Skip to main content
sharethis

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากล "ฮิวแมนไรท์ วอตช์" เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการคุมขังชาวอุยกูร์ จากจีน และให้ลี้ภัยประเทศที่ 3 หลังชาวอุยกูร์ถูกคุมขังมาตั้งแต่ปี 2557 และมีผู้เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 5 ราย

 

12 มี.ค. 2567 เว็บไซต์องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอตช์ รายงานเมื่อ 8 มี.ค. 2567 ระบุว่า ขณะนี้มีชาวอุยกูร์ ประมาณ 40 คนอยู่สถานกักกัน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู ซึ่งถูกทางการไทยควบคุมตัวตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2567 รวมระยะเวลา 1 ทศวรรษ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพกฎหมายสากล และกฎหมายในประเทศ ไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไปเผชิญอันตราย อีกทั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวพวกเขา และให้ชาวอุยกูร์ทั้งหมดเดินทางลี้ภัยไปในประเทศที่พวกเขาต้องการ

กรณีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12-13 มี.ค. 2557 เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไทยได้พบชาวอุย์กูร์ จำนวน 220 คน ลี้ภัยมาจากมณฑลซินเจียง ประเทศจีน ที่ป่าสวนยาง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา และผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ถูกควบคุมตัวกระจายไปยังห้องกักที่ต่างๆ ทั่วประเทศ 

เมื่อ 9 ก.ค. 2558 ทางการไทยได้บังคับส่งตัวชายอุยกูร์ 109 คน จากสถานกักกันคนต่างด้าวทั่วประเทศไทย ตามคำขอรัฐบาลจีน โดยมีการใส่กุญแจ และถุงคลุมหัว และส่งตัวพวกเขาให้กับเจ้าหน้าที่จีนที่กรุงเทพฯ จากนั้น มีการส่งตัวขึ้นเครื่องบินพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวจีนที่มารับตัวในระหว่างการส่งตัว

แฟ้มภาพ ชาวอุยกูร์จำนวน 109 คนถูกเอาถุงดำคลุมหัวและใส่กุญแจมือ ระหว่างถูกส่งตัวกลับประเทศจีน

องค์กรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์เหมือนกับเป็นอาชญากรร้ายแรง ซึ่งถือว่าดูหมิ่นศักดิ์ศรีพวกเขา และถ่ายภาพขณะที่มีการผูกตาและใส่กุญแจมือ โดยหลังจากวันนั้น ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของพวกเขา

ต่อมา ประเทศไทยตัดสินใจกักตัวชายชาวอุยกูร์ประมาณ 50 รายในสถานกันกัน ตม. ประเทศไทย และปล่อยให้พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกกักตัวโดยไม่มีเวลากำหนด 

ปัจจุบัน นับตั้งแต่มีการควบคุมตัวชาวอุยกูร์ เมื่อปี 2557 ยังคงมีชายอุยกูร์ อย่างน้อย 43 ราย ในสถานกักตัวคนต่างด้าว ซอยสวนพลู กรุงเทพฯ หน่วยคนเข้าเมืองได้ปฏิเสธไม่ให้หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ UNHCR สามารถเข้าถึงตัวพวกเขา ปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเหล่านี้มีสิทธิที่จะขอรับสถานะของผู้ลี้ภัย 

ทำไมชาวอุยกูร์ต้องลี้ภัย 

ชาวอุย์กูร์ อาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ประเทศจีน มีจำนวนประชากรราว 10 ล้านราย คิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนประชากรทั้งหมดในมณฑลซินเจียง 

เมื่อ พ.ค. 2557 รัฐบาลจีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เริ่มปฏิบัติการตามโครงการ 'Strike Hard Campaign เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายที่รุนแรง' ซึ่งเป็นการปฏิบัติมิชอบ และเร่งดำเนินการในปี 2560 คาดว่ามีการจับกุมตัวโดยพลการและคุมขังชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมเชื้อสายเตอร์กิซ ประมาณ 1 ล้านคนในซินเจียง ในช่วงที่มีปฏิบัติการนี้เข้มข้นมากสุด พวกเขาถูกสอดแนมข้อมูล ถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกบังคับให้พลัดพรากจากครอบครัว และถูกปฏิบัติมิชอบอย่างอื่น แม้จะเป็นโครงการที่อ้างว่ามุ่งต่อต้านการก่อการร้าย แต่ก็มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ทำกิจกรรมอย่างชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการรับโทรศัพท์ผ่านว็อทส์แอปจากคนที่อยู่ต่างประเทศ ในปี 2565  องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า สภาพในซินเจียง "อาจมีลักษณะเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ"

ตามโครงการนี้ รัฐบาลจีนยังได้ละเมิดต่อชาวอุยกูร์ที่หลบหนีไปต่างประเทศ นับแต่ปี 2557 ทางการไทยได้จับกุมผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์มากถึง 350 คนที่หลบหนีการประหัตประหารมาจากจีน แม้รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้ ผู้หญิงและเด็กประมาณ 173 คน เดินทางออกจากประเทศไทยไปตุรกี ตามความปรารถนาของพวกเขา แต่กลับปฏิบัติต่างไปอย่างสิ้นเชิงและละเมิดสิทธิของชายชาวอุยกูร์ที่ถูกกักตัวไว้
                                       
นอกจากชายชาวอุยกูร์ที่ต้องอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวต่อไป ยังมีชายชาวอุยกูร์ อย่างน้อย 5 คนที่ถูกคุมขังดำเนินคดีทางอาญา เนื่องจากหลบหนีออกจากสถานกักตัวคนต่างด้าวในจังหวัดมุกดาหาร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย หลังใช้โทษจนครบ คาดว่าพวกเขาจะยังคงถูกกักตัวโดยไม่มีเวลากำหนดต่อไป

ทำร้ายร่างกายละเมิดสิทธิฯ ของผู้ถูกคุมขัง  เข้าไม่ถึงสิทธิติดต่อบุคคลภายนอก

องค์กรสิทธิมนุษยชน ระบุว่า สำหรับชาวอุยกูร์ทุกคนที่ถูกกักตัวในประเทศไทย หน่วยตรวจคนเข้าเมืองไทยปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้าถึงทนายความ สมาชิกครอบครัว กลุ่มช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบุคคลอื่นๆ อีกทั้ง สภาพภายในสถานกักตัวคนต่างด้าวของไทยมีลักษณะแออัด และขาดสุขอนามัย ผู้ต้องกักขาดแคลนอาหาร น้ำ และบริการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม

ยกตัวอย่างความแออัดกรณีของไทย ผู้ต้องกักในสถานกักตัวคนต่างด้าวของไทยมักถูกกักในห้องแบบเปิด และบางครั้งมีคนอยู่แออัดมากกว่า 100 คน 

นอกจากนี้ สมัยก่อนผู้ต้องกักที่เป็นเด็กถูกควบคุมตัวพร้อมกับผู้ใหญ่ ทำให้เกิดอันตรายในแง่ความคุ้มครองทางสังคม แต่ในปี 2562 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เห็นชอบที่จะงดเว้นการกักตัวเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีกลับยังคงเห็นการกักตัวเด็กในห้องกัก

ฮิวแมนไรท์ วอตช์ ระบุว่า มีการสัมภาษณ์อดีตผู้ต้องกักเข้าเมืองผิดกฎหมาย พบว่าห้องกักที่ซอยสวนพลูมีการทุบตี และการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องหลายรูปแบบ และก่อนหน้านี้องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสถานกักกันเคยรวบรวมหลักฐานร้องเรียนต่อรัฐบาล แต่มีความเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้แสดงความใส่ใจอย่างจริงจังที่จะแก้ปัญหาร้ายแรงเหล่านี้

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวด้วยว่า พยานบางคนระบุว่า ชาวอุยกูร์ได้รับการปฏิบัติเลวร้ายกว่าผู้ต้องกักคนอื่น อีกทั้ง บทความของสำนักข่าวต่างชาติ VICE News เปิดเผยโดยอ้างคำพูดจากผู้ต้องกัก ระบุว่า "พวกเขาถูกปฏิบัติเหมือนเป็นผู้ก่อการร้าย … ไม่อนุญาตให้ใครมาเยี่ยม ไม่สามารถรับเงิน และไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือ แกนนำของพวกเขาจะถูกลงโทษ หากเจ้าหน้าที่พบว่าพวกเขาใช้โทรศัพท์มือถือ"

ตลอด 10 ปีมีผู้เสียชีวิต 5 ราย

รายงานจากฮิวแมนไรท์ วอตช์ และสภาอุย์กูร์โลก รายงานว่า เกือบ 10 ปี มีชาวอุยกูร์เสียชีวิตภายใต้การควบคุมของทางการไทย จำนวน 5 ราย โดยเมื่อปี 2557 มีทารก และเด็กวัย 3 ปี เสียชีวิต ต่อมา ปี 2561 ชายวัย 27 ปี เสียชีวิตจากโรคมะเร็งระหว่างอยู่ในห้องกัก

ปี 2566 มีชายชาวอุยกูร์เสียชีวิต 2 ราย ด้วยโรคปัญหาเกี่ยวกับตับ และปอด ระบบทางเดินหายใจ ระหว่างถูกคุมตัวในห้องกักสวนพลู กรุงเทพฯ

องค์กรสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หากทางไทยอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสมให้พวกเขาเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ให้เข้าถึงที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือหน่วยงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอื่นๆ พวกเราอาจป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิตเช่นนี้ได้ แต่ชาวอุยกูร์ถูกตัดขาดจากความสนับสนุน และถูกปล่อยทิ้งให้ต้องทนทรมานระหว่างการกักตัว ซึ่งฮิวแมนไรท์ วอตช์ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยตั้งใจเอาใจรัฐบาลจีน ซึ่งยังคงเรียกร้องให้ประเทศไทยบังคับส่งกลับบุคคลเหล่านี้

ไทยต้องยึดหลักการกฎหมายสากลไม่ส่งชาวอุยกูร์กลับไปเผชิญอันตราย

ขณะที่รัฐบาลไทย กลัวว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน แต่พวกเขาก็กังวลกับปฏิกิริยาด้านลบจากนานาชาติแบบที่เกิดขึ้นในปี 2558 ตอนที่ไทยส่งกลับชาวอุยกูร์ ส่งผลให้กลุ่มรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก เรียกร้องให้ประเทศไทยปล่อยตัวชาวอุยกูร์ที่ยังกักตัวอยู่ และอนุญาตให้พวกเขาเดินทางอย่างปลอดภัยไปประเทศที่ 3

ฮิวแมนไรท์ วอตช์ กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ประเทศไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะไม่ส่งตัวบุคคลไปยังสถานที่ใด ที่เสี่ยงจะทำให้เขาถูกทรมาน หรือ เมื่อ ก.พ. 2566 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของไทย เริ่มมีผลบังคับใช้ กฎหมายนี้กำหนดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่ "ขับไล่ ส่งกลับ  หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูก กระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย"

ฮิวแมนไรท์ วอตช์ เรียกร้องว่า รัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ควรระงับการตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์กลับไปประเทศจีน และตระหนักถึงพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสากล นอกจากนี้ รัฐบาลไทยควรปล่อยตัวชาวอุยกูร์ทั้งหมด และให้พวกเขาลี้ภัยไปประเทศที่ 3 เพื่อให้พวกเขาได้กลับไปพบหน้ากับครอบครัวอีกครั้ง 

อนึ่ง ต่อกรณีที่ทำไมผู้ลี้ภัยที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และไม่ได้ถูกดำเนินคดีอาญา ถึงถูกคุมขังอย่างยาวนานนั้น จากการสอบถามภาคประชาสังคม ระบุว่า ปกติ หากผู้ลี้ภัยถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับกุม เจ้าหน้าที่จะอาศัยอำนาจตามกฎหมาย มาตรา 54 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ผลักดันผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศ แต่ปัญหาอยู่ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่า ตม.สามารถควบคุมตัวได้นานเท่าไร ก่อนผลักดันออกประเทศ ดังนั้น จึงส่งผลทำให้ ตม.สามารถควบคุมตัวผู้ถูกกักนานเท่าไรก็ได้ และเป็นผลให้ชาวอุยกูร์ต้องอยู่ในห้องกักมาอย่างยาวนานถึง 10 ปี  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net