Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 10 ปี คุมขังชาวอุยกูร์ใน สตม.ไทย เครือข่ายภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือถึง 'เศรษฐา' ยุติทศวรรษแห่งการคุมขังชาวอุยกูร์อย่างไม่มีกำหนด


14 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (14 มี.ค.) ที่จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ ในวาระผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ถูกคุมขังในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไทย ครบ 10 ปี เมื่อเวลา 9.00 น. เครือข่ายประชาสังคม นำโดย กฤตพร เสมสันทัด ผู้อำนวยการโครงการ 'มูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ' ยื่นจดหมายเปิดผนึกลงนาม 10,088 รายชื่อถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยุติการคุมขังผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ที่ถูกกักตัวในสถานกักตัวสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยวันนี้มี รังสิมันต์ โรม ประธาน คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ จุลพงศ์ อยู่เกษ รองประธาน คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คนที่ 1 และ กัณวีร์ สืบแสง รองประธาน คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน คนที่ 3 เป็นตัวแทนรับหนังสือ 

กฤตพร ตัวแทนเครือข่าย กล่าวหลังยื่นหนังสือว่า นับตั้งแต่มีการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 220 คนเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2557 ต่อมา ในปี 2558 ทางการไทยได้แบ่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 

  • กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ลี้ภัยผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์ จำนวนราว 172 คน ทางการไทยได้ส่งไปประเทศที่ 3 หรือประเทศตุรกี เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2558 
  • เมื่อ 8 ก.ค. 2558 ทางการไทยได้บังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยชายชาวอุยกูร์ 109 คน ให้เจ้าหน้าที่ทางการจีน นำตัวกลับประเทศต้นทาง  โดยทั้งหมดนี้ไม่ทราบชะตากรรม
  • กลุ่มที่ยังค้างในห้องกัก สตม. ปัจจุบันเหลือผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จำนวนราว 48 ราย ตั้งแต่ 2557-2567 รวม 10 ปี

สภาพเลวร้ายของห้องกัก ปี'66 ชาวอุยกูร์เสียชีวิตแล้ว 2 ราย

กฤตพร กล่าวว่า สภาพห้องกักของ ตม. สวนพลู มีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย แออัด ไม่สามารถนอนเหยีดตรง มีการเปิดไฟตลอดเวลา ไม่มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมออกกำลังกาย และไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และบุคคลภายนอก เช่น ครอบครัว เจ้าหน้าที่สถานทูต และอื่นๆ ซึ่งเป็นกิจวัตรซ้ำๆ ตลอด 10 ปี ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกาย และจิตใจของผู้ถูกกักขังย่ำแย่ลง

สมาชิกมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ กล่าวด้วยว่า ด้วยสภาพเลวร้ายในห้องกัก ทำให้เมื่อปีที่แล้ว (2566) มีชาวอุยกูร์เสียชีวิตในห้องกัก สวนพลู จำนวน 2 รายจากปัญหาด้านสุขภาพ และตลอดระยะเวลา 10 ปี ของการกักขังชาวอุยกูร์ ผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 5 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กทารกแรกเกิด 1 ราย และเด็กอายุ 3 ขวบ 1 ราย 

กฤตพร ทิ้งท้ายว่า เธออยากให้รัฐบาลคำนึงถึงเพื่อนมนุษย์ ไม่อยากให้มีการแจ้งข่าวไปยังครอบครัวของพวกเขาแค่เฉพาะข่าวว่าผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เสียชีวิตแล้ว และขอเรียกร้องกมธ. เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี และฝ่ายบริหาร ให้ยุติการกักขังชาวอุยกูร์ในปีที่ 10 นี้

กฤตพร เสมสันทัด

"อยากให้ยุติการคุมขังของชาวอุยกูร์ในปีที่ 10 ไม่อยากให้มีปีที่ 11 หรือปีต่อๆ ไปอีกเลย ทางเราอยากจะขอเรียกร้อง และขอให้ กมธ.ช่วยประสานไปยังนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร และผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง" สมาชิกมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ กล่าว

เชื่อไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

รังสิมันต์ กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญและมีการคุยใน กมธ.เรื่องนี้ แต่เรื่องที่ยากลำบากคือ เราไม่ทราบว่าเขาต้องอยู่ในห้องกักถึงเมื่อไร ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีคำพิพากษา ไม่มีโอกาสได้เยี่ยม และมีสภาพความเป็นอยู่ที่แย่เสียยิ่งกว่าคนที่กระทำอาชญากรรมร้ายแรง
  
รังสิมันต์ กล่าวว่า เขามีความเป็นห่วงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีการบังคับใช้ ‘พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามอุ้มหาย และซ้อมทรมาน’ แล้ว ซึ่งไม่ได้ป้องกันการบังคับสูญหายเพียงอย่างเดียว แต่มีหลักการเรื่องการคุ้มครองปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้น ถ้ามีพฤติการณ์ของการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นอาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว

รังสิมันต์ กล่าวว่า เราต้องคิดอย่างจริงจังได้แล้วว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร โดยคิดแค่ว่าอย่าเพิ่งไปยุ่ง เพราะว่าอาจจะกระทบเรื่องความสัมพันธ์ แต่คนเหล่านี้จะทยอยเสียชีวิต และประเทศไทยกำลังมองถึงความเป็นไปได้ในการเข้าเป็นคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนบนเวทีระดับโลก มันจะขึ้นได้อย่างไร 

รังสิมันต์ โรม

ประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ มองว่า เขาเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เขาไม่เชื่อว่า การแก้ไขปัญหาจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศขาดสะบั้นลง ประเทศไทยต้องยืนยันในคุณค่าและหลักการว่าเราเป็นประเทศที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน และมีกฎหมายภายในประเทศที่ยึดหลักคุณค่าดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่ายังไงก็แล้วแต่ ประเทศที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อประเทศไทย ต้องเคารพถึงกฎหมายภายในประเทศและหลักการที่ประเทศไทยให้คุณค่า ดังนั้น เขาขอเรียกร้องให้รัฐไทยต้องสร้างความแตกต่างในการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์และชาวโรฮีนจาที่อยู้ในห้องกักได้แล้ว 

ประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ ทิ้งท้ายว่า กมธ.จะขอนำเรื่องนี้ไปหารือ และมองถึงความเป็นไปได้ในการสร้างความแตกต่างจากเดิมที่มี 

จุลพงษ์ อยู่เกษ กล่าวว่า วันนี้ กมธ.การต่างประเทศ จะมีการประชุม และเขารับปากจะนำเรื่องนี้หารือภายใน กมธ. และถ้ามีฝ่ายบริหารเข้าร่วม เขาจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือด้วย 

จุลพงษ์ อยู่เกษ

กัณวีร์ สืบแสง กล่าวว่า ขอขอบคุณภาคประชาสังคมที่ได้มองเห็นมนุษย์คือมนุษย์ และเขามองว่านี่เป็นปัญหาด้านกฎหมาย ที่เป็นสุญญากาศที่ไม่มีการรองรับพิจารณาช่วยเหลือกับผู้ลี้ภัย เพราะฉะนั้น กมธ.การกฎหมายฯ จะทำงานพิจารณาเรื่องนี้ และจะลำดับความสำคัญอย่างเร่งด่วน 

กัณวีร์ กล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ซึ่งตนเองเป็นประธาน ได้ทำงานเสร็จสิ้นไปแล้ว ทางอนุกรรมาธิการฯ จะดูว่ากฎหมายมีปัญหาอย่างไร และจะดำเนินการแก้ไขอย่างไรเรื่องผู้ลี้ภัย จากนั้น จะมีการเสนอข้อเสนอถึง กมธ.การกฎหมายฯ กมธ.การต่างประเทศ และ กมธ.ความมั่นคงฯ 

ปัจจุบัน สถานการณ์ผู้ลี้ภัยภายในห้องกัก ตม. สวนพลู มีชาวอุยกูร์อยู่ทั้งหมด 48 ราย ในจำนวน 48 คน มีกลุ่มอยู่ในห้องกัก 43 คน และอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากถูกดำเนินคดีอาญา กรณีพยายามหลบหนีออกจากห้องกัก อีก 5 ราย 

รัฐไทยสามารถใช้ พ.ร.บ.เข้าเมือง ม.17 แทน ม.54 ได้

ทั้งนี้ กฤตพร ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว เพิ่มเติมกรณีความเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยว่า เรื่องการส่งชาวอุยกูร์ไปต่างประเทศอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่ประเทศไทยสามารถใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มาตรา 17 แทนมาตรา 54 ในการให้มาตรการแทนการกักตัวได้ 

กรณีเรื่องข้อเสนอยกระดับห้องกักตัว ตม. กฤตพร เผยว่า เมื่อปีที่แล้ว (2566) หลังจากมีกรณีชาวอุยกูร์เสียชีวิตในห้องกักด้วยปัญหาสุขภาพ คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เคยเข้าไปตรวจสอบในห้องกัก ตม. และทำข้อเสนอแนะให้รัฐบาล โดยเสนอให้มีการปรับปรุงคุณภาพห้องกักให้สอดรับกับหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการแมนเดลา และเสนอให้มีสิทธิเข้าถึงบุคคลภายนอกของผู้ลี้ภัยกลุ่มชาวอุยกูร์ ไปจนถึนชาวโรฮีนจา จากรัฐยะไข่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายละเอียดหนังสือถึงเศรษฐา 

จดหมายเปิดผนึก: ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่อยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ยาวนานกว่า 10 ปี และหาทางออกที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

เรียน นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน

สำเนาถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และประชาชน จำนวน 1,088 คน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การกำกับงานของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ต่อกรณีผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ถูกกักขังอยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลา 10 ปี และหาทางออกที่ยั่งยืนต่อกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อส่งเสริมการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักการสากลในสถานการณ์มนุษยธรรมนี้

ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2557 ทางการไทยได้พบชาวอุยกูร์ประมาณ 350 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้หญิงและเด็ก โดยคนกลุ่มนี้หนีการถูกประหัตประหารมาจากประเทศจีน เดินทางมาในประเทศไทย เพื่อเป็นทางผ่านในการลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 และไม่ได้ประสงค์จะอยู่อาศัยในประเทศไทยระยะยาว

หลังจากที่ได้มีการดำเนินคดีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทางการไทยได้แนกชาวอุยกูร์กลุ่มนี้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่มแรก เฉพาะผู้หญิงและเด็กจำนวน 172 คน กลุ่มนี้ได้แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางไปประเทศตุรกี และรัฐบาลตุรกีพร้อมที่จะรับ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ ซึ่งมีเฉพาะผู้หญิงและเด็กให้กับรัฐบาลตุรกี และปัจจุบันได้มีการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศเรียบร้อยแล้ว

2) กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่รัฐบาลไทยได้ส่งให้สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 109 ราย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 โดยทั้งหมดนี้ไม่ทราบชะตากรรมหลังจากนั้น

3) กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่คงค้างในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จำนวนประมาณ 48 คนที่ยังอยู่ในความดูแลของไทย รัฐบาลได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้กักตัวไว้ในห้องกักคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยไม่มีกำหนด และอ้างว่ากำลังรอการแก้ไขปัญหาต่อไป

ปัจจุบันกลุ่มที่สามได้ถูกกักมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ในห้องกักมีสภาพแวดล้อมแออัด เข้าถึงแสงธรรมชาติได้น้อย ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว ไม่สามารถติดต่อครอบครัวภายนอกได้ ทำให้ผู้ต้องกักมีภาวะขาดสารอาหาร ขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย เป็นสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพกายและจิตที่รุนแรงได้ ใน พ.ศ. 2566 มีชาวอุยกูร์ซึ่งอยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเสียชีวิตจำนวน 2 คน โดยคนแรกเสียชีวิตเมื่อ 11 กุมภาพันธุ์ 2566 ผู้เสียชีวิตอายุ 49 ปี มีอาการเจ็บป่วยในห้องกักก่อนถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในวันเดียวกัน อันเนื่องมาจากปอดอักเสบจากการติดเชื้อ ส่วนรายที่สองเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ผู้เสียชีวิตอายุ 40 ปี มีอาการป่วย อาเจียน และอ่อนแรง ถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในวันเดียวกันเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากระบบไหลเวียนโลหิต และการหายใจล้มเหลว

แม้ว่าการตรวจสอบกรณีเสียชีวิตทั้งสองข้างต้นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะไม่ปรากฏหลักฐานที่จะรับฟังได้ว่าการเสียชีวิตทั้ง 2 กรณีเกิดขึ้นจากการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่อย่างไรก็ตาม กสม. ได้ให้ความเห็นว่า การควบคุมตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลานาน ไม่มีกำหนดปล่อยตัว หรือส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชน

ข้าพเจ้าในนามตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนและประชาสังคม จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลให้พิจารณายุติการกักขังชาวอุยกูร์โดยไม่มีกำหนดในสภาพการกักขังที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนให้กับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และขอให้แสดงจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยต่อประชาคมโลก เพื่อที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปีนี้ และเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทั้งหมดที่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net