Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ

บนท้องถนนของกัมพูชาที่คลาคล่ำไปด้วยรถจักรยานยนตร์ที่โฉบเฉี่ยวอยู่ตามท้องถนนด้วยกฎจราจรที่หลวมๆ โดยไม่ใคร่จะมีคนใส่ใจนัก ในที่เดียวกันนั้นเราก็จะได้พบเห็น "แลนด์ ครุยเซอร์" สีขาว แล่นผ่านเข้ามาเป็นระยะๆ แน่นอนนี้คือรถขับเคลื่อนสีล้อของบรรดาองค์การระหว่างประเทศที่หลายคนเริ่มพูดว่า คือ อาการ ของการติดความช่วยเหลือจากต่างชาติของกัมพูชา

ปัจจุบันนี้กว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณของชาติมาจากเงินช่วยเหลือเหล่านี้ และในอีก 3 ปีต่อจากนี้กัมพูชาจะรับเงินจากประเทศผู้บริจาคถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ( 6หมื่นล้านบาท)

เงินช่วยเหลือที่นำไปใช้นั้นในบางครั้งก็ได้ผลออกมาในทางบวกอย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สะพานที่ข้ามแม่น้ำในพนมเปญที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสะพาน ชะรอย จังวาร์ แต่ว่าชื่อที่ใครๆก็รู้กันดีและเรียกสะพานนี้ว่าชื่อ สะพานญี่ปุ่น ซึ่งการช่วย เหลือที่ได้จัดสรรลงไปนั้นได้ช่วยบูรณะสิ่งก่อสร้างนั้นที่ได้ถูกทำลายลงไปกว่าสองทศวรรษโดยเขมรแดง โดยมีผู้ที่ไม่พอใจกับความช่วยเหลือนี้อยู่เพียงกลุ่มเดียวคือบรรดาคนเรือรับจ้างข้ามฟากที่ทำให้งานของพวกเขาต้องยุติลง

ประเทศอื่นๆก็ได้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน จนทำให้ทุกวันนี้การเดินทางไปทั่วๆกัมพูชาเป็นไปได้มากขึ้นโดยไม่ต้องใช้เวลาเป็นหลายๆวันเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจากการตกถนนที่เป็นหลุมบ่อ

ทว่า ทั้งๆมีกระแสเงินมากขนาดนั้นไหลเข้าไปในกัมพูชา แต่ชาวกัมพูชายังคงติดกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในโลกอยู่ โดย 1 ใน 3 ของประชากรมีรายได้น้อยว่าวันละ 1 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน และส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ อัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดก็ติดอันดับสูงสุดของโลก การระบาดของโรคเอดส์ก็เป็นปัญหาสาธารณสุขที่หนักหน่วง

องค์กรการกุศลแอคชั่น เอด ( Action Aid) เห็นว่า ประเทศผู้บริจาคนั่นแหละที่สมควรจะถูกตำหนิด้วยในฐานะที่ทำให้ประชาชนของกัมพูชามีสภาพที่เลวร้าย เช่นนี้

เขากล่าวว่าปัจจุบันนี้เกือบครึ่งหนึ่งของเงินช่วยเหลือนั้นเป็นงบสำหรับ "ความช่วยเหลือทางวิชาการ" และในนั้นก็มี ที่ปรึกษา หรือ consultants จากต่างประเทศอยู่ประมาณ 700 คน ที่ทำงานอยู่ในประเทศโดยได้รับเงินค่าจ้างมากข้าราชการของกัมพูชา 160,000 คนรวมกันเสียอีก

จากรายงานที่เพิ่งจะเปิดเผยโดยแอคชั่น เอด ระบุว่า บรรดาที่ปรึกษาที่อยู่ในกัมพูชาเหล่านี้ไม่ได้ทำงานมากพอหรือสมค่ากับค่าจ้างที่ได้รับ เพราะแทนที่จะถ่ายทอดทักษะให้กับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ชาวกัมพูชาแต่พวกเขากับใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเขียนรายงาน หรือทำงานซึ่งพวกเขาควรอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ทำเอง

"ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศก็นำความชำนาญสำหรับต่างประเทศเข้ามา แต่สิ่งที่จำเป็นสำหรับกัมพูชาคือความชำนาญการสำหรับชาวกัมพูชา คนที่รู้ เข้าใจ การเมือง เศรษฐกิจ คนที่สามารถรับรู้ และรู้สึกได้ถึงอะไรๆของประเทศนี้" เกสชัฟ โกทัม ผู้อำนวยการแอคชั่น เอด ประจำประเทศกัมพูชากล่าว

สิ่งที่ท้าทายมากๆก็คือ จะสร้างความเชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการให้เกิดขึ้นได้อย่างไรหลังจาก 3 ทศวรรษของสงครามภายในที่ ผู้คนที่มีความสามารถหรือคนเก่งๆได้หลบหนีออกนอกประเทศไป หรือบางคนก็ถูกฆ่าตายไปแล้วโดยเขมรแดง

เดวิด วิลคินสัน ชาวอังกฤษ ที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการดูแลรักษามากว่า 5 ปี เห็นว่า กัมพูชายังจำเป็นในเรื่องความช่วยเหลือทางวิชาการอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง แต่เขารู้ดีว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติที่จะให้การอบรมในเรื่องที่ชาวกัมพูชาต้องการได้

" เป็นการยากที่รักษาสมดุลให้ได้ระหว่างการทำงานให้เสร็จภายในระยะเวลาอันสั้นกับอีกด้านหนึ่งก็ต้องพัฒนาศักยภาพไปด้วย บ่อยครั้งที่มีคำสั่งจากรัฐบาล และผู้บริจาคว่าต้องทำงานให้เสร็จ ดังนั้นคุณก็จะต้องทำงานให้ทีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้คุ้มค่าเงิน" เดวิดกล่าว

ให้คุ้มค่าเงิน มักจะเป็นกุญแจหลักสำหรับกลุ่มประเทศผู้บริจาค พวกเขาต้องการที่จะมั่นใจว่าภาษีของประชาชนในประเทศถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสม ความกังวลใจต่อเรื่องการคอรัปชั่นในกัมพูชาหมายถึงการที่เขายิ่งต้องการเข้ามาควบคุมว่างบช่วยเหลือนั้นถูกใช้ไปอย่างไร

เจ้าหน้าที่จากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ทำงานติดต่อประสานงานกับผู้บริจาค กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศกัมพูชานั้นมีวุฒิภาวะพอที่จะดูแลรับผิดชอบกิจการต่างๆของตนเองได้เองแล้ว พวกเขาต้องการความช่วยเหลือต่างๆเข้ามาในรูปแบบของการลงทุนมากกว่าความช่วยเหลือทางวิชาการ

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อขณะนี้กฎหมายต่อต้านการคอรัปชั่นนั้นกำลังอยู่ระหว่างการยกร่าง ประเทศผู้บริจาคจึงยังคงไม่ค่อยเชื่อมั่นนัก

กระนั้นโกทัมก็ยังหวังว่ากลุ่มผู้บริจาคจะมีความศรัทธาและเน้นให้ความสำคัญที่จะให้มีโครงการที่ดำเนินการโดยชาวกัมพูชามากขึ้นเพื่อจะได้ช่วยสร้างประเทศใหม่จากคนข้างในเอง

"เราจะต้องสร้างความสมดุลให้ได้ระหว่างความร่วมมือที่เข้มแข็งกับความเชื่อที่ว่าคนในประเทศโลกที่สามและรัฐบาลนั้นมีความสามารถที่นำประเทศของเขาเดินต่อไปข้างหน้าได้" โกทัมกล่าว

ภายใต้พันธสัญญาของสหภาพยุโรปที่จะเพิ่มความช่วยเหลือให้กับประเทศกำลังพัฒนาขึ้นอีกเป็น 2 เท่า รวมทั้งเรื่องความช่วยเหลือที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเด่นในการประชุมกลุ่ม G8 ในเดือนกรกฎาคมนี้ ประเด็นที่ว่าเงินจะถูกนำไปใช้อย่างไรดูเหมือนประเด็นการถกเถียงที่ร้อนแรงไม่ใช่น้อย
(เรียบเรียงจากบีบีซี ออนไลน์)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net