Skip to main content
sharethis

ย้อนเหตุการณ์หนึ่งทศวรรษของการคุมขังผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีชาวอุยกูร์ราว 41 รายยังถูกคุมขังในห้องกัก ตม. สวนพลู อย่างไม่มีกำหนดเวลา และตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีชาวอุยกูร์ที่เสียชีวิตระหว่างการคุมตัวของรัฐไทยอย่างน้อย 5 ราย

ชาวอุยกูร์ นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียง ทานตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีประชากรอยู่ราว 11 ล้านคน หรือคิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรในมณฑลซินเจียงจำนวน 25 ล้านคน 

ช่วงราวปี 2557 ชาวอุย์กูร์จำนวนมากลี้ภัยออกจากประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนมีนโยบายไม่อนุญาตให้ชาวอุยกูร์นับถือศาสนาอิสลาม และมีนโยบายกดขี่ทางวัฒนธรรม เช่น การห้ามประกอบพิธีทางศาสนาหรือการถือศีลอด เหตุผลดังกล่าวส่งผลให้ชาวอุยกูร์ต้องการไปประเทศที่ 3 ที่เปิดโอกาสให้พวกเขานับถือศาสนาอิสลามและได้ปฏิบัติตามศาสนกิจ 

เส้นทางการลี้ภัยของชาวอุยกูร์บางส่วนเดินทางลงมาที่ภาคใต้ของประเทศไทย หรือไปที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อเดินทางต่อไปในประเทศที่ 3 ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกเดินทางไปที่ประเทศตุรกี 

แผนที่มณฑลซินเจียง ตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน (ที่มา: ฮิวแมนไรท์วอตช์)

จุดเริ่มต้นของการคุมขังชาวอุยกูร์

ประเด็นของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในไทยเริ่มปรากฏบนหน้าสื่อ เมื่อ 12 มี.ค. 2557 รายการข่าว 3 มิติ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 รายงานว่า ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจคนตรวจเข้าเมือง 6 พบชาวมุสลิมอุยกูร์ที่ลี้ภัยมาจากมณฑลซินเจียง ประเทศจีน จำนวน 220 รายที่สวนยางพารา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา โดยแบ่งเป็น ชาย 78 ราย หญิง 60 ราย และเด็ก 82 ราย 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวอุยกูร์ทั้งหมดต้องการลี้ภัยไปประเทศตุรกี และทางการตุรกีได้ยินดีรับผู้ลี้ภัยทั้งหมด แต่ข้อมูลจากกัณวีร์ สืบแสง ขณะนั้นทำงานเป็นผู้ประสานงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น (สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) ได้ปฏิเสธไม่ให้เครื่องบินจากกรุงอังการาเดินทางมารับผู้ลี้ภัย โดยไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด หลังจากนั้น ทางการไทยมีการกระจายขังผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในสถานกักตัว สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการคุมขังชาวอุยกูร์อย่างยาวนาน

นอกจากนี้ ข้อมูลจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับสากล 'ฮิวแมนไรท์วอตช์' (HRW) เปิดเผยว่า ตลอดทั้งปี 2557 ทางการไทยสามารถควบคุมตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ราว 350 ราย

8 ก.ค. 2558 - ไทยบังคับส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 ราย กลับประเทศจีน

สื่อต่างชาติ และสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อ 29 มิ.ย. 2558 ทางการไทยส่งตัวผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์จำนวนราว 172 ราย ลี้ภัยประเทศตุรกี

ต่อมา 8 ก.ค. 2558 ฮิวแมนไรท์วอตช์ และบีบีซีไทย ได้รายงานว่า ทางการไทยมีการบังคับชาวอุยกูร์จำนวน 109 คน ใส่กุญแจมือ ใช้ถุงดำครอบศีรษะ และส่งตัวพวกเขาให้กับเจ้าหน้าที่จีนที่กรุงเทพฯ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จีนจะพาชาวอุยกูร์ขึ้นเครื่องบินกลับไปประเทศ หลังจากนั้น ก็ไม่มีใครชะตากรรมชาวอุยกูร์กลุ่มนี้อีกเลย 

ชาวอุยกูร์ถูกบังคับส่งตัวให้เจ้าหน้าที่จีนพากลับประเทศ (ที่มา: แฟ้มภาพ)

การส่งตัวชาวอุยกูร์ไปประเทศจีนทำให้ประเทศไทยในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกวิจารณ์อย่างหนักโดยเฉพาะจากประเทศโลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง อีกทั้ง เป็นการละเมิดหลักจารีตประเพณีระหว่างประเทศ 'หลักการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตราย' (non-refoulement) 

วันเดียวกัน (8 ก.ค. 2558) ช่วงกลางดึก ชาวตุรกีรวมตัวหน้าสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ นครอิสตันบูล เพื่อประท้วงรัฐบาลไทย เพราะไม่พอใจการตัดสินใจของทางการไทยที่ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน และมีความกังวลว่าคนกลุ่มนี้จะถูกทางการจีนประหารชีวิต นอกจากนี้ ประชาชนตุรกียังได้บุกเข้าไปทำลายสิ่งของภายในอาคาร และมีการปลดธงชาติไทยลงจากยอดเสา

17 ส.ค. 2558 - เหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิต 20 ราย

17 ส.ค. 2558 หนึ่งเดือนหลังรัฐบาลไทยผลักดันชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทาง ได้เกิดเหตุวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 120 ราย และเสียชีวิต 20 คน แบ่งเป็นคนไทย 6 ราย และชาวต่างชาติ 14 ราย

เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานการณ์ที่แยกราชประสงค์ ภายหลังเกิดเหตุระเบิดเมื่อคืนวันที่ 17 ส.ค. 2557 (ที่มา: Piyasak Ausap)

ต่อมา ทางการไทยสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวอุยกูร์ได้ 2 คน คือ อาเดม คาราดัก ผู้ลี้ภัยจากซินเจียง และ ไมไรลี ยูซุฟู ผู้เคยทำธุรกิจเครื่องสำอาง ข้อหามีส่วนร่วมกับการระเบิดที่แยกราชประสงค์ ส่วนผู้ต้องสงสัยอีกราย วรรณา สวนสัน หรือไมซาเราะห์ ชาวพังงา ถูกตั้งข้อหาร่วมกันมียุทธภัณฑ์และครอบครองวัตถุระเบิด เพราะเช่าห้องให้แก่ อาเดม และไมไรลี ได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี

หลังเหตุระเบิดมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการตอบโต้จากกรณีที่ประเทศไทยบังคับส่งกลับชาวอุยกูร์เมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่ทางการไทยยังคงปฏิเสธการเชื่อมโยงดังกล่าว ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น อ้างว่าเป็น "การเสียผลประโยชน์ของกลุ่มก้อนทางการเมือง"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

10 ม.ค. 2563 - ชาวอุยกูร์ 7 คนหลบหนีออกจากห้องกัก มุกดาหาร

เบนาร์นิวส์ รายงานว่า เมื่อ 10 ม.ค. 2563 ชาวอุยกูร์ 7 รายหลบหนีออกจากห้องกัก ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จ.มุกดาหาร โดยทั้ง 7 คนระบุว่าหนีออกมาเพราะทนสภาพคับแคบของห้องกักไม่ไหว ก่อนที่ภายหลังทั้งหมดถูกจับกุม 

ทั้งหมดถูกศาลสั่งจำคุกคนละ 2 ปี ฐานแหกห้องกักที่มุกดาหาร และชาวอุยกูร์ 5 จาก 7 คนถูกชาวบ้านดำเนินคดีเพิ่มฐานลักทรัพย์ จากการสอบถาม วณัฐ โคสาสุ ทนายความของผู้ต้องหา ระบุด้วยว่า เนื่องจากทั้ง 5 คนเมื่อแหกห้องกักออกมาแล้ว ไปเจอชาวบ้านกำลังหาหนูนาในทุ่งนา จึงจับชาวบ้านมัดมือและเท้า ขโมยไฟฉาย ไม้เคาะเรียกหนูนา และหน้าไม้ยิงหนู ก่อนหลบหนี ทั้งนี้ ทั้ง 5 คนไม่มีการขโมยเงินของชาวบ้านแต่อย่างใด

ต่อมา 28 ต.ค. 2563 ศาลจังหวัดมุกดาหาร ตัดสินโทษจำคุกทั้ง 5 คน มีความผิดข้อหาชิงทรัพย์และมีอาวุธติดตัวไปด้วย ตามกฎหมายอาญา ม.34 วรรค 2 โดยสั่งจำคุกทั้งหมด คนละ 16 ปี 

โดยชาวอุยกูร์ 2 คนได้ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุกคนละ 8 ปี เนื่องจากให้การรับสารภาพ และชาวอุยกูร์จำเลยอีก 3 ราย ได้ลดโทษ 1 ใน 3 เนื่องจากรับสารภาพหลังสอบพยานโจทก์เสร็จสิ้น เหลือจำคุกคนละ 10 ปี  

ทำให้ทั้ง 5 คน เมื่อรวมกับโทษหลบหนีออกจากห้องกัก โดยชาวอุยกูร์ 2 รายถูกจำคุก 10 ปี และอีก 3 รายถูกจำคุก 12 ปี 

วณัฐ กล่าวด้วยว่า ทางผู้ต้องกักทั้ง 7 ราย ได้แจ้งทนายความด้วยว่า พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่หลายคนที่ห้องกักมุกดาหารทำร้ายร่างกาย แต่ไม่สามารถจดจำใบหน้าผู้ก่อเหตุได้ จึงไม่ได้มีการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ 

ข้อมูลจากแหล่งข่าวเผยว่า โดยทั้ง 7 รายถูกนำตัวมาคุมขังที่เรือนจำคลองเปรม โดย 2 รายที่ครบกำหนดโทษแล้วถูกนำตัวไปคุมขังที่ ตม.สวนพลู 

27 ก.ค. 2565 - มีการนำตัวผู้ลี้ภัยชาวอุย์กูร์ราว 50 คน มาคุมขังที่ห้องกักฯ สวนพลู 

เบนาร์นิวส์ รายงานว่า 27 ก.ค. 2565 ทางการไทยได้ย้ายผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 50 คนจากสถานกักตัวทั่วประเทศ มาที่สถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู กรุงเทพฯ หลังจากเมื่อ 11 ก.ค. 2565 มีชายชาวอุย์กูร์ 3 คนหลบหนีจากห้องกัก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กรณีนี้ชาวอุยกูร์ถูกจับกุมเพียง 2 คน และอีก 1 คนอยู่ระหว่างหลบหนีการจับกุม

5 มี.ค. 2567 - มีชาวอุยกูร์หลบหนีจากห้องกัก ตม. สวนพลู 2 ราย

5 มี.ค. 2567 แหล่งข่าวหลายแห่งยืนยันว่ามีชาวอุย์กูร์ 2 รายหลบหนีออกจากห้องกัก ตม.สวนพลู ซึ่งภายหลังถูกจับกุมตัวทั้ง 2 คน ยังไม่ทราบว่าถูกคุมขังที่ใด 

ปัจจุบัน ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ประธานมูลนิธิศักยภาพชุมชน ได้เช็กกับทาง ตม. ยืนยันว่า มีชาวอุยกูร์ประมาณ 41 คนที่ยังอยู่ใน ตม. สวนพลู และยังถูกคุมขังโดยยังไม่ทราบว่าจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไร 

ทำไมชาวอุยกูร์ถึงถูกกักขังอย่างยาวนาน

ศิววงศ์ สุขทวี ที่ปรึกษาองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ระบุว่า การกักตัวชาวอุยกูร์ในห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้ง 41 คน มานานถึง 10 ปี เป็นปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ซึ่งกำหนดว่า ผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและ 'ไม่มีคดีอาญา' จะถูกผลักดันออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ตม.สามารถกักตัวนานเท่าไรก็ได้ จนกว่าจะมีการตัดสินใจส่งออกนอกประเทศ ดังนั้น ชาวอุยกูร์จะต้องติดในห้องกักไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด และเป็นผลให้ชาวอุยกูร์ต้องอยู่ในห้องกักมาอย่างยาวนานถึง 10 ปี

ศิววงศ์ สุขทวี

พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ระบุว่า คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตนั้น สิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้ ถ้ามีกรณีต้องสอบสวน เพื่อส่งตัวกลับตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา 19 และมาตรา 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

เป็นเพราะจีน?

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอตช์ ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ไทยยังไม่ตัดสินใจเรื่องอุยกูร์ เนื่องจากกังวลผลกระทบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

ย้อนไปเมื่อปี 2558 กรณีการส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปประเทศจีนนั้น ทำให้ประเทศไทยถูกโจมตีอย่างหนักจากนานาชาติ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แต่ถ้าส่งชาวอุยกูร์ไปประเทศที่ 3 อย่างตุรกี ไทยก็กังวลผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน เพราะจีนแสดงเจตจำนงมาตลอดว่า ชาวอุยกูร์ที่ลี้ภัยมาที่ไทยเป็นพลเมืองของประเทศตนเอง และพยายามเรียกร้องให้ไทยส่งตัวชาวอุยกูร์กลับ ขณะเดียวกัน ไทยยังต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน และต้องการมาตรการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจจากจีนอยู่ 

ดังนั้น การตัดสินใจที่ดีที่สุดคือ 'การไม่ตัดสินใจ' ส่งตัวชาวอุยกูร์ออกนอกประเทศ และทำให้ชาวอุยกูร์ราว 41 ราย ต้องอยู่สถานกักกันแบบไม่มีกำหนด หรืออาจจะต้องอยู่จนเสียชีวิต 

กต.เผยลากยาว 10 ปี เพราะกระบวนการยังไม่เสร็จ ยันไม่เกี่ยวกับจีน

เมื่อ 12 มี.ค. 2567 ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสื่อกรณีของการกักตัวชาวอุยกูร์ 40 กว่ารายใน สตม. ครบ 10 ปีว่า การเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายของไทย เข้าใจว่ามีชาวอุยกูร์ถูกคุมขังอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่าที่ใด 

ส่วนเรื่องการส่งตัวกลับประเทศจีนหรือส่งตัวไปประเทศที่ 3 อย่างตุรกีตามที่ชาวอุยกูร์ร้องขอหรือไม่นั้น ปานปรีย์ ระบุว่าขอให้กระบวนการเสร็จสิ้นและค่อยตัดสินใจตอนนั้น นอกจากนี้ ปานปรีย์ ยืนยันว่า การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับจีนอย่างแน่นอน เพราะว่าเป็นเรื่องกฎหมายภายในประเทศ

ตลอด 10 ปี ของการคุมขังชาวอุยกูร์ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย

ฮิวแมนไรท์วอตช์ เบนาร์นิวส์ และสภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เสียชีวิตภายใต้การควบคุมดูแลของทางการไทยแล้ว อย่างน้อย 5 ราย มีรายละเอียดดังนี้

มิ.ย. 2557 มีเด็กทารกแรกเกิดชาวอุยกูร์เสียชีวิต 1 ราย และ 22 ธ.ค. 2557 อับดุลเลาะห์ อับดุลเวลี (Abdullah Abduweli) เด็กชายชาวอุยกูร์อายุ 3 ขวบ เสียชีวิตจากโรควัณโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียในปอด อับดุลเวลี รักษาตัวที่โรงพยาบาลในเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ร่วม 2 เดือนก่อนเสียชีวิต

ส.ค. 2561 บิลาห์ (Bilal) ชายชาวอุยกูร์ อายุ 29 ปี เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ระหว่างถูกคุมขังในห้องกักมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2557 

ผู้เสียชีวิต 2 รายล่าสุด คือเมื่อ 11  ก.พ. 2566 คนแรก อาซิซ อับดุลเลาะห์ (Aziz Abdullah) ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวอุยกูร์ อายุ 49 ปี เสียชีวิตจากปอดอักเสบจากการติดเชื้อ

เมื่อ 21 เม.ย. 2566 มัตโตห์ตี มัตตูร์ซุน (Mettohti Metqurban) ชาวอุยกูร์วัย 40 ปี เสียชีวิตหลังถูกตัวนำจากห้องกักส่งโรงพยาบาล เนื่องจากอาการจากระบบไหลเวียนโลหิต และการหายใจล้มเหลว 

มัตโตห์ตี มัตตูร์ซุน (ที่มา: Private)

คุณภาพชีวิตในห้องกักอันย่ำแย่ และเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์

ภาคประชาสังคมได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าการเสียชีวิตของชาวอุยกูร์ในห้องกักนั้นกำลังสะท้อนคุณภาพชีวิตอันย่ำแย่และแออัดของห้องกัก ตม.

กฤตพร เสมสันทัด ผู้อำนวยการโครงการ 'มูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ' กล่าวที่รัฐสภา ระหว่างยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงตัวแทนจากคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ คณะกรรมการการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า สภาพคุณภาพชีวิตของผู้ต้องกักในสถานกักตัว สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองย่ำแย่อย่างมาก มีพื้นที่แออัดจนไม่สามารถนอนเหยียดหลังได้เต็มที่ ช่องรับแสงธรรมชาติน้อย ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว ไม่มีพื้นที่ออกกำลังกาย ไม่สามารถติดต่อบุคคลภายนอกและสมาชิกครอบครัวได้ กิจวัตรที่ซ้ำไปซ้ำมาตลอด 10 ปี เป็นปัจจัยเสี่ยงสะสมที่ทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างรุนแรง

กฤตพร เสมสันทัด

ในวันนั้น กฤตพร เรียกร้องเธอต้องการให้รัฐบาลยุติการกักตัวชาวอุยกูร์ทั้งหมดในปีที่ 10 นี้ และขอให้มีการใช้มาตรการทดแทนการกักขัง นอกจากนี้ เธอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการยกระดับห้องกักตัว สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยเข้าตรวจสอบห้องกัก ตม. เมื่อปี 2566 หลังมีเหตุการณ์ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์เสียชีวิต 2 รายติดต่อกันในเวลาไม่เกิน 1 เดือนในห้องกักของ ตม. สวนพลู โดย กสม. ทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลโดยคร่าว ดังนี้ 

1. ต้องปรับปรุงห้องขังสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน แก้ไขความแออัด และเปิดช่องทางให้ผู้ถูกกักได้ไปประเทศที่ 3 2. ให้สิทธิผู้ต้องกักติดต่อบุคคลภายนอก สมาชิกครอบครัว ที่ปรึกษากฎหมาย เจ้าหน้าที่สถานทูตต่างๆ หรือชาวมุสลิม สามารถพูดคุยกับจุฬาราชมนตรี โดยการสื่อสารอาจอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ หรือการควบคุมของเจ้าหน้าที่ ตม.ได้ 

3. ชาวอุยกูร์ควรเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุข เช่น ให้มีแพทย์ และจิตแพทย์ เข้าไปตรวจสุขภาพในห้องกัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา คดี 2 ผู้ต้องสงสัยวางระเบิดราชประสงค์ เข้าสู่ศาลพลเรือน สืบพยานกว่า 140 ปาก ลากยาวเกือบ 10 ปี

หลังการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 2 ราย ว่ามีส่วนร่วมวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2558 เบื้องต้น สื่อรายงานว่าทั้ง 2 ผู้ต้องสงสัย ได้แก่ อาเดม คาราดัก และ ไมไลรี ยูซูฟุ สารภาพในชั้นสอบสวน แต่เมื่อปี 2559 สองผู้ต้องสงสัยขึ้นให้การในศาลทหาร ได้กลับคำให้การเป็น 'ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา' โดยเจ้าตัวเปิดเผยว่า ถูกทำร้ายร่างกาย บังคับให้รับสารภาพ และเผชิญปัญหาข้อจำกัดทางภาษา 

อาเดม คาราดัก (ชุดนักโทษคนหน้า) และ ไมไลรี ยูซูฟู (ชุดนักโทษคนหลัง) ขณะที่คดีของพวกเขายังถูกพิจารณาในศาลทหารกรุงเทพ แฟ้มภาพ

การพิจารณาคดีในชั้นศาลทหารเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากปัญหาเรื่องการหาล่ามภาษาอุยกูร์ และพยานโจทก์ไม่เดินทางมาที่ศาล จนกระทั่งในปี 2563 มีการโอนคดีความจากศาลทหาร มาเป็นศาลพลเรือน 'ศาลอาญากรุงเทพใต้' และเริ่มกลับมาพิจารณาคดีในชั้นสืบพยานอีกครั้งในปี 2565 

รายงานข้อมูลจากภาคประชาสังคม ระบุว่า เมื่อปี 2567 คดีของอาเดม คาราดัก และ ไมไรลี ยูซูฟุ ยังอยู่ขั้นตอนการสืบพยานชั้นศาล โดยมีบัญชีพยานทั้งหมดประมาณ 140 รายชื่อ และคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาคดีอีก 2 ปี ถึงได้ฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ทั้งนี้ อาเดม คาราดัก และ ไมไรลี ยูซุฟุ ถูกคุมขังที่คุกภายในค่ายทหารกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน และจะมีการสืบพยานคดีนี้ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ วันที่ 26-28 มี.ค. 2567 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 เวลา 13.23 น. มีการอัพเดทคดีความของ 5 ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ ที่หลบหนีออกจากห้องกักมุกดาหาร เมื่อปี 2563 และมีการอัพเดทข้อมูลการเสียชีวิตของชาวอุยกูร์ "อับดุลเวลี" วัย 3 ขวบ เมื่อ 22 ธ.ค. 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net