Skip to main content
sharethis

สิทธิพล 'ก้าวไกล' อภิปรายชงตัดงบฯ กระทรวงแรงงานเหลือ 290 ล้าน รับผิดชอบออกสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำเอาเปรียบแรงงาน เหมือนทำงาน 10 ชม. แต่ได้ค่าแรงเพิ่มเท่ากับ 3 ชม. คุณภาพชีวิตมีแต่จนลง

 

22 มี.ค. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์วานนี้ (21 มี.ค.) ที่รัฐสภา กรุงเทพฯ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณางบประมาณฯ วันที่ 2 สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายงบประมาณในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะกรรมาธิการจำนวน 699.57 ล้านบาทเศษ หรือตีกลมๆ 700 ล้านบาท

สิทธิพล กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานถือเป็นหน่วยงานหลักที่เป็นปากเป็นเสียงและดูแลแรงงานทั่วประเทศ แต่สำนักงานหนึ่งที่สำคัญมากคือสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน มีหน้าที่ตามกฎหมายสำคัญในการทำแผนพัฒนาระบบค่าจ้าง และทำแผนวิเคราะห์ดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อวางแผนระบบค่าจ้าง ตลอดจนกำหนด "สูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ" ที่เป็นข้อมูลสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ จึงอยากเรียนถามไปยังคณะกรรมาธิการฯ ว่าได้สอบถามการใช้งบฯ ของกระทรวงแรงงานในส่วนนี้ทำอะไรบ้างในการดูแลสูตรค่าจ้างขั้นต่ำ

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปัจจุบัน สูตรค่าจ้างขั้นต่ำของไทย คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ = อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน * (1 + (L รายจังหวัด * อัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานจังหวัดเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง) + อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง) 

ขณะที่หลักการ "สูตรค่าจ้างขั้นต่ำ" ที่เป็นธรรม คือ ทำงานมากขึ้นเท่าไร ค่าจ้างควรเพิ่มขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่าง การทำงาน 10 ชม. ก็ต้องได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น 10 ชม. แรงงานทำงานหนักเพิ่มขึ้น 1 เท่า ควรได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 1 เท่า จึงสรุปว่า ค่าจ้างที่เป็นธรรม = ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเท่ากับผลิตภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น  

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีสินค้าอาจราคาแพงขึ้น ซึ่งมาจาก "เงินเฟ้อ" เพื่อลดผลกระทบของเงินเฟ้อ ทำงานหนักขึ้น ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่ซื้อของได้น้อยลง ดังนั้น ถ้ามีเงินเฟ้อ ก็ต้องทำสูตรคือ "ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น = ผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น + อัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลง" 

ยกตัวอย่าง การทำงาน 10 ชม. ก็ต้องได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น 10 ชม. ถ้าค่าแรงนี้สามารถซื้อข้าวได้ 1 กระสอบ ค่าแรงใหม่ควรทำให้ได้ 10 กระสอบ ไม่ใช่ซื้อข้าวได้น้อยลง 

สิทธิพล กล่าวว่า นั่นหมายความว่า ถ้าค่าแรงทำงานอย่างดี ก็จะสะท้อนให้ผลิตภาพแรงงานดูแลคุณภาพชีวิตตัวเองได้ และผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น ก็สร้างคุณค่าให้ผู้ประกอบการ และภาคเศรษฐกิจโดยรวม 

สิทธิพล ระบุว่า อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างไม่ได้ทำแบบนี้ สูตรนี้ของไทยมีปัญหาในทางเศรษฐศาสตร์ สูตรค่าจ้างที่เป็นธรรม = การเติบโตของผลิตภาพ + อัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลง แต่ของไทยคือ ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น = การเติบโตของผลิตภาพ * L (ค่า L ระบุในสูตรว่าส่วนแบ่งรายได้แรงงาน 0.32) + อัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลง 

หมายความว่าถ้าเราใช้สูตรนี้ แรงงาน “ทำงานเพิ่มขึ้น 1 เท่า แต่จะได้ค่าแรงเพิ่มเพียง 0.3 เท่า” หรือทำงาน 10 ชม. แต่ได้ค่าแรง 3 ชม.

"สูตรนี้ยิ่งใช้ ยิ่งทำให้แรงงานได้เงินน้อยลงเรื่อยๆ และสูตรนี้ไม่ได้กระทบแต่แรงงาน กระทบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ตอกย้ำความยากจนให้รุนแรงขึ้น" สิทธิพล กล่าว และระบุว่า ถ้าใช้อีก 20 ปีข้างหน้า รายได้ของแรงงานจะน้อยลงเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจของแรงงานจะยากจนลง คุณภาพชีวิตแย่ลง และความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้น 

สิทธิพล ระบุว่า เรื่องแรกสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำมีปัญหาจริงๆ และบทบาทของกระทรวงแรงงานในการเป็นปากเสียงและรักษาสิทธิให้แรงงานมีปัญหา และต้องย้ำว่าที่นำเสนอไปไม่ได้เกินไป เป็นสิทธิพื้นฐานที่แรงงานที่ลงแรงไปควรได้ ทำงานเพิ่มมากเท่าไร ควรได้ค่าแรงเพิ่มมากเท่านั้น 

ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานอ้างว่า สูตรนี้สมเหตุสมผล ยากแก่การเข้าใจ ทำให้สูตรนี้ไม่ถูกตั้งคำถาม และเอาเปรียบแรงงานตลอดมา สิทธิพล ระบุว่า เขาเคยเชิญตัวแทนแรงงาน และนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์หลายสำนักมาร่วมพูดคุยในที่ประชุม กมธ. ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าสูตรปัจจุบันของกระทรวงฯ มีปัญหา มีคนเดียวที่มองว่าไม่มีปัญหาคือกระทรวงแรงงาน แต่ยังดีที่กระทรวงแรงงานระบุว่าจะนำไปทบทวน ก่อนออกจากห้องประชุม

สิทธิพล ทิ้งท้ายสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ของบฯ มา 700 ล้านบาท ควรถูกปรับลดงบประมาณ 410 ล้านบาท และเหลือเพียง 290 ล้านบาท เหมือนสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำที่ทำงาน หนักเพิ่มขึ้น 1 เท่า แต่ได้ค่าจ้างเพิ่มเพียง 0.3 เท่า หรือหายไป 0.7 เท่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net