Skip to main content
sharethis

เมื่อแพลตฟอร์มสร้างความสัมพันธ์ในการจ้างงานใหม่และทลายมายาคติแม่บ้านจากที่เคยถูกเรียกเป็น “คนรับใช้” สู่การเป็น “ผู้ให้บริการ” ขณะที่กฎหมายคุ้มครองยังตามไม่ทัน

“เวลาเราเดินตามข้างทางโดยเฉพาะในกรุงเทพ เรามักจะเห็นพี่ๆที่สะพายข้าวของพะรุงพะรังเเล้วก็มีเครื่องมือที่อาจจะเดาได้ว่าเป็นเครื่องมือทําความสะอาดหรือเปล่า นี่เเหละคือพี่ๆ แม่บ้านฟรีเเลนซ์ที่เราอาจจะเจอในชีวิตประจําวัน ทั้งรับงานเองเเละรับงานผ่านแอพพลิเคชั่น” 

คำกล่าวของ ญาดา ช่วยชําเเนก ผู้ทําวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่องแม่บ้านฟรีเเลนซ์ เรื่อง “ปรากฎการณ์ของเเรงงานหญิงในสังคมเมืองร่วมสมัย ในมิติการเปลี่ยนเเปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย” ในขณะทํางานเป็น nongovernmental organization (NGOs) ในมูลนิธิกลุ่มปราถนาดี โดยเผยเเพร่ข้อมูลผ่านทางการเเพร่ภาพสด Memory mobility multiplicity the series ep.7 ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร - SAC  เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567  

จาก ‘นายจ้าง-ลูกจ้าง’ สู่ ‘ลูกค้า-ผู้ให้บริการ’ 

ญาดา ช่วยชําแนก กล่าวว่า ปัจจุบันแม่บ้านไม่ใช่สาวจากต่างจังหวัดที่เข้ามาในเมืองเพียงอย่างเดียวที่มีมุมมองทางด้านลบ มักจะถูกกดขี่  แต่ความสามารถในการทำความสะอาดที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิดก็ทำให้เราสามารถเป็นแม่บ้านได้ โดยสามารถดูข้อความได้จากแอพพลิเคชัน BeNeat ที่กล่าวว่า “ใคร ๆ ก็เป็นแม่บ้านได้” รวมไปถึงการผลักดันให้เป็นแม่บ้านมืออาชีพ มากขึ้นจากการเปิดคอร์สต่าง ๆ อย่างเช่น วิทยาลัยดุสิตธานี และศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร การเป็นแม่บ้านจึงไม่สามารถจัดอยู่ในประเภทการเป็นแรงงานระดับล่าง หรือแรงงานไร้ทักษะ ได้อีกต่อไป ในขณะเดียวกันลักษณะการจ้างงานก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกันจากอยู่ติดที่ก็เปลี่ยนเป็นไปเช้าเย็นกลับ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของนายจ้างกับแม่บ้านเปลี่ยนไปด้วย จากการอยู่กับนายจ้าง ก็ต้องกินอยู่ด้วยกัน ทำให้อำนาจของแม่บ้านั้นมีน้อยกว่า โดยเห็นได้ชัดเจนว่านายจ้างจะเรียกมาใช้งานตอนไหนก็ได้ แต่ความสัมพันธ์แบบไปเช้าเย็นกลับ อาจจะไม่เป็นนายจ้าง-ลูกจ้างอีกต่อไป โดยอาจเรียกได้ว่าเป็น “ลูกค้า-ผู้ให้บริการ” ที่ลูกค้าต้องรับราคาค่าจ้างผู้บริการให้ได้ เพื่อที่จะได้รับการบริการอย่างมืออาชีพ ซึ่งความสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนนี้ส่งผลให้แม่บ้านสามารถ ยกระดับฐานะของตนเองได้และสามารถท้าทายภาพจำของ “แม่บ้าน” ได้เป็นอย่างดี

ญาดา ในฐานะผู้วิจัย ระบุว่า ตนทำการสำรวจแม่บ้านมา 5 คน คือ เอ้ มา หมวย นีและจอย พวกเขาได้เริ่มจากการเป็นคนรับใช้ในบ้านโรงแรมบริษัท ช่างเสริมสวย สาวโรงงาน และขายของ มาสู่การเป็นแม่บ้านฟรีแลนซ์ โดยผู้วิจัยได้ทําการยกเเนวคิดเรื่อง “ทุน” ของ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส) ซึ่งประกอบไปด้วยการสะสม “ทุนทางวัฒนธรรม” คือการทำให้ทักษะการทำความสะอาดเป็นสินค้า จากทักษะการทำความสะอาดของผู้หญิงที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดส่งผลให้มีอำนาจในการต่อรองในตลาด สามารถกำหนดราคาสินค้าได้ โดยผ่านการเทรนด์การเป็นแม่บ้านในโรงแรมมาก่อน ก่อให้เกิดความเป็นมืออาชีพ ทำให้สามารถต่อรองราคาที่สูงขึ้นได้ เป็นต้น ต่อมาเป็น “ทุนทางสังคม”คือการมีเครือข่ายคนรู้จัก เครือข่ายนายจ้าง และแอพพลิเคชันที่มีการใช้ในแม่บ้านหน้าใหม่ ที่จะนำมาสู่ปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานซึ่งความสำเร็จของแม่บ้านฟรีแลนซ์คือ เมื่อลูกค้าติดใจจากการทำงานของแม่บ้านในแอพลิเคชันแล้วอาจจะมีการจ้างงานกันต่อไปนั่นเอง แต่ผู้ที่ไม่ได้ไปต่อในงานแม่บ้านแอพลิเคชันก็มีเช่นกัน เพราะการที่จะมีเป็นแม่บ้านแอพลิเคชันได้นั้น จะต้องมีทักษะในการใช้แอพพลิเคชันเสียก่อน ส่งผลให้ไม่มีเครือข่ายทางสังคมและหันมารับงานแบบปากต่อปาก ซึ่งนำไปสู่ผลสุดท้ายคือไม่มีงานนั่นเอง และสุดท้ายคือทุนทางด้าน “ความสามารถในการเคลื่อนย้าย” โดยให้ความสนใจกับประสบการณ์ที่แม่บ้านเจอมาก่อนผ่านทุนทั้งสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่เท่ากัน จนนำมาสู่การเป็นแม่บ้านฟรีแลนซ์ ดังนั้น ยิ่งเคลื่อนที่ได้เร็ว ได้ไว ได้ไกล ได้กว้าง ก็จะยิ่งสร้างรายได้ที่มากกว่า

ภาพจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC. (2567, มีนาคม 29). แม่บ้านฟรีเเลนซ์: ปรากฎการณ์ของเเรงงานหญิงในสังคมเมืองร่วมสมัย ในมิติการเปลี่ยนเเปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย [วิดีโอ]. Youtube. https://www.youtube.com/live/HuyPqveO6Yc?si=PaXhBjj1_Np7r0xv

เมื่อผู้วิจัยเทียบจำนวนชั่วโมง งานที่ทำ และเงินเดือนแล้ว ค่อนข้างมีจำนวนที่สูง เนื่องจากความเร็วของยานพาหนะมอเตอร์ไซด์ของพี่นีที่สามารถเคลื่อนที่ได้เร็ว และสะดวกกว่ารถโดยสารสาธารณะที่ต้องใช้เวลาเดินทางทำให้จำนวนงานที่สามารถรับงานได้ในแต่ละวันมีจำนวนน้อยกว่า

ความสัมพันธ์ทางด้านการเปลี่ยนเเปลงทางสังคมในด้านเศรษฐกิจ 

จากการที่รัฐต้องการจะเปลี่ยนประเทศที่มีเกษตรกรรมหลักให้กลายเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมเเละการบริการเป็นหลัก จึงทําให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่ในเขตเมือง ส่วนชนบทก็จะเล็กลงเรื่อยๆ เพราะเเรงงานย้ายถิ่นจากชนบทเข้าเมืองที่มีตลาดเเรงงานจํานวนมากในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ในขณะเดียวกันก็มีความเจริญเกิดขึ้นในภาคเกษตรของชนบท อย่างเช่น มีการใช้รถไถ เครื่องเก็บข้าวต่างๆ เข้ามาแทนเเรงงานภาคเกษตร ดังนั้น เเรงงานจากภาคเกษตรจึงต้องเข้ามาทํางานในเมืองแทน แต่คําถามก็คือตลาดเเรงงานในภาคอุตสาหกรรมมันมีเพียงพอหรือเปล่าสำหรับเเรงงานจากชนบทที่ย้ายเข้าเมืองมาทํางาน? ในขณะเดียวกันเเรงงานจากภาคชนบทก็อาจจะไม่ได้มีการศึกษาที่สูงมาก ทักษะในการทํางานจึงมีไม่เยอะ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “เเรงงานไร้ทักษะ” เเละถ้าหางานที่มั่นคงทําไม่ได้ก็จะกลายเป็น “เเรงงานนอกระบบ” ซึ่งมีจํานวนมากในปัจจุบัน โดยเป็นงานที่ไม่มั่นคง มีการเปลี่ยนงานบ่อย ได้ค่าเเรงน้อยอาศัยเเรงกายมาก และไม่ได้มีกระบวนการพัฒนาให้พวกเขาเหล่านี้ไปสู่เเรงงานอาชีพ ซึ่ง“แม่บ้าน” ก็จัดเป็นเเรงงานนอกระบบเช่นกัน ที่เข้ามาพร้อมเเรงผลักทางเศรษฐกิจเเละสังคม เนื่องจากมีฐานะยากจนหรือเห็นญาติๆ ที่ไปทํางานในกรุงเทพกลับมาพร้อมการใส่ทองหยองเเละขบวนกฐิน จึงเกิดความคิดที่ว่า “ถ้าฉันไปทำงานที่กรุงเทพ ฉันก็จะทําเเบบนี้ได้”

เมื่อคนในกรุงเทพมีมากขึ้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานมันก็เปลี่ยน ลักษณะบ้านเดี่ยวแบบเดิมนั้นมีไม่เพียงพอแล้ว ส่วนหนึ่งก็เป็นศูนย์กลางของภาคธุรกิจ จึงเกิดตึกระฟ้าขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นคอนโดหรูต่างๆ เรียงรายจนเกิดความแออัด และด้วยความต้องการที่จะเข้ามาอยู่ในกรุงเทพนั้นสูง ที่อยู่อาศัยจึงกระจายจากเมืองชั้นในออกไปเมืองชั้นนอกมากขึ้นเกิดเป็น city คอนโดมิเนียมที่มีห้องขนาดเล็ก ดังนั้นจึงเปลี่ยนบริบทการทำงานจากการเป็นแม่บ้านแบบประจำ มาเป็นแม่บ้านแบบไปเช้าเย็นกลับ

ญาดา สรุปด้วยว่า แม่บ้านฟรีเเลนซ์ เป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างมีความเป็นอิสระ เเต่ก็ไม่ได้อิสระขนาดนั้น ลักษณะของการจ้างงานจึงเป็นการตกลงกับผู้ว่าจ้างว่าจะทํางานกี่ชั่วโมง รับค่าจ้างเท่าไหร่ งานก็จะมักเป็นการบอกกันปากต่อปาก เเละแอพพลิเคชั่น อย่างเช่น แอพพลิเคชั่น BeNeat มีลักษณะงานจะคล้ายๆ grab หรือ ondemand application ต่างๆ ที่ผู้ว่าจ้างหรือลูกค้าจะโพสต์ว่าต้องการแม่บ้านไปทํางานที่นู่นที่นี่ และแม่บ้านเองก็ต้องเข้าไปสร้างโปรไฟล์ของตนเอง พอมีลูกค้าลงงาน แม่บ้านก็ต้องไปกดเเย่งกันเองเพื่อให้ได้งาน แน่นอนว่าการทําผ่านแอพก็จะต้องมีการหักค่าใช้จ่ายอย่างพวกค่าคอมมิชชั่น ค่าบริการต่างๆ บางแอพก็จะหักภาษี หัก VAT หักค่าโอนเงิน และค่าจ้างทําของ 3% ซึ่งสุดท้ายเเล้ว จำนวนเงิน 500 บาท ที่เราจ่ายให้กับทางแอพพลิเคชั่น โดยกำหนดให้แม่บ้านมาทํางาน 2 ชั่วโมง สุดท้ายเเล้วแม่บ้านอาจจะได้เงินเพียงเเค่ 350 บาท เพราะฉะนั้น แม่บ้านหลายๆคนอาจจะใช้ช่องทางนี้ในการเข้าสู่ตลาดเเรงงาน และ เมื่อ “การบอกปากต่อปาก” เป็นสิ่งที่ผู้ว่าจ้างจะไว้ใจจ้างมากที่สุด ดังนั้นแม่บ้านที่เหลืออยู่โดยไม่มีเครือข่ายทางสังคมทั้ง ผู้ว่าจ้าง และเพื่อนร่วมงงาน จึงจำเป็นต้องมาหาลูกค้าในแอพพลิเคชั่นก่อน ซึ่งบางคนอาจจะทําคู่กันโดยหาในแอพลิเคชั่นหรือหางานเองข้างนอก และบางคนก็อาจจะมาหาเพื่อให้รู้ว่าตลาดลูกค้านั้นคือใครเเล้วก็จะไม่ต้องงานใช้แอพพลิเคชั่นอีกเลย

กฎหมายที่ยังตามคุ้มครองไม่ทัน

เมื่อพิจารณาจากบทความ "ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มศึกษากรณีธุรกิจแม่บ้านบริการออนไลน์" เมื่อปี 2565 ของ ชนิตร์นันท์ ทอนสูงเนิน นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต (ส่วนกลาง) คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่พิจารณาปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการคุัมครองด้านสวัสดิการของแรงงานแพลตฟอร์มที่แม่บ้านบริการออนไลนก็เผชิญปัญหาร่วมเนื่องจากยังไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน ทั้งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533... 

ชนิตร์นันท์ ทอนสูงเนิน กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มนั้น นำมาซึ่งความเสี่ยงและต้นทุนต่อคนกลุ่มต่าง ๆ เช่น การปฏิสัมพันธ์ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นเกิดบนฐานความสัมพันธ์ที่ยังขาดความแน่นอน การซื้อขายหรือจ้างงานผ่านแพลตฟอร์มมิได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนคอยกำกับ โดยเฉพาะกลไกทางกฎหมายที่ช่วยปกป้องคุ้มครองด้านแรงงานอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับแรงปกติโดยทั่วไป และที่สําคัญประโยชน์จากการเข้าถึงโอกาสและประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึงทุกกลุ่มคน

บทความของ ชนิตร์นันท์ มองว่า “ธุรกิจแม่บ้านบริการออนไลน์” ตามความหมายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) หมายถึง แรงงานที่อยู่ในการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (informal sector) ซึ่งมีลักษณะเป็นกิจการขนาดเล็ก ตั้งได้ง่าย มีลักษณะเป็นธุรกิจในครัวเรือน มักใช้วัตถุดิบในประเทศมีการใช้แรงงานเป็นหลัก และมีการดัดแปลงเทคโนโลยีง่ายๆ มาใช้ เป็นแรงงานอิสระที่ทํากิจกรรมเพื่อความอยู่รอด เช่น หาบเร่ริมถนน คนขัดรองเท้า คนเก็บขยะ คนเก็บเศษกระดาษและโลหะ แรงงานรับใช้ในบ้านที่รับค่าจ้างจากครัวเรือน ผู้รับงานไปทําที่บ้าน และคนงานในโรงงานที่ไม่ขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นลูกจ้างแอบแฝง (disguised wage workers) ในเครือข่ายการผลิตและเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระในสถานประกอบการขนาดเล็กมากซึ่งทํางานด้วยตนเอง หรือมีสมาชิกในครอบครัว หรือมีผู้ฝึกงานหรือมีลูกจ้างช่วย

อีกทั้งแรงงานนอกระบบ ยังหมายถึง ผู้ใช้แรงงานที่ทํางานโดยไม่มีสัญญาการจ้างงานอย่างเป็นทางการหรือเป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นการจ้างแบบปากเปล่า รวมทั้งอาจไม่มีนายจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ทํางานอยู่ในสถานประกอบการ ไม่มีการจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่แน่นอน รวมทั้งยังหมายรวมถึงกลุ่มคนผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่ทํางานชั่วคราว และที่สําคัญแรงงานกลุ่มนี้ไม่ยังไม่รับความคุ้มครองหรือหลักประกันทางสังคมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครอง ส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่น ทั้งยังไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประกันสังคม ทําให้ไม่มีหลักประกันด้านความมั่นคงและการชดเชยต่างๆ เช่น ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม จ่ายไม่แน่นอน ไม่ตรงเวลา ไม่มีประกันความปลอดภัยในการทํางาน ไม่มีเงินออมยามเกษียณ และไม่มีเงินชดเชยหลังเลิกจ้าง 

ส่วน “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5”  ได้ให้คํานิยามของคําว่า ลูกจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทํางานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร และยังให้คำนิยามของคําว่า ผู้ว่าจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงว่าจ้างบุคคลอีกบุคคลหนึ่งให้ดําเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานใดเพื่อประโยชน์แก่ตน โดยจะจ่ายสินจ้างตอบแทนผลสําเร็จแห่งการงานที่ทํานั้น ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องการคุ้มครองแม่บ้านออนไลน์ในธุรกิจแรงงานแพลตฟอร์มว่าหากมิใช่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานแล้วนั้น ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่กลับถูกมองว่าเป็นแรงงานนอกระบบ

แต่ในปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงานยังไม่ครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบ จึงทําให้แม่บ้านบริการออนไลน์ไม่ได้รับความคุ้มครองตามสถานะทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และส่งผลให้เกิดปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองด้านสวัสดิการของแรงงานแพลตฟอร์ม ดังนี้

1) พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

กฎหมายเงินทดแทนได้กําหนดให้นายจ้างต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้างโดยตรงโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิดของนายจ้าง โดยกฎหมายเงินทดแทนนี้มีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้าง โดยกําหนดให้จัดตั้งกองทุนเงินทดแทนขึ้นในสํานักงานประกันสังคมและให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน แล้วให้กองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง หรือทายาทของลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือตายหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ซึ่งแม่บ้านออนไลน์ภายใต้ธุรกิจแรงงานแพลตฟอร์มควรที่จะได้รับการคุ้มครองในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน

2) พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

ในส่วนของแม่บ้านออนไลน์ภายใต้ธุรกิจแรงงานแพลตฟอร์มนั้น ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มมีอํานาจควบคุมบังคับบัญชาผู้ทํางานแพลตฟอร์มผ่านทางแพลตฟอร์มด้วยกฎระเบียบ การแต่งกาย ข้อบังคับในการให้บริการ มีการประเมินคะแนนซึ่งส่งผลถึงความสามารถในการรับงานครั้งต่อไปหรืองานที่มีมูลค่าสูงขึ้นและมีการลงโทษเมื่อทําผิดกฎระเบียบ แม่บ้านออนไลน์จึงสมควรที่จะได้รับความคุ้มครองในด้านสวัสดิการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เพื่อกําหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนเกี่ยวกับการแจ้งข้อเรียกร้อง และการระงับข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ให้สิทธิแก่นายจ้างและลูกจ้างในการจัดจ้างองค์กรของตนเพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการจ้างและการทํางาน และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองฝ่าย อีกทั้งให้สิทธิ แก่ลูกจ้างในการจัดตั้ง คณะกรรมการลูกจ้าง เพื่อให้นายจ้างได้หารือในกิจการต่างๆเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันและกัน ซึ่งมีการตกลงในเรื่องสภาพการจ้าง หมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือ การท างาน กําหนดวันและเวลาทํางาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือทํางาน

3) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

แรงงานบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มประเภทแม่บ้านออนไลน์นี้ยังมีสถานะภาพที่คลุมเครือในกฎหมายไทย ซึ่งเป็นผลพวงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากความสัมพันธ์ที่ไม่สมมาตร สัญญาที่ไม่เป็นธรรม และผลักภาระเกือบทั้งหมดให้แรงงาน เช่นการแบกรับความเสี่ยงในด้านสุขภาพ การเจ็บป่วยและการเข้าไม่ถึงหลักประกันสิทธิแรงงาน ซึ่งในส่วนของแม่บ้านออนไลน์ภายใต้ธุรกิจแรงงานแพลตฟอร์มนั้น เมื่อต้องประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือทุพพลภาพหรือตาย ก็ไม่มีบัทบัญญัติกฎหมายในเรื่องดังกล่าวที่ให้ความคุ้มครองหรือช่วยเหลือแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาตามกฎหมายต่างประเทศในส่วนของ “บทบัญญัติของกฎหมาย California Proposition 22”

พบว่า นิติสัมพันธ์ของแม่บ้านบริการออนไลน์และแพลตฟอร์มบริการนั้น มีการจัดให้แรงงานอยู่ในกลุ่มผิดประเภทที่จะไม่ได้รับสิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานทําให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่นายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งแพลตฟอร์มบริการย่อมได้รับประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี หลีกเลี่ยงการจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมให้แก่แม่บ้านบริการออนไลน์

ดังนั้น ชนิตร์นันท์ มีข้อเสนอในบทความดังกล่าวว่า

1. ควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 เป็ นการขยายความคุ้มครองให้กับบุคคลที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายได้

2. ควรมีการร่างกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบ ดังนี้

2.1)แก้ไขนิยามกําหนดให้แรงงานนอกระบบให้ครอบคลุมถึง ‘แรงงานอิสระ’ หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ 

“ผู้ประกอบอาชีพอิสระ” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการ ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบอาชีพอื่นที่ไม่มีนายจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน“ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • (1 )ผู้ประกอบอาชีพบริการขนส่งคนโดยสาร สิ่งของ หรืออาหาร ทําความสะอาดหรือบริการอื่นๆผ่านผู้ประกอบธุรกิจบริการระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยได้รับค่าตอบแทนการงานที่ทําจากผู้ประกอบธุรกิจบริการระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล 

  • (2)ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการอื่นที่ไม่มีลักษณะตาม คือได้รับค่าตอบแทนการงานที่ทําจากผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการนั้น ตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

2.2) กําหนดมาตรฐานในการคุ้มครองแรงงาน ได้แก่ การกําหนดสัญญามาตรฐานที่มีความเป็นธรรม กําหนดสวัสดิการ กําหนดมาตรฐานการทํางานที่เป็นธรรมต่อผู้ทํางาน เป็นต้น

2.3) กําหนดการคุ้มครองด้านสวัสดิการที่เชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ทํางานเช่นเดียวกับผู้ประกันตน

2.4) กําหนดให้มีองค์กรควบคุมกํากับที่มีตัวแทนจากผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือกึ่งอิสระ

ร่างกฎหมายที่ถูกตีตก

 

ภาพมาตรา 3 และ 4 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 เสนอโดย เซีย จำปาทอง

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายที่ เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา สภาปัดตก ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 เสนอโดย เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ โดยมีผู้ลงมติ 402 ราย เห็นชอบ 149 ไม่เห็นชอบ 252 เสียง ซึ่งมีหนึ่งประเด็นสำคัญคือเปลี่ยนนิยาม “ลูกจ้าง” ให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงอาชีพไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ และแรงงานอิสระ เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

มติชนออนไลน์ รานงานปฏิกิริยาจากกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา ด้วยว่าภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ลูกจ้างเหล่านี้มีสิทธิและโอกาสมากขึ้นจากเดิม โดยกฎหมายดังกล่าวคือ ร่างกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานบางส่วนแก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย พ.ศ. …ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเพิ่มขึ้น 11 ประเด็น  เช่น นายจ้างต้องประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างทราบ โดยวันหนึ่งต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง (ชม.) และมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชม. ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาตามความจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี ให้ลูกจ้างหญิงลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วันและได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน ห้ามนายจ้างใช้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานช่วงเวลา 22.00 – 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานวันหยุด ให้นายจ้างแจ้งการจ้างและการสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อพนักงานตรวจแรงงาน ให้ลูกจ้างที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิลาไปศึกษาอบรมและได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันต่อปี ห้ามนายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541” โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมายแล้ว จากนี้ไปกฤษฎีกาจะตรวจสอบรายละเอียดก่อนประกาศบังคับใช้ต่อไป

สำหรับ วรันธร ตังคไชยนันท์ ผู้เรียบเรียงงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท ซึ่งมาจาก สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net