Skip to main content
sharethis

 เครือข่ายภาคประชาสังคมจัดกิจกรรม“วาระเชียงใหม่ (Chiang Mai Agenda) ร่วมประกาศ 7 วาระการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเราทุกคน ตั้งแต่ PM2.5 ผู้สูงอายุ แรงงาน เศรษฐกิจ พลเมือง การพัฒนาเมือง จนถึงการเมืองของประชาชน

20 มี.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ช่วงบ่ายถึงค่ำ ที่ลานด้านหน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (ศาลแขวงเดิม) ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เครือข่ายพลเมืองและภาคประชาคมคมร่วมกันจัดงาน “วาระเชียงใหม่ (Chiang Mai Agenda) ประกาศวาระการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเราทุกคน” เพื่อขับเคลื่อนความคิดและข้อเสนอจากพลเมืองและประชาชน และร่วมประกาศ 7 วาระในประเด็นการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ในทุกมิติและนำเสนอสู่สาธารณะผ่านสื่อออนไลน์

ภายในงานมีการจัดบูธกิจกรรมกาดนัดวาระเชียงใหม่ กาดนัดที่จะส่งต่อความคิดในพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่หลากหลายมุมมอง โดยมีบูทต่างๆ เช่น Wear our agenda ร่วมสกรีนเสื้อยืดและเขียนวาระเชียงใหม่ของคุณ, กิจกรรมให้ความรู้การแก้ไขปัญหา PM 2.5 ด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร โดย สภาลมหายใจเชียงใหม่, บอร์ดเกม Forest กรรม กรรมของป่า หรือกรรมของใคร? ที่จำลองการจัดสรรทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ ผ่านประวัติศาสตร์สงครามการแย่งชิงทรัพยากรของไทย โดยกลุ่มเรื่องหลังเขา, นิทรรศการภาพถ่ายโดยนำเสนอข้อมูลการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิทับซ้อนในเรื่องคนกับป่าการใช้อำนาจทางกฎหมายของรัฐจากรูปแบของรัฐรวมศูนย์ โดย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เป็นต้น

สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร จนถึง PM2.5

ส่วนเวทีเสวนามีวงสะท้อนปัญหาและประกาศแคมเปญ ‘วาระเชียงใหม่ Chiang Mai Agenda’ 7 วาระ โดยวาระที่ 1 สิ่งแวดล้อม และทรัพยากร ประกอบด้วยประเด็น ป่าไม้, เกษตร, สิ่งแวดล้อม ถึง ฝุ่น PM2.5 เป็นต้น โดยที่ตัวแทนกลุ่มโตมากับฝุ่นสะท้อนมุมมองของ ฝุ่นที่ไม่ได้กระทบเพียงแค่พวกตน แต่กระทบไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ เมื่อมีฝุ่นเข้ามาทำให้ตัวเลขของรายได้นั้นลดลงไปหลายพันล้านบาท นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน เช่น การซื้อหน้ากากอนามัยเพิ่มป้องกันฝุ่น, เครื่องฟอกอากาศ, ค่ายาล้างจมูกและค่าน้ำเกลือ ในฐานะประชาชนควรที่จะมีสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดโดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินซื้ออากาศหายใจ จึงอยากสื่อสารให้รัฐบาลควรมีมาตรการหรือนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน 

ตัวแทนสหพันธุ์เกษตรภาคเหนือมองว่า ที่ผ่านมารัฐจะบอกว่าได้ส่งเสริมเครื่องไม้เครื่องมือในการจัดการกับปัญหาไฟป่า และการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีส่วนร่วมแล้ว แต่อำนาจในการตัดสินใจยังเป็นของรัฐส่วนกลาง ที่ดินผืนป่าทั้งอุทยานหรือที่ดินที่ไม่มีโฉนดเป็นของรัฐทั้งหมด และไฟป่าที่รุกลามล้วนมาจากพื้นที่ของรัฐทั้งสิ้น ดังนั้นจึงทำกระบวนการจัดการทรัพยากรหลุดออกจากมือของชุมชนและประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเพราะมีการผูกขาดอำนาจไว้ที่รัฐ

ขณะที่ตัวแทนสภาลมหายใจเสนอว่า การมองปัญหาเรื่องฝุ่นจะต้องแยกแยะแหล่งกำเนิดในประเทศไทยไม่ได้มีเพียง จ.เชียงใหม่ ที่กำลังเผชิญกับวิกฤต แต่ยังรวมไปถึงภาคตะวันออก ภาคอีสานและภาคเหนือ จำเป็นต้องผลักดันเรื่องของสิทธิ อำนาจ และงบประมาณ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาไฟป่า 

คุณภาพชีวิต ‘ผู้สูงอายุและความหวังกับผู้หญิง’

ส่วนวาระที่ 2 คุณภาพชีวิต ประกอบด้วย การศึกษา, เด็กและเยาวชน, สังคมผู้สูงอายุและสวัสดิการสุขภาพ เป็นต้น ต้อม ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุ สะท้อนสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 20.8 % ประชากรของประเทศ ซึ่งในเชียงใหม่มีผู้สูงอายุถึง 3 แสนกว่าคน และตัวเลขกำลังจะกระโดดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นถ้าเราปล่อยให้ผู้ที่มีความรับผิดชอบเรื่องผู้สูงอายุดูแลอย่างเดียวคงไม่มีความเพียงพออย่างแน่นอน ควรจะมีการบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ

หนูนา เครือข่ายผู้หญิง สะท้องสังคมที่ต่างคาดหวังกับผู้หญิงคือ การเป็นแม่ ทำหน้าที่เป็นเมีย เป็นลูกสาว ความคาดหวังที่มาจากบทบาทเหล่านี้คือการที่ร่างกายของผู้หญิงมาจากลักษณะของภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ มีการเกิดหรือมีบุตร เกิดขึ้น การบริการของรัฐหรือหน่วยงานต่างๆ ที่จัดขึ้นมา เป็นการบริการที่จัดขึ้นมาคือการวางแผนครอบครัว การส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก หรือรัฐส่งเสริมให้ผู้หญิงมีลูกอย่างน้อย 2 คน แต่กลับไม่ได้มองเห็นถึงสิทธิในการตัดสินใจเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง หรือการที่ไม่ได้ต้องการทำหน้าที่เจริญพันธุ์ก็ไม่ได้มีบริการอื่นๆ รองรับ เช่น การยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยกฎหมายกลับอนุญาตเมื่ออายุครรภ์ 2-20 สัปดาห์เท่านั้น 

สวัสดิภาพแรงงาน

วาระที่ 3 แรงงาน ประกอบด้วยแรงงานสวัสดิภาพ, แรงงานข้ามชาติ, แรงงานนอกระบบแรงงานสร้างสรรค์ โดยตัวแทนไรเดอร์ ได้กล่าวถึงสวัสดิภาพแรงงานไรเดอร์ที่ไม่มีสวัสดิการและไร้กฎหมายให้การคุ้มครอง ปัจจุบันแรงงานไรเดอร์ได้ถูกลดค่ารอบลงเหลือเพียง 15 บาท ทำให้ระยะเวลาการทำงานของแรงงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานขับรถเร่งรีบ ฝ่าไฟแดงและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง  และไรเดอร์ไม่มีสวัสดิการใด ๆ รองรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่รายรับน้อยลง หลายปีที่ผ่านมาไรเดอร์ได้มีการรวมตัวกันเพื่อผลักดันข้อเรียกร้อง กฎหมาย ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแต่สิ่งที่ได้รับจากภาครัฐคือการขอเวลาศึกษาซึ่งกินระยะเวลามานานหลายปีและข้อเรียกร้องบางอย่างกลับถูกตีตกไป

ตัวแทนแรงงานสร้างสรรค์ เสนอในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแรงงานสร้างสรรค์ คือ การสร้างมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการโครงการกิจกรรมหรือเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์, ให้ตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในการประชุมของหน่วยงานท้องถิ่นได้, หน่วยงานภาครัฐต้องกระจายทรัพยากรให้เข้าถึงชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ฯลฯ

เครือข่าย Empower แรงงานภาคบริการ คาดหวังว่าทุกคนที่เป็นแรงงานภาคบริการไม่ว่าในหรือนอกระบบเราทำงานด้วยใจและทุกคนต่างต้องการสวัสดิการจากรัฐ แต่กลับถูกมองข้ามถูกมองว่าเราไม่ใช่แรงงานและไม่ได้รับการคุ้มครองทำให้ถูกควบคุมด้วยระบบมาเฟีย เป็นคนที่ผิดกฎหมาย กลายเป็นการทำงานที่อยู่ใต้ดิน ฉะนั้นเราควรผลักดันในแรงงานภาคบริการอยู่ในสถานะของการเป็นแรงงานที่ได้รับการคุ้มครอง

เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว

วาระที่ 4 ​ เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว เมืองเทศกาล นั้น มนัสวัฑฒก์ ชุติมา ทายาทรุ่นสามของ โอลด์ เชียงใหม่ สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังไม่มีความมั่นคงเพียงพอ ทั้งในเรื่องของการจ้างงาน การสนับสนุนจากภาครัฐปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว เราจึงต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาฝุ่นเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะยาว

อาคม สุวรรณกันธา ประธานสมาพันธ์ SME ภาคเอกชนต้องการย้ำวาระเดิม “เชียงใหม่เป็นมหานครชีวิตและความมั่งคั่ง” สังคมต้องอยู่ดี เมืองต้องยั่งยืน และผู้คนต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ยังต้องการผลิกเรื่องสิ่งแวดล้อมเมืองเพราะเราเผชิญกับ PM.2.5 มากกว่า 20 ปี เราเกิดการสูญเสียและการแก้ปัญหากลับไม่มีวันสิ้นสุด หากภาคเอกชนออกมาเราร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ แก้ปัญหาเรื่องฝุ่นได้ เราจะสามารถจัด Festival ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ถึง 12 เดือน 

พลเมือง

วาระที่ 5 พลเมือง ว่าด้วยเรื่องของ เสียงคนเชียงใหม่ ชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางเพศ คนจนเมือง และคนไร้บ้านนั้น ป๊อป ตัวแทนจาก sapphic กลุ่มการเมืองอัตลักษณ์สะท้อน LGBTQ และประเด็นผู้หญิงที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการดูแล เช่น มะเร็งปากมดลูก, การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกตีกรอบเรื่องเพศในการทำงาน ฯลฯ  ขณะที่ ตัวแทน CHIANGMAI PRIDE คาดหวังให้การสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นจริง พลเมืองทุกคนต่างมีความรัก แต่ความรักของ LGBTQ กลับยากกว่าเพศอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่การจดทะเบียนสมรสเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่สิทธิพิเศษของเพศใดเพศหนึ่ง 

แทน จาก FREE INDEGINOUS PEOPLE หรือ FIB  สะท้อนความพยายามผลักดันการเชื่อมสิทธิในพื้นที่ให้เข้ากับประเด็นของโครงสร้าง ดังนั้นพี่น้องชาติพันธุ์ควรที่จะได้รับการรับรองสิทธิในการกำหนดชะตากรรม กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ

ทิศทางการพัฒนาเมือง

ขณะที่วาระที่ 6 ทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วย เมืองน่าอยู่, ​พื้นที่สาธารณะ, มรดกทางวัฒนธรรม, ชุมชน, ขนส่งสาธารณะ และอื่นๆ  ตัวแทน Any wheel พูดถึงการให้บริการจักยานเช่าสาธารณะเพื่อรองรับผู้ใช้งานกว่า 65,000 คน สามารถลดปริมาณคาร์บอน 36 ล้านตัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่ทั้งนี้การเดินทางของเราที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนักเพราะยังขาดองค์ประกอบการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ฉะนั้นเราต้องร่วมมือกันเพื่อให้ผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ

ตัวแทน Mae Kha City Lab เสนอการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยให้เป็นระบบและสร้างที่อยู่อาศัยหมุนเวียนสะท้อนวิถีชีวิตและสามารถรองรับครอบครัวที่จะมาอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้กว่า 1,800 ครอบครัว และเชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ ฯลฯ

การเมืองของประชาชน 

และวาระที่ 7 วาระสุดท้าย การเมืองของประชาชน ผลักดันรัฐธรรมนูญ,สว.สสร.กระจายอำนาจ, ท้องถิ่น, เสรีภาพสื่อ และการแสดงออก ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ หรือ กป.อพช ภาคเหนือ เสนอให้ชุมชนมีข้อตกลงร่วมกัน และจัดการทรัพยากร ชีวิตร่วมกันในชุมชน รวมไปถึงเรื่องรัฐธรรมนูญใหญ่ ๆ ในประเทศควรจะมาจากข้อตกลงในชุมชนเช่นกัน ทั้งนี้วาระเชียงใหม่ควรขยับเข้าไปในชุมชนอีกด้วย ด้าน สุริยา แสงแก้วฟั้น ตัวแทน RDJS เสนอเรื่องการรื้อฟื้น พ.ร.บ.เชียงใหม่จัดการตนเองขึ้นมาใหม่ คือการลดอำนาจส่วนภูมิภาค เพิ่มอำนาจท้องถิ่นโดยสนับสนุนการเมืองภาคประชาสังคมให้มีความเข็มแข็ง และจัดการเรื่องระบบภาษีให้เป็นของท้องถิ่นโดยตรง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าว่า หลังจากเวทีสะท้อนประเด็นการพัฒนาเชียงใหม่ทั้ง 7 วาระเสร็จสิ้น มีการประกาศส่งต่อวาระระบบสวัสดิการสุขภาพ โดย สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ และได้มีการจัดแสดงดนตรีจาก จาก ‘ชา ฮาโม’ และ MR.CAT and Friends ถือเป็นการยุติกิจกรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net