Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความฯ อัพเดตสถิติคดีทางการเมืองรอบเดือน ก.พ.67 มีคนโดนคดีการเมืองแล้ว 1,951 คน เฉพาะคดีม.112 มี 268 คน 295 คดี ติดคุก 25 คน ยอดรวมผู้ต้องขังทุกข้อหา 42 คน 

5 มี.ค.2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานถึงสถิติคดีการเมืองรอบเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้อย่างน้อย 1,951 คน ในจำนวน 1,279 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 217 คดีแบ่งดังนี้

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

 

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 268 คน ในจำนวน 295 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 150 คน ในจำนวน 48 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 665 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 179 คน ในจำนวน 92 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 199 คน ในจำนวน 220 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,279 คดีดังกล่าว มีจำนวน 520 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 759 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ

ศูนย์ทนายความฯ ระบุถึงรายละเอียดสถิติของคดีม.112 ว่า เดือนที่ผ่านมามีคดีเพิ่มขึ้นมา 7 คดี เป็นผู้ต้องหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนถึง 5 คน และมี 3 คดีที่ผู้กล่าวหาเป็นคนจากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส.แจ้งความดำเนินคดีเอาไว้ตั้งแต่ช่วงปี 2563-2565 แต่ตำรวจเพิ่งมีการดำเนินการออกหมายเรียกรับทราบข้อหามาในช่วงนี้ทำให้มีคดีรวมแล้วถึง 295 คดี

นอกจากนั้นยังมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาเพิ่มในเดือนที่ผ่านมา 7 คดี เป็นศาลชั้นต้น 6 คดี ศาลอุทธรณ์ 1 คดี  ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ศาลยกฟ้อง 2 คดี  ส่วนที่เหลืออีก 5 คดีเป็นคดีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ และมีเพียงคดีเดียวเท่านั้นที่ศาลให้รอการลงโทษเอาไว้ทำให้มีผู้ต้องขังเฉพาะคดีม.112 ในขณะนี้มีรวมแล้ว 25 คน

สำหรับคดีทางการเมืองอื่นๆ ที่ศูนย์ทนายความระบุถึงว่าเป็นคดีที่สำคัญในเดือนที่ผ่านมาคือการใช้ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

คดีแรก เป็นคดีของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ 2 นักกิจกรรมที่ไลฟ์สดเหตุการณ์การโต้เถียงกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เข้ามาสั่งให้จอดรถ บริเวณทางด่วนมักกะสัน และมีการบีบแตรค่อนข้างยาวใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดกระแสของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและโซเชียลมีเดียนำไปปลุกปั่นพร้อมกล่าวหาพวกเขาว่าบีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเดฺ็จพระเทพฯ และทั้งคู่พยายามขับรถติดตามขบวนเสด็จ

คดีนี้เบื้องต้นแม้ว่าทาง สน.ดินแดง เพียงแค่ออกหมายเรียกทั้งสองคนไปรับทราบข้อหาเรื่องการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ แต่ภายหลังกลับมีการออกหมายจับตามเป็นข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยโดยกล่าวหาว่าการเผยแพร่คลิปของทานตะวันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ปรากฏแก่ประชาชน ส่งเสริมให้บุคคลแสดงความคิดเห็นต่อต้านขบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ และทำให้พวกเขาถูกฝากขังแล้วศาลก็ไม่ให้อนุญาตให้ประกันตัวในเวลาต่อมา

นอกจากนั้นยังมีคดีที่ใช้มาตรา 116 พ่วงไปกับ มาตรา 112 กับนักกิจกรรมอีก 3 รายที่อ่านแถลงการณ์ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อช่วงปี 2564

อีกทั้งยังมีกรณีสื่อมวลชนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองด้วยอีก 2 คน คือกรณีของ ณัฐพล เมฆโสภณ หรือ “เป้” จากสำนักข่าวประชาไทและ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ หรือ “ยา” จากสำนักข่าวสเปซบาร์ เพราะทั้งคู่ลงพื้นที่รายงานและติดตามสถานการณ์การแสดงออกพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ของ “บังเอิญ” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 โดยทางเจ้าหน้าที่กล่าวหาพวกเขาว่าเป็นผู้สนับสนุนในการทำให้โบราณสถานเสียหายอีกด้วย และเป็นคดีที่พวกเขาถูกออกหมายจับกุมโดยไม่เคยได้รับหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหามาก่อน

นอกจากนั้นสื่อมวลชนทั้ง 2 คนยังได้รับหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาคดีที่เสรี สุวรรณภานนท์ วุฒิสมาชิก แจ้งความหมิ่นประมาทฯ พวกเขาจากการลงพื้นที่ทำข่าวนักกิจกรรมไปร่วมกันติดใบปลิวเรียกร้องให้ สว.ฟังเสียงประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณตลาดเสรี 2 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2566 อีกด้วย

ผู้ต้องขังคดีการเมือง

นอกจากสถิติคดีแล้ว ทางศูนย์ทนายความฯ ยังได้เปิดเผยสถิติผู้ต้องขังคดีและสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังด้วย ณ วันที่ 5 มี.ค.2567 นี้มีผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างน้อย 42 คน นับว่าเป็นจำนวนผู้ต้องขังการเมืองในเรือนจำที่ ‘มากที่สุด’ ในรอบหลายปี อย่างน้อยในรอบ 3 ปี (2564 - 2566) ที่ไม่เคยมียอดรวมแตะ 40 คนมาก่อน

จำนวนนี้มีคนถูกคุมขังระหว่างสู้คดีเพิ่มอีกถึง 5 คน ได้แก่ “ก้อง” อุกฤษฏ์, “ตะวัน” ทานตะวัน, “แฟรงค์” ณัฐนนท์, อัฐสิษฎ และ “ไบร์ท” ชินวัตร ขณะที่ศาลยังไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังการเมืองคนใดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แล้วจากครั้งล่าสุดเมื่อ ธ.ค. ปีที่แล้ว 

ผู้ต้องขังทั้ง 42 คนนี้แบ่งเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างสู้คดี 27 คน ผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดแล้ว 13 คน และผู้ต้องขังเยาวชนที่ถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯ ตามมาตรการแทนคำพิพากษาของศาล

ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

นอกจากนั้นล่าสุด มีผู้อดอาหารประท้วง (Hunger Strike) 4 คน ได้แก่ บุ้ง ตะวัน แฟรงค์ และบัสบาส โดย ตะวันและแฟรงค์ อดน้ำร่วมด้วย (Dry Fasting) ส่วนบัสบาสตั้งใจจะอดน้ำร่วมด้วยในเร็ววันนี้ ผู้ต้องขังหลายรายมีปัญหาด้านสุขภาพจากทั้งโรคประจำตัวและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

กลุ่มอดอาหารประท้วงและทำอารยะขัดขืน

1. “บุ้ง” เนติพร นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง อดอาหารและน้ำประท้วง (Dry Fasting) ในช่วงแรก ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2567 นับเป็นผู้ประท้วงคนแรกในรอบปีนี้ ก่อนสภาพร่างกายรู้สึกทรมานและได้รับผลกระทบจากการประท้วงมากจึงตัดสินใจเริ่มจิบน้ำในปริมาณที่จำกัด แต่ยังคงอดอาหารประท้วงต่อไป โดยมี 2 ข้อเรียกร้อง ได้แก่

1) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

2) จะต้องไม่ผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก

ปัจจุบันบุ้งยังคงถูกคุมขังอยู่ในคดีมาตรา 112 จากการถูกถอนประกันตัวคดีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ที่สยามพารากอน เมื่อปี 2564 และเธอยังคงดำเนินการประท้วงต่อไปที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อาการของบุ้งน่าเป็นกังวล อาทิ อาเจียนบ่อยครั้ง อ่อนเพลีย ค่าความปกติของเลือดและร่างกายผิดเพี้ยน น้ำหนักตัวลดลง รู้สึกทรมานมาก ฯลฯ

2. “ตะวัน” และ “แฟรงค์” นักกิจกรรมทางการเมือง อดอาหารและน้ำประท้วงตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. วันแรกที่ถูกคุมขังในคดี ม.116 กรณีขบวนเสด็จเรื่อยมาจนปัจจุบัน มี 3 ข้อเรียกร้อง โดย 2 ข้อแรกเหมือนกับของบุ้ง ส่วนอีก 1 ข้อเรียกร้องเพิ่มเติม คือ ประเทศไทยไม่สมควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN) ซึ่งจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. นี้

ปัจจุบันทั้งสองยังคงถูกคุมขังอยู่ในคดีมาตรา 116 จากการถูกฝากขังในชั้นสอบสวน โดยตะวันอยู่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ส่วนแฟรงค์ยังคงอยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ ทั้งสองมีอาการที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดและน่าเป็นกังวลมาก เพราะทั้งคู่ยังคงยืนยันที่จะปฏิเสธการดื่มน้ำ ทำให้ปัสสาวะน้อยมาก ไม่ขับถ่ายแล้ว อ่อนแรงมาก อาเจียน ซูบผอม รู้สึกทรมาน รู้สึกร้อนมากจากข้างในร่างกาย ฯลฯ

3. “บัสบาส” นักกิจกรรมและพ่อค้าเสื้อออนไลน์ วัย 30 ปี อดอาหารประท้วงความอยุติธรรมและเรียกร้องสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังการเมืองทุกคน เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา และเขาตั้งใจจะอดน้ำร่วมด้วยเมื่อประท้วงครบ 7 วัน (คาดว่าภายในวันที่ 5 ก.พ.)

บัสบาสถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเชียงราย ในคดีมาตรา 112 หลังถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาจำคุกสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 50 ปี จากการโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อปี 2564

“เวหา” อารยะขัดขืน

การอารยะขัดขืนต่อกระบวนการยุติธรรมลักษณะอื่น ๆ นอกจากการอดอาหารประท้วงยังคงมีเกิดขึ้นในเรือนจำ อาทิ การยืนหยุดขังเป็นเวลา 112 นาทีในช่วงเย็นของแต่ละวัน ภายหลังเพลงสรรเสริญพระบารมีจบลง หรือการอารยะขัดขืนด้วยการเขียนป้ายประท้วงและยืนต่อหน้ากล้องวงจรปิดภายในห้องขังของ “เวหา” ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในคดีมาตรา 112 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

“วุฒิ” ถูกย้ายเรือนจำ

วุฒิ (นามสมมติ) พนักงานรักษาความปลอดภัย วัย 51 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่ภายหลังถูกสั่งฟ้องในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังถูกคุมขังนานกว่า 300 วัน หรือเกือบ 1 ปี โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ล่าสุดเขาถูกเบิกตัวออกมาจากเรือนจำเพื่อฟังคำพิพากษาของศาลอาญามีนบุรี โดยศาลพิพากษาจำคุก 36 ปี ก่อนลดเหลือจำคุก 12 ปี 72 เดือน (หรือประมาณ 18 ปี) กรณีถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ ในช่วงปี 2564

ต่อมา เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 วุฒิถูกย้ายตัวจากเรือนจำพิเศษมีนบุรีไปยังเรือนจำกลางคลองเปรมแล้ว โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด ตามระเบียบของเรือนจำพิเศษมีนบุรี เนื่องจากมีโทษจำคุกเกิน 15 ปี

ผู้ต้องขังหลายรายมีปัญหาด้านสุขภาพ

1) ภูมิ หัวลำโพง นักกิจกรรม ถูกควบคุมตัวอยู่ในคดี ม.112 ที่บ้านเมตตา สถานพินิจฯ ประสบอุบัติเหตุ ‘หัวไหล่หลุด’ ทำให้มีภาวะหัวไหล่หลวม แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการปรึกษาและอนุมัติของผู้อำนวยการบ้านเมตตาเพื่อส่งต่อไปยัง รพ.ภายนอกเพื่อรับการผ่าตัดและรักษาต่อไป โดยแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่าจะต้องใช้เวลารักษาประมาณ 1 ปี

2) กัลยา (นามสมมติ) ประชาชนจากกรุงเทพฯ ผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสประสบกับความเจ็บป่วยหลากหลายอาการจากโรคลิ่มเลือดอุดตันตั้งแต่ช่วงแรกที่ถูกคุมขังจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าระยะหลังจะได้รับความช่วยเหลือจากเรือนจำพาไปตรวจและรักษาโรคลิ่มเลือดอุดตันที่โรงพยาบาลด้านนอกเรือนจำแล้ว แต่ยังพบว่าต้องเผชิญอาการของโรคบางอย่างอยู่

3) ผู้ต้องขังหลายรายเป็นหวัดและเป็นไข้ในช่วงนี้ เนื่องจากตอนกลางคืนมีอากาศที่ค่อนข้างเย็น รวมถึงหลายรายยังคงประสบปัญหาความเครียด วิตกกังวล เนื่องจากการถูกคุมขังเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีอาการนอนไม่หลับ หมดความหวัง หดหู่ และซึมเศร้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net