Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 ธ.ค. 49 เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 13 ธันวาคม พล.อ.สุรยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญผู้บริหารและบรรณาธิการสื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ กว่า 100 คน มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีเมนูหลักคืออาหารญี่ปุ่นจากร้านโออิชิ โดยมีรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งเข้าร่วม อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ และ รมว.คลัง นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม เป็นต้น


 



ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีคำพูดว่า "No free lunch" (ไม่มีอาหารกลางวันฟรี) งานเลี้ยงวันนี้มีเรื่องจะขอร้อง ขอความช่วยเหลือ สื่อมวลชนถือว่า มีความสำคัญต่อความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงอีก1 ปีเต็มๆ จากนี้ไป รัฐบาลต้องการความร่วมมือจากสื่อเป็นอย่างมากเพื่อพยายามวางรากฐานให้บ้านเมืองในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ อยากให้สื่อตระหนักถึงบทบาทตัวเองที่จะทำให้บ้านเมืองผ่านห้วงเวลาที่ค่อนข้างวิกฤติไปได้



 


พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวอีกว่า เรื่องที่ถือเป็นรากฐานของประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งรัฐบาล กำหนดเป็นวาระแห่งชาติมี 4 ประการ คือ 1.การปฏิรูปการเมืองเพื่อนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม 2.การนำความสามัคคีความสมานฉันท์ของคนในชาติให้กลับคืนมา เพื่อเยียวยาจากการแบ่งแยกทางการเมืองและการนำความยุติธรรมมาสู่สังคมของเรา โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาค่อนข้างสูงมาก 3.การปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจเพื่อลดช่องว่างการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน และ 4.การนำหลักนิติธรรมกลับคืนมาเพื่อให้ประชาชน ได้รับความเป็นธรรมและความยุติธรรมเกือบถ้วนหน้า ซึ่งจำเป็นต้องปฏิรูประบบการบริหารงานยุติธรรมทั้งตำรวจ และหน่วยราชการทุกแห่งที่ประสบปัญหา ทั้งด้านการคอร์รัปชั่น และความไม่ยุติธรรม



 


"ทั้ง 4 ข้อนี้แม้จะไม่มีผลอะไรนักภายใน 1 ปี แต่เป็นเรื่องที่ท้าทาย ผมไม่ได้หวังว่าจะทำให้สำเร็จโดยสมบูรณ์ ความช่วยเหลือจากสื่อจะทำให้ทั้ง 4 เรื่องก้าวไปข้างหน้าได้มากที่สุด เท่าที่เรามีกำลังกายและเวลาที่พอจะทำได้ ส่วนกำลังใจนั้นทุกคนทุ่มเทให้กับงานอยู่แล้ว กำลังกายต้องเห็นใจคนแก่บ้าง แต่กำลังใจไม่ท้อถอย ยังมั่นคงและต่อสู้อยู่ตลอดเวลา" นายกฯกล่าว



 


พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวอีกว่า ในขณะที่เรากำลังเผชิญกับปีแห่งการปฏิรูปและปีแห่งการเลือกที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งรัฐบาลชั่วคราว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสมัชชาแห่งชาติได้ เริ่มต้นการปฏิรูปในบางส่วนแล้ว ก็อยากจะเชิญสื่อให้เข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย สิ่งที่ท้าทายสำคัญ 2 เรื่องคือ 1.การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเที่ยงตรงและรวดเร็ว และ 2.ขอให้สื่อนำเสนอข้อมูลที่เจาะลึกในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น และการใช้หลักนิติธรรมให้มากขึ้น เพราะปัญหาคอร์รัปชั่น คือ มะเร็งร้ายในสังคมที่ทำลายการปฏิรูปต่างๆ ซึ่งสื่อสามารถเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันขุดรากถอนโคน เฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ยังคงฝังรากในสังคมได้



 


 "ผมคิดว่า เรามีความรู้สึกเดียวกันกับเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งแม้แต่ผมเองก็ยังลังเลที่จะตอบรับเป็นผู้นำรัฐบาลชั่วคราว แต่เมื่อเห็นว่า เราใช้โอกาสนี้แก้ไขปัญหาพื้นฐานต่างๆ ให้ถูกต้อง ก็ทำให้ผมตัดสินใจที่จะรับงานนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นคนแก่แต่ก็มีกำลังใจเต็มที่เพื่อทำให้บ้านเมืองของเรามีอนาคตที่แจ่มใส นำมาซึ่งโอกาสและความเท่าเทียมกันของประชาชน อยากให้ทุกคนช่วยกันเพื่อมอบเป็นของขวัญอันล้ำค่าจากสถาบันสื่อมวลชนให้กับประชาชนต่อไปในอนาคต" นายกรัฐมนตรี กล่าว



 


จากนั้น ร.อ. น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ได้เป็นตัวแทนนำคำถามจากสื่อมวลชนมาถามนายกรัฐมนตรีส่วนหนึ่งว่า รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปการเมืองและผลักดันรัฐธรรมนูญให้ไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมอย่างไร พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ พยายามให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทั้งการวิเคราะห์และเสนอแนะโดยตรงในการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเรารวบรวมความเห็นต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะมีรัฐบาล สนช. สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เราสามารถส่งผ่านข้อมูลไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นไปตามความต้องการของประชาชน



 


"นายกรัฐมนตรีจะมีที่มาอย่างไร ก็เป็นประเด็นเปิดที่จะหาเหตุผลข้อมูลมาคุยกัน ผมไม่มีธง แต่เราต้องการเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ในส่วนรัฐบาลและหัวหน้าคณะ คมช.ที่ได้พูดกัน เราไม่มีธงที่จะกำหนดว่า นายกฯ จะต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ รัฐบาลและ คมช.ไม่ได้มีแนวคิดที่จะต่อสายทางการเมืองกันต่อไป เราอยากเห็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ และอยากให้สื่อมวลชนช่วยกันดูว่า สิ่งที่ผมพูดวันนี้ มีสิ่งใดที่ชักจะเริ่มเพี้ยนก็ช่วยแจ้งมาด้วยเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป" นายกรัฐมนตรี กล่าว



 


ผู้สื่อข่าวถามว่าประชาชนอาจสับสนว่านายกฯควรมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง เพราะวันนี้ถ้านายกฯทำดีก็จะเป็นที่ยอมรับ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ประชาชนไม่ควรสับสน สื่อมวลชนมีหน้าที่ให้ข้อมูลที่ประชาชนไม่ควรสับสน ตนมาเพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน อย่าไปสับสน ประชาชนควรเลือกวิธีการที่ดีและถูกที่สุด ประชาชนต้องวิเคราะห์และคิดเอง อย่ายึดถือตนเป็นมาตรฐานเพราะไม่ต้องการเป็นมาตรฐานเพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เข้ามาเพื่อแก้วิกฤติ



 


ทั้งนี้ ก่อนเลิกรายการ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การพบปะกันจะไม่เป็นครั้งสุดท้าย คงมีโอกาสพบปะพูดคุยกันต่อไป การพบปะครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง



 


ที่มา : เว็บไซต์ คม ชัด ลึก                                             

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net