Skip to main content
sharethis

2 เหยื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน บุกที่ประชุมอนุกรรมการสมานฉันท์ฯ ร้องอยู่บ้านดีๆ ถูกตำรวจควบคุมตัว ทั้งพี่ทั้งน้อง แถมยึดทรัพย์สิน 13 รายการไม่ยอมคืน  เจ้าตัววอนขอรถตุ๊กตุ๊กกลับมาใช้ทำกิน 43นักศึกษาพยาบาล จาก 5 สถาบัน ร้องวุฒิสภา ถูกห้ามคลุมฮิญาบ ระบุ "คณะพยาบาล มอ." ร่วมวงห้ามด้วย


 


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 31 สิงหาคม 2548 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี มีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อความปรองดองและความสมานฉันท์ในพื้นที่ ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีพล.อ.ณรงค์ เด่นอุดม ประธานคณะอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม มีคณะอนุกรรมการเข้าร่วม 15 คน


 


ที่ประชุม ได้หยิบยกกรณีการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ขึ้นมาพิจารณา โดยมีผู้เสนอให้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ตั้งคณะอนุกรรม


การติดตามการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฉบับนี้ เนื่องจากจนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่ยอมแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ


 


ต่อมา ที่ประชุมได้ให้นายอับดุลเลาะ ดาโอ๊ะ อยู่บ้านเลขที่ 127 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา พร้อมนายอูเซ็น ดาโอ๊ะ น้องชาย พร้อมญาติอีก 1 คน  เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม กรณีถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ควบคุมตัว เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2548 เนื่องจากสงสัยเป็นผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นายดาโอ๊ะ ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2548 นายอูเซ็นน้องชายของตน ถูกตำรวจอ้างอำนาจตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว เข้าควบคุมตัวที่บ้านพัก นำตัวไปคุมขังที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองยะลา กล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ที่หน้าโรงเรียนมานะวิทยา ในเขตเทศบาลนครยะลา เมื่อวันที่ 14 กรฎาคม 2548 เมื่อตนซึ่งมีอาชีพขับรถตุ๊กตุ๊กรับจ้าง ในเขตเทศบาลนครยะลาไปเยี่ยม กลับถูกตำรวจกล่าวหาว่า มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ลอบวางวางระเบิดครั้งนั้น จึงถูกควบคุมตัวด้วยอีกคน เป็นที่น่าสังเกตว่า ตนและน้องชายถูกควบคุมตัว โดยไม่มีหมายจับของศาลจังหวัดยะลา


 


นายดาโอ๊ะ ชี้แจงต่อไปว่า ตำรวจได้นำตนไปตรวจค้นบ้านพัก ยึดสิ่งของไปหลายรายการ รวมทั้งรถตุ๊กตุ๊กของตนด้วย จนถึงขณะนี้ตำรวจยังไม่ได้คืนสิ่งของที่ยึดไปอีก 13 รายการ ระหว่างควบคุมตัว ตำรวจได้ใช้คำพูดเชิงกล่าวหาตน และน้องชายว่าเป็นคนร้าย ทั้งที่ตนยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ตำรวจยังได้นำไปตัวไปถ่ายรูปจุดเกิดเหตุลอบวางระเบิดในตัวเมืองยะลา แต่เป็นคนละจุดกับที่ระบุไว้กับตน เมื่อครั้งควบคุมตัววันแรก


 


นายดาโอ๊ะ ชี้แจงอีกว่า ตนและน้องชายถูกควบคุมตัวอยู่ 7 วัน โดยตำรวจได้นำไปอบรมที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา ก่อนจะปล่อยตัวออกมาทั้ง 2 คน เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2548 โดยพ.ต.อ.(พิเศษ) สมพงษ์ ขอนแก่น รองผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 ให้การรับรอง ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า จะนำกรณีดังกล่าวนำเสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างผลกระทบจากพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวด้วย


 


ที่ประชุม จึงให้ทั้ง 2 จัดทำบัญชีสิ่งของที่ถูกยึด แต่ยังไม่ได้รับคืนมาให้คณะอนุกรรมการฯ โดยจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำสิ่งของดังกล่าวมาคืนด้วย


 


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หยิบยกกรณีนายรุ่ง แก้วแดง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิเสธข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เข้าร้องเรียนคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภาว่า คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ไม่อนุญาตให้นักศึกษาสตรีมุสลิมสวมผ้าคลุมศีรษะ เข้าเรียนในคลินิกที่ต้องสัมผัสกับคนไข้ขึ้นมาพิจารณาด้วย


 


ที่ประชุม ได้พิจารณารายงานผลการทำงานและข้อเสนอแนะของคณะทำงานชุดต่างๆ 4 ชุด ประกอบด้วย คณะทำงานการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ คณะทำงานสำรวจข้อมูลและรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ คณะทำงานเผยแพร่แนวคิดเพื่อสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ และคณะทำงานสนับสนุนงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ คณะอนุกรรมการฯ และคณะทำงานชุดต่างๆ โดยคณะอนุกรรมการจะส่งข้อเสนอทั้งหมดต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ในวันที่15 กันยายน 2548


 


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการเสนอให้ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง ต่อการปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมในเวลากลางคืน ในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ที่จะเริ่มต้นเดือนตุลาคม 2548 นี้


 


ที่ประชุม ยังมีการเสนอให้จัดงานครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 รวมทั้งมอบถุงของขวัญให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาด้วย โดยคณะอนุกรรมการฯ จะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดนำเสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ในวันที่ 15 กันยายน 2548 เช่นกัน


 


นายดาโอ๊ะ เปิดเผยกับ "ประชาไทออนไลน์" ว่า การมาชี้แจงครั้งนี้เพื่อต้องการให้คณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งสาธารณชนเห็นถึงผลกระทบจากการใช้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าว รวมทั้งให้ช่วยประสานงานขอสิ่งของที่ถูกยึดกลับคืน โดยเฉพาะรถตุ๊กต๊ก เนื่องจากต้องนำมาใช้ทำมาหากิน


 


นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกับ "ประชาไทออนไลน์" ว่า รับทราบกรณีนายดาโอ๊ะกับน้องชาย ถูกควบคุมตัวแล้ว ตนจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำของที่ถูกยึดนำมาคืนให้ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 2 คน หากกรณีนี้ยึดโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่ถ้ายึดโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา ก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม


 


แพทย์หญิงเพ็ชรดาว โต๊ะมีนา กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ในฐานะอนุกรรมการเพื่อความปรองดองและความสมานฉันท์ในพื้นที่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ถูกห้ามคลุมผ้าฮิญาบ จนตัดสินใจลาออกมาแล้ว เรื่องดังกล่าวมีนักศึกษา 43 คน จาก 5 สถาบันในภาคใต้ ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ,วิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนี วิทยาเขตยะลา นราธิวาส สงขลา และตรัง มีหนังสือร้องเรียนมายังคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภาว่า ทุกคนประสงค์จะคลุมผ้าฮิญาบตามศาสนบัญญัติ แต่เมื่อเข้าชั้นเรียนในชั้นคลินิกกลับถูกสั่งห้าม โดยอ้างเหตุผลเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อโรค


 


แพทย์หญิงเพ็ชรดาว กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีแพทย์ที่จบการศึกษาจากประเทศมาเลเซีย แล้วไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ยังสามารถคลุมฮิญาบโดยไม่มีปัญหา นอกจากนั้น ยังมีงานผลวิจัยจากต่างประเทศยืนยันว่า เสื้อแขนยาวและการคลุมฮิญาบเกือบไม่มีผลต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคด้วย สำหรับวิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนีทั้ง 4 แห่งนั้น ทางกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา เคยเชิญผู้บริหารมาชี้แจงแล้ว โดยฝ่ายบริหารของวิทยาลัยยืนยันว่า ไม่มีกฎระเบียบชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงรับปากจะออกระเบียบเพื่อไม่ให้มีการห้ามการคลุมฮิญาบดังกล่าว


 


"สำหรับวิทยาลัยพยาบาล ปัญหาน่าจะยุติในเร็ววันนี้ แต่ที่ยังติดขัดอยู่ก็คือคณะแพทย์ศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพราะทางคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติอ้างว่า การออกระเบียบเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของนักศึกษา เป็นอำนาจของแต่ละมหาวิทยาลัย ทางคณะกรรมการอุดมศึกษาไม่มีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับ"แพทย์หญิงเพ็ชรดาว กล่าว


 


นายอิสมาแอลลุตฟี จะปะการียา ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามยะลา ในฐานะคณะอนุกรรมการเพื่อความปรองดองและความสมานฉันท์ในพื้นที่ และกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องตัวบุคคล คือ คณบดี ไม่ใช่ปัญหาในระดับนโยบาย เชื่อว่าปัญหานี้จะคลี่คลายด้วยดี


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net