Skip to main content
sharethis

นายโรเบิร์ต บี โซลิค รมช.ต่างประเทศ ภาพจากเอฟทีเอวอทช์
------------------------------------------------------------
ประชาไท - 4 พ.ค.48 "สหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นผู้บีบบังคับให้ไทยต้องทำ FTA กับสหรัฐฯ การเจรจาเรื่อง FTA เป็นการเลือกตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาลไทย สำหรับทางสหรัฐฯ นั้น มีความยินดีที่จะเจรจากับไทยในฐานะที่ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่ดี" รายงานข่าวจากรัฐสภาระบุถึงข้อสรุปสุดท้ายของนายโรเบิร์ต โซลิค (Robert Zoelick) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังการอภิปรายแลกเปลี่ยนร่วมกับสมาชิกรัฐสภาไทย

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันนี้ นายโรเบิร์ตและคณะ ได้เข้าหารือกับสมาชิกรัฐสภาไทยเกี่ยวกับการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ (FTA) หลังจากได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลแล้วในช่วงเช้า โดยมีส.ว.และส.ส.ที่เข้าร่วมประชุม เช่น นายไกรศักด์ ชุณหะวัณ, นายพนัส ทัศนียานนท์, นายจอน อึ๊งภากรณ์, นายลิขิต ธีรเวคิน, ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร, นายเกียรติ สิทธิอมร, คุณหญิงชดช้อย โสภณพานิช

ประเด็นที่ฝ่ายไทยได้ซักถามและอภิปรายถึงข้อห่วงใยในการทำ FTA กันในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบจากการเพิ่มความคุ้มครองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) ต่อการเข้าถึงยาซึ่งเงื่อนไขใน FTA จะทำให้ราคายาสูงขึ้น เรื่องการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติที่เกิดข้อพิพาทจำนวนมากดังตัวอย่างของข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) รวมถึงความเป็นไปได้ในการลดการอุดหนุนภาคการเกษตรของสหรัฐ

ด้านนายนายโซลิค ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) ชี้แจงว่าหลายเรื่องที่เป็นข้อห่วงใยนั้นเกิดจากความกังวลที่เกินไปจากความจริง โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบจากการคุ้มครองเรื่องการลงทุนที่เคยเกิดในกรณี NAFTA เป็นเรื่องที่ทาง NGOs มักจะนำมากล่าวอ้างถึง ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหามาจากข้อตกลง FTA แต่เนื่องมาจากการบังคับใช้มาตรการแบบเลือกปฏิบัติ (Discriminate) ระหว่างนักลงทุนภายในประเทศกับนักลงทุนต่างชาติ

ส่วนเรื่องผลกระทบจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับเรื่องสาธารณสุขนั้น การทำ FTA จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสิทธิของประเทศไทยที่มีอยู่ในความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การการค้าโลก และประเทศคู่เจรจาสามารถทำเอกสารแนบ (Side Letter) ประกอบกับข้อตกลง FTA ได้ เช่น กรณีประเทศโมร็อกโก

ขณะที่เรื่องการอุดหนุนภาคเกษตรของสหรัฐ นายโซลิคชี้แจงว่า การอุดหนุนของสหรัฐเป็นในส่วนด้านธัญพืช เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ฝ้าย ฯลฯ ไม่ได้เป็นการอุดหนุนด้านปศุสัตว์เหมือนในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ในการเจรจาเรื่องการเกษตร ประเทศไทยสามารถกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบ (Safeguard) ได้ หรือกำหนดช่วงระยะเวลา (Grace Period) ก่อนที่ข้อตกลงจะมีผลใช้บังคับจริงได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ ได้ดำเนินมาถึงรอบที่ 3 แล้ว โดยมีการจัดการเจรจาไปเมื่อวันที่ 4-8 เม.ย.ที่ผ่านมาที่พัทยา แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นความคืบหน้ามากนัก อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นายโซลิคมีกำหนดการเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดสัปดาห์นี้ และเยือนไทยเป็นประเทศแรก โดยมีเป้าหมายในการหาทางบรรลุการเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอโดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net