างหลวมๆ เกิดขึ้นแล้วในสังคมเมียนมา ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่จะให้สิทธิในการปกครองตนเองอย่างเท่าเทียมกับชาติพันธุ์ต่างๆ และเหมาะสมกับสังคมเมียนมาที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่สุด โดยในหมู่แนวร่วมต่อต้านการรัฐประหารภายใต้รัฐบาลเงา NUG ในขณะนี้ ได้มีการหารือกันในระดับหนึ่งแล้วถึงการสร้างรูปแบบการปกครองที่เป็นไปได้นี้ หลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารประสบความสำเร็จในอนาคต

นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนามีการจัดนิทรรศการจากภาคประชาสังคม มูลนิธิเสมสิกขาลัย จัดนิทรรศการ 'In-Between หรือชีวิตติดกับ' ที่เล่าเรื่องผู้ลี้ภัยและผลกระทบจากสงครามรัฐกะเรนนี, มูลนิธิ "Fortify Rights", องค์กร Sea-Junction ที่จัดนิทรรศการเรื่อง 'ศิลปะแห่งการต่อต้านรัฐประหารเมียนมา' และอื่นๆ

นิทรรศการงานสัมมนา 3 ปีหลังรัฐประหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net